สัญญาใจปฎิรูปกองทัพ | สุรชาติ บำรุงสุข

ศ.กิตติคุณ ดร.สุรชาติ บำรุงสุข

ในท่ามกลางสถานการณ์ที่ไม่คาดคิดเกิดกับ “เรือรบหลวงสุโขทัย” ของราชนาวีไทยนั้น ในด้านหนึ่ง สังคมมีความเป็นห่วงอย่างมากกับชีวิตของกำลังพลส่วนหนึ่งที่ยังหาไม่พบ และคาดหวังว่าพวกเขาจะกลับมาได้อย่างปลอดภัย แต่ในอีกด้านหนึ่ง เราจะเห็นถึงคำวิพากษ์วิจารณ์ต่างๆ ที่คนในสังคมมีต่อกองทัพเรือ

หากย้อนกลับไปสักนิด เราจะเห็นว่ากองทัพเรือตกเป็นเป้าหมายของการวิจารณ์ในสังคมอย่างมากตั้งแต่กรณีการจัดซื้อเรือดำน้ำ แม้จะพยายามอธิบายอย่างไร แต่คนในสังคมหลายภาคส่วนดูจะไม่ตอบรับกับ “วาทกรรมความมั่นคงทางทะเล” ที่ถูกประกอบสร้างจากกลุ่ม “ลัทธิเรือดำน้ำนิยม” อีกทั้ง กองทัพเรือมีแผนเพิ่มเติมในการใช้งบประมาณอีกเป็นจำนวนมากที่เกี่ยวข้องกับเรือดำน้ำ ไม่ว่าจะเป็นเรือพี่เลี้ยง อู่เรือดำน้ำ เป็นต้น ซึ่งงบประมาณจำนวนมากเช่นนี้ อาจจะต้องแลกด้วยการลดงบประมาณในด้านอื่นๆ ลงเช่น ลดการปรนนิบัติบำรุงรักษา จนอาจทำให้ขีดความสามารถของอุปกรณ์และยุทโธปกรณ์ต้องลดลงไปด้วย

ในมุมของสังคมนั้น คงปฎิเสธไม่ได้ว่า “เรือดำน้ำ” เป็นเรื่อง “ชวนหัว” ที่ถูกประดิษฐ์ขึ้นอย่างสนุกสนานในโลกไซเบอร์ และขณะเดียวกัน ก็ทำให้กองทัพเรือต้องเป็น “ตัวตลก” ของการล้อเลียนทหารในโลกโซเชี่ยล เช่นทุกครั้งที่น้ำท่วม จะมีคนโพสต์ถามหาเรือดำน้ำให้มาช่วย เป็นต้น

ในเหตุการณ์เรือสุโขทัย มีเรื่องราวต่างๆ มากมายอยู่ในเว็ป โดยเฉพาะเสียงวิพากษ์วิจารณ์ที่มีต่อกองทัพเรือ เนื่องจากในช่วงต้นที่เรือสุโขทัยปรากฏเป็นข่าวนั้น กองทัพเรือแถลงว่า กำลังพลทุกคนปลอดภัย ทั้งที่ในความเป็นจริง กำลังพลบางส่วนสูญหายไป รวมทั้งเสียงจากญาติที่ถามถึงมาตรการรักษาชีวิตกำลังพล เช่น ประเด็นเรื่องการไม่มีห่วงยาง เป็นต้น แม้ผู้นำของ ทร. อาจจะมองอย่างไม่ใส่ใจด้วยคำตอบว่า “การมีเสื้อชูชีพ ไม่ได้ความว่าจะรอดชีวิต หรือได้รับการช่วยเหลือขึ้นมาบนเรือ” ซึ่งคำตอบเช่นนี้ย่อมทำร้ายความรู้สึกของบรรดาญาติๆ ที่รอการกลับมาของลูกหลานของพวกเขา

ดังนั้น จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่กรณีเรือสุโขทัยจะนำไปสู่เสียงเรียกร้องเรื่อง “การปฎิรูปกองทัพ”

ในอีกด้าน เสียงต้องการที่จะเห็นการปฎิรูปกองทัพในปัจจุบัน เกิดคู่ขนานกับภาวะ “โค้งสุดท้าย” ของการเลือกตั้งที่กำลังจะมา ซึ่งจะทำให้การหาเสียงในสนามเลือกตั้ง 2566 โดยเฉพาะกับพรรคการเมืองที่อยู่ในปีกประชาธิปไตยนั้น จะมีการหยิบยกเอาเรื่องการปฎิรูปกองทัพมาเป็นประเด็นหาเสียงอย่างแน่นอน

อย่างไรก็ตามในทางการเมืองนั้น กองทัพไทยถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักจากประเด็นการรัฐประหาร การยึดอำนาจในปี 2549 และ 2557 ได้สร้าง “ภาพลบ” อย่างมากต่อมุมมองของผู้คนในยุคปัจจุบัน แม้บรรดาปีกขวาจัดที่ดำรงฐานะการเป็น “กองเชียร์รัฐประหาร” อาจจะสนับสนุนการเมืองในระบอบทหารก็ตาม

แต่ผลจากการบริหารประเทศหลังรัฐประหาร 2557 และการสืบทอดอำนาจหลังการเลือกตั้ง 2562 กลับยิ่งทำให้กองทัพตกเป็นเป้าวิจารณ์มากขึ้น จนอาจกล่าวได้ว่า ไม่มียุคใดสมัยใดที่กองทัพจะถูกจับตามองจากสังคม และสังคมกล้าที่จะเปิดประเด็นกับกองทัพอย่างไม่เกรงอำนาจปืนเท่าในยุคปัจจุบัน ซึ่งเสียงโต้แย้งกับฝ่ายทหารไม่ใช่เพียงเรื่องรัฐประหารเท่านั้น หากการซื้ออาวุธก็เป็นอีกเรื่องที่เสียงค้านอย่างมากเสมอ

