“เกียม้อลังเกีย-โตโลโปตี” สองรัฐเริ่มแรกในไทย | สุจิตต์ วงษ์เทศ

บ้านเมืองและรัฐเริ่มแรกในไทยมี 2 แห่ง พบข้อมูลใน “หลักฐานตั้งต้น” คือบันทึกจีน 2 ฉบับของพระถังซำจั๋งกับพระอี้จิง ระบุชื่อ “เกียม้อลังเกีย” (ไม่ใช่ “กามลังกา” หรือ”ลังกาสุกะ” ตามที่เชื่อกันมานาน) และ “โตโลโปตี” (รู้สมัยต่อมาว่าตรงกับ “ทวารวดี”)

[สังคมไทยถูกครอบงำด้วยข้อมูลกระแสหลักชุดเดียวว่าทวารวดีหรือโตโลโปตี เป็นรัฐเริ่มแรกแห่งเดียวมีอำนาจครอบครองดินแดนเกือบทั่วประเทศไทย ส่วน “เกียม้อลังเกีย” ถูกทำให้หายไปโดยไม่มีคำอธิบาย (หรือมีอย่างพิรุธ) ต่อมาเมื่อหลักฐานถูกเปิดเผยมากขึ้นจึงพบว่าข้อมูลชุดเดียวของกระแสหลักนั้นบกพร่องต้องทบทวนทั้งหมด]

บันทึกจีน “หลักฐานตั้งต้น” บอกทิศทางตำแหน่งที่ตั้งอย่างกว้างๆ ต่อมาเมื่อนักปราชญ์ไทย [ซึ่งเป็นอดีตข้าราชการกรมศิลปากร (ถึงแก่กรรม)] ศึกษาค้นคว้าจากหลักฐานประวัติศาสตร์โบราณคดีกว้างขวางกว่าเดิมจึงพบข้อมูลดังนี้

“เกียม้อลังเกีย” หรือ “ลังเกียฉู่”, “หลั่งยะสิว” (ตามสำเนียงจีนต่างกัน) คือเมืองนครปฐม ลุ่มน้ำท่าจีน-แม่กลอง อยู่ฟากตะวันตกแม่น้ำเจ้าพระยา

“โตโลโปตี” หรือทวารวดี คือ เมืองลพบุรี ลุ่มน้ำลพบุรี-บางขาม-ป่าสัก อยู่ฟากตะวันออกแม่น้ำเจ้าพระยา

[ข้อมูลกระแสหลักชุดเดิมบอกว่า “โตโลโปตี” หรือทวารวดี คือเมืองนครปฐม นับถือพุทธเถรวาทเป็นศาสนาหลัก ซึ่งคลาดเคลื่อนจาก “หลักฐานตั้งต้น” ที่เป็นบันทึกจีน ส่วน “เกียม้อลังเกีย” ถูกทำให้หายไปอย่างมีพิรุธ]

หลักฐานประวัติศาสตร์โบราณคดีที่พบเพิ่มเติมสมัยต่อมาสนับสนุนว่า “เกียม้อลังเกีย” กับ “โตโลโปตี” หรือทวารวดี มีพัฒนาการเติบโตสืบเนื่องไม่ขาดสายเป็นกรุงศรีอยุธยา ราชอาณาจักรสยาม แล้วถูกเรียกเมืองไทยของคนไทยซึ่งเป็นลูกผสมหลากหลายชาติพันธุ์ “ร้อยพ่อพันแม่” ดังนั้นที่เคยเชื่อถือมาก่อนนานแล้วว่าทวารวดีเกี่ยวข้องกับชุมชนพูดภาษามอญและอาจเป็นชาวมอญ ซึ่งถ้าจริงก็ไม่ขัดแย้งกับความเป็นคนไทยในอยุธยาลูกผสม “ร้อยพ่อพันแม่”

 

เติบโตและมั่งคั่งจากการค้าทองแดง

สองรัฐเริ่มแรกในไทยอยู่บริเวณสุวรรณภูมิ จากนั้นเติบโตจากชุมชนหมู่บ้านเป็นชุมชนเมือง เนื่องเพราะมีความมั่งคั่งจากการค้าระยะไกลทางทะเลสมุทร แล้วรับศาสนาจากอินเดีย-ลังกา ซึ่งมีความเป็นมาสรุปดังนี้

1. สุวรรณภูมิ (แปลว่าดินแดนทอง) หมายถึงพื้นที่มีทองแดง (ไม่ทองคำ) อยู่ภาคพื้นทวีปอุษาคเนย์ ซึ่งเป็นชุมทางการค้าระยะไกลทางทะเลสมุทรระหว่างอินเดียกับจีน โดยมีสินค้าหลักคือทองแดง จึงได้ชื่อดินแดนทองแดง หรือดินแดนทอง เมื่อ 2,500 ปีมาแล้ว หรือราวเรือน พ.ศ.1

