คงขั้วอำนาจทหาร รุมสกัด ‘ก้าวไกล’ ตอกฝาโลง ‘งบฐานศูนย์’

กิจกรรมสำคัญในปี 2566 อย่างการเลือกตั้งรัฐบาลจบลงแล้ว แต่สิ่งที่รออยู่คือการตั้งรัฐบาลใหม่เพื่อบริหารงานประเทศต่อไป

ขณะนี้มีรัฐบาลรักษาการแต่ไม่มีอำนาจการพิจารณาทุกเรื่อง โดยเฉพาะงบประมาณและการใช้จ่ายต่างๆ ของประเทศ จึงไม่ต่างกับการถูกแช่แข็ง

สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (สำนักงาน กกต.) เตรียมรายงานผลการเลือกตั้งภายใน 60 วัน คาดจะมีการเปิดประชุมรัฐสภาและเลือกนายกรัฐมนตรีคนที่ 30 พร้อมตั้งคณะรัฐมนตรีชุดใหม่จบภายในเดือนสิงหาคม 2566

ช่วงเวลาที่ขาดหายไปตั้งแต่ยุบสภาวันที่ 20 มีนาคม 2566 จนถึงเดือนสิงหาคมนี้ ช่วงสุญญากาศทางการเมืองจึงกินเวลากว่า 6 เดือน ซึ่งปกติช่วงกลางปีจะมีวาระสำคัญคือ การพิจารณาร่างงบประมาณประจำปีงบประมาณถัดไปของรัฐสภา และจะออกประกาศใช้ทันช่วงต้นปีงบประมาณ หรือวันที่ 1 ตุลาคมของทุกปี

โดยร่างงบประมาณปีถัดไป คือปีงบประมาณ 2567 ถูกหยุดไว้หลังผ่านความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี (ครม.) ของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ก่อนยุบสภา โดยจัดสรรงบประมาณปี 2567 ให้แก่กระทรวง 19 กระทรวง และสำนักนายกรัฐมนตรี กรอบวงเงิน 3.35 ล้านล้านบาท นอกจากนี้ ยังอนุมัติงบประมาณผูกพันข้ามปีไปอีก 3.6 แสนล้านบาท

สำหรับการจัดสรรงบประมาณในปี 2567 รายกระทรวงที่ได้รับงบฯ เกินหลักแสนล้านบาทนั้น ได้แก่ กระทรวงมหาดไทย 3.51 แสนล้านบาท
กระทรวงศึกษาธิการ 3.30 แสนล้านบาท
กระทรวงการคลัง 3.13 แสนล้านบาท
กระทรวงสาธารณสุข 1.70 แสนล้านบาท
กระทรวงกลาโหม 1.98 แสนล้านบาท
กระทรวงคมนาคม 1.83 แสนล้านบาท
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม 1.27 แสนล้านบาท
และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ 1.17 แสนล้านบาท

 

อย่างไรก็ดี การเลือกตั้งที่ผ่านมาแม้ราบรื่น แต่ที่สิ่งที่สร้างความตกตะลึงคือ การเปลี่ยนขั้วทางการเมืองครั้งสำคัญ โดยพรรคที่ได้รับคะแนนนิยมคือ ก้าวไกล และได้ตกลงร่วมกับ พรรคเพื่อไทย พรรคประชาชาติ พรรคไทยสร้างไทย พรรคเสรีรวมไทย พรรคเพื่อไทรวมพลัง พรรคเป็นธรรม และพรรคสังคมใหม่ รวมทั้งสิ้น 8 พรรคลุยตั้งรัฐบาล

ว่าที่รัฐบาล 8 พรรค ได้ร่วมลงนามข้อตกลง (เอ็มโอยู) หนึ่งในข้อตกลงคือ การจัดทำงบประมาณฐานศูนย์ หรือ zero based budgeting เพื่อตัดรายจ่ายไม่จำเป็นออกไป นำไปเปลี่ยนค่าใช้จ่ายในโครงการบริหารประเทศอื่นๆ แทน

ถึงแม้หลายฝ่ายจะสนับสนุนและให้ความเห็นในเรื่องงบฯ ฐานศูนย์ในทางที่ดีว่าจะใช้งบประมาณอย่างคุ้มค่ามากขึ้น แต่งบฯ ฐานศูนย์นั้นมีข้อเสียคือ ใช้ข้อมูลจำนวนมาก และใช้เวลายาวนานในการจัดทำงบประมาณ จึงน่ากังวลเช่นกัน

พรรคก้าวไกลระบุว่า การทำงบประมาณปี 2567 อาจล่าช้าไปถึงในไตรมาส 2-ไตรมาส 3 ของปีงบประมาณ 2567 (เดือนมกราคม-มิถุนายน 2567)

ส่วนการจัดงบประมาณฐานศูนย์แบบเต็มรูปแบบในปีงบประมาณ 2567 ยังไม่น่าทำได้ เพราะมีเงื่อนระยะเวลามาบังคับ

 

ถ้าตามกำหนดเวลารัฐบาลต้องถวายสัตย์ฯ ภายในเดือนสิงหาคม 2566 รื้องบฯ อีกน่าจะเสร็จประมาณไตรมาส 3 ของปีงบประมาณ 2567 เมื่อเทียบกับการเลือกตั้งเมื่อปี 2562 แม้ว่าเร็วกว่าการเลือกตั้งปี 2566 ถึง 2 เดือน แต่ พ.ร.บ.งบประมาณยังออกได้เร็วกว่า ประมาณเดือนกุมภาพันธ์-มีนาคม 2563

