ห่ากินเมือง วรรณกรรมบอกเล่ายุคอยุธยา | สุจิตต์ วงษ์เทศ

กรุงศรีอยุธยามุมกว้างที่มองจากบ้านฮอลันดา ชุมชนสถานีการค้าของชาวยุโรปที่ตั้งอยู่ทางทิศใต้ของเกาะเมืองอยุธยา น่าเชื่อว่าวัน วลิต เคยมาอยู่เมื่อเรือน พ.ศ.2182 แผ่นดินพระเจ้าปราสาททอง แล้วมีบันทึกคำบอกเล่าเรื่องหายนะของอยุธยาแล้ว "เจ้าอู่" มาสถาปนาใหม่ (ภาพ "กรุงศรีอยุธยาท่ามกลางพายุ" โดย ฟาน เดอ อา จากห้องสมุดส่วนบุคคล ธวัชชัย ตั้งศิริวานิช จากหนังสือ กรุงศรีอยุธยาในแผนที่ฝรั่ง ของ ธวัชชัย ตั้งศิริวานิช สำนักพิมพ์ มติชน พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ.2549, หน้า 60)

นิทานเรื่องห่ากินเมือง เป็นวรรณกรรมคำบอกเล่าเก่ามาก ควรมีแล้วตั้งแต่ยุคก่อนอยุธยา หรืออย่างน้อยยุคต้นอยุธยา แต่ไม่บันทึกเป็นลายลักษณ์อักษร เพราะยังไม่มีอักษรไทย หรือเพิ่งมีอักษรไทย แต่ยังรู้กันไม่กว้างขวาง

นิทานเรื่องโรคห่ากินเมืองเป็นที่รู้จักกว้างขวางไปทั่วประเทศ เพราะมีในประวัติศาสตร์แห่งชาติ ตอนพระเจ้าอู่ทองอพยพไพร่พลหนีโรคห่าระบาดเมืองอู่ทองที่สุพรรณบุรี ไปสร้างกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี เมื่อ พ.ศ.1893

 

เมืองอู่ทอง สุพรรณบุรี

พระเจ้าอู่ทองครองเมืองท้าวอู่ทอง อยู่มาห่าลงกินเมือง

พระเจ้าอู่ทองพาผู้คนหนีห่าย้ายไปสร้างกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี

(จากหนังสือ นิทานโบราณคดี เรื่องเมืองอู่ทอง ของ สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ.2487)

สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ เมื่อ พ.ศ.2446 ในแผ่นดิน ร.5 เสด็จเมืองอู่ทองแล้วเขียนเล่าเรื่องท้าวอู่ทองหนีโรคห่าไปสร้างกรุงศรีอยุธยา

หลังจากนั้นเรื่องนี้เป็นประวัติศาสตร์แห่งชาติที่ทุกคนต้องเรียนในระบบโรงเรียน

ต่อมาราว พ.ศ.2509 นักปราชญ์ฝรั่งเศส ตรวจสอบพบว่าพระเจ้าอู่ทองที่สร้างกรุงศรีอยุธยาไม่ใช่ท้าวอู่ทองหนีโรคห่าจากเมืองอู่ทอง ตามที่ตำราเขียนบอกไว้ (โบราณวิทยา เรื่องเมืองอู่ทอง กรมศิลปากร รวบรวมจัดพิมพ์ เนื่องในงานเสด็จพระราชดำเนินทรงเปิดพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ อู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี วันที่ 13 พฤษภาคม พ.ศ.2509 หน้า 3-10)

เพราะท้าวอู่ทองครองเมืองอู่ทองที่สุพรรณ เป็นคนละองค์กับพระเจ้าอู่ทองที่สร้างกรุงศรีอยุธยา เพียงมีชื่ออู่ทองซ้ำกัน แต่ไม่เกี่ยวข้องกัน

 

