รู้จัก ชัยวัฒน์ สถาวรวิจิตร : ตัวตึงเศรษฐกิจดิจิทัล บัญชีรายชื่อ #15 จากก้าวไกล

หมายเหตุ : บทความนี้เผยแพร่ครั้งแรก 19 พ.ค. 2023

 

ระหว่างที่ผู้เขียนกำลังท่องฟีดทวิตเตอร์ ดูการถกเถียง วิวาทะโลกออนไลน์โดยเฉพาะประเด็นเรื่องบล็อกเชนที่ถูกนำขึ้นมาพูดในการหาเสียงในการเลือกตั้งรอบนี้

จู่ๆ ก็ได้เห็นคลิปสุทธิชัย หยุ่น พิธีกรดัง กำลังสัมภาษณ์ สมคิด จิรานันตรัตน์ อดีตที่ปรึกษากรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) ผู้คิดค้นและพัฒนาแอพพ์เป๋าตัง พาดพิงไปถึงบุคคลๆ หนึ่งชื่อว่า “ดร.โจ” โดยการันตีว่าคนนี้มีความรู้เรื่องบล็อกเชนและเทคโนโลยีการเงินดิจิทัล และขอให้สุทธิชัย หยุ่นไปสัมภาษณ์คนๆ นี้

ทราบภายหลังว่า “ดร.โจ”  คนนี้ ที่กำลังรุ่งเรืองในตำแหน่งผู้บริหารของธนาคารแห่งประเทศไทย ล่าสุดหันเข้ามาร่วมงานการเมืองกับพรรคก้าวไกล และนี่จึงเป็นที่มาของบทสัมภาษณ์นี้

เราคุยกับ ชัยวัฒน์ สถาวรวิจิตร ว่าทำไมถึงเข้าร่วมงานกับพรรคก้าวไกล  และในฐานะ ผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีทางการเงิน และนักยุทธศาสตร์ด้านข้อมูล ซึ่งเป็นเรื่องที่ค่อนข้างใหม่ และใหญ่ สำหรับเมืองไทย จะทำเรื่องนี้ให้เกิดขึ้นจริงได้อย่างไร

ชีวิตการทำงานที่แบงก์ชาติ 

ชัยวัฒน์ เล่าที่มาที่ไปของตัวเองก่อนมาร่วมงานการเมืองกับพรรคก้าวไกลว่าเริ่มชีวิตการทำงานที่ธนาคารแห่งประเทศไทย ความรับผิดชอบล่าสุดทำงานเกี่ยวกับเรื่องการเงินดิจิทัล ดูเรื่องเงินดิจิทัลที่ออกโดยธนาคารกลาง ความสนใจทางการเมืองคืออยากทำนโยบายสาธารณะที่เกี่ยวข้องกับการเงิน

จบปริญญาตรีด้านวิศวกรรมศาสตร์ สาขาคอมพิวเตอร์ในประเทศไทย ก่อนไปเรียนต่อปริญญาโท และปริญญาเอกที่ญี่ปุ่น ขณะทำงานอยู่ธนาคารแห่งประเทศไทย มีประสบการณ์ทำงานหลายฝ่าย เริ่มจากงานด้านไอที ระบบชำระเงินต่างๆ การบริหารเงินสำรอง เคยบริหารเงินดอลลาร์ฯซึ่งเป็นพอร์ตของแบงค์ชาติ งานด้านบริหารความเสี่ยง งานนโยบายการเงิน และล่าสุดคือการวางภูมิทัศน์ทางการเงินให้รองรับกับโลกดิจิทัล การทำให้เกิดการบริการทางการเงินอย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึงเรื่องใหม่ๆของธนาคารกลางอย่าง CBDC หรือเงินดิจิทัลที่ออกโดยธนาคารกลาง รวมระยะเวลาทำงานที่ธนาคารกลางแห่งประเทศไทย เป็นเวลา 10 ปี

เมื่อถามว่าแรงจูงใจหรือแรงบันดาลใจที่ทำให้มาเป็นนักการเมือง ชัยวัฒน์ เล่าว่า เกิดขึ้นขณะทำงานที่ธนาคารแห่งประเทศไทย และเป็นคนที่ดูแลเกี่ยวกับนโยบายที่หน่วยงานรัฐสามารถทำได้ แต่พบปัญหาติดกรอบกฏหมาย ธนาคารกลางเป็น คนทำนโยบาย แต่นักการเมืองคือคนทำกฏหมาย ตอนทำงานที่แบงค์ชาติ ได้พบว่ามีกฏหมายหลายอย่างติดขัด ทำให้การดำเนินนโยบายต่างๆไม่มีประสิทธิภาพพอสมควร คิดว่ามีกฏหมายหลายตัวที่ต้องถูกแก้ไข กระทั่งลาออกจากงาน ก็รู้สึกอยากสร้างความเปลี่ยนแปลง อยากเห็นประเทศมีการเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้นเพื่อคนไทย ก็เลยคิดว่าขอลองมาทำงานการเมือง