2. การค้าทองแดง และ “ของป่า” อื่นๆ สร้างความมั่งคั่งให้ผู้เสี่ยงภัยเดินทางค้าขาย ขณะเดียวกันในเวลาต่อมาก็สร้างความมั่งคั่งมั่นคงให้ชุมชนหมู่บ้านเติบโตเป็นชุมชนเมืองระดับรัฐขนาดเล็ก เมื่อ 2,000 ปีมาแล้ว หรือเรือน พ.ศ.500

3. การเติบโตของบ้านเมืองในสุวรรณภูมิดึงดูดให้มีการเผยแผ่ศาสนาพราหมณ์-ฮินดู และศาสนาพุทธจากอินเดียและลังกาถึงสุวรรณภูมิเมื่อ 1,500 ปีมาแล้ว หรือเรือน พ.ศ.1000

4. ศาสนาใหม่จากอินเดียปะทะกับศาสนาผีซึ่งเป็นความเชื่อดั้งเดิมของคนสุวรรณภูมิ ครั้นนานไปก็ประสมกลมกลืนเป็นเนื้อเดียวกันเรียก “ศาสนาสุวรรณภูมิ” ประกอบด้วยผี-พราหมณ์-พุทธ

5. “ศาสนาสุวรรณภูมิ” กระตุ้นให้มีสองรัฐขนาดเล็ก โดยรับวัฒนธรรมอินเดียต่างกัน ดังนี้

“เกียม้อลังเกีย” นับถือพุทธเถรวาทเป็นศาสนาหลัก อยู่ลุ่มน้ำท่าจีน-แม่กลอง

“โตโลโปตี” หรือทวารวดี นับถือพราหมณ์-ฮินดูเป็นศาสนาหลัก อยู่ลุ่มน้ำลพบุรี-บางขาม-ป่าสัก


แผนที่แสดงแม่น้ำเจ้าพระยาเสมือนแกนกลางแบ่งที่ราบลุ่มภาคกลางเป็น 2 ฟาก คือ ตะวันตก (ที่ตั้งนครปฐม) กับตะวันออก (ที่ตั้งลพบุรี) และแสดงชายฝั่งทะเลอ่าวไทยเดิมสมัยการค้าโลกเริ่มแรก (ทวารวดี) ราว 1,500 ปีมาแล้ว หรือเรือน พ.ศ.1000 [แผนที่โดยทนงศักดิ์ หาญวงษ์]

เครือข่ายการค้าและการเมือง

เครือข่ายการค้าและการเมืองของสองรัฐเริ่มแรกในไทยอาจเหลื่อมล้ำทับซ้อนกันได้เป็นปกติ (สมัยนั้นไม่มีเส้นกั้นอาณาเขต) มีดังนี้

“เกียม้อลังเกีย” ไม่มีแหล่งแร่ธาตุของตนเอง แต่ค้าทองแดงโดยรับจากแหล่งแร่ทองแดงขนาดใหญ่ที่ ภูโล้น (จ.หนองคาย) รวมทั้งแหล่งแร่บริเวณสองฝั่งโขง โดยผ่านเครือข่ายสำคัญทางลุ่มน้ำป่าสัก คือ เมืองศรีเทพ (จ.เพชรบูรณ์)

จากนั้นขนย้ายตามเส้นทางคมนาคมภายในผ่านเมืองบน (อ.พยุหะคีรี จ.นครสวรรค์) – เมืองล่าง (อ.มโนรมย์ จ.ชัยนาท) เข้าแม่น้ำท่าจีน ผ่านเมืองอู่ทอง (อ.อู่ทอง จ.สุพรรณบุรี) และเมืองกำแพงแสน (อ.กำแพงแสน จ.นครปฐม) เข้าเขต “เกียม้อลังเกีย” (อ.เมือง จ.นครปฐม) แล้วส่งต่อถึงอินเดีย 2 ทาง คือ ออกอ่าวไทยไปทางชวา-บาหลี (อินโดนีเซีย) ทางหนึ่ง และอีกทางหนึ่งข้ามคาบสมุทรทางช่องสิงขร (จ.ประจวบคีรีขันธ์) ผ่านเมืองตะนาวศรี, เมืองมะริด ไปลงทะเลอันดามัน ออกมหาสมุทรอินเดีย

การค้าระยะไกลทางทะเลสมุทรตามเส้นทางนี้ น่าจะหนาแน่นมั่งคั่งอย่างยิ่ง จึงส่งผลให้ “เกียม้อลังเกีย” ขุดคูน้ำรอบเขตศักดิ์สิทธิ์ของเมืองเส้นผ่าศูนย์กลางราว 3 กิโลเมตร มีพื้นที่กว้างขวางที่สุดในบรรดาเมืองร่วมสมัยเดียวกันทั้งภูมิภาคอุษาคเนย์

