สุรชาติ บำรุงสุข : เจาะเวลาหาอดีต! ย้อนยุคการเมืองกึ่งศตวรรษ

ศ.กิตติคุณ ดร.สุรชาติ บำรุงสุข

“สงครามหรือรัฐประหารส่วนใหญ่มักจะกระทำในนามของประชาธิปไตยเพื่อล้มล้างประชาธิปไตย”

Eduardo Galeano

นักเคลื่อนไหวชาวอุรุกวัย

ในขณะที่สังคมไทยกำลังสนุกสนานเพลิดเพลินกับจินตนาการย้อนยุคของละครโทรทัศน์อย่างบุพเพสันนิวาสนั้น การเมืองไทยปัจจุบันดูจะส่งสัญญาณถึงการย้อนยุคมากกว่า

อย่างไรก็ตาม การย้อนยุคของละครโทรทัศน์เป็นเรื่องจินตนาการ

แต่การย้อนยุคของการเมืองไทยเป็นเรื่องจริง และเป็นเรื่องจริงที่สังคมไทยกำลังเผชิญ…

เวลาที่เราดูละครย้อนยุคอาจจะเป็นเรื่องสนุกที่เวลาโบยบินกลับสู่อดีต

แต่เวลาดูการเมืองย้อนยุคกลับเป็นเรื่องน่าเศร้า เพราะบ่งบอกถึงการเมืองที่ไม่อาจนำพาประเทศไปสู่อนาคตได้

การเมืองที่กำลังย้อนยุคเช่นนี้ทำให้ การประเมินอนาคตของนักสังเกตการณ์การเมืองไทยอาจจะไม่แตกต่างกันมากนักว่า

ผู้นำรัฐบาลทหารมีความฝันอย่างที่พอจะคาดเดาได้ว่าหลังจากการเลือกตั้งแล้ว พวกเขาอยากพาการเมืองไทยกลับสู่ยุค “ประชาธิปไตยครึ่งใบ” ที่มี พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ เป็นนายกรัฐมนตรี เพราะในยุคดังกล่าว

รัฐบาล พล.อ.เปรมมีอายุยาวนานถึง 8 ปี 5 เดือน (จากวันที่ 3 มีนาคม 2523 ถึงวันที่ 30 เมษายน 2531) ซึ่งถือได้ว่าเป็นหนึ่งในรัฐบาลที่มีอายุยืนยาวอย่างมากชุดหนึ่งในการเมืองไทย

ย้อนยุคสู่ปี 2501

แม้ในความเป็นจริงอาจจะมีข้อโต้แย้งว่า ผู้นำรัฐบาล คสช. อยากจะเป็น “รัฐบาลสฤษดิ์ 2” มากกว่าจะเป็น “รัฐบาลเปรม 2”

เพราะรัฐบาลจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เป็นรัฐบาลทหารที่มีอำนาจอย่างมาก หรือเป็นรัฐบาลเผด็จการทหารเต็มรูปที่สามารถใช้อำนาจได้ตามต้องการ จนดูจะเป็นเสมือนความฝันของผู้นำทหารที่ทำรัฐประหารในการเมืองไทยว่า พวกเขาอยากเป็น “จอมพลสฤษดิ์ 2”

แต่ในความเป็นจริงของสถานการณ์ภายนอกและภายในของโลกปัจจุบัน โอกาสจะเป็นรัฐบาลทหารเช่นในยุคของจอมพลสฤษดิ์เป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้เลย

ประกอบกับความเปลี่ยนแปลงของสังคมการเมืองไทยเองก็ไม่ได้อยู่ในตัวแบบปี 2500 ที่จะเอื้อให้ผู้นำทหารมีอำนาจอย่างไม่มีขีดจำกัด

หรืออีกนัยหนึ่งสังคมไทยเดินมาไกลเกินกว่าจะเปิดโอกาสให้ผู้นำทหารดำเนินการปกครองประเทศในแบบจอมพลสฤษดิ์ได้

และทั้งผู้นำทหาร คสช. เองก็ไม่ได้เข้มแข็งในแบบที่ทหารสามารถคุมการเมืองได้แบบเบ็ดเสร็จเช่นในยุคนั้น