ชัยวัฒน์เล่าตัวอย่างปัญหานโยบายหรือข้อกฏหมายให้ฟังชัดๆ เช่น กรณีตอนทำเรื่องเงินดิจิทัลที่ออกโดยรัฐบาลกลาง พบว่าพรบ.เงินตรา คืออุปสรรคสำคัญ เป็นกฏหมายที่ค่อนข้างเก่า ไม่รองรับเงินรูปแบบใหม่ที่จะออกเป็นดิจิทัล ไม่มองว่าเงินดิจิทัลเป็นเงินตรา เงินดิจิทัลถูกมองว่าอยู่ในกฏหมายสินทรัพย์ดิจิทัล กลายเป็นสินทรัพย์ ไม่ใช่เงินตรา กลายเป็นหากเอาเงินปกติไปแลกเงินดิจิทัลก็อาจเกิดภาษีเหมือนเราไปซื้อสินค้าบริการ เวลามีการส่งข้ามประเทศก็ถูกจัดการว่าเป็นนำเข้า-ส่งออก ทำให้ยุ่งยากเรื่องระบบภาษีอีกหลายอย่างตามมา ซึ่งเรื่องเหล่านี้ผิดเพี้ยนไปจากธรรมชาติของมัน นี่คือตัวอย่างหนึ่ง

เงินดิจิทัลคือโลกใหม่

อีกหนึ่งตัวอย่างที่ชัยวัฒน์เล่าเพิ่ม คือเคยทำงานเรื่องเกี่ยวกับการเปิดข้อมูลของประชาชนที่เป็นผู้ใช้บริการธนาคาร เอาข้อมูลการเดินบัญชีจากธนาคารหนึ่ง ไปสู่อีกธนาคารหนึ่ง เพื่อใช้ประโยชน์เช่นการขอกู้สินเชื่อผ่านระบบดิจิทัลฟอร์แมตเพื่อประเมินสินเชื่อ แต่กฏหมายเกี่ยวข้องกับการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลก็โน้มไปทางคุ้มครองและปกป้องมากเกินไปจนบางทีจุดที่เราควรจะได้ใช้ประโยชน์ทำได้ลำบาก จริงๆถ้าจัดการให้ดี มันเป็นการเปิดโอกาสให้ประเทศและสร้างเศรษฐกิจใหม่ๆได้หลายอย่าง

อย่างการปลดล็อก CBDC หรือเงินดิจิทัล เรารู้อยู่แล้วแนวโน้มของโลก การใช้ธนบัตรกระดาษจะน้อยลง ซักวันนึงมันอาจจะหายาก ยกตัวอย่างวันนี้เกิดขึ้นแล้วที่สวีเดน หาธนบัตรยากเพราะเขาใช้อิเล็กทรอนิกส์กันหมด สิ่งที่ธนาคารกลางควรทำคือการออกแบบระบบเงินดิจิทัลเพื่อรองรับโลกใหม่ ส่วนว่าจะออกแบบให้ทำอะไรได้บ้างก็ต้องศึกษาหารือ จะต้องรักษาความเป็นส่วนตัวอย่างไร

คุยกันถึงเรื่องนี้ จึงถามไปถึงนโยบายของพรรคการเมืองหนึ่งที่เพิ่งเป็นข่าวฮือฮา จะเสนอเลิกใช้แบงค์พันเพื่อลดการคอร์รัปชั่น แก้ทุจริต? ชัยวัฒน์ แสดงความเห็นเรื่องนี้ว่า มันเป็นการแก้ไม่ถูกจุด จะเลิกแบงค์พันต้องประเมินทั้งแง่บวกแง่ลบ ถ้าเลิกแบงก์พันเขาก็ใช้แบงค์ 500 ใช้ทองคำ ใช้คริปโตเคอเรนซี อะไรหลายอย่างก็ทำได้ จึงเป็นการแก้ไม่ถูกจุดนัก

จึงตัดสินใจสมัครเข้ามาร่วมงานการเมืองกับพรรคก้าวไกล ติดตามมานานจากการเป็นพรรคการเมืองใหม่ มีอุดมการณ์ชัดเจน มีจุดเด่นที่พรรคเก่าไม่มี เช่นเรื่องการใช้เงินทำงานการเมือง เมื่อได้อำนาจรัฐก็ใช้อำนาจทุจริตเชิงนโยบายเพื่อให้มีรายได้กลับมาที่พรรคการเมือง ในการทำงานการเมืองต่อไป ไม่มีประชาชนอยู่ในสมการ ประเทศไม่หลุดพ้นไปจากวังวนเดิม

ไม่รู้จักใครในก้าวไกลเลย

ก้าวไกลเป็นพรรคของประชาชน เห็นชัดจากการระดมเงิน ทั้งบริจาคทางตรงและภาษี การใช้เงินในการหาเสียงน้อยมาก เพราะไม่มีเงิน จะเห็นส.ส.เดินหาเสียง ไปกันทีมเล็กๆ หรือไปคนเดียว เมื่อได้อำนาจรัฐมา ก็ไม่จำเป็นหาหาเงินหรือไปตอบแทนทุนใหญ่ ไม่ต้องเกรงใจใคร

หลังพูดคุยกับทีมงานของพรรค ก็พบว่าพรรคต้องการผลักดันและต้องการบุคลากรที่สนใจเรื่องการเงินการธนาคารอยู่พอดี เมื่อเข้าไปคุยและนำเสนอนโยบายที่อยากทำจึงได้มีโอกาสเข้ามาร่วมงานกับก้าวไกล

