สุรชาติ บำรุงสุข | 88 ปีระบอบทหารไทย ep.6 : จาก 2514-2516

ศ.กิตติคุณ ดร.สุรชาติ บำรุงสุข

“รัฐบาลทหารไม่เหมือนกับรัฐบาลพลเรือนที่มาจากการเลือกตั้ง [เพราะ] พวกเขาไม่สามารถพึ่งพาความร่วมมือจากประชาชนได้ เพราะฉะนั้น พวกเขาจึงต้องพึ่งพาความร่วมมือจากกองทัพโดยรวม”

Robert Pinkney

Right-Wing Military Government (1990)

การเมืองไทยหลังจากการรัฐประหารตัวเองของจอมพลถนอม กิตติขจร ในเดือนพฤศจิกายน 2514 เป็นหนึ่งในตัวอย่างคลาสสิคที่สามารถนำมาใช้เป็นบทเรียนในการสอนวิชา “ทหารกับการเมือง” ได้เป็นอย่างดี

ในด้านหนึ่งเห็นถึงความท้าทายที่เกิดขึ้นกับผู้นำทหารที่พยายามใช้กลไกการเมืองของระบอบรัฐสภาเป็นเครื่องมือในการสร้างความชอบธรรมเพื่อให้ระบอบทหารสามารถสืบทอดอำนาจต่อไปได้

แต่ในที่สุดก็ไม่สามารถควบคุมการเมืองทั้งสภาและในรัฐบาลได้อย่างที่ต้องการ อีกทั้งเกิดความแตกแยกในหมู่ผู้นำทหารในระดับสูงด้วย

ในอีกด้านก็เห็นถึงการตัดสินใจด้วยชุดวิธีคิดแบบทหาร เมื่อไม่สามารถควบคุมการเมืองได้ และปัญหาเสถียรภาพเริ่มขยายตัวเป็นประเด็นสำคัญ ทางเลือกของผู้นำทหารจึงเหลือแต่เพียงประการเดียวคือ การหันกลับสู่การรัฐประหาร ซึ่งเป็นวิธีพื้นฐานของการแก้ไขปัญหาทางการเมืองของผู้นำทหารในทุกยุคทุกสมัย

แต่สุดท้ายแล้วรัฐประหารจะเป็นเครื่องมือของการแก้ไขปัญหาในอนาคตได้จริงเพียงใด จึงเป็นความท้าทายอีกประการที่สำคัญ

ระบอบทหารและความท้าทาย

การแก้ปัญหาด้วยการรัฐประหารในปลายปี 2514 อาจจะดูเหมือนกับเป็นโอกาสของการสร้างความเข้มแข็งของระบอบทหารให้กลับคืนมา (หรือกล่าวในทางทฤษฎีว่า รัฐประหารคือ “authoritarian consolidation”) ซึ่งไม่เพียงแต่กลไกของระบอบรัฐสภาจะถูกล้มล้างทิ้ง หากยังเปิดทางให้ผู้นำทหารกลับเข้ามาควบคุมการเมืองของประเทศได้อย่างเต็มรูปด้วยการจัดตั้ง “รัฐบาลทหาร”

เมื่อหวนกลับไปพิจารณาความเป็นนายกรัฐมนตรีของจอมพลถนอม จะมีแง่มุมที่น่าสนใจอย่างมาก

กล่าวคือ เขาก้าวขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีครั้งแรกในวันที่ 1 มกราคม 2501 ด้วยอัตราชั้นยศพลโทในขณะนั้น และเป็นรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง

เขากลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีครั้งที่สองหลังจากการเสียชีวิตของจอมพลสฤษดิ์ในเดือนธันวาคม 2506 และเป็นรัฐบาลทหาร

ต่อมาเมื่อการร่างรัฐธรรมนูญเสร็จสิ้นลง เขาได้เป็นนายกรัฐมนตรีครั้งที่สามในระบอบเลือกตั้งอีกครั้งในเดือนมีนาคม 2512 แต่ก็ทำรัฐประหารตัวเอง และก้าวขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีครั้งที่สี่ในระบอบทหาร

จึงเท่ากับจอมพลถนอมเป็นนายกรัฐมนตรีในระบอบเลือกตั้งสองครั้ง และด้วยระบอบทหารสองครั้ง

แต่การเมืองของระบอบทหารนับจากปี 2515 เป็นต้นมา ไม่ราบรื่นดังที่ผู้นำทหารคาดหวังไว้ หากแต่ต้องเผชิญกับความท้าทายที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ได้แก่

1) อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร 3 นายฟ้องคณะรัฐประหารในเดือนมีนาคม 2515

