สุจิตต์ วงษ์เทศ/มโหรี เพลงดนตรีมีนิยายเชิงสังวาส ของราชสำนักสมัยอยุธยา ไม่มีในชุมชนชาวบ้านชาวเมือง

มโหรี เพลงดนตรีมีนิยายเชิงสังวาส

ของราชสำนักสมัยอยุธยา

ไม่มีในชุมชนชาวบ้านชาวเมือง

สุจิตต์ วงษ์เทศ

ดนตรีไทย เป็นชื่อเพิ่งสร้างใหม่หลังเปลี่ยนชื่อประเทศจากสยามเป็นไทย และจากชาวสยามเป็นคนไทย เมื่อ พ.ศ. 2482
สมัยอยุธยา ไม่เรียกดนตรีไทยในความหมายรวมๆ ที่ตรงกับภาษาอังกฤษว่า Thai Music แต่จะเรียกแยกเป็นชื่อๆ ตามลักษณะการประสมเครื่องมือกลุ่มต่างๆ เช่น ปี่พาทย์ฆ้องวงŽ (ในพระอัยการลักษณะเบ็ดเสร็จ), เป่าปี่เป่าขลุ่ยสีซอดีดจะเข้กระจับปี่ตีโทนทับŽ (ในกฎมณเฑียรบาล)
คำว่า ดนตรี เป็นชื่อเฉพาะที่หมายถึงวงบรรเลงขับกล่อมอย่างหนึ่งคู่กับมโหรีมีใช้แล้วสมัยอยุธยาตอนต้นๆ หรืออาจมีก่อนสมัยอยุธยาก็ได้ ล้วนเป็นพิธีกรรมทางการเมืองยุคนั้น

ปูนปั้นประดับฐานสถูปราว พ.ศ. 1400 เมืองคูบัว อ. เมืองฯ จ. ราชบุรี
ดนตรี-มโหรี ปี่พาทย์ฆ้องวง ภาพสลักตู้เท้าสิงห์ สมัยอยุธยา
จิตรกรรมฝาผนังสมัย ร.1 ในพระที่นั่งพุทไธสวรรย์ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร
มโหรีแบบอยุธยา ม.ล. เสาวรี ทินกร ดีดกระจับปี่, นางท้วม ประสิทธิกุล ตีกรับ ขับลำนำ, นางสาวชิ้น ศิลปบรรเลง สีซอสามสาย, นางสาวสาลี ยัตรโกวิท ตีทับ

1.
ดนตรีและมโหรี

ดนตรีกับมโหรี มี 2 ชื่อต่างกัน ในราชสำนักกรุงศรีอยุธยาใช้เรียกเครื่องบรรเลงขับกล่อมชุดเหมือนกัน
พบเป็นลายลักษณ์อักษรตั้งแต่สมัยต้นอยุธยาเรือน พ.ศ. 2000 แสดงว่าเป็นที่รู้จักคุ้นเคยมาแล้วตั้งแต่ยุคก่อนกรุงศรีอยุธยา
ทั้งหมดเป็นประเพณีของคนชั้นนำเท่านั้น ได้แก่ เจ้านาย, ขุนนาง, ข้าราชการ เป็นต้น จึงไม่ใช่เครื่องบันเทิงของสามัญชนคนชาวบ้านทั่วไป