“ไม่เคยรู้จักใครในพรรคก้าวไกลเลย ไม่รู้จักธนาธร หรือพิธา เป็นการส่วนตัว มาเคยเจอตัวจริงหลังจากสมัครเข้าพรรคก้าวไกลแล้ว (หัวเราะ)”

เมื่อถามว่าทำไมถึงได้รับเลือกให้เป็นผู้สมัครส.ส.บัญชีรายชื่ออันดับที่ 15 ซึ่งหลายคนมองว่าเป็นเซฟโซนที่น่าจะได้ตำแหน่ง ส.ส. ทั้งที่ก็เป็นคนใหม่? ชัยวัฒน์ มองเรื่องนี้โดยเล่าว่า ถ้ามองการจัดอันดับปาตี้ลิสต์ของพรรคก้าวไกล จะไม่เหมือนพรรคอื่น เป็นการกำหนดโดยมีแนวคิดเบื้องหลัง เช่นในใส่ผู้แทนแรงงานไปในลำดับที่ 4 ลำดับที่ 5 เป็นทีมเศรษฐกิจ จากนั้นก็เป็นการไล่ลำดับโดยไม่ได้เอาทีมเศรษฐกิจมากองไว้ทั้งหมด จะมีกลุ่มผู้แทนสาขาอาชีพต่างๆ หรือกลุ่มชาติพันธุ์ สลับกันไปตามบทบาท

เมื่อถามว่า หากได้เป็นรัฐบาลและให้เลือกนโยบาย 1 ข้อที่จะนำมาปฏฺบัติ ส่วนตัวจะเลือกทำอะไร ชัยวัฒน์ตอบทันทีว่า ในฐานะทีมเศรษฐกิจก้าวไกล และตัวเองซึ่งรับผิดชอบเรื่องการแปลงข้อมูลให้เป็นขุมทรัพย์ประเทศ ก็อยากทำเรื่องนี้ การพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัลให้เกิดขึ้นจริง

ฉากทัศน์อนาคตเศรษฐกิจดิจิทัล

ชัยวัฒน์ฉายภาพเรื่องนี้เพิ่มให้เห็นชัด โดยเปรียบเทียบเศรษฐกิจทั่วไปกับเศรษฐกิจดิจิทัลว่า เศรษฐกิจทั่วไปเป็นเรื่องการผลิต การกระจายสินค้า การบริโภค แต่เศรษฐกิจดิจิทัล คือการเอากิจกรรมทางเศรษฐกิจทั่วไปมาอยู่บนโลกดิจิทัล เช่นเราสามารถผลิตสติ๊กเกอร์ไลน์และจำหน่ายในแพลตฟอร์มของไลน์ สร้างครั้งเดียวแต่ขายเท่าไหร่ก็ได้ นี่คือสิ่งที่ทำให้เศรษฐกิจดิจิทัลมีตัวคูณมากกว่าเศรษฐกิจทั่วไป เวลาทำอะไรขึ้นมาสามารถก้อปปี้ได้ซ้ำๆโดยไม่ต้องมีต้นทุนเพิ่ม นี่คือทรัพย์สินทางปัญญาที่มีตัวคูณได้ไม่จำกัด นี่คือหนึ่งในเศรษฐกิจที่จะสร้างการเติบโตแบบก้าวกระโดดให้เศรษฐกิจประเทศ

นอกจากนั้นเศรษฐกิจที่ใช้เทคโนโลยีแบบนี้จะยิ่งสร้างมูลค่าเพิ่มได้มากมาย ตัวเศรษฐกิจดิจิทัลเป็นทั้งเครื่องมือและการทำให้เกิดความเท่าเทียม ลดเหลื่อมล้ำด้วย เพราะการสร้างบริการดิจิทัลขึ้นมาอย่างแพลตฟอร์มยูทูป ทำให้คนธรรมดาคนนึงเชื่อมต่อกับคนทั้งโลกได้โดยตรง ผมอาจจะทำช่องยูทูบขึ้นมาให้คนทั้งโลกได้ดูได้ เราเห็นนักข่าวฉายเดี่ยว มีอยู่เยอะมาก นี่คือการเพิ่มโอาส ปัญหาคือเราจะผลักดันยังไงให้คนคว้าโอกาสนี้ได้ นี่คือสิ่งที่รัฐบาลต้องคิด กิจกรรมบนโลกดิจิทัลมันคือการสร้างข้อมูลขึ้นมาใหม่ ข้อมูลเหล่านี้มันควรจะเอามาทำให้เกิดประโยชน์ สร้างคุณค่าได้

ยกตัวอย่างแพลตฟอร์มไรเดอร์ จะมีข้อมูลเรื่องการรับงานต่างๆ ข้อมูลเหล่านี้มันบ่งบอกคนๆนึงว่าเป็นอย่างไร และสามารถเอาข้อมูลตรงนั้นมาใช้ประโยชน์ได้เช่น ถ้าเขาต้องการเงินทุนเพิ่ม เมื่อไปยื่นกู้ คนที่ขอกู้ก็จะรู้ได้ว่าไรเดอร์คนนี้เป็นคนขยันสมควรที่จะได้รับวงเงินมากกว่าคนที่รับงานน้อยกว่าเขา นี่คือการนำข้อมูลดิจิทัลมาประเมินศักยภาพ ดูเรื่องความเสี่ยงต่างๆ นี่คือการสร้างมูลค่าให้คนๆนึง ซึ่งเขาอาจจะเอาเงินก้อนนั้นมาสร้างมูลค่าเพิ่ม ก่อให้เกิดการเติบโตในอาชีพการงานเขาต่อไปได้เป็นต้น