2) การต่ออายุราชการของจอมพลถนอมในเดือนกรกฎาคม 2515

3) การแต่งตั้ง พล.อ.ประภาสไปเป็นอธิบดีกรมตำรวจ

4) นิสิต-นักศึกษาประท้วงต่อต้านรัฐบาลในการแทรกแซงอำนาจตุลาการในเดือนธันวาคม 2515 (กรณีประกาศคณะปฏิวัติฉบับที่ 299)

5) การคงอำนาจของรัฐบาลทหารด้วยการประกาศใช้ธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักรในเดือนธันวาคม 2515 ซึ่งทำให้เกิดความไม่พอใจในหมู่นักศึกษาประชาชน

6) การประท้วงการใช้เฮลิคอปเตอร์ของกองทัพบกไปล่าสัตว์ที่ทุ่งใหญ่นเรศวร

7) การเลื่อนยศเป็นจอมพลและต่ออายุราชการของจอมพลประภาสในเดือนมิถุนายน 2516

8) การลบชื่อนักศึกษา 9 คนของมหาวิทยาลัยรามคำแหง ซึ่งจัดพิมพ์หนังสือที่มีข้อความเสียดสีรัฐบาลในเดือนมิถุนายน 2516 ที่นำไปสู่การชุมนุมใหญ่ต่อต้านรัฐบาล

9) การเรียกร้องให้รัฐบาลทหารประกาศใช้รัฐธรรมนูญภายในหกเดือนในเดือนมิถุนายน 2516

และ 10) การเปิดการรณรงค์เรียกร้องรัฐธรรมนูญด้วยการแจกใบปลิวอย่างเปิดเผยในต้นเดือนตุลาคม 2516

ชีวิตของรัฐบาลทหารจากปี 2515 จนถึงตุลาคม 2516 เป็นช่วงระยะเวลาที่ผู้นำทหารต้องเผชิญกับความท้าทาย ที่สุดท้ายแล้วจบลงอย่างที่คาดไม่ถึงด้วยการประท้วงใหญ่ในวันที่ 14 ตุลาคม 2516 และเป็นจุดสิ้นสุดอายุขัยของระบอบทหารที่สืบทอดอำนาจมาอย่างยาวนานนับจากรัฐประหาร 2490

ภูมิทัศน์ใหม่

ทุกคนที่เรียนประวัติศาสตร์การเมืองรับรู้กันอย่างดีถึงความสำคัญของเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 ที่เกิดในประเทศไทย…

หากเปรียบการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 เป็นดัง “การปฏิวัติครั้งแรก” ของสยามแล้ว ก็คงไม่ผิดนักที่จะต้องกล่าวยกย่องว่าเหตุการณ์ 14 ตุลาฯ คือ “การปฏิวัติครั้งที่สอง” ของสังคมการเมืองไทย

(คำว่า “ปฏิวัติ” ในบทความนี้ใช้ในความหมายของ “Revolution” ไม่ใช่ใช้ในความหมายของการรัฐประหาร เช่นที่คนในสังคมไทยคุ้นเคย และใช้ผิดความหมายมาโดยตลอด)

หรืออาจเรียกในสำนวนการเมืองร่วมสมัยว่า 14 ตุลาฯ คือ “ฤดูใบไม้ผลิที่กรุงเทพ” หรือ “Bangkok Spring”

แน่นอนว่าการลุกขึ้นสู้ของนักศึกษาประชาชนครั้งนี้เป็น “การปฏิวัติทางการเมือง” ซึ่งปฏิเสธไม่ได้ที่จะต้องมีความรุนแรงและการสูญเสีย ตามมาด้วยการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองบางประการ

แต่อาจจะไม่สามารถก่อให้เกิดการเปลี่ยนขนาดใหญ่ในเชิงโครงสร้างได้ทั้งหมดเช่นที่เกิด “การปฏิวัติทางสังคม” ในบางประเทศ

แต่อย่างน้อยเหตุการณ์นี้สร้างภูมิทัศน์ใหม่ของการเมืองไทยอย่างมีนัยสำคัญ และยังเห็นถึงการพังทลายของระบอบทหารที่สืบทอดอำนาจมาอย่างยาวนาน และจบลงด้วยการประท้วงต่อต้านขนาดใหญ่ของนักศึกษา-ประชาชน

ดังนั้น เหตุการณ์ 14 ตุลาฯ จึงเป็นครั้งแรกที่ระบอบทหารไทยถูกโค่นล้มลงด้วยการลุกขึ้นสู้ของประชาชน (popular uprising) ไม่ใช่ด้วยการรัฐประหารของชนชั้นนำหรือผู้นำทหารด้วยกันเอง… ถ้าเช่นนั้นอะไรคือจุดจบของระบอบทหารไทยในปี 2516?

