“กรมประมง”ชี้เรือไทยโดนตำรวจสากลจับน่านน้ำโซมาเลีย ไม่กระทบภาพพจน์ไทย

อดิศร พร้อมเทพ อธิบดีกรมประมง

นายอดิศร พร้อมเทพ อธิบดีกรมประมง เปิดเผยว่า หลังจากสหภาพยุโรป หรืออียู ปลดใบเหลือง กรณีการทำประมงผิดกฎหมายขาดการรายงานและไร้การควบคุมหรือไอยูยู ไปแล้ว อุตสาหกรรมประมงไทยต้องเพิ่มความเข้มงวดภายใต้พระราชกำหนด(พ.ร.ก.) การประมงมากขึ้น เพื่อให้สร้างความเชื่อมั่นต่อประเทศผู้นำเข้า โดยมั่นใจว่าการส่งออกของประมงไทยจะเพิ่มมากขึ้นตามลำดับ จากที่ผ่านมาใบเหลืองที่อียูประกาศ แม้ไม่ใช่การสั่งแบนสินค้าประมงของไทย แต่การส่งออกลดลงต่อเนื่องทุกปีเพราะผู้นำเข้าได้รับการร้องเรียนจากผู้บริโภคว่าไม่อยากเลือกซื้อสินค้าจากประเทศที่มีปัญหาไอยูยู ซึ่งหลังจากนี้ข้อกังขาดังกล่าวจะถูกตัดออกไป

“มาตรการที่เข้มงวดใน 3 ปีที่ผ่านมาทำให้ปลาเข้ามาอยู่ในน่านน้ำไทยมากขึ้น ปลาตัวใหญ่ขึ้น ทั้งนี้กรมประมงจะเพิ่มโควตา และวันจับปลาให้กับเรือประมง แต่ต้องใช้เครื่องมือที่ถูกต้องเท่านั้น กรณีที่เป็นเครื่องมือใหม่ๆเข้ามาขอใบอนุญาตก็จะพิจารณาตามข้อเท็จจริง ทั้งหมดนี้เพื่อความยั่งยืนของทรัพยากรประมง” นายอดิศรกล่าว

ส่วนพ.ร.ก.การประมงดังกล่าว นายอดิศร กล่าวว่าหลังจากมีรัฐบาลชุดใหม่เข้ามาบริหารงานแล้ว คาดว่าจะมีการปรับเปลี่ยนเพื่อยกระดับขึ้นเป็นพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ซึ่งตามรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันไม่จำเป็นต้องเปลี่ยนเพราะมีสิทธิเท่าเทียมกัน เพียงแต่พ.ร.ก.ไม่จำเป็นต้องผ่านการพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎร จึงเท่ากับว่า สภาฯ ไม่มีสิทธิ์ ปรับเปลี่ยน ต่างจากพ.ร.บ.ที่ทุกฉบับต้องผ่านความเห็นชอบจากสภา ฯ

นายอดิศร กล่าวว่า หากมีการปรับเปลี่ยนพ.ร.ก.การประมง แต่เนื้อหาหลักของกฎหมายจะต้องเข้มงวดในทุกมาตราหลักเหมือนเดิม ขณะที่บทลงโทษไม่ควรเป็นโทษทางอาญาแต่ใช้วิธีทางแพ่ง ปรับด้วยมูลค่าสูงสุด หรือยึดใบอนุญาตเพราะเป็นการลงโทษที่เรือทุกลำกลัว เนื่องจากการประมงในปัจจุบันเป็นเรื่องทางเศรษฐกิจไปแล้ว ทั้งนี้ เพื่อคุ้มครองชาวประมงทุกประเภท กรมประมงจะเร่งตั้งกองทุนช่วยเหลือ หรือชดเชยกรณีที่เกิดผลกระทบ รวมทั้งใช้ในการพัฒนา ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการร่างแนวทาง คาดว่าสิ้นเดือนมกราคมนี้จะมีความก้าวหน้าบางอย่างเกิดขึ้น

นายอดิศร กล่าวว่า สิ่งที่ต้องเร่งดำเนินการให้เสร็จโดยเร็วคือการซื้อเรือคืน 670 ลำ ตามโครงการนำเรือประมงออกนอกระบบเพื่อการจัดการทรัพยากรประมงทะเลที่ยั่งยืน ซึ่งเป็นหนึ่งในแนวทางแก้ไขปัญหาไอยูยูก่อนหน้านี้นั้น ปัจจุบันได้กำหนดเกณฑ์ออกมาแล้ว แต่ต้องพิจารณาข้อมูลของเรือแต่ละลำเพื่อกำหนดวงเงิน คาดว่าภายในสัปดาห์หน้าจะแล้วเสร็จเสนอให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เพื่อให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาต่อไป

“ในส่วนของเรือนอกน่านน้ำ ที่ผ่านมาตามพ.ร.ก. ประมงไม่ได้ปิดกั้นให้ออกประมง แต่เนื่องจากไม่มีน่านน้ำประเทศใดเปิดรับทำให้เรือทุกลำยังไม่สามารถดำเนินการได้ แต่ในขณะนี้มีข่าวดีจากพม่า และปาปัวนิกีนี ที่แจ้งว่าพร้อมให้เรือประมงไทยเข้าไปจับปลาได้แล้ว แต่ต้องอยู่ภายใต้เงื่อนไขตามกฎหมายของรัฐเจ้าท่าเท่านั้น” นายอดิศรกล่าว

นายอดิศร กล่าวว่า ส่วนประเด็นที่เรือประมง O.SIRICHAINAWA 15 หรือ OR. SIRICHAINAWA 15 หรือ อ.ศิริชัยนาวา 15 ที่อ้างว่าเป็นไทย ถูกจับโดยตำรวจสากลหลังจากอียูใช้เครื่องบินตรวจการณ์ทางอากาศและพบเรือประมงลำดังกล่าวทำประมงบริเวณอ่าวเอเดนในน่านน้ำของประเทศโซมาเลีย นั้น ไม่ได้ทำให้ภาพพจน์ของไทยเสียหาย แต่เป็นข้อดีที่เรือลำดังกล่าวถูกจับได้ เพราะเรือลำนี้ได้แจ้งกับกรมประมงว่าจมไปแล้ว

มติชนออนไลน์