เช่นเดียวกันสมมติเจ้าของร้านก๋วยเตี๋ยวใช้ช่องทางดิจิทัลใช้จ่าย มันก็จะมีข้อมูลบอกว่าวันนึงขายได้มากขนาดไหน ข้อมูลตรงนี้มันเอามาใช้ให้เกิดประโยชน์ช่วยให้กิจกาจขยาย เติบโตต่อไปได้

นี่คือตัวอย่างที่ชัยวัฒน์เล่าให้ฟังคร่าวๆ เรื่องการเอาข้อมูลมาพัฒนาให้เกิดมูลค่าเพิ่ม ซึ่งปัจจัยสำคัญมันอยู่ที่วิธีคิด หรือการมองโจทย์การบริหารข้อมูลในโลกดิจิทัลนั่นเอง แน่นอนปัจจุบันหลายคนอาจยังไม่เห็นความสำคัญ แต่เรื่องนี้กำลังจะเป็นเรื่องใหญ่ในอนาคต

โครงสร้างข้อมูลคือจุดเปลี่ยน

เราให้ชัยวัฒน์ ยกตัวอย่างประเทศที่เข้าใจเรื่องนี้ หรือนำเรื่องนี้ไปเป็นนโยบายให้เกิดเป็นรูปธรรมสำคัญแล้ว ชัยวัฒน์เล่าโดยยกตัวอย่างประเทศอังกฤษ ที่จะมีการเปิดข้อมูลทางภาคการเงินเรียกว่า “Open banking” เพื่อสร้างการแข่งขันในภาคธนาคาร โดยให้ลูกค้าซึ่งเป็นเจ้าของข้อมูลสามารถสั่งให้ธนาคารหนึ่งสามารถส่งข้อมูลไปยังอีกธนาคารหนึ่งได้ จากปกติที่คนมีบัญชีธนาคารไหน ข้อมูลก็จะอยู่กับธนาคารนั้น และมักจะใช้บริการทางการเงินกับธนาคารนั้นเพราะสะดวก แต่มันทำให้ธนาคารเล็กๆที่เพิ่งเกิดใหม่ หรือบริการทางการเงินใหม่ๆที่เพิ่งเกิดขึ้น บริการ payment หรือ wallet ต่างๆ ก็ยากที่จะแข่งขันกับธนาคารใหญ่ๆที่ทำธุรกิจมาแต่เดิม และมันทำให้ผู้บริโภคเสียเปรียบ เพราะธนาคารเดิมรู้ว่ายังไงผู้บริโภคเจ้าของบัญชี ก็ไปใช้บริการการเงินกับธนาคารเจ้าอื่นยาก ต่อให้คิดค่าธรรมเนียมหรือดอกเบี้ยสูงแค่ไหน ประชาชนก็มีความลำบากที่จะย้าย

แต่พออังกฤษทำตรงนี้ทำให้ข้อมูลมันเปิด การย้ายไปสู่ผู้ให้บริการใหม่ๆทำได้ง่ายมาก ผู้บริโภคก็ได้เปรียบ การย้ายบริการการเงินได้ง่าย ก็ทำให้ธนาคารต่างๆต้องแข่งขันกัน ลดราคา หรือเพิ่มคุณภาพบริการต่างๆ ประชาชนได้ประโยชน์ นอกจากนี้บริษัทฟินเทคใหม่ๆของวัยรุ่นหนุ่มสาว ก็สามารถสร้างธุรกิจและเชื่อมต่อกับบริการธนาคารได้ นี่คือสิ่งที่อังกฤษทำและประสบความสำเร็จ

นอกจากอังกฤษ ออสเตรเลียก็ทำแบบนี้ แถมทำมากว่าแค่ภาคการธนาคารด้วย เขาเข้าไปทำกับบริการธุรกิจเกี่ยวกับสุขภาพ และภาคพลังงาน ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการปรับการดำเนินการตามนโยบาย

ทั้งนี้บริษัทที่ปรึกษาธุรกิจชั้นนำของโลกเขาศึกษาเรื่องนี้ ผลปรากฏพบว่าการเปลี่ยนแปลงเรื่องการจัดการข้อมูลดิจิทัลต่างๆ มันช่วยให้จีดีพีของประเทศเติบโตได้ 1-5% ขึ้นอยู่กับแต่ละประเทศ ลองคิดเล่นๆ ถ้าเราสามารถวางรากฐานพัฒนาโครงสร้างข้อมูลดิจิทัลเพื่อธุรกิจได้สำเร็จ แค่ 5% ตีเป็นจีดีพี ก็ราวๆ 8 แสนล้านบาท นี่ทำให้ประเทศไทยมีผลิตภาพสูงขึ้นชัดเจน

 