เหมือนกัน และต่างกัน
ดนตรีกับมโหรี ทำหน้าที่บรรเลงขับกล่อมพระเจ้าแผ่นดินสมัยกรุงศรีอยุธยา มีทั้งส่วนที่เหมือนกันและต่างกัน ดังนี้
เหมือนกัน คือ เครื่องมือบรรเลงชิ้นสำคัญ ได้แก่ เครื่องมีสายใช้ดีดและสี เช่น พิณ, ซอ ฯลฯ
เจ้าพนักงานบรรเลงขับกล่อมเป็นผู้หญิงล้วน เพราะเป็นที่รโหฐานอยู่ในพระราชฐานชั้นใน (มีผู้ชายคนเดียว คือ พระเจ้าแผ่นดิน)
กฎมณเฑียรบาล เรียก เสภาดนตรีŽ และมีเอกสารอื่นเรียก เสภามโหรีŽ
คำว่า เสภา มาจากภาษาสันสกฤตว่า เสวา แปลว่า ผู้ปรนนิบัติรับใช้ หรือเจ้าพนักงาน (ไม่หมายถึงตีกรับขับเสภาด้วยผู้ชาย เพิ่งมีสมัยกรุงรัตนโกสินทร์)
ต่างกัน คือ เนื้อหาขับกล่อม โดยดูจากคำร้อง ดังนี้
ดนตรี ขับกล่อมยอพระเกียรติเป็นทำนองเสนาะด้วยถ้อยคำศักดิ์สิทธิ์ รับมรดกตกทอดจากราชสำนักก่อนหน้านั้น (ซึ่งได้แบบแผนจากอินเดีย) มีหลักฐานเป็นปูนปั้นจากเมืองคูบัว (ราชบุรี) และจารึกศาลเจ้า (ลพบุรี) มีนักร้อง นักดีด นักสี กระทำบำเรอเทพเจ้า
หลักฐานสำคัญมีในอนิรุทธ์คำฉันท์ บอกว่า ระงมดนตรี _ _ _ _ _Ž
มโหรี ขับกล่อมเป็นทำนองร้องลำนำเชิงสังวาสด้วยเรื่องราวมีนิยาย (หรือพงศาวดาร)
แท้จริงแล้วคือประเพณี ดนตรีŽ อันศักดิ์สิทธิ์ที่ถูกปรับเป็นท้องถิ่น แล้วเรียกด้วยคำเขมรว่า มโหรีŽ ในกฎมณเฑียรบาลเรียก เบิกนิยายŽ หมายถึงเบิกเรื่องราวบอกความเป็นมาของวงศ์วานว่านเครือ

เครื่องมีสาย
ดนตรี แปลว่าเครื่องมีสาย ได้แก่ เครื่องดีด, เครื่องสี (เช่น พิณ, ซอ) มีรากศัพท์จากบาลีว่า ตนฺติ (ตันติ) สันสกฤตว่า ตนฺตรินฺ (ตันตริน)
มโหรี (เป็นคำมรดกตกทอดจากประเพณีเขมร ยังไม่พบที่มาของคำนี้) น่าจะหมายถึงเครื่องมีสายอย่างเดียวกับดนตรี เพราะเป็นเครื่องบรรเลงขับกล่อมด้วยเครื่องมืออย่างเดียวกัน แต่เรียกชื่อต่างกันตามแบบแผนบรรเลงขับกล่อมไม่เหมือนกัน

มโหรีเครื่อง 5
มโหรีเครื่อง 5Ž หมายถึงมโหรีมีเครื่อง 5 อย่าง แต่ต้นทางมาอย่างไร? จากไหน? ไม่พบหลักฐานตรงๆ มักใช้นิยามเรียกวงบรรเลงตามประเพณีที่พบในภาพจิตรกรรมฝาผนัง เป็นรูปคนดีดกระจับปี่, สีซอสามสาย, เป่าขลุ่ย, ตีฉิ่ง ตีกรับ และโทนรำมะนา
โดยอ้างอิงคำว่า เบญจดุริยางค์Ž ที่เชื่อกันว่าเป็นตำราที่ไทยรับจากอินเดีย
แต่ไม่เคยพบหลักฐานสนับสนุนคำนิยามเครื่องดีดสีเบาๆ อย่างนี้ (ต่อไปข้างหน้าถ้าพบหลักฐานเพิ่มเติมก็ต้องยกเลิกที่เขียนมานี้) พบแต่ว่า เบญจดุริยางค์Ž เป็นเครื่องตีเป่าใช้ประโคมดังๆ ฟังอึกทึกคึกโครม
เบญจดุริยางค์Ž เป็นคำบาลีไทย ที่มีรากจากบาลีแท้อยู่ในพระคัมภีร์ ว่า ปญฺจงฺคิกตุริยŽ แปลว่า ตุริยะประกอบด้วยองค์ 5Ž หมายถึง เครื่องตีกับเครื่องเป่า มี 5 สิ่ง
[จากหนังสือ ดนตรีในพระธรรมวินัย ของ ธนิต อยู่โพธิ์ (อดีตอธิบดีกรมศิลปากร) พิมพ์ครั้งแรก 20 ตุลาคม 2498 หน้า 7-17]
นักดนตรีปี่พาทย์โดยทั่วไปเรียกเครื่องประโคม 5 สิ่งว่า กลอง 4 ปี่ 1Ž (ตรงกับวงปี่ชวา กลองแขก มาจาก ดุริยะ แปลว่า เครื่องตี เครื่องเป่า ได้แก่ กลองและปี่)
ต่อมาได้ปรับเป็นท้องถิ่นเรียก ปี่พาทย์เครื่อง 5Ž แต่ไม่เคยพบว่าเรียก มโหรีเครื่อง 5Ž

