วัดราชบูรณะ อุทิศถวายเจ้านครอินทร์ | สุจิตต์ วงษ์เทศ

วัดราชบูรณะ (จ.พระนครศรีอยุธยา) เป็นวัดที่เจ้าสามพระยาให้สร้างขึ้นบริเวณที่ถวายพระเพลิงพระบรมศพเจ้านครอินทร์ (วงศ์สุพรรณภูมิ) คือ พระนครินทราธิราช กษัตริย์รัฐอยุธยา (ก่อนหน้านี้เป็นกษัติรย์รัฐสุพรรณภูมิ)

เจ้าสามพระยาเป็นโอรสเจ้านครอินทร์ ต่อมาได้เสวยราชเป็นกษัตริย์รัฐอยุธยา มีพระนามว่าพระบรมราชาธิราชที่ 2 (พ.ศ.1967-1991)

 

 

โลกหลังความตาย

พิธีกรรมหลังการสวรรคตของเจ้านครอินทร์ เกี่ยวข้องกับความเชื่อเรื่องขวัญในศาสนาผีเมื่อหลายพันปีมาแล้ว แต่ถูกทำเป็นลัทธิเทวราช ดังนี้

(1.) พระปรางค์และวัดราชบูรณะ เป็นที่ประดิษฐานพระบรมอัฐิเจ้านครอินทร์ ด้วยเหตุดังนั้น พระปรางค์เสมือนวิมานของเทวดาบนสวรรค์ ในที่นี้คือพระอินทร์จักรพรรดิราช ส่วนวัดราชบูรณะมีกำแพงรูปสี่เหลี่ยมล้อมรอบเสมือนสวรรค์ชั้นฟ้า ในที่นี้คือดาวดึงส์ [คำอธิบายได้แนวคิดจากหนังสือ เมืองพระนคร นครวัด นครธม บทนิพนธ์อมตะของ ยอร์ช เซเดส์ (ANGKOR : An Introduction)]

พิธีอัญเชิญพระบรมอัฐิเจ้านครอินทร์ขึ้นประดิษฐานบนพระปรางค์ มีพร้อมกับพิธีอัญเชิญพระขวัญเจ้านครอินทร์ขึ้นสถิตบนฟ้า แล้วรวมพลังเป็นหนึ่งเดียวกับพระอินทร์บนวิมานสวรรค์เป็นจอมจักรพรรดิราช ด้วยการถวายพระนามใหม่ว่า “พระนครินทราธิราช” เพื่อบันดาลความอุดมสมบูรณ์และความร่มเย็นเป็นสุข รอดพ้นจากโรคภัยไข้เจ็บเหน็บเหนื่อยให้บรรดาไพร่ฟ้าประชากรในราชอาณาจักร

การอัญเชิญพระขวัญเจ้านครอินทร์หลังสวรรคต เป็นไปตามความเชื่อในศาสนาผีหลายพันปีมาแล้วว่าคนตาย ส่วนขวัญไม่ตาย ถ้าเป็นขวัญของชนชั้นนำ (เช่น หัวหน้าเผ่าพันธุ์) จะมีพิธีส่งขวัญขึ้นฟ้าไปรวมพลังกับผีฟ้า (หรือแถน) เพื่อปกป้องคุ้มครองคนยังไม่ตาย ขณะเดียวกันก็บันดาลความอุดมสมบูรณ์ให้ผู้คนทั้งหลายในบ้านเมืองร่มเย็นเป็นสุข

