เจ้านครอินทร์ เมืองสุพรรณ สร้างสรรค์อยุธยา ‘มั่งคั่ง’ เมื่อเป็นรัฐการค้าทางทะเล

กรุงศรีอยุธยายศยิ่งฟ้ามีขึ้นจากความมั่งคั่งที่เป็นรัฐการค้าทางทะเลโดยการสร้างสรรค์รากฐานมั่นคงของเจ้านครอินทร์ เชื้อสายสุพรรณภูมิ ตั้งแต่หลัง พ.ศ.1900 [กรุงศรีอยุธยาบนภาพเขียนเก่าแก่ที่สุดพบในยุโรป ซึ่งพิมพ์ครั้งแรกในกรุงอัมสเตอร์ดัม ประเทศเนเธอร์แลนด์ พ.ศ.2219 (ตรงกับแผ่นดินพระนารายณ์) จากหนังสือ กรุงศรีอยุธยาในแผนที่ฝรั่ง ของธวัชชัย ตั้งศิริวานิช สำนักพิมพ์มติชน พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ.2549 หน้า 52]

เจ้านครอินทร์ เมืองสุพรรณ
สร้างสรรค์อยุธยา ‘มั่งคั่ง’
เมื่อเป็นรัฐการค้าทางทะเล

เจ้านครอินทร์เป็นกษัตริย์สยามแห่งเมืองสุพรรณ (รัฐสุพรรณภูมิ) มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดเป็นพิเศษกับจีน จึงชำนาญการค้าสำเภากับจีนและการค้าระยะไกลทางทะเลกับบ้านเมืองต่างๆ ทั้งในและนอกภูมิภาคอุษาคเนย์

ต่อมาเจ้านครอินทร์เสวยราชย์เป็นกษัตริย์กรุงศรีอยุธยา ได้วางรากฐานสร้างสรรค์ความมั่งคั่งให้อยุธยาเมื่อเป็นรัฐการค้าทางทะเล (โดยยกย่องบุคคลนานาชาติผู้ชำนาญด้านสำเภาและสลุบกำปั่นทำงานควบคุมดูแล) ซึ่งนำไปสู่การค้าโลก แล้วรับประโยชน์จากการค้าโลก เท่ากับเจ้านครอินทร์สร้างความเคลื่อนไหวก้าวหน้าให้นานาประเทศสมัยนั้น รับรู้ว่ากรุงศรีอยุธยาเป็นส่วนหนึ่งของโลก

ในที่สุดมีความมั่นคงและมั่งคั่งจากการค้าทางทะเลกับนานาประเทศ จนกรุงศรีอยุธยาได้รับยกย่องจากนานาชาติว่า “ราชอาณาจักรสยาม” (แห่งแรก)

ก่อนเจ้านครอินทร์เป็นกษัตริย์อยุธยา ในพระนครศรีอยุธยายกย่องภาษาเขมรเป็นภาษาราชการ ส่วนภาษาไทยเป็นภาษากลางทางการค้า เพราะสมัยนั้นอยุธยาเป็นรัฐสืบมรดกจากขอมละโว้-อโยธยาศรีรามเทพ

หลังเจ้านครอินทร์เป็นกษัตริย์อยุธยา ได้ยกย่องภาษาไทยเป็นภาษาราชการ ส่วนภาษาเขมรเป็นภาษาเทวราช (ปัจจุบันเรียกราชาศัพท์) คนในอยุธยาส่วนมากเรียกตนเองว่าไทย (อีกส่วนหนึ่งเรียกตามชาติพันธุ์ของตนเอง) แต่ทั้งหมดเรียกกรุงศรีอยุธยาว่าเมืองไทย

 

ศาสนา-การเมือง

เจ้านครอินทร์ แปลว่าผู้เป็นใหญ่ในเมืองสวรรค์ (ชั้นดาวดึงส์) หมายถึงพระอินทร์ ซึ่งเป็นชื่อทางวัฒนธรรมของชนชั้นนำพูดภาษาไทย (ตระกูลไท-ไต) ตามความเชื่อเรื่องพระอินทร์ ดังนั้น จึงพบชื่อมีลักษณะคล้ายคลึงกันในที่อื่นๆ ได้แก่

(1.) “เมืองอินทร์” หมายถึงสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ของพระอินทร์ และ “เรือนอินทร์” หมายถึงวิมานไพชยนต์ของพระอินทร์ พบในโองการแช่งน้ำ