ในความเป็นจริงแล้ว ขีดความสามารถในการควบคุมการเมืองของผู้นำทหารในยุคปัจจุบันไม่ได้เพิ่มมากขึ้น

เป็นแต่เพียงหลังจากความสำเร็จของการยึดอำนาจแล้วได้มีการสร้าง “บรรยากาศแห่งความกลัว” ด้วยการนำเอาผู้เห็นต่างไป “ปรับทัศนคติ”

และพยายามจะแสดงบทบาทในแบบของจอมพลสฤษดิ์ด้วยการใช้อำนาจตาม “มาตรา 44” อย่างกว้างขวาง เหมือนกับการใช้อำนาจตามมาตรา 17 ของจอมพลสฤษดิ์ในยุคหลังปี 2501

แต่การใช้อำนาจมาตรา 44 อย่างมากมายของ คสช. กลับสะท้อนให้เห็นอย่างเด่นชัดว่า ผู้นำทหารไม่สามารถควบคุมการเมืองได้

และต้องดำเนินการในแบบที่อิงอยู่กับการใช้ “อำนาจพิเศษ” เป็นเครื่องมือในการแก้ปัญหาแทบจะทุกเรื่องเรื่อยไป

นอกจากนี้ ความเปลี่ยนแปลงอย่างสำคัญยังเป็นผลจากพัฒนาการของสังคมไทยที่ไม่ได้อยู่ในยุคปี 2501 แต่ยุคปัจจุบันของปี 2561 ที่มีพัฒนาการหลายอย่าง

โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเติบโตของ “โลกออนไลน์” ที่เปลี่ยนวิถีความคิดของผู้คนทั่วโลก อันเท่ากับบ่งบอกอย่างชัดเจนว่า 60 ปีจากยุคของจอมพลสฤษดิ์สู่ยุค คสช. โลกของสังคมไทยเปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก

และโอกาสของการสถาปนาอำนาจในแบบ “รัฐบาลเผด็จการเบ็ดเสร็จ” (Totalitarianism) ก็เป็นตัวแบบที่ไม่ได้รับการยอมรับ อันส่งผลให้ความหวังที่จะเป็น “สฤษดิ์ 2” นั้นเป็นเพียง “ความฝัน” ของผู้นำรัฐบาลทหาร แม้พวกเขาจะพยายามแสดงท่วงทำนองในแบบของจอมพลสฤษดิ์

แต่โดยความเป็นจริงแล้วพวกเขาไม่อาจเดินกลับสู่โลกในปี 2501 ได้แต่อย่างใด

และที่สำคัญก็คือ รัฐบาลทหารไม่อาจอยู่ในอำนาจได้อย่างยาวนานในยุคปัจจุบัน

จะต้อง “ไม่เสียของ”!

ถ้ารัฐบาลทหารอยู่อย่างยาวนานไม่ได้ การเดินทางสู่การ “เปลี่ยนผ่านทางการเมือง” เป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่การจะเดินกลับสู่ยุคดังกล่าวก็เห็นทิศทางที่ชัดเจนว่า รัฐบาลทหารจะต้องควบคุมการเปลี่ยนผ่านทางการเมืองที่มีการเลือกตั้งเป็นองค์ประกอบสำคัญให้ได้

และหลักประกันของการควบคุมการเมืองก็คือ รัฐบาลทหารจะต้องเป็นผู้ชนะการเลือกตั้งเท่านั้น ไม่มีทางเลือกเป็นอย่างอื่น

เพราะหากรัฐบาลทหารแพ้ จะนำไปสู่การ “พ่ายแพ้ทางยุทธศาสตร์” ครั้งใหญ่ ที่จะส่งผลต่อพลังอำนาจและเครือข่ายของกลุ่มขวาจัดที่แสดงบทบาทในการสนับสนุนรัฐประหารมาโดยตลอด

ภายใต้การกำหนดว่ารัฐบาลทหารจะต้องชนะการเลือกตั้งให้ได้นั้น จึงมีการกำหนดมาตรการต่างๆ รองรับ ไม่ว่าจะเป็นการ