น้ำลายมังกร ที่อยุธยา

คนจีนในอยุธยา เล่าว่าเจ้าอู่ เป็นโอรสจักรพรรดิจีน ถูกเนรเทศทางทะเล จากจีนไปเมืองปัตตานี แล้วแล่นเลียบชายฝั่งอ่าวไทยไปถึงบริเวณหนองน้ำของเมืองร้างที่ผู้คนล้มตายเพราะน้ำลายมังกร

เจ้าอู่มีวิชาปราบมังกรได้ แล้วสร้างบ้านเมืองชื่ออยุธยา

น้ำลายมังกรคือสัญลักษณ์ของโรคห่ากินเมือง

(นิทานเรื่องนี้อยู่ในหนังสือ พงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับวัน วลิต พ.ศ.2182 สำนักพิมพ์มติชน พิมพ์ครั้งที่สาม พ.ศ.2548)

เมืองนครศรีธรรมราช

ไข้ห่ากินเมืองนครศรีธรรมราช มีร่องรอยในตำนานเมืองนครศรีธรรมราช จดไว้มีความสั้นๆ ว่า

“เมืองนครก็ล้างเทอยู่ในป่ารังโรมหึงนาน”

พระพนมทะเล เมืองเพชรบุรี ส่งพระพนมวังกับนางสะเดียงทองจากเมืองเพชรบุรี ลงไปฟื้นฟูเมืองนครฯ ให้คืนดังเดิม

อีกครั้งหนึ่ง ไข้ห่าลงเมืองนครฯ ราวเรือน พ.ศ.1850 กษัตริย์อยุธยาส่งผู้คนลงไปฟื้นฟู (จากการคำนวณของ จิตร ภูมิศักดิ์ ในหนังสือสังคมไทย ลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา ก่อนสมัยศรีอยุธยา สำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกัน พิมพ์ครั้งที่สาม พ.ศ.2547 หน้า 202)

 

ห่า คือ กาฬโรค

ห่า หมายถึงผีที่คนแต่ก่อนเชื่อว่าทำให้คนในชุมชนตายพร้อมกันคราวละมากๆ เรียกตายห่า เช่น ท้องร่วงรุนแรงอย่างอหิวาตกโรค

ในนิทานห่ากินเมือง จึงมักบอกกันต่อๆ มาว่าเป็นอหิวาตกโรค แต่ในยุคปลายพุทธศตวรรษที่ 19 หรือหลัง พ.ศ.1800 ห่าคือกาฬโรค

ช่วงเวลาของการสถาปนากรุงศรีอยุธยา เมื่อเรือน พ.ศ.1893 ตรงกับคริสต์ศักราช 1350 หรือก่อนหน้านั้นไม่นานนัก มีโรคระบาดครั้งใหญ่ในประวัติศาสตร์โลก โดยเฉพาะทางยุโรปมีคนตายนับล้านๆ คน เป็นที่รู้กันทั่วไปว่าชื่อกาฬโรค หรือ Black Death แล้วส่งผลให้มีงานสร้างสรรค์หลายอย่างเกิดขึ้นในยุคนั้น เช่น วรรณคดี, กวีนิพนธ์, ดนตรี, จิตรกรรม

(มีวรรณกรรมอิตาเลียนเรื่อง Decameron ของ จิโอวานนี บอกกาจจิโอ แต่งขึ้นสะท้อนให้เห็นความทุกข์ของคนในยุคกาฬโรคระบาดนี้ ต่อมาพระยาอนุมานราชธนแปลเป็นภาษาไทย เมื่อ พ.ศ.2460 ตั้งชื่อหนังสือว่าบันเทิงทศวาร)

Black Death แปลว่า ความตายสีดำ มีผู้อธิบายว่าได้ชื่อจากอาการผู้ป่วยโรคนี้มีสีดำคล้ำตามลำตัวเห็นได้ชัด จึงเรียกเป็นคำละตินที่แปลว่าสีดำ แล้วถอดเป็นคำไทยที่ขอยืมคำบาลี-สันสกฤต ว่า กาฬโรค แปลว่าโรคสีดำ