(2.) “เจ้าเชียงอินทร์” หมายถึงกษัตริย์เมืองเชียงใหม่ พบในเสภาขุนช้างขุนแผนตอนพลายงามตีเมืองเชียงใหม่ มีกลอนวรรคหนึ่งว่า “พระเจ้าเชียงอินทร์ปิ่นเชียงใหม่”

(3.) “งั่วอิน” หรือ “งั่วอินทร์” หมายถึงลูกชายคนที่ห้าชื่ออินหรืออินทร์ พบในตำนานขุนบรมว่างั่วอิน หรืองั่วอินทร์ จากเมืองแถน (ในเวียดนาม) แยกครัวไปสร้างเมืองอยู่ทางลุ่มน้ำภาคกลางในไทย (คือสุพรรณภูมิ-อโยธยา) เรื่องนี้เป็นพยานแสดงความสัมพันธ์ทางภาษาและวัฒนธรรมระหว่างลุ่มน้ำเจ้าพระยาในไทยกับลุ่มน้ำแดงในเวียดนาม ซึ่งเป็นแหล่งต้นตอความเชื่อเรื่องขวัญ, ประเพณีฝังศพครั้งที่ 2, เทคโนโลยีเกี่ยวกับสำริด เป็นต้น

พระอินทร์เป็นเทวดาผู้ยิ่งใหญ่ในคัมภีร์พระเวทของอินเดียหลายพันปีมาแล้ว ต่อมาศาสนาพุทธ (โดยเฉพาะลัทธิเถรวาท) ยกย่องพระอินทร์เป็นเทวดาผู้พิทักษ์พุทธศาสนา มีฐานะเป็นเทวราชผู้เป็นใหญ่ในหมู่เทวดาทั้งหลายในจักรวาลได้นามว่า “อมรินทราธิราช”

นครินทราธิราช แปลว่าผู้เป็นใหญ่สุดบนสวรรค์ (ชั้นดาวดึงส์) หมายถึงจักรพรรดิราช (คือพระอินทร์) เป็นพระนามเฉลิมพระเกียรติพระบรมอัฐิของเจ้านครอินทร์เป็นจักรพรรดิราช แล้วเชิญประดิษฐานในพระปรางค์ประธานวัดราชบูรณะ ซึ่งจะทำหน้าที่ปกป้องคุ้มครองกษัตริย์และประชาชนในราชอาณาจักรต่อไป

อุดมการณ์ทางศาสนา-การเมืองเรื่องจักรพรรดิราช ที่ยกย่องพระอินทร์เป็นราชาของเทวดาและนางฟ้าบนสวรรค์ มีพิธีกรรมสนองความเชื่อเรียกอินทราภิเษก หมายถึงการแต่งตั้งพระอินทร์กลับขึ้นไปปกครองเทวดาและนางฟ้าบนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ ที่อยู่เหนือจอมเขาพระสุเมรุอันเป็นแกนกลางของโลกภายหลังเมื่อปราบปรามความกำเริบเสิบสานของหมู่มารหมดสิ้นแล้ว (พิธีอินทราภิเษกมีการละเล่นกวนเกษียรสมุทร หรือชักนาคดึกดำบรรพ์ ที่เชื่อกันว่าเป็นต้นทางของการละเล่นเรียกโขน)

จักรพรรดิราช คือ ราชาหรือกษัตริย์ในอุดมคติของฝ่ายศาสนาพุทธ มีสัญลักษณ์เป็นแก้ว 7 ประการ ได้แก่ ช้างแก้ว, ม้าแก้ว, ขุนพลแก้ว, เสนาแก้ว, ชายาแก้ว, จักรแก้ว และรัตนะที่สลักเป็นสัญลักษณ์ด้วยรูปสี่เหลี่ยมประดับอยู่บนยอดเสา จักรพรรดิราชในอุดมคติของศาสนาพุทธมีสถานภาพสูงส่งเสมอด้วยพระโพธิสัตว์หรือพระพุทธเจ้า ดังนั้น จึงมีสรรพนามแทนตัวผู้กราบบังคมทูลกับพระจักรพรรดิราชว่า “ข้าพระพุทธเจ้า”

