หลังเลนส์ในดงลึก/ปริญญากร วรวรรณ/ ‘กำกอม’

ม.ล.ปริญญากร วรวรรณ
นกยูงไทย - การได้ยินเสียงนกกระเต็นบินล่องไปตามน้ำพร้อมเสียงร้องดังๆ นกยูงที่เดินอยู่ริมห้วยจะหยุดเฝ้ามองอย่างระวัง

หลังเลนส์ในดงลึก/ปริญญากร วรวรรณ

‘กำกอม’

งานชิ้นแรกที่ผมได้รับโอกาสลงในนิตยสาร เป็นเรื่องราวเกี่ยวกับการดูนก

งานชิ้นนั้น ผมใช้นามปากกาว่า “กำกอม”

นั่นเป็นชื่อของนกกระเต็นใหญ่ธรรมดา หรือมีอีกชื่อคือ กำกอม

นกกระเต็นมีอยู่ในโลกใบนี้ 85 ชนิด ในประเทศไทยมี 13 ชนิด

พวกมันทั้งหมดถูกเรียกว่า “นกกินปลา” เพราะส่วนใหญ่พวกมันทำหน้าที่ควบคุมปริมาณปลาตามแหล่งน้ำต่างๆ

ผมใช้ชื่อนี้กับการทำงานอยู่ระยะเวลาหนึ่งก็หยุด

และไม่เคยย้อนกลับไปใช้นามปากกานี้อีกเลย

ไม่เคยใช้ แต่ไม่เคยลืม

 

แต่ละชีวิตต่างมีหน้าที่ นกกระเต็นไม่เพียงทำหน้าที่อย่างเข้มแข็ง แต่พวกมันเป็นตัวอย่างอันชัดเจนว่า สัตว์นั้นเมื่อได้รับมอบหมายมาให้ทำหน้าที่ใด จะได้รับเครื่องมือในการทำงานมาอย่างเหมาะสมด้วย

“เครื่องมือ” ของพวกมันคือ อวัยวะ ร่างกาย รวมทั้งทักษะต่างๆ

เริ่มจากปาก รูปทรงปากนกกระเต็นคล้ายปลายหอกแหลม เมื่อรวมกับวิธีพุ่งลงน้ำเพื่อจับปลา จึงไม่ต่างอะไรกับการที่คนพุ่งหอกเข้าหาเหยื่อ

ปากใหญ่แหลม ลักษณะอย่างอื่น อย่างหัวโต หางสั้น ช่วยให้บินได้คล่อง รวดเร็ว เกาะบนกิ่งไม้ได้อย่างอดทน เฝ้ารอเหยื่อได้นานๆ

นกกระเต็นมักทำงานช่วงเช้าจนถึงสายๆ และช่วงบ่ายจนเย็น

ขณะเกาะรอ พวกมันใช้เทคนิคโดยหันหลังให้ดวงอาทิตย์ เจตนาเพื่อเมื่อปลามองขึ้นมา จะมองแบบย้อนแสง สังเกตไม่เห็นผู้ล่า

 

นกกระเต็นเป็นพวกรักสันโดษ

ไม่ได้อยู่ร่วมกันเป็นฝูง นอกจากในฤดูแห่งความรัก พ้นจากนั้นแล้วพวกมันเลือกที่จะใช้ชีวิตอิสระ

ในช่วงเวลาแห่งความรัก หรือที่คนเรียกว่า ช่วงนกสร้างรังวางไข่

ปากใหญ่แหลม ถูกใช้เป็นเครื่องมือในการขุดรูริมฝั่งห้วย หาหญ้ารองสักหน่อย วางไข่ครั้งละ 4-5 ฟอง

ไข่นกโดนคุกคามจากผู้ล่า ในความหมายของการควบคุมปริมาณ นกกระเต็นอย่างนกกระเต็นปักหลัก มีทริกในการหลอกผู้ล่า โดยจะขุดรูริมตลิ่งไว้ 2 ถึง 3 รู ทั้งๆ ที่ใช้จริงแค่รูเดียว และไปเกาะอยู่ข้างๆ ให้ผู้ล่าเข้าใจว่า ลูกนกอยู่ในรูนั้น ทำทีไม่สนใจรูที่ลูกนกอยู่จริง

