สุรชาติ บำรุงสุข : หกตุลารำลึก – สงครามต้านปฏิวัติของรัฐไทย

ศ.กิตติคุณ ดร.สุรชาติ บำรุงสุข

หกตุลารำลึก (5) สงครามต้านปฏิวัติของรัฐไทย

“การก่อความไม่สงบเป็นสงครามที่มุ่งเอาชนะประชาชน… ดังนั้น ถ้าปราศจากจักรกลของรัฐบาลที่มีประสิทธิภาพแล้ว การต่อต้านการก่อความไม่สงบจะไม่ก่อให้เกิดผลอันน่าพึงปรารถนาได้เลย”

เซอร์โรเบิร์ต ทอมป์สัน

นักทฤษฎีต่อต้านคอมมิวนิสต์ชาวอังกฤษ

ผมกลับจากเรียนหนังสือในต่างประเทศในช่วงปลายปี 2528

สถานการณ์สงครามคอมมิวนิสต์จบสิ้นลงแล้ว เพื่อนๆ หลายคนกลับออกจากการต่อสู้ในชนบทแทบจะหมดทุกคน

และแน่นอนว่ามีเพื่อนและน้องบางคนไม่ได้กลับมา

พวกเขาเอาชีวิตเข้าแลกกับความเชื่อทางอุดมการณ์ของการปฏิวัติ…

หลายชีวิตของนิสิต-นักศึกษาเหล่านี้ยังคงทอดร่างอยู่ในป่าเขา

ไม่แตกต่างกับเพื่อนๆ อีกส่วนที่เอาชีวิตฝากไว้ที่ต้นมะขามสนามหลวงและมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

แต่สุดท้ายการตัดสินใจครั้งใหญ่ในการเข้าร่วมสงคราม กลับจบลงด้วยการพลิกสถานการณ์ และนำมาซึ่งความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในชีวิตของพวกเราทุกคน

จนอดถามเล่นๆ ในช่วงนั้นไม่ได้ว่า ตกลงสงครามจบลงจริงๆ แล้วหรือ?

หากย้อนกลับไปสู่สถานการณ์สงครามระหว่างพรรคพี่น้องในอินโดจีน ตามมาด้วยความขัดแย้งภายในพรรคและปรากฏการณ์ป่าแตกของไทย

ต่อมาด้วยการเปิดยุทธการของกองกำลังฝ่ายรัฐที่เป็นต่อในทางยุทธศาสตร์และเป็นเสมือนกับการปิดฉากของสงคราม

และในเดือนตุลาคม 2526 รัฐบาลของ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ จึงประกาศชัยชนะต่อพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย

จากจุดเริ่มต้นของปฐมบทแห่งสงครามปฏิวัติไทยที่เริ่มในปี 2508 สงครามค่อยๆ ปิดฉากลง และจบลงในปี 2526 เป็นเวลากว่าหนึ่งทศวรรษที่รัฐและสังคมไทยต้องเผชิญกับสงครามภายใน

และจบด้วยชัยชนะจนเป็นหนึ่งในตัวแบบของรัฐที่ชนะสงครามก่อความไม่สงบ

แทบไม่น่าเชื่อว่าจากปี 2519 ต่อเนื่องเข้าปี 2520 หลายฝ่ายเกรงกันว่าโดมิโนจะล้มลงที่กรุงเทพฯ

แต่กลับกลายเป็นว่า “โดมิโนไทย” เข้มแข็งอย่างมากจวบจนสิ้นสุดยุคของสงครามเย็น

ดังนั้น จึงเป็นคำถามเหมือนครั้งหนึ่งที่อังกฤษชนะสงครามก่อความไม่สงบในมลายา ที่เรียกว่า

“อะไรคือปัจจัยแห่งชัยชนะ”

สงครามเริ่มแล้วในไทย!

