การเมืองไทยจากปีเสือสู่ปีกระต่าย โดย พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์

(Photo by Lillian SUWANRUMPHA / AFP)

เรากำลังเข้าปีกระต่ายซึ่งในทางการเมืองผมค่อนข้างเห็นด้วยกับโหรส่วนใหญ่

ว่าจะเป็นปีที่ค่อนข้างวุ่นวายอยู่สักหน่อย เพราะมีเหตุปัจจัยหลายอย่างที่น่าจะมีผลต่อการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง

แต่ก่อนที่จะไปสู่การมองในเรื่องการเมืองในปีนี้ (ซึ่งผมก็พูดไว้บ้างแล้วในช่วงปลายปีที่แล้วหลายชิ้น) ผมคิดว่าการมองย้อนกลับไปในเรื่องการเมืองในปีที่ผ่านมาน่าจะทำให้เราได้ตั้งหลักมองการเมืองในปีนี้ด้วยความเป็นจริง และมีความหวังเล็กๆ น้อยๆ

แม้ว่าในบางส่วนผมอาจจะยังไม่รู้สึกว่าแค่ความหวังจะเพียงพอต่อการเปลี่ยนแปลงก็ตาม

เรื่องแรกที่ผมคิดว่าสำคัญคือการเสื่อมความชอบธรรมของระบอบการปกครองที่ดำรงอยู่ในสังคมไทยทุกมิติและทุกระดับชั้น

ถามว่าเสื่อมจนถึงขั้นไหน

ตอบว่าเสื่อมจนถึงขั้นที่ต้องกำหนดยุทธศาสตร์ใหม่ในการครองอำนาจ โดยการแยกทางกันเดินของประยุทธ์กับประวิตร โดยประยุทธ์ไปอยู่กับพรรคใหม่อย่างรวมไทยสร้างชาติ และประวิตรยังคงกุมบังเหียนของพลังประชารัฐ

แน่นอนว่าสองพรรคนี้ยังคงไปด้วยกันได้ แต่ในยุทธศาสตร์ระยะสั้น จำเป็นต้องแยกกันตีไปก่อน

แล้วค่อยมาบรรจบกันในทีหลัง เพราะต่างฝ่ายต่างแชร์ทรัพยากรทางอำนาจหลายเรื่องด้วยกัน ทั้งในส่วนของตัว ส.ว.และในส่วนของเงื่อนไขเชิงอุดมการณ์ทางการเมืองบางประการที่เป็นที่รับรู้โดยทั่วไป

แต่เงื่อนไขที่ทำให้แยกกันเดินมีความสำคัญยิ่ง เพราะชี้ให้เห็นว่าประยุทธ์ไม่ได้รับการยอมรับจากนักการเมืองบางส่วนอย่างชัดแจ้ง เมื่อพิจารณาจากการปะทะกับนักการเมืองบางคนบางกลุ่มทั้งที่ “แตกหัก” และทั้งที่ยังคุกรุ่นอยู่ในพลังประชารัฐ

และเป็นทั้งระดับบัญชีรายชื่อและในระดับเขต ซึ่งหมายความว่าชื่อของประยุทธ์นั้นไม่สามารถขายได้อย่างเบ็ดเสร็จทั้งในระดับพรรคและระดับพื้นที่เสมอไป

แต่ก็ใช่ว่าชื่อของประยุทธ์จะขายไม่ได้เลย เพราะยังมีนักการเมืองอีกกลุ่มหนึ่งที่เชื่อว่าเมื่อประยุทธ์ออกมาร่วมกับพรรคใหม่แล้ว อาจจะได้คะแนนนิยมทั้งจากบัญชีรายชื่อ (คือได้ความนิยมระดับพรรค) และได้คะแนนนิยมระดับเขตด้วย อย่างกรณีของการย้ายมารวมกันของรวมไทยสร้างชาติ

ที่น่าอัศจรรย์ใจก็คือ นักการเมืองจำนวนมากที่เข้ามาอยู่กับคุณประยุทธ์ในรอบนี้คือประชาธิปัตย์ โดยเฉพาะประชาธิปัตย์ฝั่ง กปปส.ด้วย ซึ่งโดยภาพรวมแล้วไม่พบร่องรอยการแตกหักของประชาธิปัตย์ด้วยกันเอง และประชาธิปัตย์กับประยุทธ์

ผมคิดว่าเอาจริงแล้ว ประชาธิปัตย์นั้นเป็นพรรคที่มากกว่าพรรคสนับสนุนระบอบ (pro-regime party) อย่างพลังประชารัฐ แต่เป็นพรรคสนับสนุนประยุทธ์โดยตรง (pro-Prayuth party)

