Club House “สโมสร” ต่อต้านเผด็จการ! | สุรชาติ บำรุงสุข

ศ.กิตติคุณ ดร.สุรชาติ บำรุงสุข

วันนี้ดูจะเป็นเรื่องที่ฮือฮาในทางการเมืองอย่างมากกับการปรากฏตัวของแพลตฟอร์มที่ชื่อ “คลับเฮ้าส์” (Club House) หรืออาจะเรียกเล่นๆ ในชื่อแบบไทยว่า “สโมสร” และแน่นอนว่า คลับเฮ้าส์ได้ถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือของการสื่อสารทางการเมืองอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ และเป็นเครื่องมือสื่อสารทางการเมืองที่อาจจะสามารถส่งผลสะเทือนได้อย่างมากให้แก่การเรียกร้องประชาธิปไตยในกรณีของไทย

อาจจะไม่ต่างกับระยะเวลาไม่นานที่ก่อนหน้านี้ แพลตฟอร์มที่ชื่อ “เทเลแกรม” (Telegram) [หรือ “โทรเลข” ที่ไม่ใช่โทรเลขในแบบเดิม] ก็เป็นสิ่งหนึ่งที่ถูกพูดถึง และถูกนำมาใช้ในการเมืองไทยในช่วงที่ผ่านมา เพื่อหลีกเลี่ยงการตรวจจับข่าวสารของฝ่ายรัฐ เพราะนับตั้งแต่การรัฐประหาร 2557 เป็นต้นมา ฝ่ายต่อต้านรัฐประหารรับรู้เป็นอย่าวดีกับการถูก “ติดตามทางข่าวสาร” จากทางฝ่ายรัฐบาล จนฝ่ายประชาธิปไตยจำเป็นต้องแสวงหาช่องทางในการติดต่อสื่อสารใหม่ ซึ่งปัญหาในการเมืองไทยเช่นนี้ ส่วนหนึ่งเกิดจากความกังวลกับการ “ไล่ล่า” ในเวทีข่าวสารของฝ่ายรัฐ และอีกส่วนหนึ่งเกิดความไม่มั่นใจในแพลตฟอร์มเดิม ซึ่งปัญหาความกังวลเช่นนี้เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นในการต่อสู้กับระบอบอำนาจนิยมทั่วโลก

อย่างไรก็ตาม เทเลแกรมเป็นสิ่งที่ถูกพัฒนาขึ้น และถูกพิสูจน์จากการใช้ของฝ่ายต่อต้านรัฐบาลของประธานาธิบดีปูตินมาแล้ว ในบริบทของไทย เทเลแกรมอาจจะใช้ในการสื่อสารแทนแพลตฟอร์มเดิมเช่นในกรณีอย่างไลน์ แต่ถ้าต้องการการสื่อสารทางการเมืองในวงกว้างแล้ว คลับเฮ้าส์ตอบสนองต่อความต้องการเช่นนี้โดยตรง เพราะเป็นแพลตฟอร์มที่เปิดโอกาสให้คนเป็นจำนวนมากเข้าร่วมได้ในแต่ละครั้ง จนอาจจะเป็นเสมือนกับการ “ปราศรัยใหญ่” ในโลกอินเตอร์เน็ต และหวังเป็นอย่างยิ่งว่า การเปิดเวทีครั้งนี้จะไม่ทิ้งร่องรอยไว้ให้ฝ่ายรัฐบาลได้ติดตามได้ในภายหลัง (แม้ว่าอาจจะไม่จริงทั้งหมดก็ตาม!)

ผลสะเทือนจากการมาของเครื่องมือสื่อสารในโลกสมัยใหม่ของศตวรรษที่ 21 เช่นนี้ เป็นสิ่งที่เห็นได้ชัดเจน และนำมาซึ่งความเปลี่ยนแปลงในภาคส่วนต่างๆ อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เช่น การกำเนิดและพัฒนาการของโลกดิจิตอล กลายเป็นการสั่นสะเทือนต่อทุกภาคส่วนอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน จนถึงกับมีข้อพิจารณาที่มองว่า ความก้าวหน้าที่กำลังเกิดขึ้นอาจกลายเป็นภาวะ “ดีสรัปชั่นทางเทคโนโลยี” (technological disruption) และอาจนำไปสู่ความ “แปรปรวน” ในด้านต่างๆ จากพัฒนาการของเทคโนโลยีสมัยใหม่ที่เกิดขึ้น หรืออาจกล่าวได้ว่า ความก้าวหน้าเช่นนี้จะ “ดีสรัป” หรือก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงและ/หรือแปรปรวนทางสังคมขนาดใหญ่ ที่โลกในอนาคตจะไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป

