หลังเลนส์ในดงลึก / ปริญญากร วรวรรณ / ‘ถอยห่าง’

ม.ล.ปริญญากร วรวรรณ
เสือโคร่ง - ในบ่ายที่อากาศร้อนอบอ้าว เสือเลือกวิธีหลบนิ่งๆ ใต้พุ่มไม้

หลังเลนส์ในดงลึก / ปริญญากร วรวรรณ

 

‘ถอยห่าง’

 

ช่วงเวลากลางๆ ปีเช่นนี้

สำหรับเหล่านกน้ำ นี่คือเวลาที่วุ่นวายงานหนักของพ่อแม่นก เพราะตอนนี้เป็นช่วงที่นกน้ำสร้างรังวางไข่

ว่าไปแล้ว ใช้คำว่า วางไข่ นั้นจริง แต่คำว่าสร้างรัง ดูเหมือนจะไม่ตรงสักเท่าใด เพราะนกน้ำส่วนใหญ่มักไม่ทำรังอย่างแน่นหนาสวยงามเหมือนนกชนิดอื่นๆ

ถ้าการนำแค่เศษๆ หญ้ามาสุมๆ ไม่มีอะไรบัง วางไข่บนนั้น แล้วนั่งกก เรียกว่ารัง ก็ไม่มีปัญหา

ที่จริง นี่คือความฉลาดและได้รับการจัดสรรมาอย่างดี

กลางๆ ปี คือช่วงที่ดวงอาทิตย์ในภูมิภาคนี้จะส่องแสงยาวนานมากกว่าช่วงอื่น มีความร้อนแผ่กระจายนาน ในบึงน้ำกว้าง นกน้ำใช้ประโยชน์จากแสงดวงอาทิตย์ให้ความร้อนกับไข่ พวกมันจะมีเวลาไปทำอย่างอื่นบ้าง

และเมื่อรังอยู่โล่งๆ ไร้ที่กำบัง ไข่จึงมีสีคล้ำๆ หรือมีลายเข้ากับหญ้า เพื่อช่วยป้องกันภัยในการมองเห็นจากบรรดานกนักล่า

 

ส่วนเหล่านกในป่า ภาระในการเลี้ยงดูลูกๆ ของพวกมันจะเสร็จสิ้นแล้ว ลูกนกเติบโต กำลังเรียนรู้วิถีดำเนินชีวิต รวมทั้งภาระหน้าที่ซึ่งต้องทำ

พวกสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม นี่เป็นเวลาเริ่มเดินทางเคลื่อนย้ายไปแหล่งอาหารที่อุดมสมบูรณ์

ฝูงนกเงือกกรามช้างปากเรียบ จากป่าด้านตะวันตกขบวนแรก เดินทางถึงป่าทางตอนใต้สุด

ฝนตกอย่างจริงจังทั่วผืนป่า ตามลำห้วยสายเล็กสายน้อย มีน้ำหลาก ปลักต่างๆ มีน้ำเต็ม

อาหารมีทั่วไป แหล่งอาหารสำหรับใช้ในฤดูแล้งจึงว่างเปล่า

ป่าเต็งรังเขียวชอุ่ม บนป่าดิบเขา สายหมอกลอยระเรี่ย ใบไม้ชุ่มน้ำ กิ่งไม้ใหญ่ทานน้ำหนักน้ำไม่ไหว หักลงจากต้น กล้วยไม้หลากชนิดร่วงหล่น อยู่บนพื้น

มีเสียงชะนีร้องโต้ตอบระหว่างสองครอบครัวบ้าง แต่ไม่มีเสียงนกเซ็งแซ่อย่างช่วงฤดูแล้ง เพราะผ่านพ้นเวลาจะอวดความงามและความแข็งแรงของเหล่าตัวผู้มาแล้ว

ในป่าเงียบเชียบ ต้นไม้เขียวทึบ ใบไม้ฉ่ำน้ำ สงบนิ่ง

คล้ายกับว่า นี่คือช่วงเวลาแห่งการพักเพื่อเตรียมตัวรับกับฤดูแล้งซึ่งจะมาถึงในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า

 

ท่ามกลางสายฝนปรอยๆ

ชายชราอายุกว่า 80 ปี ขับรถกระบะสีขาว พาผมไปจอดริมบ่อปลาขนาดใหญ่ ในอาณาเขตไร่อันกว้างขวาง ริมบ่อมีซุ้มบังไพรเล็กๆ ปิดทับด้วยหญ้าแห้ง สายลมพัดพาละอองฝนเม็ดละเอียดๆ กระทบกระจกรถ

“นกจะมาเกาะบนกิ่งไม้แห้งๆ นั่นแหละ” ชายชราชี้ให้ผมดูต้นไม้แห้งกลางบ่อ

ผมเปิดประตูรถเดินอ้อมไปด้านหลัง ยกเป้และขาตั้งกล้องลงมา

“เจอกันตอนเย็นนะ” ชายชราพูด ก่อนเคลื่อนรถไปตามทางดินแคบๆ

ผมมุดเข้าซุ้มบังไพร มีเก้าอี้สนามลายพรางตั้งอยู่ ช่องเล็กๆ เปิดไว้ตรงตำแหน่งต้นไม้แห้งกลางน้ำ

“นกมาอยู่กว่าอาทิตย์แล้วล่ะ ไม่รู้มาจากไหน” ชายชราพูดถึงนกอ้ายงั่ว ที่ผมกำลังเริ่มเฝ้าดู

อ้ายงั่ว นกน้ำขนาดใหญ่ เคยมีประชากรอยู่มากตามพื้นที่ชุ่มน้ำทั่วไป พวกมันลดจำนวนลงเรื่อยๆ จนกระทั่งการพบเห็นเป็นไปได้ยาก