ดนตรียอพระเกียรติ
วงดนตรี (เสภาดนตรี) มีตัวอย่างเนื้อหาอยู่ในกาพย์ขับไม้เรื่องพระรถเสน (มาจากตำนานบรรพชนลาวเรื่องพระรถเมรี ตอนพระรถเสวยราชย์) ดังนี้
๏ ขึ้น เกยแก้วเก้าสิ่ง เสวยสวัสดิ์
ตั่ง สุพรรณรายรัตน์ เพริศแพร้ว
นั่ง ในวรเศวตฉัตร เฉลิมโลกย์
เมือง บพิตรพระแก้ว แต่นี้จักเกษม
๏ ขึ้นตั่งนั่งเมือง แท่นทองรองเรือง สุขศรีปรีดิ์เปรม เมืองกว้างช้างหลาย ลูกขุนมูลนาย อยู่เย็นเป็นเกษม ยินดีปรีดิ์เปรม วิโรจโอชเอม ทังหลายถวายกร ฯ

มโหรีเล่านิยาย
วงมโหรี (เสภามโหรี) มีตัวอย่างบทเพลงร้องเรื่องพระรถเสน (พระรถนางเมรี) ดังนี้
๏ ฝ่ายนาฏเมรีศรีสวัสดิ์ บรรทมเหนือแท่นรัตน์ปัจถรณ์
ดาวเดือนเลื่อนลับยุคันธร จะใกล้แสงทินกรอโณทัย
ฟื้นกายชายเนตรนฤมล มิได้ยลพระยอดพิศมัย
แสนโศกปริเทวนาใน อรทัยทุ่มทอดสกลกาย

พระรถ นางเมรี
พระรถ นางเมรี เป็นตำนานบรรพชนลาว ถูกยกย่องใช้ในงานสมโภชสำคัญของราชสำนัก ตกทอดจากยุคอยุธยาถึงต้นรัตนโกสินทร์
เป็นพยานสำคัญว่าพระเจ้าแผ่นดินกรุงศรีอยุธยา ตั้งแต่แรกสถาปนามีบรรพชนเกี่ยวดองเป็นเครือญาติกับวงศ์ลาวลุ่มน้ำโขง

ขับซอ
ขับกล่อมเคล้าบรรเลงเครื่องมือเสียงเบา ซึ่งเป็นต้นแบบดนตรี, มโหรี เป็นประเพณีมีในคนพื้นเมืองดั้งเดิมทุกเผ่าพันธุ์หลายพันปีมาแล้ว
ใช้วิงวอนต่ออำนาจเหนือธรรมชาติ (ผีบรรพชน) เพื่อร้องขอความอุดมสมบูรณ์เจริญพืชพันธุ์ธัญญาหาร
แล้วยังใช้ขับลำทำขวัญงานศพ คือเรียกขวัญคืนร่างคนตาย และส่งขวัญคนตายไปสิงสู่อยู่รวมกับผีขวัญบรรพชนบนฟ้า
ประเพณีขับลำทำนองอย่างนี้ ต่อมาพบในวรรณกรรมเก่าแก่ลุ่มน้ำโขง เรียกขับซอยอยศ, ขับซอยอราช (ซอ แปลว่า ขับร้อง)
แต่ทางลุ่มน้ำเจ้าพระยา รับแบบแผนศักดิ์สิทธิ์เข้ามาประสมประสานจากวัฒนธรรมอินโด-เปอร์เซีย (อินเดียกับอิหร่าน) ได้แก่ พิณ, ซอสามสาย, โทน-รำมะนา ราว 1,500 ปีมาแล้ว หรือเรือน พ.ศ. 1000 (รู้จักกันทั่วไปว่าสมัยทวารวดี ซึ่งเป็นต้นทางต้นแบบต่อไปให้สมัยอยุธยา)
พบหลักฐานเก่าสุดเป็นปูนปั้นสตรีขับลำและบรรเลงเครื่องมือ 5 คน ประดับฐานสถูปเจดีย์เมืองคูบัว (อ. เมือง จ. ราชบุรี) หลังจากนั้นพบศิลาจารึกศาลเจ้า (อ. เมือง จ. ลพบุรี) ระบุการทำบุญถวายเทพเจ้าในเทวสถานด้วยสตรี 4 คน มีนางระบำ, นักร้อง, นักดีด, นักสี

