พระอภัยมณี เป่า ‘ปี่นอก’ ดนตรีพื้นเมืองสุวรรณภูมิ | สุจิตต์ วงษ์เทศ

พระอภัยมณีเป่าปี่นอก "ต้อยตะริดติดตี่", "แอ้อี่อ่อย" (หุ่นขี้ผึ้งตัวละครเรื่องพระอภัยมณี พิพิธภัณฑ์หุ่นขี้ผึ้งไทย อ.นครชัยศรี จ.นครปฐม)

พระอภัยมณีเป่าปี่นอก ซึ่งเป็นปี่พื้นเมืองดั้งเดิมของสุวรรณภูมิ บริเวณลุ่มน้ำโขง ถึงลุ่มน้ำเจ้าพระยา อันเป็นหลักแหล่งของคนหลายกลุ่ม ได้แก่ เขมร, ลาว, ไทย ฯลฯ

เรื่องนี้เป็นที่รับรู้ทั่วกันนานมากแล้ว ตั้งแต่ก่อน พ.ศ.2500 ในกลุ่มแคบๆ ของผู้ค้นคว้างานสุนทรภู่ แต่ไม่พบคำอธิบายอย่างเป็นรูปธรรมในแง่ดนตรี

ถาวร สิกขโกศล ค้นคว้าอย่างเป็นระบบ แล้วนิยามและอธิบายเป็นลายลักษณ์อักษรอย่างดีเยี่ยมสุดยอดขณะนี้ ในบทความ 2 เรื่อง ได้แก่ (1) “ปี่และเพลงปี่พระอภัยมณี” และ (2) “สุนทรภู่กับครูมีแขก ปรมาจารย์ปี่ของไทย” พิมพ์รวมในหนังสือ ความรู้เรื่องชง และเรื่องน่ารู้จีน-ไทย (สำนักพิมพ์แสงดาว พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ.2560 หน้า 136-208) ผู้ใฝ่ใจเรื่องดนตรีไทยยุคต้นกรุงรัตนโกสินทร์สมัยสุนทรภู่กับครูมีแขก ควรได้อ่านอ่านอย่างละเอียด แล้วจะตาสว่างถึง “สรวงสวรรค์ชั้นกวีรุจีรัตน์”

ขอสรุปเฉพาะสาระสำคัญอย่างสั้นๆ ดังต่อไปนี้

 

ต้อยตะริดติดตี่

 

หลักฐานสำคัญที่แสดงว่าเป็นปี่นอกคือกลอนตอนเป่าเรียกสินสมุทร ในสองวรรคท้ายที่ว่า “แล้วแหบหวนครวญโหยโรยชวา พระแกล้งว่าไปในเพลงวังเวงใจ” สุนทรภู่ใช้ศัพท์ภาษาปี่ซึ่งบ่งบอกว่าเป็น ปี่นอก

ความหมายที่ถูกต้องของกลอนตอนนี้คือ “เป่าเสียงสูงขึ้นทางแหบ แล้วหวนเสียงกลับลงมา ครวญยาวเปลี่ยนระดับเสียง (โหย) ลดต่ำทอด (โรย) ลงเป็นทางชวา จากนั้นตั้งใจ (แกล้ง) เป่าเป็นเสียงพูด (ว่า) ไปในเสียงเพลงฟังวังเวงใจต่อไป”

นอกจากนี้ ในเพลงปี่ครั้งสุดท้าย ซึ่งสินสมุทรเป่าเผด็จศึก สุนทรภู่ได้บรรยายเสียงปี่ไว้ว่า “ต้อยตะริดติดตี่เสียงปี่ครวญ พลางแหบหวนบรรเลงเพลงชวา”

ต้อยตะริดติดตี่ เป็นเสียงปี่ไทย คือปี่ใน หรือไม่ก็ปี่นอก แต่การเป่า “แหบหวนบรรเลงเพลงชวา” นั้นบ่งบอกว่าเป็นปี่นอก

ตอนพระอภัยมณีเป่าปี่เกี้ยวนางละเวง สุนทรภู่แต่งกลอนบรรยายเสียงปี่ว่า

 

ต้อยตะริดติดตี่เจ้าพี่เอ๋ย     จะละเลยเร่ร่อนไปนอนไหน

แอ้อี่อ่อยสร้อยฟ้าสุมาลัย               แม้นเด็ดได้แล้วไม่ร้างให้ห่างเชย

ฉุยฉายชื่นรื่นรวยระทวยทอด         จะกล่อมกอดกว่าจะหลับกันเขนย

 