(2.) สิ่งของมีค่าในกรุพระปรางค์ เป็นเครื่องราชูปโภคและเครื่องมหรรฆภัณฑ์ อันเป็นสัญลักษณ์ของพระจักรพรรดิราช หมายถึงเจ้านครอินทร์ (คือพระบรมอัฐิที่ประดิษฐานอยู่ส่วนบนของพระปรางค์) สิ่งของมีค่าส่วนมากทำจากทองคำ ได้แก่ สถาปัตยกรรมจำลอง (เช่น พระเจดีย์ทองคำ), เครื่องราชูปโภค, เครื่องราชกกุธภัณฑ์, เครื่องทองและเครื่องประดับของกษัตริย์และเจ้านาย, พระพุทธรูปและพระพิมพ์, ประติมากรรมรูปต่างๆ, จารึกบนวัตถุต่างๆ เช่น จารึกลานทองอักษรขอม (1 แผ่น) อักษรไทย (3 แผ่น) อักษรจีน (1 แผ่น) และจารึกบนเหรียญทองเป็นอักษรอาหรับ 2 เหรียญ (จากหนังสือ เครื่องทองกรุวัดราชบูรณะ ศิลปะของแผ่นดิน กรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม พิมพ์ครั้งที่สอง พ.ศ.2560 หน้า 31-44)

สิ่งของมีค่าเหล่านั้นบรรจุในกรุของพระปรางค์ เป็นลักษณะสืบประเพณีความเชื่อเรื่องขวัญในศาสนาผีเมื่อ 2,500 ปีมาแล้ว ว่าคนตาย ส่วนขวัญไม่ตาย แต่เคลื่อนไหวต่างมิติที่จับต้องไม่ได้และมองไม่เห็น จึงจัดสิ่งของมีค่าประกอบด้วยเครื่องใช้ในชีวิตประจำวันฝังในหลุมศพเพื่อใช้งานเหมือนเมื่อยังไม่ตาย

อาหารจีนและพนักงานอาหารจีนจากลายเส้นในกรุพระปรางค์วัดราชบูรณะ (คัดลอกโดยพเยาว์ เข็มนาค จากหนังสือ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เจ้าสามพระยา กรมศิลปากร พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ.2556 หน้า 40-41)

 

อาหารจีนจากลายเส้นในกรุพระปรางค์
วัดราชบูรณะ

เฉพาะผนังกรุด้านทิศใต้มีจิตรกรรมลายเส้นแบบจีนรูปเกี่ยวกับอาหารจีนและพนักงานอาหารจีน ซึ่งเป็นหลักฐานแสดงว่าอาหารจีนเกี่ยวข้องกับพิธีกรรมศักดิ์สิทธิ์ และเป็นเรื่องสำคัญมากจึงเขียนรูปไว้ในสถานที่ศักดิ์สิทธิ์อย่างนี้

อาหารจีนน่าเชื่อว่าเข้าถึงไทยอย่างเป็นทางการสมัยเจ้านครอินทร์ รัฐสุพรรณภูมิ-รัฐอยุธยา เมื่อเรือน พ.ศ.1900 สอดคล้องกับหลักฐานอื่นที่พบ ได้แก่ กระทะเหล็กและพืชผัก ดังนี้

(1.) กระทะเหล็ก พบหลักฐานในสำเภาจีนอายุราว พ.ศ.1900 ที่จมทะเลใกล้เกาะคราม (อ.สัตหีบ จ.ชลบุรี) และ (2.) พืชผัก พบว่าถูกขนจากจีนถึงไทยและบ้านเมืองในอุษาคเนย์โดยขบวนเรือสมุทรยาตราของแม่ทัพเจิ้งเหอ (หรือซำปอกง) ในสำเภาลำมหึมามีพื้นที่ทำครัวและห้องเก็บพืชผักและสัตว์ที่ต้องใช้ปรุงอาหารจีน

ข้าวปลาอาหารในราชสำนักอยุธยาแผ่นดินพระนารายณ์มากกว่า 30 ชนิด “ปรุงตามตำรับจีน” เพื่อเลี้ยงรับรองคณะราชทูตจากราชสำนักฝรั่งเศส เรื่องนี้มีบันทึกในจดหมายเหตุลาลูแบร์ (แปลโดย สันต์ ท. โกมลบุตร สำนักพิมพ์ก้าวหน้า พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ.2510 หน้า 168)

