อิน-จัน แฝดสยาม คนธรรมดาที่ไม่ธรรมดา นานาชาติรู้และสรรเสริญ | สุจิตต์ วงษ์เทศ

ภาพจำทั่วโลกเป็นลายเส้นบนใบประกาศโฆษณาแฝดสยามในสหรัฐ เมื่อ พ.ศ. 2373 (ตรงกับ ร.3)
ทายาท ‘อิน-จัน’ – นายบุญญฤทธิ์ วิเชียรพันธุ์ หัวหน้ากลุ่มงานโครงการตามยุทธศาสตร์กรมอเมริกาและแปซิฟิกใต้และคณะ ให้การต้อนรับครอบครัวตระกูลบังเกอร์ ทายาทแฝดสยามอิน-จัน ที่เดินทางถึงประเทศไทยเมื่อวันที่ 6 พฤษภาคมที่ผ่านมา โดยทาง จ. สมุทรสงคราม จะจัดกิจกรรมต้อนรับอย่างอบอุ่นระหว่างวันที่ 10-12 พฤษภาคมนี้

“Siamese Twins” ที่ไทยเรียก “อิน-จัน แฝดสยาม” นานาชาติคุ้นชื่อหรือเคยได้ยิน เรื่องราวของคนธรรมดาคู่หนึ่งที่เกิดมาด้วยความไม่ธรรมดา ยุคต้นกรุงรัตนโกสินทร์ ราว 200 ปีมาแล้ว

“ร่างไร้วิญญาณของอิน-จัน สอนวงการแพทย์รู้เกี่ยวกับสรีรวิทยาของแฝดสยาม แล้วใช้เป็นพื้นฐานความรู้การผ่าตัดแยกร่างแฝดแบบเดียวกันในกาลต่อมา” ยกจากคำนำของวิลาส นิรันดร์สุขศิริ ผู้เรียบเรียงหนังสือ แฝดสยาม อิน-จัน คนคู่สู้ชีวิต สำนักพิมพ์มติชน พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ. 2549 หน้า (8)

 

มิวเซียมอย่างสากลโลก

ในประเทศประชาธิปไตยที่ไม่งมงายประวัติศาสตร์โบราณคดีแบบอาณานิคม เหตุการณ์อย่างนี้จะถูกสร้างสรรค์เป็น “มิวเซียม ไซมีส ทวินส์ อิน-จัน แฝดสยาม” ในเมืองแม่กลอง สมุทรสงคราม เป็นแหล่งเรียนรู้ และแหล่งท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม

เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวไทยและนานาชาติ เช่นเดียวกับเมืองกาญจนบุรีมี “สะพานข้ามแม่น้ำแคว” และมิวเซียมหลากหลายเกี่ยวกับสงครามโลกครั้งที่ 2

มีข้อแม้ว่าต้องเป็นมิวเซียมที่มีความเป็นสมัยใหม่อย่างสากลโลก และปลอดจากแนวคิดอาณานิคมแบบทางการไทยทุกวันนี้ (ซึ่งต่างอย่างสิ้นเชิงจาก “พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ” ของกระทรวงวัฒนธรรม)

 

ชื่อบ้านนามเมือง

ข้อมูลมีมากในหนังสือแฝดสยามอิน-จัน ของ วิลาส นิรันดร์สุขศิริ (ซึ่งส่วนมากได้จากต่างประเทศ)

แล้วต้องศึกษาค้นคว้าวิจัยเพิ่มอีกเกี่ยวกับประวัติศาสตร์สังคมของเมืองแม่กลอง ยุคต้นกรุงรัตนโกสินทร์ ถ้าเชื่อคำบอกเล่าว่าอิน-จัน เกิด 11 พฤษภาคม 2354 ต้นแผ่นดิน ร.2 (ครองราชย์ 2352-2367) เป็นลูกจีนแต้จิ๋ว มีเตี่ยเป็นชาวประมง

แม่กลอง คำว่า กลอง เป็นคำเดียวกันกับ คลอง มาจากภาษามอญ แปลว่า ทางคมนาคม (ไม่ได้มาจากกลองทัด หรือกลองเพล ตีบอกสัญญาณ)

อิน-จัน เป็นชื่อผลไม้ลูกเดียวกัน เรียกอินก็ได้ เรียกจันก็ได้ (มีอธิบายในหนังสือ ต้นไม้ในวรรณคดี ของ หลวงบุเรศรบำรุงการ)

ยี่สาน ปากน้ำแม่กลอง มีชุมชนสำเภาจีนจากเมืองจีนข้ามอ่าวไทย มีภูเขาเตี้ยๆ ลูกโดดเป็น “แลนด์มาร์ก” หลักหมาย เรียกคำจีนว่า “อี้ซาน” (แปลว่า เขาลูกเดียวโดดๆ) แล้วกลายคำเป็น “ยี่สาน”

ปัจจุบันเรียก เขายี่สาน, บ้านยี่สาน (บางทีสะกดว่า ยี่สาร แต่ก่อนเคยเข้าใจคลาดเคลื่อนว่าเพี้ยนจาก บาซาร์ หรือปาสาณ ซึ่งไม่ใช่)

 

เส้นทางการค้า

แม่กลอง เมืองสมุทรสงคราม เป็นชุมทางคมนาคมสำคัญอย่างยิ่ง ตั้งแต่ดึกดำบรรพ์หลายพันปีมาแล้วจนทุกวันนี้ ทั้งในด้านยุทธศาสตร์สงคราม (แบบจารีต) และด้านเศรษฐกิจการค้าข้ามคาบสมุทร ตั้งแต่แรกเริ่มการค้าโลก (ยุคทวารวดี) สืบเนื่องถึงยุคอยุธยา, กรุงธนบุรี, กรุงรัตนโกสินทร์

แม่น้ำแม่กลอง (สายเก่า) เข้าถึงเมืองคูบัว (ยุคทวารวดี) เมื่อเรือน พ.ศ. 1000

นายทองด้วง (ร.1) แต่งงานกับท่านนาค (ลูกสาวเศรษฐีมอญ บางช้าง) ทำมาค้าขายอยู่กินที่เมืองอัมพวา ริมน้ำแม่กลอง ช่วงก่อนกรุงแตก พ.ศ. 2310

เพลงยาวนิราศรบพม่าท่าดินแดง พระราชนิพนธ์ ร.1 พรรณนาแม่น้ำแม่กลอง ตลอดสายตั้งแต่ปากน้ำถึงต้นน้ำ ที่ควรเรียนรู้รสกวีนิพนธ์และภูมิประเทศ

นรินทร์อินทร์ (กวีสมัย ร.2) กับสุนทรภู่ เคยเดินทางผ่านบ้านเกิดอิน-จัน (ไม่ว่าจะอยู่ ต. ลาดใหญ่ หรือ ต. แหลมใหญ่) บนเส้นทางคมนาคมระหว่างลุ่มน้ำเจ้าพระยา กับท่าจีน-แม่กลอง เพื่อไปเพชรบุรี แล้วเดินทางไปที่อื่นๆ ที่พรรณนาในนิราศนรินทร์ กับนิราศเมืองเพชร (ของสุนทรภู่)