นกกระเต็นถูกคนเรียกรวมๆ ว่า นกกินปลา

พวกมันบางตัวไม่ได้ใช้ชีวิตอย่างนกกระเต็นตัวอื่นๆ ไม่กินปลา ไม่อาศัยอยู่ใกล้แหล่งน้ำเสียด้วยซ้ำ

ใช้ชีวิตอย่างลึกลับ ล่ากิ้งก่า, งู และแมลง

นกกระเต็นตัวนี้ชื่อ นกกระเต็นลาย

 

ปลายฤดูหนาว น้ำในห้วยลดระดับ ริมฝั่งเป็นตลิ่งสูง ดินไม่แข็งกระด้างมาก เป็นช่วงเหมาะสมกับการเจาะรูทำรัง

เวลาเจาะ ก็บินเข้าไปแทงดินตรงๆ

บางชนิดไม่อยากเจาะดินให้เมื่อย จะเลี่ยงไปหาโพรงไม้แห้ง หรือโพรงเก่าที่พวกนกโพระดก นกหัวขวานไม่ใช้แล้ว

นกกระเต็นทุกตัวมีรูปร่าง ลักษณะ สีสันสวยงาม

คนซึ่งเริ่มดูนก จะหลงรักนกกระเต็นได้ไม่ยาก

ผมก็เป็นเช่นนี้ รักและเอาชื่อมันมาใช้

 

เครื่องมืออันเหมาะสม รวมทั้งทักษะดีๆ ไม่ได้ทำให้งานง่ายขึ้นหรอก

หลายครั้งผมเห็นนกกระเต็นมาเกาะปลายกิ่งไม้ เฝ้ารออยู่นาน ตั้งแต่เช้ามืด พอได้จังหวะ จะพุ่งตูมลงน้ำ และบินกลับขึ้นมาด้วยปากอันว่างเปล่า

เครื่องมือดีๆ เหมาะสม คล้ายเป็นเพียงส่วนหนึ่ง

ส่วนที่เหลือคือ ความอดทน และสมาธิอันแน่วแน่

 

เหล่านกกินปลา กับคนไทย ไม่ใช่ชีวิตแปลกหน้ากัน โดยเฉพาะคนในชนบท ในยุคก่อน ใช้เรือเป็นพาหนะ เดินทางไปตามแม่น้ำลำคลอง ภาพนกกินปลาเกาะ ตามกิ่งไม้หรือบินขนานบ้าง สวนเรือบ้าง คือเรื่องปกติ

บนพื้นแฉะๆ ตัวเหี้ยคลานต้วมเตี้ยม

ยังมีภาพเช่นนี้อยู่ แต่มันคงเป็นภาพเลือนๆ ของคนในเมืองใหญ่

คนจำนวนมากเลือกหยุดพักชีวิตอันวุ่นวายสับสน เดินทางออกไปหาวิถีชีวิตเดิมๆ

วันเวลาผ่านไปแล้วนำกลับมาไม่ได้

สิ่งอันสูญสิ้นไปแล้วยิ่งยากที่จะย้อนคืน

ออกไปพบชีวิตเดิมอย่างที่เคยเป็น

บางที ภาพเลือนๆ ในเมืองใหญ่จะชัดเจน

 

หลายปีก่อน ผมดูนกอย่างจริงจัง

ได้เริ่มทำงาน โดยมีชื่อนกสวยงามตัวหนึ่ง เป็นนามปากกา

ผ่านมาเนิ่นนานแล้ว ผมไม่เคยย้อนกลับมาใช้นามนี้อีก

ไม่ใช่เพราะลืมเลือน

แต่เป็นเพราะรู้ว่า มีนกกระเต็นบางตัวเลือกที่จะไม่ใช้เครื่องมืออันเหมาะสมในการจับปลา

ขณะในลำห้วยมีเสียงดังลั่นคุ้งน้ำ ของนกกระเต็นใหญ่ธรรมดา

ไกลเข้าไปในป่าลึก

นกกระเต็นลาย เฝ้ารอจับกิ้งก่าอย่างเงียบๆ อยู่เพียงลำพัง