ผมพบนกอ้ายงั่วในบึงน้ำป่าภูเขียว และบริเวณหนองผักชี ในป่าเขาใหญ่บ้าง

ก่อนที่เราจะพบว่ามีชุมชนนกอ้ายงั่วในพื้นที่ชุ่มน้ำแถบจังหวัดสระแก้ว เราเคยคิดว่า นอกจากนกอ้ายงั่วที่บินผ่านมาและแวะชั่วคราว

สถานภาพของนกที่เคยมีมากในประเทศไทย อาจจะ

“หมดไปจากประเทศไทยแล้ว”

 

บ่อเลี้ยงปลา เนื้อที่หลายร้อยไร่ คือแหล่งอาหารชั้นดี นกอ้ายงั่วได้รับการออกแบบมาเพื่อเป็นผู้เชี่ยวชาญในการจับปลา คอยาว ปากยาวแหลม ดำน้ำเก่ง ขณะว่ายน้ำจะว่ายช้าๆ ยืดตัวและคอ ส่ายหัวไป-มา การว่ายน้ำไปเรื่อยๆ ทำให้น้ำกระเพื่อม ปลาตกใจ สังเกตเห็นง่าย

ต้นไม้แห้งกลางน้ำ ยังว่างเปล่า

ผมเริ่มต้นเฝ้ารอ และนึกถึงชายชราที่ขับรถมาส่ง

นี่คือผู้ชายที่บอกผมว่า เวลาเดินทางไปไหนที่ไม่คุ้นเคยหรือมีอันตราย ถ้ามีใครทำอะไร ขอให้เขาทำให้ตาย

“บอกมันว่าอย่าให้รอดกลับมาบอกได้ว่าใครทำ ไม่อย่างนั้น ผมจะตามไปเอามันให้ตายด้วย”

ในวัยกว่า 80 ในรถกระบะมีลูกซองห้านัด และปืนพก 11 ม.ม. ข้างเอว

ในยุคสมัยนี้ ภาพผู้ชายในลักษณะนี้ ดูจะ “หลงยุค” ไม่น้อย

ผู้ชายในความหมายที่ชายชราเป็น ดูจะยิ่งห่างไกลและหาไม่ได้อีก

 

ในความสัมพันธ์ระหว่างเรา ไม่ต่างจากสังคมของสัตว์ป่า

ตัวอาวุโส มีหน้าที่ถ่ายทอด รวมทั้งสอนวิธีการดำเนินชีวิตให้กับรุ่นต่อๆ ไป

ไม่ว่าจะเป็นสัตว์ผู้ล่า หรือสัตว์กินพืช

การเรียนรู้และรับถ่ายทอดประสบการณ์จากผู้อาวุโส จำเป็น

แน่นอนว่า “อาวุโส” ย่อมไม่ได้หมายความเพียงแค่ “วัย” อันมากกว่าเท่านั้น

วันนั้น นกอ้ายงั่วมาให้ผมพบ พร้อมกับสภาพท้องฟ้าที่มัวซัว

แต่ได้เห็นนกอ้ายงั่วตัวหนึ่งนำปลามาให้อีกตัวที่เกาะบนกิ่งไม้แห้ง ก็เป็นประสบการณ์ที่คุ้มค่า

“ได้รูปดีไหม” ชายชราถามตอนมารับ

“ดีครับ” ผมพยักหน้า

ในสภาพอากาศมัวซัว ผมเชื่อว่านี่จะเป็นรูปที่ดี

 

คืนนั้น ก่อนจากลา ชายชราตบไหล่ผม

“เป็นให้ดี”

ชายชราหมายถึง “เป็น” ผู้ชายในแบบที่เขายึดถือให้ดี

จากกระจกมองหลัง ใต้แสงไฟสลัว ผมเห็นชายชรายืนมองจนลับสายตา

ชายชราจากไปหลายปีแล้ว ครั้งหนึ่งเขาสอนผมว่า เมื่ออยู่ที่ไหนก็ตาม ต้องถอยห่างออกมาสักหน่อย

“ถอยออกมาแล้วเราจะมองเห็นความจริง” เขาบอก

สัตว์หลายชนิดเคยอยู่ในสถานะ “มีมาก”

มีหลายชนิดที่เราพบเห็นพวกมันอีก หลายชนิดกลายเป็น “หาง่าย”

บางชนิด ด้วยเทคโนโลยีปัจจุบัน ทำให้เรารู้ว่ายังมีพวกมันอยู่

แต่ผู้ชายในแบบที่ผมเคยรู้จัก

“เข้าใจว่า หมดไปจากประะเทศไทยแล้ว”

 

ว่าตามจริง สำหรับสัตว์ป่าไม่ว่าเป็นเวลาใด พวกมันมักถือโอกาส “พัก” อยู่นิ่งๆ ตลอด

เคี้ยวเอื้อง ยืนหลับตาเพียงชั่วครู่ ร่างกายสดชื่นขึ้น

ขณะเดินป่าเหนื่อยๆ เราใช้วิธีเดียวกัน

เอนหลังพิงเป้ หลับตาสักพัก กำลังก็กลับมา

เฝ้าดูเพื่อเรียนจากสัตว์ ต้องใช้เวลาและดูอย่างใกล้ชิด

เรื่องราวของคนจะ “รู้”

เมื่อ “ถอยห่าง” ออกมา

 

บรรยายภาพ

เสือโคร่ง – ในบ่ายที่อากาศร้อนอบอ้าว เสือเลือกวิธีหลบนิ่งๆ ใต้พุ่มไม้