รัฐบาลไทยในช่วงปลายรัชสมัยของรัชกาลที่ 7 เฝ้ามองปัญหาการขยายตัวของลัทธิคอมมิวนิสต์ด้วยความกังวลมาอย่างยาวนาน

เพราะหลังจากการประชุมสากลที่สามในยุโรปแล้ว ได้มีมติที่จะขยายงานในเอเชีย เพราะการจัดตั้งและการเคลื่อนไหวในยุโรปมีความเข้มแข็งอย่างมาก ในเอเชียกลับยังไม่มีการเคลื่อนไหวเท่าใดนักนอกจากในกรณีของจีน

และมีข้อมูลจากสหายรุ่นเก่าที่กล่าวว่า ในช่วงเริ่มแรกนั้นได้มีสหายจากยุโรปเริ่มเดินทางเข้ามาในสยาม เนื่องจากในขณะนั้นเริ่มมีหน่วยจัดตั้งของเยาวชนจากพรรคจีนและพรรคเวียดนามเข้ามาทำงาน แต่ยังไม่มีในส่วนของสยามโดยตรง

ดังนั้น เมื่อโฮจิมินห์เดินทางเข้ามาทำการเคลื่อนไหวพี่น้องชาวเวียดนามแล้ว

จึงได้รวบรวมพลพรรคและทำการจัดตั้ง “คณะคอมมิวนิสต์สยาม” ขึ้นในวันที่ 20 เมษายน 2473

แต่สมาชิกในช่วงต้นไม่มีคนสยามโดยตรง กลับเป็นคนเวียดนามและคนจีนที่อาศัยอยู่ในสยามเป็นกำลังหลักในการก่อตั้ง และเชื่อว่าจากสยาม ลุงโฮได้เดินทางไปตั้งพรรคที่มลายาอีกด้วย

รัฐบาลสยามในช่วงต้นพยายามต่อสู้ด้วยการออกกฎหมายที่ถือว่า “การสั่งสอนทฤษฎีการเมืองหรือเศรษฐกิจเพื่อให้บังเกิดความเกลียดชังระหว่างชนชั้น” เป็นความผิด มีโทษทั้งจำทั้งปรับ

แต่การเคลื่อนไหวอย่างปิดลับของสหายชาวจีนและชาวเวียตยังคงดำเนินต่อไป

ส่วนหนึ่งของการเคลื่อนไหวเช่นนี้มีความผูกโยงกับการเรียกร้องเอกราชในประเทศอาณานิคม ทำให้ในยุคนั้นมีการแลกเปลี่ยนและส่งข้อมูลข่าวกรองจากรัฐบาลอังกฤษ ฝรั่งเศส และเนเธอร์แลนด์ให้แก่รัฐบาลสยามในการติดตามตัวบุคคล

และหลายครั้งที่รัฐบาลสยามตัดสินใจเข้ากวาดล้างเป้าหมายต้องสงสัย

และหลายครั้งเช่นกันที่มีการเนรเทศบุคคลเหล่านี้ออกจากประเทศไทย

จนกระทั่งเมื่อเกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 และกองทัพญี่ปุ่นได้รุกเข้าไทยในเดือนธันวาคม 2484 กิจกรรมการเคลื่อนไหวเช่นนี้ได้ยกระดับขึ้น

และในวันที่ 1 ธันวาคม 2485 พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย (พคท.) จึงถูกจัดตั้งขึ้น และเปิดการประชุมสมัชชาพรรคครั้งที่ 1

หน่วยการเคลื่อนไหวต่างๆ จึงรวมเข้ามาอยู่ภายใต้การนำของพรรค และดำเนินการต่อต้านญี่ปุ่น

อย่างไรก็ตาม ในช่วงต้นของยุคหลังสงคราม การเคลื่อนไหวมีทิศทางแบบปิดลับ แต่ยังมิได้มีแนวคิดในการเปิดการต่อสู้ด้วยกำลังอาวุธ

จนเมื่อมีการเคลื่อนไหวในการต่อต้านสงครามเกาหลีในชื่อของ “ขบวนการสันติภาพ” ที่พยายามระดมมวลชนเข้าร่วมการเคลื่อนไหวทางการเมืองอย่างเปิดเผย และรัฐบาลได้ตัดสินใจกวาดล้างจับกุมครั้งใหญ่ในวันที่ 10 พฤศจิกายน 2495 (หรือที่เรียกกันว่า “กบฏสันติภาพ”)

