การเมืองไทย 2566 ดุเดือด ตื่นเต้น เร้าใจ! | สุรชาติ บำรุงสุข

ศ.กิตติคุณ ดร.สุรชาติ บำรุงสุข
(Photo by Lillian SUWANRUMPHA / AFP)

“หลักการพื้นฐานของสังคมเสรีนิยมคือ การอดทนต่อความแตกต่าง การเคารพในสิทธิของบุคคล และการมีนิติรัฐ แต่ทั้งหมดนี้ตกอยู่ภายใต้การคุกคามที่โลกกำลังถูกกระทบจากสิ่งที่เรียกว่า การถดถอยของประชาธิปไตย หรือความตกต่ำของประชาธิปไตย”
Francis Fukuyama (2022)

 

ปี 2566 จะเป็นช่วงเวลาที่เป็น “หัวเลี้ยวหัวต่อ” อีกครั้งของการเมืองไทย

เนื่องจากจะเป็นปีที่ครบวาระของการเลือกตั้ง 2562 และจะต้องจัดให้มีการเลือกตั้งใหม่

ดังนั้น ถ้าเปรียบเทียบการเมืองไทยในปีใหม่เป็นดังภาพยนตร์แล้ว คงมีคำอธิบายง่ายๆ ว่าจะเป็นภาพยนตร์ที่ “ดุเดือด ตื่นเต้น เร้าใจ” อย่างแน่นอน

หากเราทดลองนั่งชมภาพยนตร์ “การเมืองไทย 2566” ก็จะเห็นฉากต่างๆ ดังนี้

 

1) การเมืองหลังเลือกตั้ง 2566 จะเป็นจุดสิ้นสุดของระบอบเดิมหรือไม่?

การเมืองไทยหลังรัฐประหาร 2557 ต่อเนื่องหลังเลือกตั้ง 2562 เป็นการเมืองที่อยู่ภายใต้การควบคุมของผู้นำรัฐประหารเดิม

หรืออาจกล่าวได้ว่าเป็นการเปลี่ยนจาก “ระบอบทหารเต็มรูป” ไปสู่การเป็น “ระบอบทหารแบบเลือกตั้ง” ซึ่งก็คือความสำเร็จของผู้นำรัฐประหารในการจัดตั้ง “ระบอบพันทาง” (หรือระบอบไฮบริด – Hybrid Regime) เพื่อใช้ในการสร้างความชอบธรรมให้ผู้นำรัฐประหารสามารถอยู่ในระบอบเลือกตั้งได้

ทั้งยังช่วยในการสร้าง “ภาพลักษณ์ใหม่” ของการเป็นรัฐบาลเลือกตั้ง แต่โดยเนื้อแท้แล้วคือ รัฐบาลเลือกตั้งที่อยู่ภายใต้การควบคุมของคณะทหารที่สืบทอดอำนาจมาจากการรัฐประหาร

แม้กฎกติกาทางการเมืองจะถูกสร้างโดยคณะรัฐประหาร 2557 และเอื้อให้การสืบทอดอำนาจประสบความสำเร็จอย่างดีหลังการเลือกตั้ง 2562 แต่ก็ไม่มีใครรับประกันได้ว่า ความสำเร็จดังกล่าวจะเกิดขึ้นอีกหลังการเลือกตั้ง 2566 หรือไม่

ฉะนั้น จึงน่าสนใจอย่างมากว่าอะไรจะเกิดขึ้นถ้าโอกาสที่จะชนะการเลือกตั้งไม่มีในแบบเดิมอีก และเป็นจุดสิ้นสุดของ “ระบอบประยุทธ์” หรือไม่

 

2) ทหารจะออกมาจากกรมกองอีกหรือไม่?

ปัญหาที่ถูกหยิบยกขึ้นมาเป็นประเด็นการเมืองในวันที่ผู้นำรัฐบาลที่สืบต่อมาจากผู้นำรัฐประหารทำท่าจะไม่ชนะในแบบเดิม ถ้าเช่นนั้นแล้ว ผู้นำรัฐประหารเดิมจะหันกลับไปเล่นเกมเก่าด้วยการทำรัฐประหารอีกครั้ง

หรือจะยอมเดินไปตามกรอบของรัฐธรรมนูญ ที่จะต้องลงแข่งขันในสนามเลือกตั้ง และอาจเป็นฝ่ายแพ้…

ผู้นำรัฐประหารเดินมาถึง “ทางแพร่ง” ทางการเมือง

ถ้าพวกเขาไม่ยอมแพ้ (หรือไม่อยากแพ้) และตัดสินใจหันกลับไปใช้เครื่องมือเก่าด้วยการใช้ “รถถัง” มากกว่าการพึ่งพา “รถหาเสียง” ในการต่อสู้ทางการเมืองแล้ว