ปลดล็อกข้อมูลแต่เข้มข้นเรื่อง Privacy

แต่การปลดล็อกเรื่องนี้จะทำอย่างไรไม่ให้ละเมิดหลักการเรื่อง Privacy หรือสิทธิข้อมูลส่วนบุคคล ชัยวัฒน์ กล่าวว่า มันมีการคุ้มครองข้อมูล 3 ชั้น เริ่มจากกฏหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล และสิทธิในการควบคุมข้อมูลของประชาชน นอกจากนี้เรื่องเทคโนโลยีและวิธีการที่จะเข้ามาใช้ อันนี้รัฐจะเข้ามาจัดการ ดูเรื่องการจัดการเรื่องการยินยอมในระดับเทคโนโลยี วัตถุประสงค์การใช้ของเจ้าของข้อมูล สุดท้ายคือระดับธุรกิจที่จะเอาไปใช้ว่าจะจัดการเรื่องนี้อย่างไร

คุยถึงเรื่องนี้ก็ลองให้ชัยวัฒน์ลองเสนอวิธีแก้ปัญหาแก็งคอลเซ็นเตอร์ที่กำลังระบาดอย่างหนักในไทยมาอย่างยาวนานและไม่มีท่าทีลดลง ชัยวัฒน์ระบุว่า อันดับแรก ดูความเสียหายที่เกิดขึ้นแล้ว ต้องทำอย่างไรที่จะให้ผู้เสียหายได้เงินคืนกลับมาโดยเร็วที่สุด ได้รับชดเชยเยียวยาเร็วที่สุด อันนี้ต้องให้มีช่องทางติดต่อ อาจต้องมีฮอตไลน์เบอร์เดียว โทรเข้ามาศูนย์กลาง เป็นผู้ประสานงานธนาคาร เพราะการถูกคอลเซ็นเตอร์หลอก ก็อาจมีธนาคารที่เกี่ยวข้องมากกว่า 1 ธนาคาร คือต้นทางและปลายทาง การติดตามเส้นทางการเงินต้องใช้หลายธนาคารและต้องร่วมมือกัน เพื่อระงับเหตุ หรือหาวิธีชดใช้เยียวยา นำเงินคืนผู้เสียหายเร็วสุด

เรื่องที่สองจะต้องหาวิธีป้องกันไม่ให้เกิดซ้ำ เช่นขั้นตอนการป้องกันก่อนโอนเงิน ต้องมีวิธีการเตือน ว่าคุณกำลังทำธุรกรรมที่เสี่ยงกับการถูกหลอก เช่นการทำธุรกรรมบัญชีนอกรายการโปรดจะมีการเด้งเตือนก่อนทุกครั้งอย่างนี้เป็นต้น อาจจะช่วยป้องกันได้ระดับหนึ่ง และที่สามคือจะต้องแก้ปัญหาที่ต้นตอ เรื่องนี้ หน่วยงานบังคับใช้กฏหมายหลายหน่วย รู้สาเหตุ รู่ต้นตอเช่นกรณีทุนสีเทาจากต่างประเทศเข้ามาเกี่ยวข้อง มีการปฏิบัติงานโทรมาจากต่างประเทศโดยให้คนไทยโทรกลับมา เรื่องนี้ต้องปิดกั้นต้นทางที่ต้องสงสัย ตามจับตามทลายที่ต้นตอ โดยประสานงานอย่างจริงจังกับต่างประเทศ

อนาคตการธนาคาร

เมื่อถามว่าก้าวไกลมีนโยบายรองรับการเปลี่ยนระบบการธนาคารและการเงินในอนาคตอย่างไร? ชัยวัฒน์เล่าว่า ก้าวไกลมองว่า Virtual bank หรือธนาคารพาณิชย์ที่ดำเนินธุรกรรมแบบดิจิทัลจะเข้ามาเพิ่มการแข่งขันในภาคธนาคาร ส่วนตัวมองว่าธนาคารไทยแข่งขันกันมากอยู่แล้ว บริการ Payment ของไทยจริงๆติดอันดับท็อปของโลก ประเทศเจริญแล้วบางประเทศยังสู้เราไม่ได้ อันนี้ต้องยอมรับว่าเป็นความสามารถในการแข่งขันกันพัฒนาของธนาคารไทยที่มีมาโดยตลอด แต่การแข่งขันของธนาคารไทย อาจจะอยู่ใน Area ที่เขาแข่งกันซ้ำๆ โดยที่ไม่ได้ขยายไปสู่ Area ใหม่ๆจากข้อจำกัดเช่นการไม่คุ้มต้นทุนที่จะแข่งขันในอีก Area หนึ่ง

ตรงนี้พรรคก้าวไกลมองว่าใน Area ที่ธนาคารเดิมยังไม่เข้าไปแข่งขัน ก้าวไกลอยากให้มีผู้เล่นใหม่ๆเข้าไปแข่งตรงนั้น

ลองชวนคุยถึงความฝัน หากก้าวไกลได้เป็นรัฐบาลครบ 4 ปี คนไทยจะเห็นอะไรเกิดขึ้นในประเทศ ชัยวัฒน์เล่าความฝันของเขาว่า ถ้าก้าวไกลได้เป็นรัฐบาล จะได้เห็นการกระจายอำนาจของรัฐ การเปิดข้อมูลภาครัฐให้โปร่งใส ตรวจสอบได้ ลดคอร์รัปชั่น ท้องถิ่นมีอำนาจจัดการงบประมาณ แก้ปัญหาของท้องถิ่นเองได้ คนในท้องถิ่นก็สามารถตรวจสอบการบริหารงานขององค์การปกครองส่วนท้องถิ่น