และในปีเดียวกันนี้ได้มีการประชุมสมัชชาพรรคครั้งที่ 2 ด้วย

อีกสามวันต่อมา รัฐบาลได้ตรากฎหมายฉบับสำคัญคือ “พระราชบัญญัติป้องกันการกระทำอันเป็นคอมมิวนิสต์ พ.ศ.2495” อันเป็นเครื่องมือหลักของรัฐบาลไทยใช้ต่อสู้ในสงครามนี้ และเป็นกฎหมายที่ให้อำนาจการจับกุมแก่เจ้าหน้าที่อย่างมาก

จนถูกวิจารณ์ว่าเป็น “กฎหมายแบบครอบจักรวาล”

และบางครั้งถูกมองว่าเป็น “กฎหมายปราบปรามฝ่ายตรงข้าม” แม้รัฐบาลพิบูลสงครามจะดำเนินการ “รื้อฟื้นประชาธิปไตย” ในปี 2498 แต่รัฐบาลยังคงจับตามองปัญหาคอมมิวนิสต์ไม่เปลี่ยนแปลง

ในปี 2504 มีการประชุมสมัชชาพรรคครั้งที่ 3 มีมติให้เตรียมการต่อสู้ด้วยกำลังอาวุธ แต่ความเป็นจริงของสถานการณ์ไม่ได้เอื้อขนาดนั้น

หากแต่ปัจจัยภายนอกในปี 2508 ดูจะมีอิทธิพลมากกว่า เมื่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศของจีนประกาศว่า การต่อสู้ด้วยกำลังอาวุธจะเกิดขึ้นเร็วๆ นี้ในไทย

และต่อมาในวันที่ 7 สิงหาคมของปีดังกล่าว การต่อสู้ด้วยกำลังอาวุธก็เริ่มขึ้นจากการซุ่มโจมตีของกองกำลังติดอาวุธของ พคท.ที่จังหวัดนครพนม…

สงครามคอมมิวนิสต์เริ่มขึ้นจริงๆ แล้วในไทย

รัฐไทยจะสู้อย่างไร?

การเคลื่อนไหวของ พคท.ที่ผ่านมาในอดีตเป็นการเคลื่อนไหวแบบปิดลับ

การตอบโต้ของรัฐบาลไทยจึงใช้มาตรการกวาดล้างจับกุมในทางกฎหมายเป็นด้านหลัก

แต่เมื่อสงครามเกิดขึ้นแล้ว การใช้มาตรการทางทหารย่อมเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้

เพราะเริ่มมีการปะทะเกิดขึ้นในภาคอีสาน

รัฐบาลจึงมีการจัดองค์กรและเตรียมกำลังเพื่อรับมือ

พล.อ.สายหยุด เกิดผล ย้อนรำลึกเหตุการณ์นี้ และกล่าวถึงแนวคิดของ พล.อ.ประภาส จารุเสถียร ในขณะนั้นว่า ถ้ารัฐบาลทุ่มกำลังเต็มที่ ก็น่าจะสามารถเอาชนะคอมมิวนิสต์ได้ในเวลาหกเดือน…

คำกล่าวเช่นนี้สะท้อนความเชื่อมั่นของพลังอำนาจทางทหารที่รัฐบาลมีเหนือกว่าฝ่ายคอมมิวนิสต์

จนเชื่อว่าถ้าใช้กำลังเข้าทำการรบเต็มที่แล้ว รัฐไทยจะชนะสงครามในระยะเวลาเพียงครึ่งปีเท่านั้น แต่คำตอบที่เป็นจริงก็คือ สงครามยาวต่อมาอีกหลายปีจนเป็นปมปัญหาทางยุทธศาสตร์สำคัญของรัฐไทย

ในเชิงองค์กร ในวันที่ 17 ธันวาคม 2508 รัฐบาลจอมพลถนอม กิตติขจร ได้เริ่มต้นด้วยการจัดตั้งกองบัญชาการทางทหารขึ้นในชื่อ “กองบัญชาการป้องกันและปราบปรามคอมมิวนิสต์” (บก.ปค.) เพื่อเตรียมรับสงครามที่เริ่มขึ้นจากวัน “เสียงปืนแตก”