ตระกูลอินทร์-ตระกูลราม การเมืองสมัยอยุธยาตอนต้นเกี่ยวข้องระบบความเชื่อทางศาสนา เรียกศาสนา-การเมือง ซึ่งจิตร ภูมิศักดิ์ อธิบายเชิงเปรียบเทียบระหว่างตระกูลอินทร์กับตระกูลรามอยู่ในหนังสือสังคมไทยลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา ก่อนสมัยกรุงศรีอยุธยา [(พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ.2526) สำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกัน พิมพ์ครั้งที่สาม พ.ศ.2547 หน้า 309-356] มีสาระสำคัญโดยสรุปดังนี้

กลุ่มสุพรรณยกย่องพระอินทร์ในคติพุทธ จัดเป็นตระกูลอินทร์ มีรูปความคิดทางการเมืองแบบเครือญาติพี่น้อง ส่วนกลุ่มละโว้ยกย่องพระรามในคติพราหมณ์ จัดเป็นตระกูลราม มีรูปความคิดทางการเมืองแบบเจ้านายกับข้าทาสบริวาร

ต่อมาตระกูลอินทร์มีอำนาจเหนือตระกูลราม แต่ความคิดทางการเมืองแบบตระกูลอินทร์มีข้อจำกัดทำให้ไปต่อแล้วมีปัญหา ฝ่ายตระกูลอินทร์จึงปรับรูปความคิดทางการเมืองเข้าแนวตระกูลรามซึ่งสอดคล้องขนาดของรัฐที่ขยายใหญ่โตกว้างขวางกว่าแต่ก่อน

 

อยุธยาสมัยแรกมีขนาดจำกัด

กรุงศรีอยุธยาสมัยแรกสถาปนามีขนาดพื้นที่จำกัดเสมือนรัฐกันชนของละโว้กับสุพรรณภูมิ อยู่บริเวณจำกัดตรงพื้นที่เหนืออ่าวไทยบนชุมทางคมนาคมทางน้ำหลายสาย โดยมีแม่น้ำเจ้าพระยาเป็นแกนกลาง ดังนี้

1. อยู่ระหว่างรัฐละโว้ (ลพบุรี) ซึ่งถูกเรียกว่าขอม ทางทิศตะวันออก กับรัฐสุพรรณภูมิ (สุพรรณบุรี) ซึ่งถูกเรียกว่าสยาม ทางทิศตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยา

2. อยู่ใต้การปกครองของรัฐเอกเทศทั้งสอง คือ รัฐละโว้และรัฐสุพรรณภูมิที่ต่างแก่งแย่งช่วงชิงซึ่งกันและกัน แล้วผลัดกันมีอำนาจอันเป็นลักษณะการเมืองการปกครองของสมัยแรกก่อนที่สมัยต่อไปอยุธยาจะใช้อำนาจรวมศูนย์

กรุงศรีอยุธยาขณะพระรามราชาเป็นกษัตริย์ (เชื้อสายรัฐละโว้-อโยธยาศรีรามเทพ) โดยมีขุนนางข้าราชการจำนวนหนึ่งเป็นชาวสยามสุพรรณภูมิสืบเนื่องจากแผ่นดินก่อนๆ

ช่วงเวลาเดียวกันนั้นเอง เจ้านครอินทร์เป็นกษัตริย์สยามแห่งเมืองสุพรรณ รัฐสุพรรณภูมิ มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดเป็นพิเศษกับจีน จึงชำนาญการค้าสำเภากับจีนและการค้าระยะไกลทางทะเลกับบ้านเมืองต่างๆ ทั่วคาบสมุทรมลายู และนอกภูมิภาคอุษาคเนย์

[ข้อมูลเกี่ยวกับเจ้านครอินทร์มีมากในเอกสารจีน ดูในบทความเรื่อง “สมเด็จพระนครินทราธิราช : ความขัดแย้งทางอำนาจและความคลาดเคลื่อนของหลักฐาน” โดยรุ่งโรจน์ ภิรมย์อนุกูล (คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง) พิมพ์ในหนังสือ Ayutthaya Underground ประวัติศาสตร์อยุธยาจากวัด วัง ชั้นดิน และสิ่งของ (พิพัฒน์ กระแจะจันทร์ บรรณาธิการ) สำนักพิมพ์มติชน พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ.2562 หน้า 136-183]

ต่อมากลุ่มสยามยึดกรุงศรีอยุธยาโดยได้รับการสนับสนุนจากหลายฝ่าย ได้แก่ เครือญาติกับเครือข่าย และจีน เป็นต้น