นอกจากนี้ เราอาจจะต้องยอมรับว่า “ระบอบทหารแบบเลือกตั้ง” ของผู้นำรัฐประหารเดิมไม่ประสบความสำเร็จเชิงนโยบายเท่าใดนัก จึงมีความจำเป็นที่ต้องใช้นโยบาย “ประชานิยมฟุ่มเฟือย” เพื่อเป็นเครื่องมือในการรักษาอำนาจ และใช้ในการขับเคลื่อนทางการเมืองเพื่อหาเสียง โดยเฉพาะการสร้างความนิยมของตัวผู้นำอย่างเห็นได้ชัด จนอาจเรียกการเมืองไทยในมุมมองเปรียบเทียบว่า “ระบอบประชานิยมทหาร”

นโยบายประชานิยมเช่นนี้ในอีกส่วนไม่ได้ใช้กับสังคมพลเรือน หากแต่เป็น “ประชานิยมเพื่อทหาร” คือ นโยบายเอาใจทหารด้วยการเปิด “ใบรายการสั่งซื้อ” ยุทโธปกรณ์จำนวนหลายรายการ ดังจะเห็นได้ว่า หลังรัฐประหาร 2557 คือ “นาทีทอง” ของ “นักจัดซื้อ” ในกองทัพ ที่จะซื้ออาวุธได้อย่างไม่ต้องคำนึงถึงเสียงคัดค้าน และเสียงวิจารณ์ใดๆ ทั้งสิ้น ขณะเดียวกัน ระบบตรวจสอบก็ไม่สามารถทำหน้าที่กับกองทัพได้ จึงเกิดสภาวะ “อยากซื้ออะไรก็ซื้อ … อยากได้อะไรก็ได้” เสียงเห็นต่างจึงมีสถานะเป็น “เสียงนก-เสียงกา” ในสำนวนไทย แต่ในทางตรงข้าม สภาวะเช่นนี้ทำให้กองทัพถูกวิจารณ์อย่างมากในเวทีสาธารณะ พร้อมกันนี้ เสียงเรียกร้องหาการปฎิรูปกองทัพก็ดังมากขึ้นด้วย เพราะอาวุธหลายอย่างที่ซื้อไม่มีประสิทธิภาพ และมีเรื่อง “อื้อฉาว” ลับหลัง

แม้ก้าวสู่การเป็นรัฐบาลสืบทอดอำนาจหลังการเลือกตั้ง 2562 นโยบาย “ประชานิยมสำหรับกองทัพ” ยังคงดำเนินต่อไป การผลักดันโครงการเรือดำน้ำลำที่ 2 และ 3 เรือพี่เลี้ยง และอู่เรือดำน้ำ เป็นตัวอย่างที่ดี หรือแม้กระทั่งโครงการจัดหาเครื่องบินขับไล่ใหม่ เอฟ-35 ล้วนสะท้อนคำอธิบายในข้างต้น หรือตัวอย่างเช่น ในขณะที่รัฐสภาไม่อนุมัติงบประมาณในการซื้อเอฟ-35 ให้กองทัพอากาศ แต่เป็นที่รับรู้กันว่า มีการ “วิ่งเต้นลับหลัง” จนได้งบประมาณดังกล่าวมาตามที่ทหารต้องการ ทั้งที่คำอนุมัติขายจากรัฐสภาอเมริกันยังไม่เกิดขึ้น แต่กองทัพอากาศต้องการแสดงให้เห็นว่า “ทหารอยากได้อะไรก็ต้องได้” และรัฐสภาจะหยุดความต้องการของทหารไม่ได้

แต่หากการเมืองเปลี่ยนขั้วด้วยผลการเลือกตั้งในปี 2566 แล้ว สังคมอาจจะต้องเรียกร้องกับรัฐบาลใหม่ ที่หวังว่าจะเป็นรัฐบาลในปีกประชาธิปไตยว่า ต้องลดเลิก “ลัทธิบูชาอาวุธ” ที่ให้ผลตอบแทนแก่ผู้นำทหาร “เหล่าจัดซื้อ” ที่มีอำนาจอยู่ในทุกเหล่าทัพยุคปัจจุบัน

การปฏิรูปกองทัพอาจต้องรวมถึง การกลับมาดูแลชีวิตของทหารในกองทัพให้มากขึ้น ไม่ว่าพวกเขาจะเป็นสัญบัตร ประทวน หรือพลทหารที่เป็นทหารเกณฑ์ และระบบยุทโธปกรณ์ต้องไม่ใช่ “ซื้อแล้วทิ้ง” จนละเลยการปรนนิบัติบำรุง ที่อาจก่อให้ผลกระทบต่อชีวิตของกำลังพล ที่สำคัญการปฎิรูปต้องไม่ใช่การซื้ออาวุธใหม่ หรือการมีอาวุธมากๆ และไม่ใช่การจัดหายุทโธปกรณ์โดยไม่มีความต้องการทางยุทธศาสตร์ของประเทศรองรับ

ดังนั้น ถึงเวลาที่สังคมต้องผลักดันเรื่องปฎิรูปกองทัพให้เป็น “สัญญาประชาคม” กับพรรคการเมือง และเป็น “สัญญาใจ” ว่าพรรคจะต้องปฎิบัติ … อย่าให้การจมลงของเรือรบหลวงสุโขทัยเกิดอย่างไร้ค่า แต่จะต้องเป็นอีกจุดหนึ่งของสัญญาณความจำเป็นในการปฎิรูปกองทัพ!