จุดจบในทางทฤษฎี!

ในภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติของวิชารัฐศาสตร์นั้น มีข้อสรุปที่ชัดเจนประการหนึ่งว่า ระบอบทหาร (ไม่ว่าจะอยู่ในสภาวะเต็มรูปหรือครึ่งรูปในแบบพันทาง) ดำรงอยู่ในอำนาจได้ด้วยการสนับสนุนอย่างเข้มแข็งของกองทัพและของชนชั้นนำที่มีอำนาจในสังคม

และการสนับสนุนเช่นนี้จะต้องไม่เปลี่ยนแปรไปเป็นอื่น เพื่อให้ผู้นำทหารมีเอกภาพสามารถควบคุมการเมืองได้อย่างมีประสิทธิภาพด้วยอำนาจของกองทัพ ที่สำคัญการควบคุมนี้จะต้องไม่ถูกท้าทายด้วยการประท้วงต่อต้านในสังคม

แต่ถ้าเมื่อใดเกิดความท้าทายจากประชาชนที่ปฏิเสธอำนาจของผู้นำทหาร ขณะเดียวกันก็เกิดปัญหาเอกภาพภายในกองทัพด้วยแล้ว เมื่อนั้นก็คือ “จุดจบ” ของระบอบนี้อย่างแน่นอน

ฉะนั้น อำนาจการปราบปรามด้วยการใช้เครื่องมือทางทหาร ที่ถูกออกแบบเพื่อการทำสงครามของรัฐ แต่กลับนำมาใช้ในการล้อมปราบประชาชนนั้น มีความเปราะบางในตัวเองเสมอในยามที่ต้องเผชิญหน้ากับการต่อต้านขนาดใหญ่ของประชาชน

เพราะเมื่อใดก็ตามที่ “กระสุนนัดแรก” ของการปราบปรามเริ่มดังขึ้น

ความชอบธรรมของรัฐบาลที่อยู่ในอำนาจต่อไปจะหมดลงทันที

และการสูญเสียชีวิตของประชาชนจะกลายเป็นความชอบธรรมในตัวเองสำหรับประชาชนในการโค่นล้มรัฐบาลด้วย

จุดพลิกผัน

รัฐบาลทหารของจอมพลถนอม กิตติขจร ซึ่งอยู่ในอำนาจมาตั้งแต่ปี 2507 เผชิญกับความท้าทายมาโดยตลอด

และหลังจากความพยายามในการสร้างความชอบธรรมโดยอาศัยการเลือกตั้งในปี 2512 ที่ “ระบอบพันทาง” จบลงด้วยการรัฐประหารตัวเองในปลายปี 2514 ได้กลายเป็นจุดถดถอยทางการเมืองครั้งสำคัญของรัฐบาล

ความท้าทาย 10 ประการ (ดังที่กล่าวในข้างต้น) ในยุครัฐบาลทหารจากปี 2515 เป็นต้นมา เป็นสัญญาณของการเสื่อมถอยในตัวเอง เมื่อรัฐบาลสูญเสียความชอบธรรมในหลายเหตุการณ์ พร้อมกันนี้เสียงเรียกร้องรัฐธรรมนูญก็ดังมากขึ้น และนำไปสู่การชุมนุมใหญ่มากขึ้นด้วย จุดสุดท้ายเกิดขึ้นเมื่อ “กลุ่มเรียกร้องรัฐธรรมนูญ” ได้รวบรวมคนที่มีสถานะในสังคมไทย 100 คนให้ร่วมลงชื่อเรียกร้องรัฐธรรมนูญ

แต่ภายในรัฐบาลกลับมีความสั่นคลอนในตัวเอง อันเป็นผลจากความขัดแย้งของกลุ่มผู้นำ จนกลายเป็นภาวะ “มุ้งหลายหลัง” ทั้งในพรรค และ “อำนาจหลายศูนย์” ในรัฐบาล อีกทั้งการขยายบทบาทของ พ.อ.ณรงค์ กิตติขจร เป็นอีกประเด็นสำคัญที่ทำให้ความขัดแย้งในรัฐบาลมีปัญหาภายในมากขึ้น และสมทบด้วยปัญหาการแตกแยกของผู้นำ ไม่ว่าจะเป็นการต่ออายุราชการจอมพลถนอมและจอมพลประภาส แต่ไม่ต่ออายุราชการของ พล.ต.อ.ประเสริฐ รุจิรวงศ์ เป็นต้น