ดังจะเห็นได้ว่าโลกดิจิตอลเปลี่ยนแปลงภาคธุรกิจ และนำไปสู่การกำเนิดของธุรกิจใหม่ๆ ดังเช่น “อี-คอมเมิร์ช” ทั้งหลาย … โลกดิจิตอลเปลี่ยนแปลงระบบเศรษฐกิจ จนเกิดของระบบเศรษฐกิจใหม่ในโลกไซเบอร์ … โลกดิจิตอลเปลี่ยนแปลงภาคการทหาร ที่การสงครามในยุคปัจจุบัน ไม่ใช่รูปแบบการรบแบบเก่าอีกต่อไป ดังเช่นการมาของสงครามไซเบอร์ … โลกดิจิตอลเปลี่ยนแปลงการเมือง ที่รัฐไม่มีขีดความสามารถในการควบคุมสังคมและข่าวสารแบบเดิมได้ทั้งหมด และการต่อสู้ทางการเมืองย้ายไปอยู่ในเวทีใหม่ของโลกไซเบอร์ … โลกดิจิตอลเปลี่ยนแปลงสังคม ที่คนพึ่งพาอยู่กับการติดต่อสื่อสารของโลกสมัยใหม่ที่เป็นออนไลน์ และชีวิตของผู้คนในสังคมถูกจับไปไว้ในโลกออนไลน์มากขึ้น และยิ่งผนวกเข้ากับการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 แล้ว โลกไซเบอร์เป็นชีวิตในยุคโควิดอย่างแท้จริง

ฉะนั้นการเข้ามาของคลับเฮ้าส์ในการเมืองไทยครั้งนี้ จึงเป็นประเด็นที่น่าติดตามอย่างยิ่งว่า คลับเฮ้าส์จะเป็นตัวขับเคลื่อนการต่อสู้ของฝ่ายนิยมประชาธิปไตยในไทยได้เพียงใด

คำตอบอาจจะยังอยู่กับอนาคต แต่อย่างน้อยพยานของความสำเร็จในการล้มระบอบเผด็จการด้วยเครื่องมือการสื่อสารสมัยใหม่ เป็นสิ่งที่เคยเกิดในการเมืองร่วมสมัยในเวทีโลกมาแล้ว … บางทีวันนี้อาจจะเหมือนกับการหยิบเอาความสำเร็จเก่ามาเป็นประเด็นอยู่บ้าง แต่เราคงต้องยอมรับว่า การต่อสู้กับระบอบเผด็จการในคลื่นประชาธิปไตยลูกใหญ่ ที่ประสบชัยชนะในปรากฎการณ์ครั้งสำคัญที่ถูกเรียกขานว่า “อาหรับสปริง” (Arab Spring) หรือ “ฤดูใบไม้ผลิในโลกอาหรับ” นั้น เป็นดัง “ชัยชนะของเฟสบุ๊คและทวิตเตอร์” ในการต่อสู้ของฝ่ายประชาธิปไตยในโลกอาหรับ ที่เริ่มต้นในตูนิเซียตอนช่วงปลายปี 2553 (ค.ศ. 2010) และขยายตัวไปสู่อียิปต์ในช่วงต้นปี 2554 (ค.ศ. 2011) และขยายตัวไปทั่วภูมิภาคตะวันออกกลางในช่วงดังกล่าว

แม้ว่าในกรณีอื่นอาจจะไม่ประสบความสำเร็จได้เช่นในตูนิเซียและอียิปต์ แต่ก็เห็นถึง “พลังดิจิตอล” ที่เป็นแรงขับเคลื่อนการต่อสู้ที่เกิดขึ้น ผลจากชัยชนะของฝ่ายประชาธิปไตยในตูนิเซียและอียิปต์นั้น ทำให้สื่อตะวันตกเรียกปรากฎการณ์เช่นนี้ว่า “การปฏิวัติโดยทวิตเตอร์” บ้าง หรือ “การปฏิวัติโดยเฟสบุ๊ค” บ้าง ซึ่งคำเรียกเช่นนี้คือภาพสะท้อนของการขับเคลื่อนการต่อสู้กับระบอบเผด็จการด้วยเครื่องมือการสื่อสารสมัยใหม่ จนเครื่องมือเช่นนี้นำความสำเร็จให้แก่ฝ่ายประชาธิปไตย