เรื่องพื้นฐานง่ายๆอย่าง น้ำประปาสะอาด ดื่มได้ ต้องเกิดขึ้นทั่วประเทศ อากาศที่บริสุทธิ์ ต้องเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชน ใช้กลไกกฏหมายเข้าไปกดดันการเผา ต่อรองประเทศเพื่อนบ้าน ต้องไม่ให้มีสินค้าที่เกี่ยวข้องกับการเผาไหม้ทางการเกษตรเข้ามาในประเทศ กดดันกลุ่มทุนที่มีส่วนก่อให้เกิดการเผาจนเกิดปัญหา PM2.5

คนไทยต้องแข็งแกร่ง ประเทศไทยมีเทคโนโลยีที่ดีขึ้น โดยรัฐจะต้องเป็นผู้สนับสนุนให้เกิดการเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดี เช่นกรณีการเปลี่ยนจากทีวีอนาล็อกเป็นดิจิทัล ที่รัฐสนับสนุนเงินในการซื้อกล่องดิจิทัล แต่ต้องใช้วิธีคิดว่า กล่องนั้นต้องผลิตในประเทศ มีคนไทยเป็นคนผลิต ออกแบบ หรือเขียนโปรแกรม ซึ่งจะก่อให้เกิดการแข่งขัน เกิดการจ้างงานภาคเอกชน สร้างเป็นเทคโนโลนีของไทยเอง หรือกรณีแนวคิดการสร้างรถเมล์ไฟฟ้าทั่วประเทศเพื่อแก้ปัญหาขนส่งและสิ่งแวดล้อม รัฐก็ต้องกำหนด Value chain ขึ้นมาในประเทศทั้งหมด ตั้งแต่การผลิตมอเตอร์ โปรแกรม ซอฟแวร์ต่างๆ เทคโนโลยีที่คนไทยพัฒนาขึ้น นี่จะเป็นการพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันที่จะเอาไปต่อสู้กับต่างประเทศได้ เรื่องนี้เป็นสิ่งที่รัฐสามารถทำได้แต่ไม่ได้ทำมานาน ถ้าก้าวไกลได้เป็นรัฐบาล จะเกิดสิ่งเหล่านี้ ที่จะต่อสู้ แข่งขันกับภายนอกได้

ประเทศไทยต้องไม่เหมือนเดิม

“ผมว่าประเทศไทยไม่เหมือนประเทศอื่นในโลก การบอกว่าจะให้ไทยเป็นเหมือนประเทศไหน คงเป็นไปไม่ได้ แต่ถ้าเรามองว่า ใน Area นี้ เราอยากจะเป็นแบบนี้ ใน Area อื่น เราอยากจะเป็นแบบไหน อย่างนี้คงพอเป็นไปได้ ในบริบทด้านเศรษฐกิจคงไม่ต้องไปดูที่ไหนไกล ดูแค่ในเอเชียด้วยกัน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ หรือ ไต้หวัน ที่ปัจจุบันผลิตชิปชั้นนำของโลก หรือ จีนที่จากโรงงานของโลก กลายเป็นผู้พัฒนาเทคโนโลยีเอง ทุกวันนี้บ้านของเราทุกคนอย่างน้อยก็มีเครื่องฟอกอากาศจากจีน เกาหลีใต้ที่แต่ก่อนเท่าเทียมกับไทยตอนนี้ก็เป็นเรื่องการส่งออกวัฒนธรรม ที่ไทยสามารถเร่งตามหรือนำเป็นแบบอย่างการพัฒนาเศรษฐกิจได้” ชัยวัฒน์ กล่าว

โครงสร้างเศรษฐกิจดิจิทัลที่พรรคก้าวไกลออยากทำคืออะไรบ้าง ชัยวัฒน์เล่าเรื่องการเสนอแนวคิดการพัฒนา ระบุว่า โครงสร้างพื้นฐาน เรื่องแรกคือนโยบายแปลงข้อมูลเป็นขุมทรัพย์ ทั้งนี้โครงสร้างพื้นฐานเป็นสิ่งที่รัฐต้องสร้างและให้คนอื่นมาต่อยอดขึ้นไป ไม่ต้องให้มาแข่งกันที่ระดับโครงสร้างพื้นฐาน ยกตัวเอาเราสร้างถนน เพื่อให้บริการขนส่งโลจิสติกส์ต่างๆมาวิ่ง มาแข่งกันเรื่องการขนส่ง ไม่ใช่มาแข่งกันสร้างถนน หรือให้มีการสายการบินทำธุรกิจแข่งกัน แต่ไม่ใช่มาสร้างสนามบินแข่งกัน เป็นต้น