จะหาหลักฐานในการวิจารณ์ประยุทธ์นี่น้อยมาก และก็ดูเหมือนเป็นพรรคที่ประยุทธ์เกรงใจอยู่ในระดับมาก แทบจะไม่เห็นความร้าวฉานของทั้งสองฝ่าย

ย้อนมาพิจารณาในภาพรวมจะพบว่า สิ่งที่ผมเน้นในประเด็นที่กล่าวมาได้แก่เรื่องที่ว่าระบอบการเมืองที่เป็นอยู่นั้นไม่ได้เห็นหัวประชาชน และเสียงวิพากษ์วิจารณ์มากนัก ใครโต้เถียงวิจารณ์ก็เล่นเขาด้วยคดีความปิดปากไปเป็นระยะ

แต่สิ่งที่เห็นก็คือเกมการเมืองของนักการเมืองเองกับระบอบการเมืองที่เป็นอยู่ก็ไม่ได้ราบรื่นมากนัก อย่างน้อยการต่อรองและกดดันของนักการเมืองขั้วรัฐบาลที่มีต่อประยุทธ์นั้นเห็นได้ว่าไม่ได้ยอมจำนนต่ออำนาจ เฉกเช่นเดียวกับยุครัฐประหารเต็มใบ คือ ไม่หือไม่อือใดๆ ไม่วิพากษ์วิจารณ์ ยอมรอเวลาเพื่อเลือกตั้ง

แต่ในวันนี้ การต่อรองของนักการเมืองฝ่ายรัฐบาลกับตัวประยุทธ์เองมีความชัดเจนมากขึ้น และยิ่งเห็นว่าพลังประชารัฐที่ผ่านมาเสียเปรียบมากเพราะแม้จะเป็นนั่งร้านที่ภักดีกับประยุทธ์มาตลอด แต่ประยุทธ์ก็แทบไม่ได้เห็นหัว แถมยังดึงเอาโควต้ากระทรวงสำคัญไว้ใกล้ตัวอีกต่างหาก

การที่ ส.ส.หลายท่านในพลังประชารัฐแสดงความกังวลว่าหากโหนชื่อประยุทธ์ในการเลือกตั้งครั้งหน้าแล้วจะไม่ได้รับการเลือกตั้งง่ายๆ เป็นสิ่งที่น่าประหลาดใจ เพราะส่วนหนึ่งย่อมสะท้อนความเปราะบางของระบอบการเมืองในวันนี้ที่ไม่ได้แปลว่าระบอบประยุทธ์นั้นจะครองอำนาจได้อย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาดอีกต่อไป

แต่ก็ยังไม่ได้หมายความเกินเลยไปถึงขั้นที่ว่าพวกเขาจะไม่กลับมาร่วมกันอีก

และเรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องของการแตกแบงก์พันเหมือนกับเพื่อไทยและไทยรักษาชาติในรอบที่แล้ว เพราะคราวที่แล้วเป็นเรื่องการคำนวณความเป็นไปได้ในชัยชนะของสองพื้นที่ที่สนับสนุนทักษิณทั้งสิ้น

แต่ในรอบนี้กรณีของประยุทธ์ เป็นการแสดงอาการหนีตายจากการโหนประยุทธ์ช่วงเลือกตั้ง กับพวกที่พร้อมตายกับประยุทธ์ในบางพื้นที่ ที่เชื่อว่าเป็นพื้นที่ที่ประยุทธ์ไม่น่าตาย

ในส่วนที่สอง ผมคิดว่าภาพรวมของสภาชุดนี้เป็นที่น่าพอใจ โดยเฉพาะในระดับสภาผู้แทนราษฎร และอยากชวนคิดให้เห็นว่าระบอบการปกครองแบบรัฐสภานั้นมีความหวังและมีความตั้งมั่นพอสมควรในประเทศไทย

แม้จะเห็นเกมการเมือง และการแบ่งขั้วค่ายในการสนับสนุนประยุทธ์และโครงสร้างอำนาจ แต่จากการเปิดเผยข้อมูลของ ilaw จะพบว่าสภาผู้แทนราษฎรชุดนี้มีเอกภาพในระดับหนึ่งในการแก้รัฐธรรมนูญ ที่ไปให้พ้นจากโครงสร้างที่ดำรงอยู่ซึ่งเป็นผลจากการกำหนดกติกาฝ่ายเดียวของคณะรัฐประหารและเครือข่าย อย่างน้อยในแง่ของการกำหนดกติกากับนับคะแนน

