สุจิตต์ วงษ์เทศ : สยาม เป็นบริเวณลุ่มน้ำ โดย ‘จิตร ภูมิศักดิ์’ นักปราชญ์สยาม

 

สยาม เป็นบริเวณลุ่มน้ำ

โดย ‘จิตร ภูมิศักดิ์’ นักปราชญ์สยาม

 

จิตร ภูมิศักดิ์ นักปราชญ์สยาม บอกให้รู้ “ต้นตอ” ความเป็นมาของคำว่า “สยาม” จากคำพื้นเมือง ซึ่งไม่ใช่มาจากภาษาสันสกฤตตามที่นักปราชญ์รุ่นก่อนๆ อธิบายไว้ตามวิธีคิดแบบศักดินาเจ้าขุนมูลนาย “คิดอะไรไม่ออกบอกอินเดีย” เพราะเชื่อว่าสิ่งดีวิเศษชั้นสูง มีที่มาจากอินเดียเท่านั้น

คำอธิบายอย่างละเอียดถี่ถ้วนของ จิตร ภูมิศักดิ์ อยู่ในหนังสือ ความเป็นมาของคำสยาม, ไทย ลาว และขอม และลักษณะทางสังคมของชื่อชนชาติ (มูลนิธิโครงการตำราฯ พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ.2519 หน้า 288-295) เพียบพร้อมหลักวิชาภาษาศาสตร์, นิรุกติศาสตร์, มานุษยวิทยา, ประวัติศาสตร์โบราณคดี ฯลฯ สรุปย่อว่าสยามเป็นชื่อเรียกสถานที่หมายถึงบริเวณลุ่มน้ำ

คำว่า สยาม มีรากจากคำพื้นเมืองบริเวณลุ่มน้ำสาละวิน-ลุ่มน้ำโขง ว่า ซำ หรือ ซัม หมายถึงพื้นที่มีน้ำพุหรือน้ำผุดจากใต้ดิน ซึ่งบางท้องถิ่นเรียกน้ำซับน้ำซึม ครั้นนานปี (หรือนานเข้า) น้ำเหล่านั้นไหลนองเป็นหนองหรือบึงขนาดน้อยใหญ่ กลายเป็นแหล่งปลูกข้าว ในที่สุดทำนาทดน้ำ ผลิตข้าวได้มากไว้เลี้ยงคนจำนวนมาก ทำให้ชุมชนหมู่บ้านเริ่มแรกเมื่อติดต่อชุมชนห่างไกลก็เติบโตเป็นเมือง, รัฐ, อาณาจักร

น้ำพุ น้ำผุด น้ำซับน้ำซึมนับไม่ถ้วนไหลนองเนิ่นนาน ประกอบกับน้ำฝนตามฤดูกาล ทำให้มีปริมาณน้ำกว้างใหญ่เรียกสมัยหลังว่าบึงบอระเพ็ด จ.นครสวรรค์ (ภาพจาก https://www.youtube.com/watch?v=fDw5XLHpINI)

 

พลังภาษาของจิตร ภูมิศักดิ์

คําอธิบายด้วยโวหารสำนวนภาษาที่ทรงพลังของจิตร ภูมิศักดิ์ เรื่อง ซำ หรือ ซัม ควรอ่านอย่างยิ่ง จะคัดมาดังนี้

“ซำ หรือ ซัม ในภาษาไตดั้งเดิม, ซึ่งบัดนี้ยังมีอยู่ในภาษาลาวและผู้ไท หมายความถึงบริเวณน้ำซับน้ำซึมประเภทที่พุขึ้นจากแอ่งดินโคลน. น้ำดังกล่าวนี้เกิดขึ้นจากน้ำที่รากต้นไม้บนภูเขาหรือเนินดอนอุ้มไว้ แล้วซึมเซาะซอนใต้ดินมาพุขึ้นที่บริเวณที่ราบเชิงเขาหรือเนินดอน. บริเวณที่พุขึ้นนั้นมีลักษณะเป็นบึงโคลนสีเหลือง เป็นโคลนลึกแค่คอทีเดียว โคลนสีเหลืองนี้ในภาษาลาวเรียกว่า ดูน. น้ำที่พุขึ้นจะดันโคลนหรือดูนขึ้นมาจนเป็นโคลนเดือดปุดๆ พุพลั่งๆ อยู่ตลอดปีไม่มีแห้ง. น้ำที่พุขึ้นมานั้นมีปริมาณมาก ไหลเจิ่งซ่าไปตามทางน้ำหรือลำธาร, ลักษณะของน้ำใสสะอาด จืดสนิท. ซำที่น้ำพุขึ้นนี้บางแห่งก็เป็นเทือกยาวมาก คือเป็นเทือกเขาที่ยาวหลายสิบกิโลเมตร และมีซำพุเป็นตอนๆ ทั้งสองด้านของเทือก บางแห่งก็เป็นแอ่งใหญ่โตราวกับบึง, ซำดังกล่าวนี้มีทั่วไปในบริเวณป่าเขาที่มีต้นไม้แน่นหนา. เพราะรากไม้อุ้มน้ำไว้ได้ตลอดปี และต้องหาทางไหลลงสู่ที่ราบ. ถ้าป่านั้นถูกไฟไหม้ราบเตียนเมื่อใด ซำก็จะแห้งไปเมื่อนั้น.