(1) การสร้างรัฐธรรมนูญเพื่อให้เป็นข้อจำกัดต่อพรรคการเมืองในอนาคต

(2) การสร้างกฎกติกาการเมืองและกฎหมายที่ไม่เอื้อการดำเนินการทางการเมืองของฝ่ายตรงข้ามรัฐบาล

(3) การออกยุทธศาสตร์ 20 ปีให้เป็นข้อบังคับให้พรรคการเมืองที่ชนะการเลือกตั้งไม่สามารถมีบทบาทในการเป็นผู้สร้างนโยบายใหม่ๆ ได้ แต่ต้องดำเนินการไปตามกรอบนโยบายที่กำหนดไว้ในยุทธศาสตร์ 20 ปี

(4) การกำหนดให้มีวุฒิสมาชิกจำนวน 250 คน ที่มาจากการแต่งตั้ง เพื่อรองรับต่อการสืบทอดอำนาจในอนาคต

(5) ออกคำสั่ง คสช. ให้ กอ.รมน. ซึ่งมีฐานะเป็นเสมือน “กระทรวงทหาร” มีบทบาทในการจัดตั้ง “รัฐบาลซ้อนรัฐบาล”

และ (6) จัดตั้ง “ทีมขับเคลื่อน” จำนวน 7,255 ทีม ตามโครงการไทยนิยมยั่งยืน ลงสู่หมู่บ้านทั่วประเทศ ซึ่งก็คือการจัดทีมของรัฐบาลทหารลง “ยึดพื้นที่” ก่อนที่การเลือกตั้งจะมาถึง

การสร้างมาตรการทั้ง 6 ประการเช่นนี้เห็นได้ชัดเจนว่า รัฐบาลทหารต้องการสร้างความได้เปรียบทางการเมือง และขณะเดียวกันก็เป็นหลักประกันว่าในระยะเปลี่ยนผ่านทางการเมืองที่เกิดขึ้นนั้น รัฐบาลทหารจะเป็นผู้ชนะ และจะเป็นผู้กำหนดทิศทางการเมืองไทยต่อไป

ประเด็นสำคัญก็คือ จะต้องไม่ปล่อยให้อำนาจทางการเมืองถอยกลับไปอยู่ในมือของรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเปลี่ยนผ่านทางการเมืองในอนาคตจะต้องไม่นำไปสู่สถานการณ์เช่นกรณีชัยชนะของพรรคเพื่อไทยหลังรัฐประหาร 2549 จนกลายเป็นวาทกรรมสำคัญในบรรดาปีกขวาทั้งหลายว่ารัฐประหารครั้งนั้นเป็นการ “เสียของ” เพราะไม่สามารถหยุดยั้งชัยชนะของพรรคการเมืองที่เพิ่งถูกโค่นล้มจากการรัฐประหารได้

ในสถานการณ์ที่รัฐบาลทหาร คสช. ตระหนักว่าในท้ายที่สุดแล้ว พวกเขาไม่สามารถดำรงอยู่ในอำนาจได้ตลอดไป และความฝันที่จะคุมอำนาจแบบ “เบ็ดเสร็จ” เช่นในยุคจอมพลสฤษดิ์ก็เป็นไปไม่ได้ด้วยแล้ว

การเตรียมการที่จะต้องเดินทางสู่การเปลี่ยนผ่านทางการเมืองจึงเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้

พวกเขาจึงสร้างมาตรการต่างๆ จนกติกาการเมืองไทยกลายเป็นความ “พิกลพิการ” ที่ไม่มีใครกล้าคาดเดาได้ว่าผลของการใช้จริงในอนาคตจะเป็นเช่นใด

แต่ความพิกลพิการทั้งหลายที่สะท้อนผ่านกฎหมายต่างๆ ล้วนบ่งบอกถึงการสร้างความได้เปรียบทางการเมืองที่จะต้องทำให้การเปลี่ยนผ่านที่เกิดขึ้นจะต้องไม่ทำให้เกิดอาการ “เสียของ” อีกครั้ง

