สุจิตต์ วงษ์เทศ / ไทยเดิม ‘จุดสลบ’ เพลงดนตรีไทย

วงมโหรี ราว พ.ศ.2400 จำลองแบบแผนยุคแรกเริ่มดนตรีเพื่อฟัง เป็นดนตรีไทยแบบฉบับ เพื่อความเป็นไทย แล้วเรียกดนตรีไทยเดิม บรรเลงเพลงไทยเดิม ต่อต้านวัฒนธรรมป๊อป (ภาพจากหนังสือ ดนตรีอุษาคเนย์ โดยเจนจิรา เบญจพงศ์ และเสถียร ดวงจันทร์ทิพย์ วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ.2555)

สุจิตต์ วงษ์เทศ

 

ไทยเดิม

‘จุดสลบ’ เพลงดนตรีไทย

 

“ไทยเดิม” เป็นข้อความมีขึ้นราวเรือน พ.ศ.2470 เพื่อแสดงตนยืนหยัดไม่ปรับเปลี่ยนวัฒนธรรมดั้งเดิม และเป็นปฏิปักษ์ต่อเพลงไทยสากลในวัฒนธรรมป๊อป

เพลงดนตรีไทยเดิม (หมายถึง เพลงไทยเดิม กับวงดนตรีไทยเดิม) เป็นชุดเดียวกับเพลงดนตรีไทยตามจารีตประเพณี ซึ่งเป็นวัฒนธรรมร่วมทางเพลงดนตรีของอุษาคเนย์ มีพัฒนาการหลายพันปีมาแล้ว

ก่อนคนชั้นนำสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์ปรับเปลี่ยนให้เป็น “แบบฉบับ” ของความเป็นไทย เพลงดนตรีไทยมีลักษณะเสรี และไม่เป็นปฏิปักษ์ต่อวัฒนธรรมป๊อป

แต่ระบบการศึกษาไทยถูกครอบงำด้วยข้อมูลความรู้ชุดเดียวที่ผลิตโดยกลุ่มคนชั้นนำ ดนตรีไทยเดิมจึงได้รับยกย่อง ขณะที่ดนตรีไทยแบบอื่นซึ่งมีลักษณะเสรีถูกกีดกันและถูกกดทับพลังสร้างสรรค์

 

เพลงเนื้อเต็ม

 

วัฒนธรรมร่วมเพลงดนตรีอุษาคเนย์ มีลักษณะร่วมที่สำคัญอย่างหนึ่ง คือร้องและบรรเลงเคล้าคลอควบคู่อย่างกลมกลืนเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน (อย่างเดียวกับเพลงดนตรีสากล) ซึ่งไทยเรียก “ร้องเนื้อเต็ม” หรือ “เพลงเนื้อเต็ม”

จึงเข้ากันได้และไม่เป็นปฏิปักษ์ต่อวัฒนธรรมป๊อป

 

ดนตรีเพื่อฟัง แบบฉบับความเป็นไทย

 

แต่มีการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่เมื่อหลังปฏิวัติอุตสาหกรรม (ปลายแผ่นดินพระเจ้าตาก กรุงธนบุรี)

ผู้ดีคนชั้นนำกรุงรัตนโกสินทร์ พัฒนาโดยรับต้นแบบจากเพลงดนตรีตะวันตก ปรับปรุงใหม่เพลงดนตรีไทยตามประเพณี เป็น “เพลงดนตรีไทยแบบฉบับ” ตามรสนิยมของผู้ดีคนชั้นนำสมัยนั้น เพื่อแสดงความเป็นไทยอย่างแท้จริง เมื่อ 160 ปีมาแล้ว ตั้งแต่หลัง พ.ศ.2400

เพลงดนตรีไทยแบบฉบับ เป็น “ดนตรีเพื่อฟัง” ตามแบบแผนตะวันตก มีเค้ามาก่อนแล้วตั้งแต่สมัยปลายอยุธยา แล้วแสดงออกชัดเจนเมื่อสุนทรภู่แต่งนิทานกลอนให้พระอภัยมณีเป่าปี่ “โซโล่” แบบฝรั่ง

ก่อนหน้านี้เพลงดนตรีไทยและในอุษาคเนย์ เป็นเพลงดนตรี “ไม่เพื่อฟัง” แต่เพื่อพิธีกรรม หมายถึงเพลงดนตรีประกอบพิธีอย่างใดอย่างหนึ่ง เช่น เลี้ยงผี, เลี้ยงพระ, ยอพระเกียรติ เป็นต้น

 

มโหรี, ปี่พาทย์, เครื่องสาย

 

เพลงดนตรีไทยแบบฉบับ เพื่อแสดงความเป็นไทยอย่างแท้จริง มี 3 อย่าง ได้แก่ มโหรี, ปี่พาทย์, เครื่องสาย [ล้วนแพร่หลายมาแต่ดั้งเดิมบริเวณลุ่มน้ำเจ้าพระยา ราวหลังการค้าโลก พ.ศ.1000]

ลักษณะเฉพาะของเพลงดนตรีไทยแบบฉบับ ได้แก่ เพลงเถา, เอื้อน, เดี่ยว, ประชัน, ชื่อเพลงขึ้นต้นด้วยชื่อชาติพันธุ์ ฯลฯ

 

เพลงเถา

 

เพลงเถา หมายถึง เพลงที่มีความช้าเร็วต่างกัน แล้วเรียกตามลำดับเป็นชั้นเรียงกัน ได้แก่ สามชั้น, สองชั้น, ชั้นเดียว