ขณะที่โลกดิจิทัล ตอนนี้แทบทุกคนเข้าถึงอินเตอร์เน็ตได้หมดแล้ว แต่สิ่งที่จะทำให้เกิดการสร้างเศรษฐกิจดิจิทัล การสร้าง Value chain ใหม่ๆ ปัญหามันคือการขาดข้อมูล บริษัทฟินเทคใหม่ๆ ที่เพิ่งตั้ง สู้บริษัทเก่าไม่ได้ เพราะไม่มีการเก็บข้อมูลลูกค้า ไม่รู้ว่าลูกค้ากลุ่มไหนเป็นอย่างไร เหล่านี้ ถ้ารัฐสามารถจัดการให้กลายเป็นโครงสร้างพื้นฐานได้ มันจะเพิ่มผู้เล่น ลดกำแพง ทำให้เกิดผู้เล่นใหม่ๆได้มากมาย โดยที่ไม่ต้องมาแข่งกันว่าใครเก็บข้อมูลได้มากกว่ากัน การกอดข้อมูลไว้ ไม่ยอมปล่อยข้อมูลที่มีประโยชน์ออกมา ต่างคนต่างหวง รัฐจึงต้องทำให้เรื่องนี้กลายเป็นโครงสร้างพื้นฐานของประชาชน ให้ใช้ประโยชน์ได้ในระดับจุลภาค โดยที่ประชาชนสามารถควบคุมได้ ให้การยินยอมก่อน ตรวจสอบได้ว่าข้อมูลมีใครเข้ามาใช้ เมื่อไหร่ วัตถุประสงค์อะไร

นี่คือการวางโครงสร้างพื้นฐานทางเศรษฐกิจดิจิทัลของพรรคก้าวไกล

Tokenized economy

อีกประการคือการทำ Tokenized economy มันเป็นศัพท์ใหม่ ก็คือโลกดิจิทัลกับโลกจริงโลกทางกายภาพเชื่อมกัน ยกตัวอย่าง เรามีคอนโด 1 ห้อง เราสามารถเอาคอนโดนั้นมาแสดงสิทธิ์ของมันบนโลกดิจิทัลด้วยอะไรได้ด้วยสิ่งที่เรียกว่า โทเคน และเราสามารถเอาคอนโด 1 ห้อง สิทธิ์ความเป็นเจ้าของนั้น หรือสิทธิ์ในการเก็บค่าเช่าคอนโดห้องนั้น เอามันมาซอยย่อยเป็นโทเคนเล็กๆ นี่คือกระบวนการที่เรียกว่า Tokenized เป็นการโยงโลกดิจิทัลกับโลกจริงว่าเราจะแสดงสิทธิ์ของโลกจริง ด้วยโทเคนในโลกดิจิทัลอย่างไร การเชื่อมสิ่งเหล่านี้เข้าด้วยกัน มันสามารถซอยย่อยสิทธิ์หรือสินทรัพย์บางอย่างให้เล็กลงได้มากๆ มันจะทำให้เกิดโอกาสใหม่ๆ ทำให้คนที่ไม่ได้เป็นมหาเศรษฐี ก็สามารถมีสิทธิ์ในการเป็นเจ้าของสินทรัพย์ หรือ มีโอกาสในการเก็บค่าเช่า ลงทุนบนสินทรัพย์บางอย่างได้ โดยที่เขาไม่จำเป็นต้องมีเงินมหาศาล ในอดีตมันทำไม่ได้ เพราะการทำแบบนี้มันใช้ต้นทุนมาก ไม่คุ้มถ้าทำเล็กๆ

Tokenized economy จะทำให้โอกาสในการเข้าถึงการลงทุนของคนตัวเล็กทำได้มากขึ้น สมเหตุสมผลกับทรัพย์สินที่เขามี เรื่องนี้ยังไม่เกิดขึ้นเร็วๆนี้ แต่คือการวาดภาพให้เห็นว่ามันจะเกิดขึ้นในอนาคต เพราะมันต้องใช้การวางโครงสร้างพื้นฐานเศรษฐกิจดิจิทัลอีกหลายๆอย่าง เพื่อมารองรับ

สำหรับโครงสร้างพื้นฐานเศรษฐกิจดิจิทัลของไทยเมื่อเทียบกับประเทศอื่นนั้น ของเราตอนนี้มุ่งเน้นไปที่การสื่อสารเป็นหลัก ก็ถือว่าทำได้ดีหากดูที่การเข้าถึงอินเตอร์เน็ตของประชากร ราคาค่าบริการ ก็ทำได้ค่อนข้างดี แต่ตรงนี้คือบริการเบื้องต้นปัญหาคือจะสร้างมูลค่าจากนี้ได้อย่างไร เรามีบริการดิจิทัล ระบบชำระเงินช่องทางดิจิทัลก็ค่อนข้างดี แต่สิ่งที่ต่อยอดมากกว่านั้น คือการใช้บริการสาธารณะต่างๆ จะต้องสะดวกรวดเร็วมากกว่านี้ ต้องไปหาที่เดียวแล้วจบ ไปหาหมอที่ รพ. ก็สามารถปริ้นข้อมูลต่างๆมาดูได้ โดยไม่ต้องเดินทางไปค้นไปขอแฟ้มกระดาษ หรือฟิล์มเอ็กเรย์เป็นต้นที่ยังไม่เกิดขึ้น ถ้าทำได้ก็ดี

