ทางใต้ของจีน ไม่จีน ไม่ฮั่น สมัยโบราณเป็นพวกป่าเถื่อน | สุจิตต์ วงษ์เทศ

บรรพชนคนไทยกลุ่มหนึ่งโยกย้ายอพยพลงมาจากทางใต้ของจีน ดังนั้นคนพูดภาษาไทยทางภาคเหนือ (เช่น เชียงใหม่) ทางภาคอีสาน (เช่น ขอนแก่น) รวมทั้งพวกผู้ไท ฯลฯ ใกล้ชิดทางพันธุกรรมกับคนทางใต้ของจีน

ข้างบนที่ยกมาเป็นคบอกเล่าของคนตั้งคำถามว่าจริงไหม? ส่งมาให้ผมตอบ

แรกสุดต้องเข้าใจตรงกันก่อนว่าจีนที่เป็นชื่อคนและประเทศ เพิ่งมีสมัยหลัง ส่วนสมัยเริ่มแรกไม่พบชื่อเรียกว่าอะไร? เป็นแต่รับรู้ทั่วไปว่า ไม่จีน และ ไม่ฮั่น มีคนหลายเผ่าพันธุ์ร้อยพ่อพันแม่อยู่ปนกันในนั้น และที่รวมอยู่ด้วย คือ พวกพูดภาษาไต-ไท (ต้นตระกูลภาษาไทย)

สมัยกรุงธนบุรี ฝ่ายล้านนาเคยกวาดต้อนพวกลื้อจากเมืองเชียงรุ่ง สิบสองพันนา (มณฑลยูนนาน) เรียก ?เก็บผ้กใส่ซ้า เก็บข้าใส่เมือง? ลงไปเป็นประชากรเมืองเชียงใหม่

ฉะนั้นก็ไม่แปลกประหลาดอะไร และเป็นที่รู้กันตั้งแต่สมัย ร.4, ร.5 (มีในพงศาวดารโยนก) ถ้าคนทางล้านนาล้านช้าง จะใกล้ชิดกันทางพันธุกรรมกับคนทางใต้ของจีน

 

อุษาคเนย์แผ่ถึงทางใต้ของจีน

ทางใต้ของจีนสมัยโบราณ บริเวณมณฑลยูนนาน, กวางสี, กวางตุ้ง เป็นส่วนหนึ่งของอุษาคเนย์ มีวัฒนธรรมร่วมกับอุษาคเนย์ไม่น้อยกว่า 2,500 ปีมาแล้ว เช่น ปลูกเรือนเสาสูง (มีใต้ถุน), กินข้าวเมล็ดป้อม (ข้าวเหนียว)

เป็นอาหารหลัก, ชำนาญถลุงและหล่อโลหะผสม เรียกสำริด ได้แก่ กลองทอง (มโหระทึก) ฯลฯ

สมัยนั้นไม่เรียกจีนและไม่มีฮั่น แต่ถูกฮั่นยึดครองตั้งแต่สมัยหลังสามก๊ก แล้วถูกผนวกเป็นดินแดนจีนสมัยหลังสงครามโลกครั้งที่สอง

ผมเคยเขียนเล่าเรื่องนี้ไว้นานแล้วในหนังสือ ไทยน้อย ไทยใหญ่ ไทยสยาม (สำนักพิมพ์มติชน พ.ศ. 2534), คนไทยอยู่ที่นี่ ที่อุษาคเนย์ (มหาวิทยาลัยศิลปากร พ.ศ. 2537)

พื้นที่ทางใต้ของจีนมากกว่าพันปีที่แล้วไม่จีนและไม่ฮั่น เพราะเอกสารจีนเรื่อง หมานซู (จดหมายเหตุพวกหมาน) พรรณนาว่า ตั้งแต่มณฑลยูนนานลงไปถึงอุษาคเนย์เป็นดินแดนของพวกหมาน ไม่ใช่พวกฮั่น

[หมานซู แต่งเป็นภาษาจีน พ.ศ. 1410 (ขณะนั้นอยู่ในสมัยเริ่มแรกการค้าโลก นักโบราณคดีไทยเรียกสมัยทวารวดี) แล้วชำระใหม่ในรัชกาลพระเจ้าเฉียนหลง พ.ศ.2317 (ตรงกับไทยสมัยพระเจ้าตากแห่งกรุงธนบุรี) ต่อ

มากรมศิลปากรให้ผู้เชี่ยวชาญภาษาจีนโบราณ แปลเป็นภาษาไทย พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ. 2512]

หมาน หมายถึงคนป่าเถื่อนพื้นเมือง เป็นชื่อที่พวกฮั่นใช้เรียกคนที่ไม่ฮั่น บรรดาที่อยู่ตั้งแต่มณฑลยูนนานทุกวันนี้จนถึงคาบสมุทรฝั่งทะเลอุษาคเนย์ ประกอบด้วยคนหลายเผ่าพันธุ์นับไม่ถ้วน โดยมีอยู่ด้วยคือไต-ไท

 

นาคแม่น้ำโขง

ความเป็นคนป่าเถื่อนพวกเดียวกันของกล่มุ คนทางใต้ของจีนถึงอุษาคเนย์ มีบอกเล่าเชิงสัญลักษณ์ในตำนานพระธาตุพนม (ตำนานอุรังคธาตุ) ว่า นาค 2 ตัวทะเลาะกันในหนองน้ำ (หนองแส คุนหมิง ยูนนาน)

ตัวหนึ่งสู้ไม่ได้เลยพาพรรคพวคหนีลงทางใต้โดยใช้อกครูดดินคุ้ยควักเป็นร่อง แล้วกลายเป็นแม่น้ำโขง, ชี, มูล รวมทั้งหนองหานหลวง (สกลนคร) กับหนองหานน้อย (อุดรธานี)

ดังนั้น เมื่อกล่าวถึงทางใต้ของจีน ต้องบอกด้วยว่าครั้งกระโน้นไม่จีนและไม่ฮั่น แต่เป็นพวกพื้นเมืองอุษาคเนย์ ที่พวกฮั่นเหยียดเป็นเหี้ย (หมาน)