การเมืองไทยหลังเอเปค | สุรชาติ บำรุงสุข

สังคมไทยเตรียมตัวต้อนรับการจัดประชุมเอเปคที่กำลังจะเริ่มขึ้นที่กรุงเทพฯ อย่างตื่นเต้น ซึ่งแน่นอนว่า เวทีการประชุมเอเปคเป็นข่าวใหญ่ในตัวเอง เพราะเป็นเวทีใหญ่ระดับโลกที่เกิดในไทย แต่ข่าวการเมืองไทยในวันต้อนรับการจัดประชุมเอเปคดูจะไม่สดใสนัก ไม่เพียงแต่จะมีข่าวลือนานับประการเกี่ยวกับอนาคตของอดีตผู้นำรัฐประหาร ที่ดำรงฐานะเป็นแกนหลักรัฐบาลปัจจุบันเท่านั้น หากยังมีเรื่องของพรรคทหารที่ถูกสร้างขึ้นเพื่อรองรับการขึ้นสู่อำนาจของผู้นำรัฐประหารหลังการเลือกตั้งอีกด้วย

คำถามเรื่องอนาคตของพรรคทหาร และอนาคตของผู้นำรัฐประหารที่ดำรงตำแหน่งเป็นแกนอำนาจรัฐ เป็นสองเรื่องที่แยกออกจากกันไม่ได้ เนื่องจากพรรคทหารเป็นกลไกที่ถูกจัดตั้งเพื่อเอื้อให้ผู้นำรัฐประหารสามารถสืบทอดอำนาจ และพาพวกเขากลับเข้าเป็นรัฐบาลอีกครั้ง

 (Photo by Lillian SUWANRUMPHA / AFP)

เกิดเหมือนกัน-ตายต่างกัน!

ผลของการปรับเปลี่ยนอำนาจหลังรัฐประหาร 2557 ทำให้การ “การฟอกตัว” เพื่อการสืบทอดอำนาจทางการเมืองของผู้นำทหาร จำเป็นต้องสร้างองค์กรทางการเมืองในระบบรัฐสภาเพื่อรองรับการเป็นรัฐบาลอีกครั้งหลังการเลือกตั้งในต้นปี 2562 ฉะนั้น พรรคพลังประชารัฐถูกจัดตั้งขึ้นเพื่อทำหน้าที่เป็น “พรรคทหาร” เช่นที่พรรคทหารของบรรดานักรัฐประหารเคยทำหน้าที่เช่นนี้มาแล้วในอดีต

เราคงต้องยอมรับความจริงว่า การจัดตั้งพรรคการเมืองของผู้นำรัฐประหารไทยกลายเป็น “มรดกทางความคิดเก่า” ที่ใช้กันมาทุกครั้งในการเตรียมการเปลี่ยนผ่านทางการเมืองของผู้นำทหาร อีกทั้ง พรรคทหารยังเป็นกลไกของผู้นำรัฐประหารที่จะใช้ในการเปลี่ยนภาพลักษณ์ของตนเอง และใช้เพื่อการสร้างความชอบธรรมสำหรับระบอบใหม่ที่ผู้นำรัฐประหารจะเปลี่ยนจาก “รัฐบาลทหารแบบยึดอำนาจ” ไปสู่ภาพใหม่ของการเป็น “รัฐบาลทหารแบบเลือกตั้ง” (หรือที่ในบางกรณีอาจมีนัยหมายถึง “ระบอบอำนาจนิยมแบบแข่งขัน”)

ฉะนั้น แม้รัฐบาลใหม่ของไทยจะเกิดขึ้นหลังการประกาศใช้รัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นเสมือนกับการมี “รัฐบาลเลือกตั้ง” ในการเมืองไทย แต่ในความเป็นจริงแล้ว ระบอบหลังการเลือกตั้งในต้นปี 2562 ยังคงเป็นรัฐบาลที่อยู่ภายใต้อำนาจของผู้นำรัฐประหารเดิม ทั้งในเชิงตัวบุคคลและนโยบาย และที่สำคัญ การแข่งขันทางการเมืองที่เกิดขึ้นเป็นการเลือกตั้งภายใต้กฎกติกาที่ถูกกำหนดโดยคณะรัฐประหาร ดังจะเห็นได้ว่ารัฐธรรมนูญ 2560 ถูกออกแบบเพื่อการสืบทอดอำนาจ มากกว่าจะใช้เพื่อสร้างการเปลี่ยนผ่านสู่ประชาธิปไตยไทย

3ป

เราอาจกล่าวเป็นข้อสังเกตจากประวัติศาสตร์การเมืองไทยได้ว่า แม้พรรคทหารทุกยุคล้วนมี “จุดกำเนิด” เหมือนกันทั้งหมด แต่ “จุดจบ” ของพรรคทหารกลับปรากฏให้เห็นใน 3 ลักษณะ คือ

พรรคทหาร “หมดสภาพ” อันเป็นผลจากความขัดแย้งของผู้นำทหารที่มีสถานะเป็นแกนนำของพรรค ความขัดแย้งนี้นำไปสู่การรัฐประหาร และพรรคทหารที่ถูกสร้างขึ้นจึงหมดสภาพไป เช่น กรณีพรรคมนังคศิลาของจอมพล ป. หมดสภาพหลังรัฐประหาร 2500