มาตรการทั้งหกจึงเป็นดัง “สิ่งกีดขวาง” ทางการเมืองที่ถูกออกแบบเพื่อไม่ให้ประเทศไทยกลับสู่กระบวนการสร้างประชาธิปไตย และอำนาจทางการเมืองตลอดรวมถึงอำนาจในการกำหนดนโยบายจะต้องไม่ตกไปอยู่ในมือของพรรคการเมือง เว้นแต่จะเป็นพรรคของฝ่ายทหารเท่านั้น

ถอยกลับสู่ปี 2521

ถ้าความฝันที่จะเป็น “สฤษดิ์ 2” เป็นไปได้ยาก ผู้นำทหาร คสช. ก็ฝันว่าพวกเขาในอนาคตอยากเป็น “เปรม 2” เพื่อที่จะได้อยู่ในอำนาจได้อย่างยาวนานหลังการเปลี่ยนผ่าน การออกแบบรัฐธรรมนูญและกฎหมายต่างๆ ที่เกี่ยวข้องจึงเป็นไปในลักษณะของการสร้าง “ระบบพันธุ์ทาง” ในทางการเมือง หรืออาจะเรียกได้ว่าเป็นความพยายามในการสร้าง “ระบบไฮบริด” (Hybrid Regime) ให้เกิดขึ้นในอนาคต

สภาวะเช่นนี้ทำให้เกิดการตั้งข้อสังเกตถึงแนวคิดที่ปรากฏในรัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 ว่าได้รับอิทธิพลจากรัฐธรรมนูญฉบับปี 2521 จนอาจตั้งเป็นข้อสังเกตได้ว่าการเมืองในปี 2521 เป็นดัง “ต้นแบบ” ของรัฐบาลทหารที่จะสร้างระบบการเมืองที่เปิดโอกาสเพื่อให้รัฐบาลทหารอยู่ได้นานหลังจากการเปลี่ยนผ่านแล้ว หรือทำให้กระบวนการสืบทอดอำนาจเป็นไปโดยมีขั้นตอนทางกฎหมายรองรับ

แต่ในอีกด้านหนึ่งรัฐบาลทหารก็พยายามจะออกแบบการเมืองในลักษณะที่ทำให้การเมืองในภาคพลเรือนอ่อนแอ

และขณะเดียวกันก็เป็นความหวังในอนาคตว่าถ้าการเมืองในภาคพลเรือนซึ่งรวมถึงบทบาทของพรรคการเมืองและการมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชนเกิดความอ่อนแอแล้ว สิ่งนี้ก็จะกลายเป็นปัจจัยที่เอื้อให้รัฐบาลทหารอยู่ในอำนาจได้นานขึ้นด้วย

แต่ทั้งหมดนี้ก็ผูกโยงอยู่กับปมปัญหาสำคัญประการเดียวคือ รัฐบาลทหารจะต้องเป็นผู้ชนะการเลือกตั้งเท่านั้น

…ผลเลือกตั้งจะต้องไม่พลิกเป็นอื่น

นอกจากนี้ ผู้นำ คสช. อาจจะฝันว่าเขาจะได้รับคะแนนเสียงสนับสนุนในการเป็นนายกรัฐมนตรีเหมือนกับ พล.อ.เปรม

กล่าวคือ พล.อ.เปรมได้ 395 คะแนน (จากวุฒิสมาชิก 200 คะแนนและจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร 195 คะแนน) จากสมาชิกผู้เข้าร่วมประชุมทั้งหมด 496 คน

และ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ได้ 80 เสียง พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ ได้ 5 เสียง ซึ่งก็ตอบได้อย่างแน่นอนว่าผู้นำรัฐบาล คสช. อยากเป็นแบบ พล.อ.เปรม ไม่ต้องการเป็นแบบ พล.อ.เกรียงศักดิ์

แต่ใครเลยจะรับประกันได้

เส้นทางสู่ปี 2511

อย่างไรก็ตาม หากย้อนกลับสู่อดีต จะเห็นได้อย่างชัดเจนว่า พล.อ.เปรมไม่ได้ตั้งพรรคการเมืองเพื่อเป็นฐานของตนเอง