วัฒนธรรมเปอร์เซีย
เครื่องมโหรีส่วนหนึ่งรับจากเปอร์เซีย (ปัจจุบันเรียก อิหร่าน)
วัฒนธรรมเปอร์เซียในไทย ก่อหวอดฟักตัวบริเวณลุ่มน้ำเจ้าพระยา อย่างน้อยตั้งแต่ยุคทวารวดี 1,500 ปีมาแล้ว ก่อนสมัยอยุธยาเกือบพันปี
เป็นต้นทางอาหารหวานคาว (เช่น แกงเผ็ด, ขนมหวาน), เครื่องแต่งตัว (เช่น เสื้อครุย, ลอมพอก), สถาปัตยกรรม (วงโค้งในอาคาร, สะพานโค้ง), ศิลปกรรม (ลวดลายหลายอย่าง) ฯลฯ รวมทั้งดนตรี ได้แก่ ปี่ไฉน (สรไน), รำมะนา (ระบานญา), ซอสามสาย (ระบับ), ขิม เป็นต้น
ไทยคล้ายสะพานเชื่อมโยงโลกตะวันออกกับตะวันตกเข้าด้วยกัน มีการแลกเปลี่ยนทางสังคมและวัฒนธรรมนานมากกว่า 1,500 ปีมาแล้ว หรือก่อนยุคทวารวดี
ทั้งนี้เพราะไทยมีพื้นที่คาบสมุทรยื่นยาวตั้งแต่อ่าวไทยลงไปทางทิศใต้ ระหว่างมหาสมุทรแปซิฟิค กับมหาสมุทรอินเดีย มีตำแหน่งเกือบกึ่งกลางของอาเซียน
ตะวันออก คือ จีน เป็นสำคัญ และเกาหลี, ญี่ปุ่น
ตะวันตก ได้แก่ อินเดีย, ลังกา, ตะวันออกกลาง ประกอบด้วย อาหรับ (อิรัก), เปอร์เซีย (อิหร่าน), หรุ่มโต้ระกี่ (ตุรกี) เป็นต้น

2.
ดนตรีไทย วัฒนธรรมร่วมอาเซียน

ดนตรีไทย เป็นส่วนหนึ่งของดนตรีอาเซียนอย่างแยกจากกันมิได้ มีหลักฐานทางประวัติศาสตร์โบราณคดีสนับสนุนจำนวนมาก
ดังนั้น ที่ว่าดนตรีไทยไม่เหมือนใครในโลกจึงไม่จริง ถ้าจริงก็เท่ากับเป็นดนตรีของมนุษย์ต่างดาว
นานมาแล้วเคยมีคนกลุ่มหนึ่ง พูดว่าดนตรีไทยไพเราะที่สุดในโลก หรือดีที่สุดในโลก ก็ย่อมไม่จริง ถ้าจริงคนทั้งโลกต้องเล่นดนตรีไทย และฟังดนตรีไทย

วัฒนธรรมร่วมอาเซียน
ไทยมีประวัติศาสตร์ความเป็นมาทั้งของพื้นที่และของผู้คน เป็นส่วนหนึ่งที่แยกไม่ได้จากอาเซียน ตั้งแต่ยุคหินสมัยก่อนประวัติศาสตร์เมื่อหลายพันปีมาแล้ว สืบเนื่องต่อมาจนสมัยปัจจุบัน
เท่ากับไทยมีบรรพชนร่วมอาเซียน หรือบรรพชนอาเซียนถูกยกย่องด้วยว่าเป็นบรรพชนไทย
วัฒนธรรมไทย หรือความเป็นไทย ก็เป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมอาเซียน หรือเป็นวัฒนธรรมร่วมอาเซียน ไม่แปลกแยกแตกต่างจากส่วนอื่นๆ ทั้งในอาเซียนและในโลก
ดังนั้น ดนตรีไทยอยู่ในดนตรีร่วมอาเซียน เป็นวัฒนธรรมร่วมอาเซียน