อาหารจีนที่พบลายเส้นในกรุพระปรางค์วัดราชบูรณะ น่าจะสืบเนื่องจากเจ้านครอินทร์ใกล้ชิดราชสำนักจีนมาก่อนแล้ว เจ้านครอินทร์ไปเมืองจีนและได้ขึ้นเฝ้าจักรพรรดิจีน เมื่อเรือน พ.ศ.1900

(1.) ขณะนั้นขุนหลวงพะงั่ว (พระราชบิดาเจ้านครอินทร์) เป็นกษัตริย์อยุธยา (2.) นิทานเรื่องพระร่วงไปเมืองจีน เป็นความทรงจำเกี่ยวกับเจ้านครอินทร์ไปเมืองจีน แต่จดชื่อว่าพระร่วง เพราะมารดาเจ้านครอินทร์เป็นเชื้อวงศ์พระร่วง (3.) สังคโลกเป็นเทคโนโลยีก้าวหน้าของจีน ที่เจ้านครอินทร์รับจากจักรพรรดิจีน แล้วเปิดพื้นที่สร้างเตาเผาแหล่งผลิตที่สุโขทัย, ศรีสัชนาลัย, สิงห์บุรี ส่งขายต่างประเทศ (โดยสำเภาจีนที่อยุธยา, สุพรรณ)

 

ด้อยค่าเจ้านครอินทร์

เจ้านครอินทร์ถูกด้อยค่าจากรัฐราชการรวมศูนย์ของไทย ดังนี้

1. ปกปิดความเป็นกษัตริย์สยามแห่งเมืองสุพรรณ (รัฐสุพรรณภูมิ) ของเจ้านครอินทร์ ที่ต่อมาขยายอำนาจโดยได้รับการสนับสนุนแข็งแรงจากจีนจนได้เป็นกษัตริย์ยิ่งใหญ่ของกรุงศรีอยุธยา ผู้วางรากฐานความมั่นคงและมั่งคั่งจากการเป็นรัฐการค้าทางทะเล จนได้รับยกย่องเป็นครั้งแรกจากนานาประเทศว่า “ราชอาณาจักรสยาม” แห่งแรก

แต่รัฐราชการรวมศูนย์ระงับการเผยแพร่ความจริงสู่สาธารณชนผ่านการจัดแสดงในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ

2. ปกปิดความเป็นจักรพรรดิราชของเจ้านครอินทร์ เมื่อเจ้าสามพระยา (โอรสเจ้านครอินทร์) สร้างวัดราชบูรณะพร้อมสิ่งของสัญลักษณ์ศักดิ์สิทธิ์บรรจุในกรุพระปรางค์ประธาน เพื่ออุทิศถวายเจ้านครอินทร์เมื่อสวรรคตเสด็จเสวยสวรรค์เป็นจักรพรรดิราช

แต่รัฐราชการรวมศูนย์กลับเผยแพร่ (โดยอ้างหลักฐานจากเอกสารมีพิรุธซึ่งไม่ผ่านการประเมินคุณค่า) ว่าวัดราชบูรณะถูกสร้างเพื่ออุทิศถวายเจ้าอ้ายเจ้ายี่ที่แย่งชิงราชสมบัติถึงล้มตายทั้งสององค์ ทั้งๆ ไม่ได้เป็นกษัตริย์กรุงศรีอยุธยา และไม่ได้ทำประโยชน์อันใดให้สังคมและประชาชนอยุธยาสมัยนั้น

การด้อยค่าเจ้านครอินทร์มีเหตุจากอะไร? ไม่พบหลักฐานตรงไปตรงมา แต่น่าเชื่อว่ามาจากระบบการศึกษายกย่องอำนาจนิยมรวมศูนย์ เลื่อมใสความรุนแรงจากประวัติศาสตร์สงคราม แล้วละทิ้งประวัติศาสตร์สังคมที่มีการค้ากับนานาประเทศซึ่งมีเรื่องราวของท้องถิ่นเป็นแหล่งทรัพยากรเลี้ยงดูราชธานี