และต่อมาในวันที่ 9 กรกฎาคม 2512 ได้ยกสถานะขึ้นเป็น “กองอำนวยการป้องกันและปราบปรามคอมมิวนิสต์” (กอ.ปค.) เพื่อหวังจะให้เป็นองค์กรหลักในการสร้างเอกภาพของการใช้พลังอำนาจของรัฐในการต่อสู้ และประสานขีดความสามารถของพลเรือน ตำรวจ และทหารในการทำงานร่วมกันทั้งในระดับทางยุทธศาสตร์และยุทธการ

แม้จะมีการออกแบบให้ กอ.ปค. เป็นกองบัญชาการกลางของ “ไตรภาคี” ระหว่างพลเรือน ตำรวจ และทหาร และอาจไม่แตกต่างจากการออกแบบของอังกฤษในมลายาที่ต้องมี “กองบัญชาการร่วม”

แต่ผู้นำทหารมักจะมีทัศนะที่มองเห็นสงครามเป็นเรื่องทางทหาร

และมีแนวโน้มที่เชื่อในวาทกรรมของ “สงครามในแบบ” ที่เห็นว่าชัยชนะถูกชี้ขาดด้วย “อำนาจการยิง” ที่เหนือกว่า…

พลังอำนาจทางทหารของฝ่ายรัฐบาลเหนือกว่าฝ่ายคอมมิวนิสต์อย่างมากในทุกด้าน

จนมีความเชื่อเสมอดังทัศนะของ พล.อ.ประภาสว่า ถ้ารบเต็มที่ เราจะชนะในหกเดือน

แต่เมื่อสงครามยืดออกไป และยังไม่มีแนวโน้มของชัยชนะ

ในตอนปลายปี 2510 กอ.ปค. ก็ถูกเปลี่ยนเป็น “กองบัญชาการทหาร” อย่างสมบูรณ์แบบ

อันสะท้อนให้เห็นแนวคิดที่มุ่งเอาชนะด้วยมาตรการทางทหารเป็นด้านหลัก

ความเป็น “บก.ร่วม” ที่ถูกออกแบบไว้แต่เดิมเปลี่ยนแปลงไปกลายเป็น “บก.ทบ.” ในอีกแบบหนึ่ง เหตุการณ์นี้เป็นดังการยึดอำนาจของกองทัพบกในสงครามคอมมิวนิสต์ และเป็นจุดเริ่มต้นของอาการ “สะวิง” ในการใช้ยุทธศาสตร์ “การทหารนำ” ในการต่อสู้

การเคลื่อนไหวในภาคอีสานมีมากขึ้นหลังวันเสียงปืนแตกแล้ว

ในตอนต้นปี 2509 พคท.จัด “ทีมโฆษณาติดอาวุธ” ออกปฏิบัติการเป็นครั้งแรก

ในขณะที่ปฏิบัติการตอบโต้ของฝ่ายรัฐในชนบทไม่ประสบความสำเร็จเท่าใดนัก

และผู้นำทหารอีกส่วนเริ่มยอมรับว่า การก่อความไม่สงบเป็น “สงครามการเมือง” และในปี 2510 รัฐบาลได้ออก “แผน 09/10” เพื่อสร้างความมั่นคงในระดับหมู่บ้าน

พร้อมกับการกวาดจับคอมมิวนิสต์ในเมือง แต่สงครามก็ขยายตัวมากขึ้น ในปี 2510 สงครามขยายตัวในภาคเหนือ และนำไปสู่การสร้างฐานที่มั่นในพื้นที่ดังกล่าว ปี 2511 มีการจัดตั้งฐานที่มั่นในเขตสามจังหวัด (เลย-พิษณุโลก-เพชรบูรณ์)

ต่อมาในปี 2512 พคท.จัดตั้งกองบัญชาการสูงสุดของกองทัพปลดปล่อยประชาชนแห่งประเทศไทย (ทปท.) พร้อมกันนี้สงครามก็ขยายตัวลงสู่ภาคใต้ และภาคตะวันตกด้านจังหวัดตาก

จนกล่าวได้ว่าสงครามจากปี 2510 ต่อเนื่องถึงปี 2512-13 ได้ขยายไปในทุกภาคของประเทศ

การขยายตัวเช่นนี้ยิ่งทำให้เกิดแนวโน้มในหมู่ผู้นำรัฐบาลไทยที่จะใช้มาตรการทางทหารมากขึ้น…

ยิ่งสงครามขยายมากเท่าใด ก็ยิ่งต้องปราบมากเท่านั้น

การทหารนำคือชัยชนะ!