ประวัติศาสตร์ไทย
ความเป็นมาของดนตรีไทย เกี่ยวข้องโดยตรงกับประวัติศาสตร์ไทยที่ต้องชำระแก้ไขใหม่ทั้งหมด มีที่สำคัญๆ โดยย่อดังนี้
1. คนไทยไม่มีถิ่นกำเนิดจากเทือกเขาอัลไต และไม่อพยพยกโขยงถอนรากถอนโคนจากน่านเจ้า
ดังนั้น ที่มักอ้างกันมาหลายชั่วคนเรื่องดนตรีไทยมีในอาณาจักรน่านเจ้า จึงไม่จริง รวมถึงนิทานเกี่ยวกับขงเบ้ง, เบ้งเฮ็ก ฯลฯ จึงไม่เกี่ยวกับดนตรีไทย
2. ชนชาติไทย เชื้อชาติไทย ไม่มีจริง แต่เป็นสิ่งสร้างใหม่ ตามแนวคิดฝรั่งเจ้าอาณานิคมยุโรปสมัย ร.5
ดังนั้น ที่ว่ามีชนชาติไทยอยู่ตอนใต้ของจีนจึงไม่จริง เบ้งเฮ็กเป็นชนชาติไทยก็ไม่จริง

3. กรุงสุโขทัยไม่ใช่ราชธานีแห่งแรกของไทย
ดังนั้น ที่ว่าประวัติดนตรีไทยเริ่มต้นนับหนึ่งที่กรุงสุโขทัยหรือสมัยสุโขทัย จึงไม่จริง
4. ดนตรีและนาฏศิลป์ทั้งหมดของไทย ไม่มาจากเมืองจิทัมพรัม อินเดียใต้
แต่ราชสำนักอาเซียนโบราณรับเครื่องดนตรีบางอย่างมาใช้ในพิธีกรรมศักดิ์สิทธิ์ ของราชสำนัก ทั้งจากจีน และอินเดีย, เปอร์เซีย ที่เห็นชัดๆ ได้แก่ สังข์, บัณเฑาะว์, ปี่ไฉน, กลองชนะ

คนไทยลูกผสมร้อยพ่อพันแม่
คนไทยเป็นลูกผสมนานาชาติพันธุ์ ร้อยพ่อพันแม่ แต่พูดภาษาไทยเป็นภาษากลาง นานไปก็พูดภาษาไทยในชีวิตประจำวัน แล้วเรียกตัวเองเป็นไทยกลุ่มแรกๆ สุดอยู่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา มีศูนย์กลางอยู่กรุงศรีอยุธยา เรือน พ.ศ. 2000
กรุงศรีอยุธยา เป็นมรดกตกทอดจากรัฐเขมร ผ่านทางขอมละโว้ (ลพบุรี)
ราชสำนักอยุธยาแต่เดิมพูดภาษาเขมร ต่อมาด้วยเหตุผลทางการเมืองและเศรษฐกิจก็เปลี่ยนเป็นพูดภาษาไทย สำเนียงลาว (เรียกเหน่อ) แล้วยกย่องภาษาเขมรเป็นราชาศัพท์
ด้วยเหตุดังนั้น ขนบธรรมเนียมประเพณีทั้งในราชสำนักและในหมู่ประชาชนทั่วไป จึงเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับเขมร เช่น นุ่งผ้าโจงกระเบน (คำว่า นุ่งโจง เป็นคำเขมร), โขนละคร เป็นคำจากภาษาเขมร (ที่มีรากรับจากมลายู)
ดนตรีและนาฏศิลป์ของราชสำนักอยุธยา เป็นมรดกตกทอดจากราชสำนักเขมร มโหรี จึงไม่ต่างจากเขมร และเป็นคำจากภาษาเขมร แต่ออกเสียงอย่างไทย