โดยสรุปแล้วด่านสำคัญที่ไม่ทำให้การเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นจะไปอยู่ที่วุฒิสมาชิกเสียมากกว่า ซึ่งจนถึงวันนี้ระดับของการยอมรับและให้ค่าที่สังคมมีให้ก็ไม่ได้สูงเท่าไหร่ แต่ก็ดูเหมือนว่าพวกเขาจะไม่ได้แคร์มากนัก

เว้นแต่บางคนที่พยายามหาทางที่จะสร้างความสมดุลระหว่างอุดมการณ์ของตนกับการทำงานเพื่อบ้านเมืองที่ต้องทำงานกับฝ่ายอื่นๆ แต่คนจำนวนนี้ยังมีไม่มากพอที่จะนำการเปลี่ยนแปลง หรือจะยอมให้บ้านเมืองมีความเปลี่ยนแปลงได้

และในอีกด้านหนึ่ง เราต้องพยายามข้ามพ้นจากการดูการเมืองในสภาแบบคู่ขัดแย้งในสภาผู้แทนแบบไม่ร่วมมือกันเลย แต่ต้องจับตาและสนับสนุนให้พวกเขาทั้งสองขั้วทำงานร่วมกันในระบบกรรมาธิการให้ดี ซึ่งหลายเรื่องก็พบว่าระบบกรรมาธิการนั้นก็พยายามทำงานอย่างเต็มที่

ผมคิดว่าประชาชนควรสนใจเรื่องการทำงานของสภาที่มากไปกว่าเรื่องการอภิปรายไว้วางใจ เพราะมันมีลักษณะของการแสดงและลักษณะชั่วคราวมากกว่าเรื่องราวของการทำงานในเรื่องระบบกรรมาธิการ และการขับเคลื่อนร่างกฎหมาย ซึ่งเรายังไม่ค่อยเห็นภาพในส่วนนี้มากนัก และสื่อเองก็ไม่เคยทำข่าวเรื่องนี้อย่างเป็นระบบ

ในส่วนที่สามคือ องค์กรอิสระ ซึ่งผมคิดว่าปีนี้ในหลายส่วนก็ยังคงเส้นคงวากับการไม่เป็นที่พึ่งของประชาชนมากนัก แต่ที่น่ากังวลใจกว่าก็คือประชาชนกลับรู้สึกไม่คาดหวังกับองค์กรเหล่านี้มากขึ้นเรื่อยๆ

ในความหมายที่ว่าประชาชนไม่รู้สึกว่าองค์กรอิสระรวมทั้งระบบยุติธรรมในภาพรวมนั้นเชื่อมโยงในทางบวกกับพวกเขา แต่ยืนคนละฝ่ายกับพวกเขาและสนับสนุนโครงสร้างอำนาจที่มีอยู่อย่างชัดแจ้ง

แต่ประชาชนก็เริ่มเข้าใจมากขึ้นว่าภายในองค์กรอิสระเหล่านั้นยังพอมีเสียงข้างน้อย (ที่น้อยมากๆ) ที่ไม่เห็นด้วยกับแนวทางขององค์กรอิสระเหล่านั้น อย่างที่เห็นในคำพิพากษาของศาลรัฐธรรมนูญเป็นต้น

ความท้าทายจึงอยู่ที่กระบวนการในอนาคตที่จะทำให้สังคมมีส่วนกำหนดการคัดสรรองค์กรอิสระที่สะท้อนความหลากหลายของเสียงและมุมมองเข้าไปทำงานในองค์กรเหล่านั้นให้ได้มากที่สุด ไม่ใช่ให้เทไปฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเสียทั้งหมด แต่ต้องทำให้องค์กรเป็นที่ยอมรับร่วมกันทุกฝ่าย

ซึ่งความเข้าใจในเรื่องการยอมรับทุกฝ่ายนั้นหมายถึงว่าความเป็นกลางต้องเกิดจากการสะท้อนมุมมองที่หลากหลายและเข้าอกเข้าใจด้วย ไม่ใช่เชื่อง่ายๆ ว่าองค์กรอิสระต้องอิงกับประชาชนเท่านั้น เพราะความเป็นประชาชนนั้นค่อนข้างนามธรรมมาก กว่าการสร้างความเข้าอกเข้าใจของแต่ละฝ่ายที่จะอยู่ร่วมกันได้