หมัดหนู เป็นตัวแพร่เชื้อกาฬโรค เป็นที่รับรู้ในวงการแพทย์นานมาแล้ว

มีคำอธิบายของผู้เชี่ยวชาญ ว่าหมัดหนูเกาะติดกับตัวหนูที่มีเชื้อกาฬโรคแล้วแพร่เชื้อกาฬโรคสู่คนโดยกระโดดย้ายจากตัวหนูไปเกาะตัวคน เมื่อหมัดหนูกัดเจาะเนื้อคนก็ปล่อยกาฬโรคเข้าสู่คน

คนรับเชื้อกาฬโรค จะมีแผลขนาดตั้งแต่ไข่ไก่จนถึงผลส้มตามบริเวณต่อมน้ำเหลืองต่างๆ ต่อจากนั้นจะมีไข้สูง แล้วปวดตามแขนและขา โดยเฉพาะปวดบวมบริเวณคอ, รักแร้, ขาหนีบ อย่างทุกข์ทรมานจนถึงตาย

 

กาฬโรค จากเมืองจีน

กรุงศรีอยุธยา และบ้านเมืองแถบอุษาคเนย์เกิดกาฬโรคระบาด เพราะติดต่อค้าขายทางสำเภากับจีน

มีหลักฐานประวัติศาสตร์ แสดงให้เห็นว่ามีกาฬโรคระบาดในจีน เมื่อราว พ.ศ.1876 จากนั้นก็แพร่สู่อุษาคเนย์ โดยมีหมัดหนูเกาะติดตัวหนูอยู่ใต้ท้องสำเภา

เมื่อสำเภาเทียบท่าเรือจอดขนถ่ายสินค้าก็เอาหมัดหนูออกไปแพร่เชื้อในบ้านเมืองแห่งนั้นตลอดเส้นทาง

บริเวณประเทศไทยมีผู้คนล้มตายจำนวนมากด้วยโรคระบาดในช่วงเวลาดังกล่าวนี้ แล้วมีคำบอกเล่าในรูปนิทานของท้องถิ่นต่างๆ เช่น พระเจ้าอู่ทองหนีโรคห่าไปสร้างอยุธยา, เมืองนครศรีธรรมราชร้าง เพราะหนีโรคห่า ก็คือกาฬโรค

กรุงศรีอยุธยาช่วงกาฬโรคระบาด มีศูนย์กลางอยู่บริเวณวัดพนัญเชิง และวัดใหญ่ชัยมงคล ทางตะวันออกของเกาะเมืองอยุธยา อาจมีชื่อเรียกอย่างอื่น เช่น อโยธยาศรีรามเทพ, หรืออโยธยา-ละโว้ ก็ได้ เพราะสืบเนื่องจากรัฐทวารวดีที่ลพบุรีหรือละโว้

กรุงศรีอยุธยา ช่วงกาฬโรคระบาด มีคนชั้นสูงเป็นขอม นับถือพราหมณ์กับพุทธมหายาน พูดภาษาเขมร เขียนอักษรเขมร

แต่พวกเจ้านาย, ขุนนาง, ข้าราชการ และอาณาประชาราษฎรมีหลายชาติพันธุ์ผสมกลมกลืนอยู่ด้วยกัน กลุ่มสำคัญๆ คือ ตระกูลมอญ-เขมร, ตระกูลไทย-ลาว, และตระกูลชวา-มลายู

พวกรอดตายจากกาฬโรคต้องสร้างบ้านแปลงเมืองขึ้นใหม่ มีร่องรอยในพระราชพงศาวดาร ว่ากษัตริย์ยุคนั้นย้ายตำหนักจากที่เดิมไปอยู่ที่ใหม่ เรียกเวียงเหล็ก บริเวณวัดพุทไธศวรรย์ อยู่อีกฟากหนึ่งกับวัดพนัญเชิง

เมื่อกาฬโรคระบาดสิ้นฤทธิ์หมดแล้วตามธรรมชาติ ครั้นถึง พ.ศ.1893 ตรงกับคริสต์ศักราช 1350 ได้สถาปนานามเมืองใหม่เพื่อแก้อาถรรพณ์ว่ากรุงศรีอยุธยา