“โตโลโปตี” (ทวารวดี) มีแหล่งแร่ทองแดงขนาดใหญ่อยู่บริเวณเทือกเขวงพระจันทร์ (อ.โคกสำโรง จ.ลพบุรี) และมีเครือข่ายแหล่งแร่ทองแดงผ่านลุ่มน้ำมูลถึงสองฝั่งโขงทางปากน้ำชี-มูล

จากเมืองลพบุรี ขนย้ายทางแม่น้ำลพบุรี ลงแม่น้ำเจ้าพระยา (อ.เมืองฯ จ.พระนครศรีอยุธยา) ออกอ่าวไทย

 

สำเภาจีนกระตุ้นรัฐทั้งสองต้องเปลี่ยนแปลง

สองรัฐเริ่มแรกเปลี่ยนไปเมื่อภายหลังจีนแต่งสำเภาค้าขายด้วยตนเองถึงบ้านเมืองในอุษาคเนย์และรอบอ่าวไทยราวพันปีที่แล้ว หรือหลัง พ.ศ.1500 ส่งผลให้มีความเคลื่อนไหวเกี่ยวกับภาษาไทยและเมืองไทย-คนไทย ดังนี้

1. เครือข่ายภาษาไทย การค้ากับจีนกระตุ้นให้ภาษาไทย (ตระกูลไท-ไตมีแหล่งเก่าสุดอยู่ทางตะวันออกเฉียงใต้ของจีน และต่อเนื่องดินแดนทางเหนือของเวียดนาม) เป็นภาษากลางทางการค้าของดินแดนภายใน จากนั้นเคลื่อนไหวกว้างขวางทางฟากตะวันตกแม่น้ำเจ้าพระยากระจายลงไปคาบสมุทร เป็นเหตุให้ดินแดนแถบนี้จึงถูกเรียกอย่างรวมๆ ว่าสยาม โดยจีนออกเสียงว่า เสียม, เสียน

“เกียม้อลังเกีย” ที่นครปฐมค่อยๆ ลดความสำคัญ ขณะที่มีศูนย์กลางใหม่ค่อยๆ เพิ่มความสำคัญขึ้นแทนที่ อยู่ทางลุ่มน้ำท่าว้า-ท่าจีน แล้วถูกเรียกต่อมาด้วยการสืบนามจากสุวรรณภูมิว่ารัฐสุพรรณภูมิ (อ.เมือง จ.สุพรรณบุรี) และมีเมืองสำคัญเติบโตขึ้นมาซึ่งจีนเรียก “เจินหลี่ฟู่” (อ.สามชุก จ.สุพรรณบุรี)

“โตโลโปตี” คือ ทวารวดีที่ลพบุรีค่อยๆ ลดความสำคัญ โดยมีศูนย์กลางใหม่ค่อยๆ เพิ่มความสำคัญขึ้นแทนที่ อยู่บริเวณชุมทางแม่น้ำสำคัญ 3 สาย ได้แก่ แม่น้ำเจ้าพระยา, ลพบุรี, ป่าสัก ศูนย์กลางใหม่มีนามว่า “อโยธยาศรีรามเทพ” (อ.เมือง จ.พระนครศรีอยุธยา) ต่อมาสถาปนานามใหม่ว่า “กรุงเทพทวารวดีศรีอยุธยา” หมายถึงรัฐศรีอยุธยาสืบเนื่องมาจากทวารวดี

ทวารวดีที่ลพบุรีมีชื่อภาษาพื้นเมืองว่าละโว้ จีนเรียก “หลอหู” พูดภาษาเขมร เป็นขอม เกี่ยวดองเป็นเครือญาติใกล้ชิดบ้านเมืองทางโตนเลสาบในกัมพูชา

2. เริ่มเรียกเมืองไทยและคนไทย รัฐอยุธยาพูดภาษาเขมรสืบจากรัฐละโว้ ต่อมารัฐสุพรรณภูมิ (รับการสนับสนุนจากจีน) ยึดได้รัฐอยุธยา จึงยกภาษาไทยเป็นภาษาราชการ ส่วนภาษาเขมรเป็นภาษาเทวราช (ราชาศัพท์) นับถือ “ศาสนาอยุธยา” ประกอบด้วยการประสมประสานของศาสนาผี-พราหมณ์-พุทธ

ประชาชนหลากหลายชาติพันธุ์พากันพูดภาษาไทยเป็นภาษากลาง แล้วกลายตนเป็นไทย เรียกตนเองว่าไทย, คนไทย แล้วเรียกกรุงศรีอยุธยาว่าเมืองไทย (พบหลักฐานในจดหมายเหตุลา ลู แบร์) •