3.
ร้องเพลง ยุคอยุธยา

ร้องเพลงยุคอยุธยามีอย่างน้อย 2 ระดับ ได้แก่ ร้องแบบหลวง และร้องแบบราษฎร์
ร้องแบบหลวง รู้จักทั่วไปว่าร้องมโหรี เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า ร้องเนื้อเต็มŽ หมายถึงร้องกับบรรเลงทำนองดนตรีเคล้าคลอไปพร้อมกัน (เหมือนเพลงสากลร่วมสมัยทุกวันนี้) มีในบทมโหรีกรุงเก่า เช่น ร้องนางนาค, ร้องพระทอง, ร้องเหรา, ร้องน้ำลอดใต้ทราย ฯลฯ
ร้องแบบราษฎร์ หมายถึง เพลงร้องเล่นของชาวบ้านชาวเมือง แม้ไม่เรียก ร้องเนื้อเต็มŽ แต่ทุกอย่างทำแบบ ร้องเนื้อเต็มŽ โดยไม่มีเครื่องบรรเลงแบบหลวง หากมีเพียงกลอง (เรียกโทน) กับตีเกราะเคาะไม้ (คล้ายโกร่งกรับ) เช่น เจ้าการะเกด, แม่สี, นางแมว, เทพทอง เป็นต้น
เพลงดนตรีไทยประเพณีที่มีการเรียนการสอนในสถานศึกษาทั่วประเทศ ควรให้ความสำคัญ ร้องเนื้อเต็มŽ เพราะไม่เป็นปฏิปักษ์ต่อวัฒนธรรมป๊อปในทางสากล แต่จะโน้มน้าวให้เข้าถึงประเพณีเพลงดนตรีระดับสูงต่อไป
ร้องเพลงเถา เรียก เอื้อนมากลากยาวŽ เป็นลักษณะร้องกับบรรเลงดนตรีสลับกันคนละทีในความช้าเร็วต่างกัน ซึ่งเป็นประเพณีประดิษฐ์คิดค้นขึ้นใหม่ สมัย ร.4, ร.5 แล้วยกย่องเป็นแบบฉบับร้องเพลงดนตรีไทย ซึ่งไม่ถูกต้อง ควรแก้ไขให้เป็นทางเลือกหนึ่งเท่านั้น

บทร้อง
บทร้องมโหรีกรุงเก่า แต่งด้วยฉันทลักษณ์แบบกลอน แต่เป็นกลอนยุคต้นพัฒนาการ จึงไม่เหมือนกลอนแปดที่คุ้นเคยแบบสุนทรภู่ (ซึ่งเป็นกลอนยุคต้นกรุงรัตนโกสินทร์ ห่างกันราว 300 ปี)
กลอนมาจากคำคล้องจองสั้นๆ เช่น ตีหัวหมา ด่าแม่เจ๊ก, ไปไหนมา สามวาสามศอก ฯลฯ จากนั้นเป็นกลอนหัวเดียวแบบเพลงฉ่อย แล้วส่งสัมผัสสลับเป็นกลอนเพลง
มูลนายเอาฉันทลักษณ์กลอนเพลงไปแต่งเป็นเพลงมโหรี แล้วยังใช้แต่งบทละครเรื่องนางมโนห์รา มีต้นฉบับตัวเขียนบนสมุดข่อย อยู่ในหอสมุดแห่งชาติ
นักวิชาการสมัยใหม่เข้าใจคลาดเคลื่อน ว่าฉันทลักษณ์แบบนี้มาจากกลอนกล่อมเด็ก
แต่ในชีวิตจริง แม่กล่อมลูกโดยเอาเพลงร้องเล่นในชีวิตประจำวันไปใช้ร้องกล่อมลูก ดังนั้นกลอนแบบนี้ไม่ได้มีกำเนิดจากกล่อมลูก

ทำขวัญ
บทร้องเพลงมโหรี ให้ความสำคัญเป็นพิเศษเรื่องทำขวัญแต่งงาน ซึ่งเป็นกิจกรรมเชิงสังวาสของคนทุกชั้น
ขวัญ เป็นความเชื่อทางศาสนาผีของคนทุกเผ่าพันธุ์ในอาเซียนอุษาคเนย์ มีในคน, สัตว์, สิ่งของ, สถานที่ จำนวนต่างๆ กัน ขวัญในคนมีมากถึง 80
ตรงข้ามกับวิญญาณในศาสนาพุทธและพราหมณ์ มีดวงเดียวเฉพาะในคนเท่านั้น
ทำขวัญ เป็นพิธีกรรมสำคัญอย่างยิ่งของคนแต่ก่อน ต้องทำทุกครั้งจะเริ่มงาน เช่น แต่งงาน ต้องเริ่มด้วยทำขวัญ, บวช ก็เริ่มด้วยทำขวัญนาค ฯลฯ
เพลงนางนาค ใช้เป็นเพลงแรกในพิธีทำขวัญ ซึ่งต่างจากพิธีอื่นๆ ต้องเริ่มด้วยเพลงสาธุการ ทั้งนี้เพราะทำขวัญเป็นพิธีในศาสนาผี ซึ่งมีในอุษาคเนย์ก่อนการมาถึงของพุทธและพราหมณ์