ในคลื่น “อาหรับสปริงลูกที่สอง” ในปี 2562 (ค.ศ. 2019) ไม่ว่าจะเป็นในซูดานและในแอลจีเรียก็ตอกย้ำ บทบาทของเครื่องมือการสื่อสารในโลกสมัยใหม่ ที่มีส่วนอย่างสำคัญกับการเรียกร้องประชาธิปไตย และแน่นอนว่า ไม่ต่างกับบทบาทของเครื่องมือนี้ในฮ่องกง อันเป็นพลังของคนหนุ่มสาวในฮ่องกงที่ใช้ต่อสู้กับรัฐบาล ที่ทำให้เกิดการประท้วงขนาดใหญ่อย่างที่เราไม่เคยเห็นมาก่อนในฮ่องกงในช่วงเวลาเดียวกัน

ฉะนั้นวันนี้จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่ “คลับเฮ้าส์” จะถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือของการต่อสู้ทางการเมือง และต้องถือว่า เป็นการเปิดมิติใหม่อีกขั้นตอนหนึ่งในทางเทคโนโลยี หลังจากการสร้าง “กระแสการเมืองออนไลน์” ที่ทำให้พรรคอนาคตใหม่ประสบความสำเร็จในการเลือกตั้งในต้นปี 2562 มาแล้ว และยิ่งเมื่ออดีตนายกรัฐมนตรีทักษิณ ชินวัตร เปิดสโมสรชวนคนมาคุย จึงเป็นดังการเปิด “ปราศรัยใหญ่” ทางการเมือง แม้จะอยู่ในฐานะผู้ลี้ภัยต่างแดน แต่เงื่อนไขความไกลทางภูมิศาสตร์ไม่ใช่ข้อจำกัดของการสื่อสารอีกต่อไป

ปรากฎการณ์เช่นนี้ยิ่งตอกย้ำถึง บทบาทอย่างสำคัญของเทคโนโลยีสื่อสารสมัยใหม่กับการเมืองไทยในอนาคตอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้แล้ว (จนอดคิดถึงการต่อสู้ของพี่น้องในเมียนมากับการต่อสู้กับระบอบเผด็จการทหาร ที่เชื่อว่า อีกไม่นาน “คลับเฮาส์” จะไปแสดงศักยภาพที่นั่นด้วย!)

นอกจากนี้ คงต้องยอมรับว่า “คลับเฮ้าส์” รองรับอย่างดีกับการเปิดเวทีการเมืองในโลกยุคโควิด ที่คนออกจากบ้านไม่ได้ ดังนั้นในภาวะเช่นนี้ คนจึงไม่จำเป็นต้องออกไปชุมนุมในเวทีสาธารณะ โดยโลกไซเบอร์ได้สร้างเวทีสาธารณะใหม่ในทางการเมืองขึ้น อันทำให้การ “ปราศรัยทางการเมือง” และ “การโฆษณาทางการเมือง” ตลอดรวมถึง “การปลุกระดมทางการเมือง” จะมีคลับเฮ้าส์เป็นเวทีสำคัญในอนาคต

สิ่งนี้เป็นปรากฎการณ์ใหม่และเป็นประเด็นสำคัญที่ฝ่ายประชาธิปไตยจะต้องเรียนรู้ แต่ก็ต้องไม่ประมาทที่ฝ่ายอำนาจนิยมและบรรดาปีกขวาจัดทั้งหลายก็อาจเลียนแบบด้วยการเปิดสโมสรของตัวเองบ้าง ซึ่งเชื่อว่า อีกไม่นาน “สโมสรขวาจัด” ก็คงถือกำเนิดในการเมืองไทยด้วยเช่นกัน

เรื่องราวทั้งหมดนี้บ่งชี้ถึงแนวโน้มในอนาคตว่า การต่อสู้ใน “สนามรบไซเบอร์” ของการเมืองไทยจะเข้มข้นขึ้นอย่างแน่นอน และเมื่อฝ่ายประชาธิปไตยเปิดการรบด้วยเครื่องมือใหม่ที่เป็น “คลับเฮ้าส์” แล้ว จึงน่าสนใจว่าปีกขวาจัดและปีกอำนาจนิยมจะตอบโต้อย่างไร และ “สโมสรขวาจัด” จะขับเคลื่อนในการต่อสู้ครั้งนี้อย่างไร?