การเมืองไทย 2566 จะกลายเป็นวิกฤตอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

และถ้าตามมาด้วยการต่อต้านขนาดใหญ่แล้ว ไทยอาจจะเผชิญกับ “มิคสัญญี” ไม่ต่างจากเมียนมา และอาจตกเป็นเป้าของการต่อต้านทางการเมืองด้วย

แต่หากการเมืองในระบบรัฐสภามีความเข้มแข็งมากขึ้นหลังการเลือกตั้ง 2566 กองทัพจะต้องเตรียมปรับตัว

และอาจเผชิญกับข้อเรียกร้องเรื่อง “การปฏิรูปกองทัพ” มากขึ้น

แน่นอนว่ากองทัพกับการเมืองไทยยังคงเป็นหัวข้อสำคัญเสมอ

 

3) พรรคทหารยังมีอนาคตไหม?

พรรคของผู้นำรัฐประหาร หรือที่เรียกกันว่า “พรรคทหาร” มีปัญหาในตัวเองเสมอ เพราะพรรคถูกจัดตั้งขึ้นเพื่อรองรับการขึ้นสู่อำนาจในระบบเลือกตั้ง

แต่สิ่งที่เป็น “จุดตาย” ของพรรคทหารคือ การแข่งขันของผู้นำรัฐประหารที่ต้องการขึ้นสู่ตำแหน่งนายกรัฐมนตรี

ซึ่งการแข่งขันนี้มักจบลงใน 2 ลักษณะ คือ ทำรัฐประหารเพื่อล้มล้างอำนาจของผู้นำทหารอีกฝ่าย

หรือตัดสินใจแยกตัวออกเพื่อตั้งพรรคใหม่

การเมืองไทยในปี 2566 อาจเห็นพรรคทหารแยกออกเป็นสองพรรค แม้บางฝ่ายอาจจะมองในแง่ดีว่าจะเกิดสภาพ “พรรคพี่-พรรคน้อง” ด้วยมุมมองแบบ “แยกกันเดิน-รวมกันตี” เพื่อที่จะสร้างความเข้มแข็งให้แก่ผู้นำทหารเดิม

แต่ในอีกด้านอาจต้องตระหนักในความเป็นจริงว่า การแยกเส้นทางเดินย่อมทำให้พรรคทหารอ่อนแอลง และเกิดการแข่งขันกันเองในพื้นที่การเลือกตั้ง ซึ่งอาจจะทำให้พรรคทหารไม่มีพลังมากเช่นหลังเลือกตั้ง 2562

ฉะนั้น 2566 จะเป็นปีแห่งความท้าทายของพรรคทหาร

 

4) ผู้นำรัฐประหารเดิมยังมีใจต่อกันหรือไม่?

ถ้าเราเอาการจัดตั้ง “พรรคทหาร 2” เป็นดัชนีวัดความสัมพันธ์ของผู้นำทหารที่ร่วมยึดอำนาจ และเติบโตขึ้นมากุมอำนาจรัฐอย่างต่อเนื่อง เราอาจจะต้องยอมรับว่าพวกเขามีปัญหาระหว่างกัน จนกลายเป็นข้อกังขาถึงเอกภาพในทางการเมืองมาโดยตลอด

ฉะนั้น การจัดตั้ง “พรรคทหารใหม่” จึงเป็นสัญญาณถึงความสัมพันธ์ของพวกเขาในอีกแบบ

และเห็นได้ชัดเจนว่าเมื่อการเลือกตั้งเกิดขึ้น ความสัมพันธ์ของพวกเขาจะเป็นในแบบ “การแข่งขัน” มากกว่าจะเดินเป็นเอกภาพไปด้วยกัน

ดังนั้น ปี 2566 จึงเป็นปีที่จะชี้ถึงอนาคตของความสัมพันธ์ของผู้นำรัฐประหารเดิม

 

5) ทุนใหญ่จะเล่นการเมืองอย่างไร?