การที่งบประมาณปี 2567 ล่าช้านั้น จะไม่ถึงขั้นรัฐบาลขาดสภาพคล่อง เนื่องจากตามระเบียบแล้ว รัฐบาลใหม่ยังสามารถใช้งบประมาณปี 2566 ไปพลางๆ ก่อนได้ แต่จะใช้ได้แต่รายจ่ายประจำ รายจ่ายลงทุนยังใช้ไม่ได้

อย่างไรก็ตาม โอกาสที่รัฐบาลจะใช้งบประมาณไปพัฒนาหรือกระตุ้นเศรษฐกิจอาจจะหายไป 2 ไตรมาส เนื่องจากงบฯ ลงทุนตรงนี้เป็นตัวสำคัญที่จะไปเหนี่ยวนำการลงทุนของเอกชนด้วยจะหายไป

ทั้งนี้ งบฯ ทหาร และงบฯ เล็กงบฯ น้อย อาทิ งบฯ อบรมสัมมนา ที่ไม่สามารถยืนยันถึงความคุ้มค่าและความจำเป็นได้ รวมถึงงบประมาณที่ไปลงในจังหวัดต่างๆ ให้เปลี่ยนไปลงท้องถิ่นแทน

และแน่นอนว่าไม่ยุ่งกับงบฯ ที่ตัดทอนไม่ได้ อาทิ รายจ่ายเงินเดือนและสวัสดิการข้าราชการต่างๆ ซึ่งเป็นข้อบังคับตามกฎหมาย งบฯ ท้องถิ่นซึ่งมีกฎหมายบังคับไว้ว่าจะต้องไม่ต่ำกว่า 25% และอยากให้เพิ่มงบฯ ที่จะใช้คืนหนี้ทั้งเงินต้นและดอกเบี้ยก็ตัดไม่ได้ งบฯ ผูกพันก็ตัดไม่ได้

รวมทั้งไม่สามารถตัดงบฯ สวัสดิการต่างๆ อาทิ งบฯ บัตรทอง สวัสดิการผู้สูงอายุก็ไม่ตัดเป็นต้น โดยสรุปแล้วจะเหลืองบฯ ที่รื้อได้ประมาณ 1 ล้านล้านบาทเท่านั้น

 

ขณะที่ฝั่งหน่วยงานรัฐบาลนั้น พบว่าเริ่มเตรียมพร้อมแล้ว โดยจะมีการหารือกันระหว่างสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) กระทรวงการคลัง ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และสำนักงบประมาณ เรื่องงบประมาณฐานศูนย์ และเตรียมความพร้อมการทำงบประมาณปี 2567 หลังจากที่รัฐบาลใหม่เข้ามาบริหาร

โดยสภาพัฒน์ระบุว่า ระบบงบประมาณฐานศูนย์นั้น เป็นเรื่องที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในประเทศไทย งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2567 ล่าช้าจากเตรียมการเลือกตั้งอยู่แล้ว จึงต้องเร่งจัดทำงบฯ ให้แล้วเสร็จ เพื่ออัดฉีดเงินออกสู่ระบบไปก่อน ส่วนการจัดทำงบประมาณฐานศูนย์ อาจต้องเริ่มจัดทำได้ในงบประมาณปี 2568-2569

ด้านสำนักงบประมาณ คาดว่างบประมาณปี 2567 จะล่าช้าออกไปราว 6 เดือน จึงเตรียมการจัดทำงบประมาณไปพลางก่อน วงเงินเบิกจ่ายได้ประมาณ 1.1 ล้านล้านบาทสำหรับการเบิกจ่ายในช่วงที่ พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายปีงบประมาณ 2567 ยังไม่มีผลบังคับใช้ ส่วนกรณีที่ว่า ที่รัฐบาลต้องการเปลี่ยนระบบเป็นงบฯ ฐานศูนย์ ต้องขอหารือก่อนว่าจะปรับบางส่วนหรือทั้งหมด หากปรับทั้งหมดจะใช้เวลาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายปีงบประมาณ 2567 ยาวนานขึ้น

จะเห็นว่า ร่างงบประมาณถือเป็นอีกงานสำคัญของทั้งรัฐบาลใหม่และหน่วยงานภาครัฐที่เจอกับความท้าทายว่ารัฐบาลใหม่อยากเปลี่ยนแปลงระบบ แต่หากเกิดการเจรจาและตัดสินใจที่นานไปอาจทำให้งบประมาณล่าช้ากว่าเดิม ส่งผลต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศ เพราะเม็ดเงินการลงทุนและค่าใช้จ่ายของภาครัฐถือว่าเป็นอีกส่วนสำคัญ

รวมทั้งรัฐบาลใหม่อาจต้องเผชิญระบบราชการเดิมและอำนาจต่างๆ เช่น การลดงบฯ ทหาร เป็นต้น ท้าทายขั้วรัฐบาลเดิมที่นำโดยทหาร

โดยในร่างงบประมาณปี 2567 เดิม งบฯ ทหารอยู่ในส่วนงบฯ กระทรวงกลาโหมกว่า 1.98 แสนล้านบาท เป็นกระทรวงที่ 5 ที่ได้รับการจัดสรรสูงสุด แสดงถึงอำนาจต่อรองที่มีในช่วงรัฐบาลเดิม