ประการสุดท้ายในสัปดาห์นี้ก็คือ บทบาทของการต่อต้านท้าทายรัฐบาลและระบอบการเมืองนี้ ซึ่งผมคิดว่าค่อนข้างอ่อนแรง ไม่ใช่เพราะไม่เป็นที่นิยม

แต่พวกเขาอ่อนล้าจากการต่อสู้อันยาว นานกับระบอบการเมืองที่เป็นอยู่ และถูกลากพาไปด้วยคดีความมากมายที่จุดประสงค์ใหญ่คือทอนพลังและปลูกฝังความกลัวให้กับผู้คนทั้งที่เป็นแกนนำและผู้สนับสนุน

แต่ความอ่อนล้านี้ไม่ใช่ความอ่อนล้าที่จะพ่ายแพ้ เพียงแต่มันเป็นเรื่องการจัดวางความสัมพันธ์ของการต่อสู้ทางการเมืองที่ยืดเยื้อยาวนาน และเงื่อนไขความคาดหวังที่จะมีกับการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นในปีนี้

จากที่คิดง่ายๆ ว่า จะหยุดการต่อสู้ใหญ่แล้วมุ่งไปที่การเลือกตั้ง

ไปสู่การจัดวางความสัมพันธ์ระหว่างการเลือกตั้งและการขับเคลื่อนขบวนทั้งก่อนการเลือกตั้ง ระหว่างการเลือกตั้ง และหลังการเลือกตั้ง

จากเดิมที่การขับเคลื่อนขบวนเป็นเรื่องของการต่อสู้ก่อนการเลือกตั้ง สู้เพื่อให้มีการเลือกตั้งและก้าวพ้นสิ่งที่นักการเมืองจากการเลือกตั้งไม่ได้ทำ

คราวนี้ผมคิดว่าการขับเคลื่อนทางการเมืองของภาคประชาชนจะมีความซับซ้อนมากขึ้น และจะหลายเป็นพลังสำคัญที่พลังการเมืองในสภาต้องรับฟัง และจะมีการทำงานร่วมกันมากขึ้น ในการขับเคลื่อนประเด็นต่างๆ ทั้งในแง่ของการปรับเปลี่ยนกฎหมาย และในการต่อสู้กับฝ่ายรัฐบาลในมิติอื่นๆ

ส่วนในปีนี้ ผมยังเชื่อว่าระบอบการเมืองที่ดำรงอยู่ยังสามารถดำเนินต่อไปได้ แต่จะยิ่งเดินหน้าไปในลักษณะที่เสื่อมถอยลง เพราะจะต้องรักษาอำนาจด้วยกลยุทธ์ในการรักษาอำนาจที่ค้านกับความรู้สึกของประชาชนมากกว่าเรื่อยๆ

ประเด็นท้าทายมันเชื่อมโยงกับประเด็นที่แล้วก็คือ พลังของฝ่ายที่ต่อต้านระบอบและรัฐบาลจะแสดงออกอย่างไรท่ามกลางภาพรวมที่ยังถูกกดเอาไว้ และทางฝ่ายระบอบที่ครองอำนาจและรัฐบาลจะจัดความสัมพันธ์อย่างไรให้ไม่ละเลยความไม่พอใจและไม่มองว่าฝ่ายที่ไม่เอารัฐบาลนี้เป็นศัตรูที่จะต้องต่อสู้ทำลายไปเสียทั้งหมด

การยอมรับความไม่พอใจและน้อมรับข้อเสนอที่เปลี่ยนแปลงประเทศไปในทางที่ดีแทนที่จะไม่รับฟังเอาเสียเลย และการยอมถอยลงบ้างในหลายเรื่องน่าจะทำให้สังคมพอเดินไปได้ แม้ว่าความสมานฉันท์ในสังคมนี้คงไม่ใช่เรื่องที่เกิดขึ้นง่ายๆ

ในมุมของผมเชื่อว่าปีนี้คงบู๊กันหนักในทางความคิดและในเกมกติกา เพราะต่างเรียนรู้กันมาหลายยก ความแตกหักของสังคมถ้าจะมีขึ้นคงเป็นผลจากผลการเลือกตั้งซึ่งยังใช้เวลาอีกหลายเดือนนับจากวันนี้ แต่คิดว่าความแตกหักไม่น่าจะเกิดง่ายๆ เว้นแต่ระบอบนี้กับรัฐบาลนี้จะเสียสติหรือลุแก่อำนาจ

แต่อย่างไรก็ดี ประชาชนก็เหนื่อยเหมือนเดิมครับ