เพลงมโหรีกรุงเก่า
ชื่อทำนองกับเนื้อหาบทร้อง มีทั้งสอดคล้องกัน กับไม่เกี่ยวกันเลย เพราะไม่ได้ทำขึ้นคราวเดียวกัน

เพลงเนรปาตี เป็นกรณีพิเศษ จงใจตั้งชื่อให้ศักดิ์สิทธิ์จากคำว่า นฤปติ หรือนฤบดี หมายถึง ผู้เป็นใหญ่
บทร้องพรรณนาสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ตั้งแต่พระพุทธเจ้าถึงมหาเทพในศาสนาพราหมณ์ รวมทั้งบิดามารดาครูบาอาจารย์

เพลงนางนาค เนื้อร้องพรรณนาความงามของหญิง ในที่นี้คือเจ้าสาวจะเข้าพิธีแต่งงาน ตามตำนานบรรพชนเขมร
เล่าว่า นางนาคเดินนำหน้าเข้าหอ โดยมีพระทองเกาะชายสไบเดินตามหลัง เป็นสัญลักษณ์ของหญิงมีอำนาจเป็นใหญ่เหนือชาย ในวัฒนธรรมดั้งเดิมของอุษาคเนย์
นางนาคกับพระทอง เป็นเพลงคู่กัน ใช้บรรเลงพิธีแต่งงานยุคอยุธยา
นางนาคเป็นสัญลักษณ์ของบรรพชนคนดั้งเดิมอุษาคเนย์ (ในเขมรเรียกอีกชื่อว่า แม่สี (กร่อนจากคำเขมรว่า สตรี) ไทยรับมาเรียกด้วย) มีเล่นเข้าทรงในพิธีเลี้ยงผีเดือน 5 หน้าแล้ง ตรงกับสงกรานต์

เพลงพระทอง เนื้อร้องพรรณนารูปร่างหน้าตาพระทองงามเหมือนรูปปั้นหล่อด้วยทองสำริด
เป็นขนบการชมรูปร่างหน้าตา มีคำเก่าว่า งามตะละปั้นŽ (คือ เหมือนรูปปั้นหล่อ) หรือ งามดังแกล้งŽ (คือ แกล้งเกลา แปลว่า ประณีตประดิดประดอย)
เป็นเรื่องในตำนานบรรพชนเขมร ไม่ใช่เรื่องรูปปั้นสำริดที่เจ้าสามพระยา (ยุคต้นอยุธยา) ขนกลับอยุธยาหลังตีได้เมืองนครธม (ปัจจุบันพม่าขนไปหลังตีอยุธยา) ซึ่งมีรูปโคนนทิ กับรูปพระอีศวร (พระศิวะ) ที่นิทานเขมรเรียก พระโค พระแก้ว ไม่ใช่พระทอง
บทร้องเพลงคู่พระทอง พรรณนาการรำลาอาลัยอาวรณ์หลังเสพสังวาส ฝ่ายหญิง (คือ นางนาค) เปิดเผยความต้องการทางเพศออดอ้อนพระทอง
นางนาค เป็นตัวแทนหญิงพื้นเมือง ส่วนพระทอง เป็นตัวแทนชายต่างชาติ มีวัฒนธรรมก้าวหน้ากว่ามาทางทะเล
เป็นตำนานกำเนิดวงศ์กษัตริย์กัมพูชา และอาณาจักรกัมพูชา อยู่ในราชพงศาวดารกัมพูชา แล้วยังพบเค้ามูลในเอกสารจีนกับจารึกต่างๆ

เพลงสรรเสริญพระจันทร์ ชื่อทำนองกับเนื้อหาบทร้องไม่สอดคล้องกัน
บทร้องเป็นเรื่องทำขวัญแต่งงานของเจ้าสาวเจ้าบ่าว กล่าวถึงเทียนทองในยุคนั้น เป็นสัญลักษณ์อวัยวะเพศชาย จัดไว้ในที่สำคัญ อันเป็นสถานร่วมเพศของบ่าวสาว

เพลงมอญแปลง ชื่อทำนองบอกว่าแปลงจากเพลงมอญ แต่เนื้อหาบทร้องเป็นเรื่องเวียนเทียนในพิธีทำขวัญ ซึ่งเป็นประเพณีของทุกกลุ่มในอุษาคเนย์ ไม่จำเพาะมอญ

10