“ต้อยตะริดติดตี่” กับ “แอ้อี่อ่อย” เป็นคำเลียนเสียงปี่ในหรือปี่นอก (ไม่ใช่เสียงปี่ชวา) การเป่าฉุยฉายเลียนเสียงพูดหรือขับร้องก็เป็นเรื่องของปี่ในหรือปี่นอก แสดงว่าปี่พระอภัยมณีเป็นปี่ไทย (ไม่ใช่ปี่ชวา)

ในแง่ของจินตนิยาย พระอภัยมณีย่อมเป่าปี่เก่งทุกชนิด แต่บนพื้นฐานความเป็นจริงย่อมต้องมีปี่ “คู่มือ” ที่ติดตัวอยู่เป็นประจำชนิดหนึ่ง คือปี่นอก

 

เหน็บปี่นอก

 

พระอภัยมณี “เหน็บปี่” เป็นเครื่องมือหรืออาวุธประจำตัว

ในเรื่องพระอภัยมณี ตอนที่ 18 (พระอภัยมณีพบนางละเวง) เมื่อพระอภัยมณีจะออกไปรบไล่ล่านางละเวงนั้น มีกลอนตอนหนึ่งว่า “จะตามติดคิดล้างให้วางวาย พลางแต่งกายกุมกระบี่เหน็บปี่ทรง”

กลอนตอนนี้บอกชัดว่าพระอภัยมณีเอาปี่ติดตัวไปด้วยการ “เหน็บ” ซึ่งควรเป็นที่เอว เพราะหยิบใช้ได้ฉับไว

ฉะนั้นต้องเป็นปี่ไทย (ไม่ใช่ปี่ชวา เพราะปี่ชวามีลำโพงซึ่งปกติจะอยู่แยกกับตัวปี่ หากสวมต่อกันเหน็บเอวไป ลำโพงหลุดจากตัวปี่แน่ แต่ปี่ไทยไม่มีลำโพง รูปทรงเหน็บเอวได้สะดวก)

ตามขนาดของปี่แล้ว ปี่นอกสั้นกะทัดรัดเหน็บเอวไปได้สะดวก (กว่าปี่ใน) เสียงก็แหลมลอยได้ยินไปไกลกว่า เหมาะจะพกติดตัวไปใช้เป่าเพียงเลาเดียวมากกว่า

สุนทรภู่แต่งเรื่องพระอภัยมณีเมื่อปี่นอกใช้ทั้งในปี่พาทย์ละครและปี่พาทย์เสภา มีบทบาทในวงการดนตรีเหนือปี่ในซึ่งใช้เฉพาะในปี่พาทย์พิธีและละครในซึ่งมีเฉพาะในวังหลวงไม่แพร่หลายเท่าปี่นอก

ตัวสุนทรภู่เองก็คลุกคลีกับละครนอกมาก เคยเป็นคนบอกบทละครของคณะนายบุญยัง ดังกล่าวไว้ในโคลงนิราศสุพรรณ ว่า “บอกบทบุญยังพยาน พยักหน้า”

ดังนั้น สุนทรภู่ย่อมจะเอาปี่นอกเป็นปี่พระอภัยมณี เพราะตนคุ้นเคยและแพร่หลายอยู่ในสังคมไทยมากกว่าปี่ชนิดอื่น

 

ครูมีแขกไม่ใช่ต้นแบบปี่พระอภัย

 

ครูมีแขกแม้จะเคยอยู่ร่วมยุคร่วมวังกับสุนทรภู่ แต่ก็เดี่ยวปีในจนโด่งดังในยุครัชกาลที่ 4 ว่า “ครูมีแขกคนนี้เขาดีครัน เป่าทยอยลอยลั่นบรรเลงลือ” ซึ่งสุนทรภู่แต่งพระอภัยมณีจบไปหลายปีแล้ว

ฉะนั้นครูมีแขกไม่ใช่บุคคลต้นแบบตัวพระอภัยมณีและปี่พระอภัยมณีอย่างแน่นอน

ถ้าใช่ สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ สมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ และกรมหมื่นพิทยาลงกรณ์ (น.ม.ส.) ซึ่งรู้เรื่องของสุนทรภู่อยู่ไม่น้อยน่าจะพูดถึงบ้าง แต่กลับไม่มีคนรุ่นเก่าพูดถึงเรื่องนี้เลย