พรรคทหาร “หมดภารกิจ” ซึ่งผู้นำทหารเดิมที่เข้าสู่การเมืองในระบบรัฐสภา กลับตัดสินใจยุติบทบาทของการเมืองในระบบนี้ด้วยการยึดอำนาจ เช่น พรรคชาติสังคมของจอมพลสฤษดิ์หลังรัฐประหาร 2501 และพรรคสหประชาไทยของจอมพลถนอมหลังรัฐประหาร 2514

พรรคทหาร “หมดอายุขัย” เป็นผลจากการที่รัฐบาลทหารแบบเลือกตั้งเผชิญกับการชุมนุมต่อต้านครั้งใหญ่ของประชาชน และถูกกดดันจนรัฐบาลดังกล่าวล่มสลาย และพรรคทหารที่รองรับรัฐบาลก็สิ้นอายุขัยตามไป เช่นกรณีของพรรคสามัคคีธรรมหลังการลุกขึ้นสู้ของประชาชนในปี 2535

AFP PHOTO / PORNCHAI KITTIWONGSAKUL

ละครฉากสุดท้าย!

วันนี้จึงน่าสนใจว่าพรรคทหารอย่างพรรคพลังประชารัฐจะประสบชตากรรมแบบใด เนื่องจากข่าวที่ออกมาอย่างต่อเนื่องสะท้อนให้เห็นถึงปัญหา “เอกภาพ” ของแกนนำทหารที่เป็น “ศูนย์กลางอำนาจ” ของพรรคอย่างชัดเจน ขณะเดียวกัน ปัญหา “เอกภาพ” ของพรรคทหารเองก็มีปัญหาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะปัญหา “กบฏร้อยเอก” อีกทั้งมีความพยายามที่จัดตั้ง “พรรคซ้อนพรรค” ในพรรคพลังประชารัฐมาโดยตลอด

ปัญหา “สองเอกภาพ” คือ เอกภาพของผู้นำทหารที่เป็นแกนพรรค และเอกภาพภายในพรรคเองดูจะเป็นสัญญาณของภาวะ “วิกฤต” ของพรรคทหารในยุคปัจจุบันที่เห็นได้ชัดเจน และยังสำทับด้วยปัญหาอีกประการ คือ ปัญหา “เอกภาพรัฐบาล” อันเป็นผลจากความสัมพันธ์ของพรรคร่วมรัฐบาล ที่เห็นถึงการกระทบกระทั่งเกิดขึ้นในหลายเรื่องทั้งในเวทีรัฐสภา และในเวทีสาธารณะ ซึ่งส่งผลอย่างมากกับเสถียรภาพของตัวรัฐบาลเอง และต่อสถานะของผู้นำรัฐบาลด้วย

นอกจากนี้ ผู้นำรัฐประหารที่ดำรงตำแหน่งในรัฐบาลเองก็ประสบปัญหาของตนเองอีกแบบ คือ ภาวะการ “ถดถอย” ของความน่าเชื่อถือทางการเมืองที่ลดลงอย่างต่อเนื่อง ดังปรากฏจากตัวเลขของโพล คงต้องยอมรับว่า เสียงของรัฐบาลในเวทีสาธารณะตกต่ำลงอย่างมาก และมีแนวโน้มว่าอาจตกลงอีก

ในอีกด้านจากมุมมองของประชาชนหลายภาคส่วน สถานะของรัฐบาลก็ “ถดถอย” จากการไม่มี “จุดขาย” ในการนำเสนอความสำเร็จเชิงนโยบายให้แก่สังคม ผู้นำทหารอาจจะเล่นบท “นักแจก” ด้วยจุดขายในแบบ “ประชานิยมชิงโชค” แต่นโยบายดังกล่าวดูจะไม่สามารถแบกรับสถานการณ์จริงของวิกฤตเศรษฐกิจ วิกฤตความยากจน วิกฤตพลังงาน วิกฤตสงครามยูเครน และวิกฤตโรคระบาดที่ยังไม่จบ

อย่างไรก็ตาม ผู้นำรัฐบาลอาจจะมีความหวังจากความสำเร็จของเอเปคที่กรุงเทพ ที่จะเป็น “ตัวช่วย” ในการพยุงสถานะของรัฐบาล แต่ความสำเร็จดังกล่าวดูจะเกิดไม่ง่ายนัก เนื่องจากความสนใจของโลกดูจะอยู่กับ “จี-20” ที่บาหลี มากกว่าอยู่กับ “เอเปค” ที่กรุงเทพฯ ฉะนั้น ปัญหา “สองถดถอย” ที่กำลังเกิดกับรัฐบาลและตัวผู้นำรัฐบาล ส่งผลกระทบกับอนาคตของพรรคทหารและตัวผู้นำ และเอเปคอาจจะไม่ใช่ “ตัวช่วย” อย่างที่คิด

ดังนั้น ปัญหา “สามเอกภาพ” ของรัฐบาล ที่เกิดคู่ขนานกับปัญหา “สองถดถอย” ของผู้นำรัฐบาล คือ สัญญาณที่จะต้องติดตามของการเมืองไทยยุคหลังเอเปค และผลกระทบน่าจะชัดเจนมากขึ้นเมื่อการประชุมเอเปคสิ้นสุดลง … ฤาว่าเอเปคคือละครใหญ่ฉากสุดท้ายของรัฐบาล ถ้าละครนี้ปิดฉากลงอย่างไม่น่าประทับใจแล้ว การเมืองยุคหลังเอเปคก็คือการเมืองยุคหลังประยุทธ์!