ดิจิทัลไม่ใช่เพื่อความมั่นคง

เมื่อถามว่า ถ้าก้าวไกลเป็นรัฐบาลจะทำต่างจากรัฐบาลประยุทธ์ที่อยู่มาเกือบ 9 ปี อย่างไร ชัยวัฒน์ ระบุว่า 8 ปีที่ผ่านมา ประเทศไทยก็มีกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมอยู่ แต่ไปดูสิ่งที่กระทรวงนี้ทำ อาจจะไม่ได้ช่วยหาเงินให้ประเทศ หรือสร้างมูลค่า ช่วยให้ปากท้องของประชาชนดีขึ้นจากเศรษฐกิจดิจิทัลมากนัก ถ้าก้าวไกลเป็นรัฐบาล หน้าที่ของกระทรวงนี้จะต้องส่งเสริมให้เกิดเศรษฐกิจดิจิทัล สร้างมูลค่าให้โลกเศรษฐกิจดิจิทัล ไม่ใช่เน้นเรื่องความมั่นคงเป็นหลัก ที่ผ่านมาเน้นความมั่นคงซะเยอะ และใช้งบประมาณค่อนข้างมาก ก้าวไกลจะใช้กระทรวงนี้สร้างโครงสร้างพื้นฐานเศรษฐกิจดิจิทัลจริงๆ ให้เกิดขึ้นจริงๆ ทำให้เกิดเป็นรูปธรรมคือการใช้ข้อมูลมาพัฒนาเศรษฐกิจ เชื่อมโยงข้อมูลกันจนกลายเป็น Data economy นี่จะทำให้เกิดมูลค่าเศรษฐกิจดิจิทัลจริงๆ

ชัยวัฒน์เสนอว่า จะต้องมีการตั้งหน่วยงานกลางขึ้นมาเพื่อผลักดันการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัล เพื่อทำให้เอกชนไม่แข่งขันกันกอดข้อมูลของตัวเอง มุ่งเก็บข้อมูลของตัวเองไว้ แต่จะเอาข้อมูลตรงนี้มารวมกันและหาวิธีสร้างประโยชน์ รัฐจะสร้างถนนให้ และเอกชนเอาไปใช้ประโยชน์

เมื่อถามถึงความเห็นเกี่ยวกับกระแสบล็อกเชนว่าจะมีโอกาสเกิดขึ้นมากน้อยเพียงใดในไทย พรรคการเมืองเริ่มนำมาหาเสียง และก้าวไกลมองเรื่องนี้อย่างไร ชัยวัฒน์เล่าว่า บล็อกเชนคือเทคโนโลยีที่สำคัญ เป็นเทคโนโลยีที่ติดท็อปเทรนด์ของโลกมาตั้งแต่ปี 2017-2018 หลักคือการเพื่อแก้ปัญหาการทำงานแบบไร้ตัวกลาง ไปจนถึงไม่ต้องเชื่อตัวกลาง แต่บล็อกเชนไม่ได้แก้ได้ทุกปัญหา จากโครงสร้างการทำงานการบริหารของรัฐเป็นตัวกลาง การจะเอาเทคโนโลยีนี้มาแก้โจทย์เพื่อไม่ต้องใช้ตัวกลาง ก็ต้องดูบริบทของโจทย์นั้นด้วย บล็อกเชนเหมาะที่จะเอามาเป็นโครงสร้างพื้นฐานทางดิจิทัลหรือไม่? ก็ต้องถามว่าจะเอามันใช้ทำอะไร

สิ่งที่บล็อกเชนเหมาะ เช่นการตรวจสอบเอกสารต่างๆที่เป็นเอกสารดิจิทัล ออกจากจากหน่วยงานจริงไหม? มันไม่ได้เอามาใช้ทุกวงการ อย่างเรื่อง เฮลแคร์ ที่เราไม่ต้องการให้มีใครมาแก้ไขอยู่แล้ว คำถามคือจะดึงข้อมูลมายังไง โดยไม่ถูกแก้ไข แบบนี้บล็อกเชนจะเหมาะ เพราะมันโปร่งใส ตรวจสอบที่มาที่ไปได้ ไม่ต้องมีตัวกลาง ที่คือโจทย์ที่อาจเอาบล็อกเชนมาใช้กับการเก็บข้อมูล ประวัติ เรื่องสุขภาพ แต่นี่อาจไม่ใช่ระดับโครงสร้างพื้นฐานทางเศรษฐกิจดิจิทัลขนาดนั้น เพราะตัวบล็อกเชนเองมีหลายแบบ เราคงไม่ได้ทำเพื่อเซอร์วิสเอกชน

การแก้ปัญหาโดยใช้เทคโนโลยี ต้องบอกว่าเทคโนโลยีมาทีหลัง ต้องดูปัญหาก่อนว่าปัญหานั้นมันเหมาะที่จะแก้ไขอย่างไร ตัวบล็อกเชนอาจไม่ได้อยู่ในนโยบายของพรรคก้าวไกล แต่ไม่ใช่ว่าเราไม่รู้จักไม่เข้าใจบล็อกเชน แต่เรามองว่าปัญหาที่รัฐต้องแก้ตอนนี้ บล็อกเชน อาจจะไม่สามารถนำมาใช้แล้วเกิดประสิทธิภาพ

ส่วนเรื่องการเอาบล็อกเชนมาทำกับนโยบายกระเป๋าเงินดิจิทัลซึ่งเป็นนโยบายดังของพรรคการเมืองหนึ่งนั้น ชัยวัฒน์มองว่า นโยบายนี้เป้าหมายคือการกระตุ้นเศรษฐกิจ ใส่ผ่านดิจิทัลวอลเล็ตให้คนจับจ่ายใช้สอย ทั้งนี้ ตัวดิจิทัลวอลเล็ตสามารถมีได้หลายรูปแบบ ตัวที่จะทำขึ้นใหม่จะต่างกับเป๋าตังอย่างไร ส่วนตัวมองว่าโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลอยู่ที่ตัวเงินมากกว่า