เป็นที่รับรู้กันโดยทั่วไปแล้วว่ากลุ่มทุนใหญ่เป็นพลังทางการเมืองที่น่ากลัวที่สุด

อีกทั้งการขยายตัวของทุนและอำนาจเป็นปัจจัยที่พลังอื่นๆ ในสังคมไม่อาจต้านทานได้เลย ในช่วงที่ผ่านมา ความสัมพันธ์สี่ส่วนที่แนบแน่นระหว่างกลุ่มทุนใหญ่ กลุ่มชนชั้นนำ กลุ่มทหาร และกลุ่มอนุรักษนิยม เป็นที่ปรากฏชัดในการเมืองไทย

จึงเป็นคำถามสำคัญว่าเมื่อการเลือกตั้ง 2566 มาถึง กลุ่มพลังนี้จะแสดงบทบาทอย่างไร

อีกทั้งหลังการเลือกตั้งแล้ว กลุ่มทุนจะต่อรองอำนาจทางการเมืองอย่างไร

ปัญหาอีกส่วนคือ ถ้าปีกฝ่ายค้านกลับเข้าสู่อำนาจทางการเมืองแล้ว กลุ่มทุนเหล่านี้จะดำเนินการอย่างไร และจะยังคงดำรงฐานะของการเป็น “กองคลังรัฐประหาร” ให้แก่ฝ่ายต่อต้านรัฐบาลเลือกตั้งอีกเพียงใด

และในอีกด้านพลังประชาธิปไตยจะทัดทานกับทุนใหญ่ ที่ยิ่งนานวันยิ่งกลายเป็น “ทุนผูกขาด” จนอาจทำให้ระบบเศรษฐกิจแบบเสรีนิยมของไทยประสบปัญหาได้

และอาจจะต้องเรียกกลุ่มนี้ด้วยสำนวนการเมืองโลกว่า “โอลิการ์ชไทย” (Thai Oligarchs)

[คำนี้ในบริบทของการเมืองรัสเซีย หมายถึง กลุ่มนักธุรกิจที่มีความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดกับผู้มีอำนาจในรัฐบาล และอาศัยความใกล้ชิดอำนาจรัฐในการแสวงหาผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ]

 

6) พลวัตของคนรุ่นใหม่จะเคลื่อนตัวไปอย่างไร?

บทบาทของคนรุ่นใหม่เป็นปัจจัยหนึ่งที่ละเลยไม่ได้ในการเมืองไทย

ในทางทฤษฎีเรากล่าวเสมอว่า คนรุ่นใหม่คือ “พลังของความเปลี่ยนแปลง” หรือที่ถือกันว่าเป็นดัง “เอเย่นต์แห่งความเปลี่ยนแปลง”

ดังนั้น การเคลื่อนตัวของกระแสคนรุ่นใหม่จึงเป็นสิ่งที่ต้องนำมาพิจารณา

ซึ่งประเด็นนี้จะมีผลใน 2 ด้าน คือ การประท้วงทางการเมืองของคนรุ่นใหม่จะเป็นเช่นไรในอนาคต

แม้ฝ่ายความมั่นคงมักจะประเมินว่า คนรุ่นใหม่ไทยไร้พลังที่จะเปลี่ยนสังคมในแบบของ “อาหรับสปริง” เพราะรัฐสามารถใช้การจับกุม และการ “ข่มขู่” ด้วยการใช้มาตรการทางกฎหมายอย่างเข้มงวด

ในอีกด้านหนึ่ง หากเกิดการเลือกตั้งขึ้นแล้ว คนรุ่นใหม่เหล่านี้จะหันทิศทางการลงเสียงไปทางใด

อีกทั้งการลงคะแนนของ “ผู้ลงเสียงครั้งแรก” (First Voters) ย่อมมีผลอย่างมากในอีกทางด้วย

ดังนั้น การเมืองของคนรุ่นใหม่ที่สะท้อนถึงการขับเคลื่อนของพลังคนหนุ่มสาว จึงเป็นประเด็นที่น่าสนใจในปีใหม่

 

7) ฝ่ายขวาจะขวาไปสุดทางอีกเท่าใด?

การขับเคลื่อนของกลุ่มการเมืองปีกขวา โดยเฉพาะในส่วนที่เป็นขวาจัด ซึ่งเป็นการรวมอำนาจและความเชื่อของชุดความคิดอนุรักษนิยมและจารีตนิยมเข้าด้วยกันในบริบทของ “การเมืองแบบไทยๆ” จึงทำให้บทบาทของกลุ่มนี้ยังเป็นสิ่งที่ต้องจับตามอง

แน่นอนว่าผู้คนที่สมาทานทางความคิดในกระแสการเมืองชุดนี้ ย่อมไม่ลงเสียงให้พรรคในปีกประชาธิปไตย

อีกทั้งยังมีจุดยืนที่ชัดเจนในการต่อต้านประชาธิปไตย และปฏิเสธกระแสเสรีนิยม

กลุ่มการเมืองปีกนี้ยังคงดำรงความสนับสนุนในการยึดอำนาจของผู้นำทหารฝ่ายขวาอย่างไม่แปรเปลี่ยน