ความคิดการทหารนำได้นำไปสู่การเปิดยุทธการใหญ่ แต่กลับเป็นภาพสะท้อนของความล้มเหลวครั้งใหญ่ของกองทัพบก โดยในตอนต้นปี 2515 กำลังของกองทัพภาคที่ 1 จากกรุงเทพฯ ถูกส่งเข้าทำการรบในพื้นที่สามจังหวัด

แต่ในเดือนเมษายนก็ต้องถอนกำลังกลับหลังจากประสบความสูญเสียอย่างหนัก

กองทัพภาคที่ 4 ในภาคใต้ก็ขยายปฏิบัติการทางทหารเช่นกัน แต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จ

แต่ในอีกด้านการเมืองไทยเดินมาถึงจุดเปลี่ยนแปลงใหญ่ในเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 การขยายตัวของกระแสประชาธิปไตย

ส่งผลให้ กอ.ปค.ในปี 2517 ต้องเปลี่ยนชื่อเป็น “กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร” (กอ.รมน.) เพื่อรับกับบริบทการเมืองใหม่ของประเทศ

แต่ทิศทางทางความคิดไม่ได้เปลี่ยนไปแต่อย่างใด

ประชาธิปไตยถูกมองว่าเป็นภัยคุกคามต่อความมั่นคง

และยิ่งหลังจากโดมิโนล้มลงในอินโดจีนในปี 2518 ก็ยิ่งกลายเป็นปัจจัยที่เสริมแนวคิด “การทหารนำ” ทั้งในระดับยุทธศาสตร์และยุทธการ อันนำไปสู่การล้อมปราบในเมืองครั้งใหญ่ในวันที่ 6 ตุลาคม 2519 ยุทธการปราบนักศึกษาเริ่มด้วยความเชื่อว่า มาตรการทางทหารจะนำไปสู่ชัยชนะ ไม่แตกต่างจากความเชื่อทางยุทธการในสนามรบในชนบท

อาการ “สะวิง” ที่รัฐจะหันไปสู่การใช้มาตรการทางทหารไม่ใช่เรื่องแปลกในสงครามต่อต้านคอมมิวนิสต์ หากย้อนกลับไปดูจุดเริ่มต้นที่ทำให้ทำเนียบขาวและกองทัพสหรัฐเข้าสู่สนามรบในสงครามเวียดนามหลังจากวิกฤตอ่าวตังเกี๋ยในกลางปี 2507 จนกลายเป็น “กับดักสงคราม” ที่ลากสังคมอเมริกันในอีกหลายปีต่อมา

และอาจเปรียบเทียบได้กับเมื่อครั้งรัฐบาลมอสโกตัดสินใจพากองทัพโซเวียตเข้าสู่สนามรบในอัฟกานิสถาน และกลายเป็นกับดักไม่ต่างกับที่สหรัฐเผชิญมาแล้วในสงครามเวียดนาม

ไม่น่าเชื่อว่ารัฐมหาอำนาจใหญ่ที่มีความพร้อมของเทคโนโลยีทหารสมรรถนะสูงเป็นเครื่องสนับสนุนกลับไม่อาจเอาชนะนักรบกองโจรที่อ่อนด้อยกว่าในสงครามก่อความไม่สงบ

ความเป็น “สงครามนอกแบบ” จึงเป็นความท้าทายชุดสำคัญในขณะนั้น

และมีความพ่ายแพ้ของสหรัฐในเวียดนามเป็นคำตอบที่ชัดเจนว่า สงครามนี้ไม่อาจเอาชนะด้วยอำนาจการยิงที่เหนือกว่าที่ผู้นำทหารไทยเชื่อมั่นตั้งแต่เริ่มสงคราม

ถ้าเช่นนั้นแล้วรัฐและกองทัพไทยจะปรับตัวอย่างไร

และหากไม่มีการปรับยุทธศาสตร์ ก็จะเป็นการเดินสู่ความพ่ายแพ้เช่นที่เกิดในอินโดจีนแล้ว

และกลายเป็นโดมิโนตัวที่สี่!