[คำว่า เถา เอามาจากคำเรียกภาชนะ หรือสิ่งของจำพวกเดียวกัน ที่เรียงลำดับจากใหญ่, กลาง, เล็ก]

เพลงเถา เป็นประเพณีเพิ่งมีครั้งแรกสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์ จึงไม่เคยมีมาในประวัติศาสตร์ก่อนหน้านี้

การบรรเลงเพลงเถา เรียก “ร้อง-รับ” หมายถึง ร้องก่อนจนจบ (ด้วยเอื้อนมากลากยาว) แล้วบรรเลงดนตรีรับเมื่อร้องจบคำร้องที่กำหนดเป็นช่วงๆ (เรียกท่อน) ดนตรีบรรเลงรับจบแล้วก็ร้องช่วงต่อไป สลับอย่างนี้จนกว่าจะจบคำร้องที่กำหนดไว้ในอัตราความช้าเร็วต่างกัน ที่เรียก สามชั้น, สองชั้น, ชั้นเดียว

 

เอื้อน

 

ร้องเพลงเถามีเอื้อนมากๆ ยาวๆ เรียก “เอื้อนมากลากยาว” เพราะทำนองเพลงที่มีแต่ก่อนส่วนมากหรือเกือบหมดเป็นเพลงอัตรา 2 ชั้น เมื่อจะทำเป็นเถาต้องเอาเพลงอัตรา 2 ชั้นมาปรับแต่งยืดขยายให้ยาวเป็น 3 ชั้น และหดให้สั้นเหลือชั้นเดียว เพื่ออวดลีลาทำนองที่ประดิษฐ์ขึ้นใหม่

เพลงที่ประดิษฐ์เป็นเถา มุ่ง “เพื่อฟัง” ทำนองเพลงหรืออวดทำนองเพลงเป็นสำคัญที่สุด ไม่ได้อวดเนื้อร้อง และไม่ได้มุ่งหมายให้ฟังเนื้อร้อง จึงไม่ได้แต่งเนื้อร้องให้สอดคล้องกับทำนองเพลง แต่ไปคัดจากวรรณคดีร้อยกรองที่เป็นกลอนมาเป็นเนื้อร้อง

เนื้อร้องที่คัดกลอนจากวรรณคดีที่แต่งไว้ดีแล้ว มีจำนวนคำ, วรรค ตามฉันทลักษณ์เป็นแบบแผน แต่จำนวนคำ, วรรค ไม่ยาวเท่าทำนองดนตรี เลยต้องแก้ไขให้เนื้อร้องกับทำนองมีความยาวไปด้วยกันได้ด้วยการเพิ่มเสียง “เอื้อน” แทรกเข้าไปเป็นช่วงๆ ให้ยาวเท่าที่กำหนด

[เอื้อน เป็นประเพณีสืบเนื่องจากหมอขวัญหมอลำ ที่มีลูกคอและเสียงโหยหวน]

 

ข้อดี ข้อด้อย

 

ข้อดีข้อด้อยของเพลงเถา มีผู้บอกไว้นานแล้ว จะสรุปมาดังนี้

ข้อดี กระตุ้นความคิดสร้างสรรค์ของคีตกวีสยามจำนวนไม่น้อย จึงมีดนตรีทำนองเพลงใหม่ๆ จำนวนมากจากคีตกวีที่สำคัญ ได้แก่ ผู้มีบรรดาศักดิ์ ประดิษฐไพเราะ, เสนาะดุริยางค์, ประสานดุริยศัพท์ ฯลฯ

หนังสือเล่มสำคัญที่ต้องแนะนำให้อ่านเป็นพิเศษ คือ เจ้ายุทธจักรดนตรีไทย ประวัติศาสตร์สืบเนื่องจากภาพยนตร์ “โหมโรง” ของ ถาวร สิกขโกศล (โดย เสถียร ดวงจันทร์ทิพย์ บรรณาธิการ) พร้อม VCD เพลงปี่พาทย์ชั้นเยี่ยม สำนักพิมพ์ศยาม พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ.2559

ข้อด้อย เห็นได้จากเพลงเถา เสมือน “จุดสลบ” ของเพลงดนตรีไทยเดิม เพราะเข้าไม่ถึงชาวบ้านทั่วไปทั้งในเมืองและชนบท

นอกจากนั้นยังต่อต้านความเปลี่ยนแปลง ตั้งตนเป็นปฏิปักษ์ต่อวัฒนธรรมป๊อป จนต้องยกตนเป็น “เพลงดนตรีไทยเดิม” หมายถึงเป็นมรดกที่ใครจะละเมิดมิได้ หรือเปลี่ยนแปลงมิได้

“ไทยเดิม” เติมเข้ามาเพื่อแสดงตนเป็นปฏิปักษ์ต่อ “เพลงไทยสากล” ที่เกิดใหม่ในวัฒนธรรมป๊อป (ก่อนแยกเป็น เพลงลูกทุ่ง, ลูกกรุง) ขณะเดียวกันก็เป็นสัญลักษณ์ของการ “แช่แข็ง” หยุดนิ่งจนเพลงดนตรีไทยสลบซบเซาเหี่ยวเฉาโรยรา

[หลุมฝังศพของดนตรีไทย โดย จิตร ภูมิศักดิ์ มีแบ่งปันแล้วในมติชนสุดสัปดาห์ออนไลน์

จิตร ภูมิศักดิ์ เขียนถึงดนตรีไทยหลายตอนตั้งแต่ พ.ศ.2497 ผมเคยรวบไว้ด้วยกันในศิลปวัฒนธรรม ปีที่ 25 ฉบับที่ 6 (เมษายน 2547) หน้า 88-99]