แม้พวกเขามีความพร้อมในการ “ลงถนน” เพื่อต่อต้านรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง ด้วยความเชื่อในวาทกรรมขวาจัดว่า “รัฐบาลเลือกตั้งโกง-นักการเมืองคอร์รัปชั่น” และ “ระบอบเสรีนิยมเป็นภัยคุกคามต่อค่านิยมดั้งเดิมของไทย”

แต่พลังขวาจัดในรอบหลายปีที่ผ่านมาก็อ่อนแรงลง เพราะรัฐบาลที่เป็นตัวแทนของปีกขวาจัดที่มีอำนาจรัฐ ไม่ประสบความสำเร็จในการแก้ปัญหาของประเทศเท่าใดนัก

และวาทกรรมที่นำเสนอในสังคมเอง ไม่เป็นที่ตอบรับเท่าที่ควร หรือที่มักจะถูกคนรุ่นใหม่นำมาล้อเลียนอย่างขบขันว่า ชุดความคิดขวาจัดไทย (อนุรักษนิยม+จารีตนิยม) เป็น “สินค้าตกยุค” ที่ขายไม่ออกสำหรับโลกในคริสต์ศตวรรษที่ 21

 

8) ขบวนประชาธิปไตยจะสร้างความเข้มแข็งได้อย่างไร?

ในท่ามกลางความผันแปรของกระแสการเมืองทั้งในบ้านและนอกบ้าน ประเด็นของกระแสประชาธิปไตยยังเป็นข้อถกเถียงที่ไม่จบ

แม้กระแสประชาธิปไตยในปัจจุบันอาจจะไม่เข้มแข็งเช่นในช่วงต้นของยุคหลังสงครามเย็น

และในช่วงที่ผ่านมาต้องยอมรับว่า กระแสนี้มีอาการ “ถดถอย” (Recession) หรือจะเรียกว่าเป็นภาวะ “ตกต่ำ” (Depression) ก็ไม่ผิดนัก

ภาวะเช่นนี้เห็นได้ชัดแม้ในการเมืองไทยเอง การมีรัฐประหารต่อเนื่องกันถึง 2 ครั้งในระยะเวลาไม่ถึง 10 ปี ซึ่งถือเป็นดัชนีสำคัญของอาการถดถอยของประชาธิปไตยไทย

ดังนั้น โจทย์ที่ท้าทายขบวนและ/หรือกลุ่มประชาธิปไตยไทยก็คือ จะผลักดันให้กลไกของการเมืองแบบเสรีนิยมมีความเข้มแข็ง จนได้รับการยอมรับจากประชาชน

และตอบสนองต่อการแก้ปัญหาของประชาชน อันจะทำให้ “การเปลี่ยนผ่านสู่ประชาธิปไตย” เกิดขึ้นได้อย่างแท้จริงได้หรือไม่

 

9) การเมืองโลกจะกระทบกับการเมืองไทยเพียงใด?

ในสถานการณ์ “การแข่งขันของรัฐมหาอำนาจใหญ่” ที่กำลังขับเคลื่อนโลกนั้น

การแข่งขันดังกล่าวจะมีผลกระทบอย่างไรต่อการเมืองไทยในปีใหม่เป็นคำถามอีกประการหนึ่งที่สำคัญ

และแนวโน้มของการแข่งขันเช่นนี้ในบริบทของเอเชียโดยรวม และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ น่าจะเข้มข้นมากขึ้น

 

10) วิกฤตโลกและวิกฤตไทยจะรุนแรงหรือไม่?

วิกฤตชุดใหญ่ที่เกิดขึ้นนับตั้งแต่การแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ในปลายปี 2562 ต่อเนื่องเข้าปี 2563 นั้น ถูกถาโถมด้วยวิกฤตสงครามยูเครนในต้นปี 2565

“มหาวิกฤต” สองชุดนี้ส่งผลให้เกิดวิกฤตอื่นๆ ตามมา เช่น วิกฤตเศรษฐกิจ วิกฤตพลังงาน วิกฤตอาหาร วิกฤตค่าครองชีพ

ซึ่งในปีใหม่ ภาวะวิกฤตเหล่านี้จะยังไม่สิ้นสุดลง เช่น ปัญหาโรคระบาด และปัญหาสงคราม

ดังนั้น แต่ละประเทศในปีใหม่ต้องเผชิญกับความรุนแรงจากวิกฤตเหล่านี้ไม่แตกต่างกัน รวมถึงไทยเองด้วย

จนคาดได้ว่าวิกฤตโลกและวิกฤตไทยจะยังอยู่กับพวกเราต่อไปในปี 2566

ฉะนั้น ภาพยนตร์เรื่อง “การเมืองไทย 2566” น่าจะดุเดือด ตื่นเต้น และเร้าใจอย่างแน่นอน!