สภาวะเช่นนี้เริ่มเป็นสัญญาณที่บ่งชี้ถึงการล่มสลายของรัฐบาล โดยเฉพาะความน่าเชื่อถือของตัวผู้นำหลักทั้งสามคือ จอมพลถนอม จอมพลประภาส และ พ.อ.ณรงค์ ตกลงอย่างมาก รัฐบาลถูกมองว่าไม่มีความชอบธรรมเหลือในการปกครองประเทศแล้ว

ในขณะเดียวกันเสียงเรียกร้องให้ประเทศกลับมาปกครองในระบอบประชาธิปไตยก็ดังมากขึ้นเรื่อยๆ แต่ก็ไปตามธรรมชาติของผู้นำทหาร ที่พวกเขาจะไม่ใส่ใจกับการเรียกร้องที่เกิดขึ้น

เพราะยังเชื่อเสมอว่ารัฐบาลยังได้รับความสนับสนุนจากกองทัพ

จึงไม่จำเป็นต้องใส่ใจกับข้อเรียกร้องของประชาชน แต่ในความเป็นจริงผู้นำทหารระดับสูงบางส่วนเริ่มหันหลังให้รัฐบาลแล้ว

จุดจบ!

ในวันที่ 6 ตุลาคม 2516 กลุ่มเรียกร้องรัฐธรรมนูญออกเดินรณรงค์ด้วยการแจกใบปลิว และถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจเข้าจับกุมทั้งหมด 11 คน

ในที่สุดการจับกุมได้นำไปสู่การชุมนุมประท้วงขนาดใหญ่ทั้งในกรุงเทพฯ และในต่างจังหวัดอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน แน่นอนว่าไม่มีใครคาดคิดว่าการจับกุมในวันนั้นคือ “จุดเริ่มต้นของจุดจบ” (the beginning of the end) ของระบอบทหาร

การประท้วงซึ่งกลายเป็น “การลุกขึ้นสู้” ของนิสิต นักศึกษาและประชาชน ตามมาด้วยการปะทะกับกองกำลังของรัฐบาล จนกลายเป็น “การล้อมปราบใหญ่” ในการเมืองไทย

ซึ่งเป็นครั้งแรกที่รัฐบาลใช้อาวุธปะทะกับนักศึกษาและประชาชนโดยตรงอย่างชัดเจนบนถนน ภาพของนักศึกษาประชาชนที่เสียชีวิตจากอาวุธของทหารฝ่ายรัฐบาลทำให้ตัวรัฐบาลหมดความชอบธรรมลงโดยสิ้นเชิง

การปราบปรามด้วยการใช้กำลังคือ “จุดจบสุดท้าย” ของรัฐบาล

เพราะไม่เพียงแต่ประชาชนส่วนใหญ่ไม่ให้การยอมรับเท่านั้น หากแต่กลุ่มผู้นำทหารระดับสูงบางส่วนก็ตัดสินใจแยกตัวเองออกจากกลุ่มอำนาจเดิมอีกด้วย… อำนาจรัฐในมือรัฐบาลจอมพลถนอมสิ้นสุดลงแล้ว และนำไปสู่การลี้ภัยออกนอกประเทศของสามผู้นำ จนกลายเป็นสมญา “สามทรราช” ในการเมืองไทย

ซึ่งแทบไม่เคยมีใครคิดมาก่อนเลยว่า นักศึกษา-ประชาชนจะสามารถโค่นล้มรัฐบาลทหารได้จริงในปี 2516!


กว่า 12 ปี ของการจัดงาน Healthcare เครือมติชนร่วมกับพันธมิตรทั้งภาครัฐและเอกชน ได้ส่งต่อความรู้และให้บริการสุขภาพแก่คนไทยในทุกมิติ ทั้งการป้องกัน ดูแล และรักษา โดยเฉพาะการบริการตรวจสุขภาพฟรีจากสถานพยาบาลชั้นนำ เวิร์กชอป ให้คำปรึกษาปัญหาสุขภาพ รวมถึงการยกระดับเวทีเสวนาให้เป็น “Health Forum” เปิดเวทีให้แพทย์ และ Speaker ระดับประเทศ มาร่วมพูดคุยถึงแนวทางการป้องกัน การรักษา และนำเสนอนวัตกรรมทางการแพทย์ รวมถึงเรื่องราวสุขภาพในแบบเอ็กซ์คลูซีฟที่จะมาให้อัปเดตตลอด 4 วันของการจัดงาน เดินทางสะดวกโดยทางด่วนและ MRT ลงสถานีสามย่าน ทางออกที่ 2
ลงทะเบียนเข้างานฟรี มีต้นไม้แจกด้วยนะ (จำนวนจำกัด)