แต่ คสช. กลับพยายามจัดตั้งพรรคของตนเองขึ้นเพื่อเป็นหลักประกันของการอยู่ในอำนาจอนาคต

ลักษณะเช่นนี้ทำให้อาจเปรียบว่าใกล้เคียงกับตัวแบบการเมืองไทยในปี 2511 ของยุคจอมพลถนอม กิตติขจร มากกว่า

ดังนั้น สิ่งที่จะเห็นได้ชัดในอนาคตก็คือการกำเนิดของ “พรรคทหาร” หรือ “พรรครัฐบาลทหาร” และขณะเดียวกันก็อยู่ในรูปของการจัดตั้งเครือข่ายของพรรคขนาดเล็กและพรรคขนาดกลางบางส่วนที่มีทิศทางชัดเจนในการสนับสนุนผู้นำรัฐบาลทหาร และพยายามรวบรวมพรรคเหล่านี้มาเป็นฐานรองรับรัฐบาลในอนาคต

ในขณะเดียวกัน บรรยากาศทางการเมืองที่คล้ายคลึงกันประการหนึ่งก็คือ หลังจากมีการออกกฎหมายให้จดทะเบียนพรรคการเมืองแล้ว ภาวะที่พรรคการเมืองถูกยกเลิกไปนาน ทำให้มีผู้มาจดทะเบียนในเดือนตุลาคม 2511 มีถึง 15 พรรค

และขณะเดียวกันก็เปิดโอกาสให้ผู้สมัครแบบไม่สังกัดพรรคลงแข่งขันด้วย

พร้อมกันนี้ รัฐบาลทหารก็จัดตั้ง “พรรคสหประชาไทย” ขึ้น ซึ่งแน่นอนว่า ผลการเลือกตั้งนั้น พรรครัฐบาลทหารชนะด้วยคะแนน 76 เสียง แต่ผู้สมัครไม่สังกัดพรรคมีคะแนนรวมกันถึง 71 เสียง และลำดับถัดมาคือพรรคประชาธิปัตย์ได้ 57 เสียง น่าสังเกตว่าเสียง ส.ส. ไม่สังกัดพรรคสูงรองจากพรรคทหาร

พรรคสหประชาไทยจึงได้รับโอกาสจัดตั้งรัฐบาล แต่ก็ต้องรวมเอาเสียงของผู้สมัครแบบไม่สังกัดพรรค และพรรคเล็กๆ บางส่วนเข้าร่วมรัฐบาล โดยรัฐบาลทหารรวมได้ 110 เสียงจากทั้งหมด 219 เสียง

แต่ก็เป็นไปดังคาด รัฐนาวาในรูปแบบเช่นนี้ไม่มีความยั่งยืน และไร้เสถียรภาพในตัวเอง และสุดท้ายก็ต้องจบลงด้วยการรัฐประหารในวันที่ 17 พฤศจิกายน 2514

การเมืองไทยปัจจุบันมีแนวโน้มที่จะย้อนกลับสู่ตัวแบบปี 2511… รัฐบาลทหารพยายามต่อสู้ทางการเมืองด้วยการจัดตั้งพรรคทหาร พร้อมกับมีมาตรการต่างๆ มาเสริมให้รัฐบาลทหารเกิดความได้เปรียบ แต่ก็คาดการณ์ได้ไม่ยากว่าผลลัพธ์ครั้งนี้ก็อาจจะไม่แตกต่างจากอดีต ถ้ารัฐบาลทหารชนะ ก็จะต้องเผชิญกับการไร้เสถียรภาพทางการเมืองดังเช่นรัฐบาลจอมพลถนอม เพราะรัฐบาลอยู่ได้ด้วยเสียงจากพรรคเล็ก ถ้าดูแนวโน้มจากอดีตแล้ว การเมืองชุดนี้จะต้องมีรัฐประหารในแบบ 2514 ซ้ำอีกหรือไม่ในอนาคต

ถ้าเป็นเช่นนี้ ละครย้อนยุคอาจจะดูสนุก แต่การเมืองย้อนยุคไม่สนุกแน่นอนครับ!