ซำเหล่านี้ เป็นที่ชัยภูมิที่คนไต-ลาว ยึดเป็นที่ตั้งบ้านเมืองทำมาหากินโดยทั่วไป เพราะอาศัยน้ำได้แม้ในฤดูแล้ง, คล้ายกับเป็นโอเอซิสของทะเลทราย. บริเวณซำนั้นเป็นที่ดึงดูดคนไต-ลาวมาชุมนุมตั้งชมรมกสิกรรมมาก เพราะพื้นที่บริเวณนั้นทำนาได้ปีละสองหน, เป็นสวนอันอุดมและให้ผลดีมาก. นาที่อยู่ติดกับซำนั้นเป็นนาดีถึงขนาดเรียกเป็นคำเฉพาะทีเดียวว่า ‘นาคำ’ (คือนาทองคำ) และน้ำที่ซึมออกมาจากซำนั้น ก็เรียกกันว่า ‘น้ำคำ’ ลองคิดดูก็แล้วกันว่ามันมีค่าต่อชีวิตของสังคมไตเพียงไร จึงถึงกับได้ชื่อว่า นาคำ และ น้ำคำ. ชื่อบ้านที่เรียกว่า ‘บ้านซำ’ มีอยู่ทั่วไปทางภาคอีสานของไทยและในประเทศลาว และยังมีบริเวณที่เรียกว่า ซำ ต่างๆ ตามชื่อเฉพาะของแต่ละซำอีกมาก. ชื่อบ้านนาคำและบ้านน้ำคำ ก็มีอยู่ทั่วไปเช่นกัน.”

 

ชมรมกสิกรรมที่ราบลุ่ม

จิตร ภูมิศักดิ์ ย้ำตอนท้ายว่ายังไม่ปรารถนาจะยืนยันแน่นอนในสมมุติฐานทั้งหมดเพราะยังเชื่อว่าอาจจะมีทางศึกษาค้นคว้าอื่นที่ท่านผู้สนใจศึกษาค้นพบ แต่ได้เสนอข้อคิดไว้บางประการว่าคำดั้งเดิมของสยามนั้นจะต้องประกอบด้วยเหตุผลต่างๆ ดังนี้

1) เป็นคำคล้ายคลึงกับ *ซาม-เซียม ที่ได้บอกไว้เป็นสมมุติฐานทางนิรุกติศาสตร์.

2) ความหมายต้องแปลว่าลุ่มน้ำหรือเกี่ยวกับน้ำ ซึ่งสอดคล้องกับสภาพชีวิตของสังคมชมรมกสิกรรมในที่ราบลุ่มของกลุ่มชนในตระกูลภาษาไท-ไต.

3) ต้นกำเนิดของคำเป็นภาษาพื้นเมือง, ไม่ใช่คำภาษาจีน. แต่ภาษาพื้นเมืองมิได้มีเฉพาะภาษาไท-ไตและหลอหลอ แต่ยังมีภาษาละว้า, กะฉิ่น ส่วนเฉพาะละว้านั้นครองเขตรัฐฉานมาก่อนที่ไท-ไตจะเข้ามา

4) ที่เกิดของคำสยามอยู่ในบริเวณพม่าเหนือ การศึกษาหาต้นกำเนิดต้องไปศึกษาค้นหาจากภาษาและประวัติสังคมของชนชาติต่างๆ ที่นั่น ไม่ใช่จากที่อื่น เป็นต้นว่าจากหน้ากระดาษของหนังสือพจนานุกรมสันสกฤต

5) เปิดโอกาสสำหรับความผิดพลาด

6) ไม่ควรไปเสาะหาคำที่คล้ายคลึงในภาษาอื่นๆ โดยละเลยการพิจารณาพัฒนาการของชีวิตทางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมตลอดจนสังคมของคนไต และไม่จำเป็นจะต้องเลือกหาแต่คำที่มีความหมายที่ดีวิเศษด้านเดียวเสมอไป เพราะถ้าเราดำเนินตามแนวทางนั้นเราก็จะได้คำมากมายจากหลายภาษา และเราจะไม่ได้ความจริงที่ปรากฏขึ้นภายในวิถีทางพัฒนาแห่งประวัติศาสตร์และสังคมเลย.

วาดหวังเติมพลังด้วยหนังสือดีเกี่ยวกับนักปราชญ์สยาม (ปกหนังสือ จ จิตร ชีวิตอัจฉริยะไทย ผู้ใฝ่เรียนรู้ จิตร ภูมิศักดิ์ เรื่องโดยสองขา ภาพโดย faan. Peeti)

 

ชาวสยาม “ร้อยพ่อพันแม่” แต่พูดภาษาไทย

คําอธิบายของจิตร ภูมิศักดิ์ สรุปว่า สยามเป็นชื่อเรียกสถานที่ หมายถึงบริเวณลุ่มน้ำ ต่อมามีนักวิชาการอีกหลายต่อหลายสำนักศึกษาค้นคว้าเพิ่มเติมกว้างขวางออกไป ได้ความโดยสรุปว่ากลุ่มคนในดินแดนสยามเรียกชาวสยาม ประกอบด้วยคนหลายชาติพันธุ์ “ร้อยพ่อพันแม่” พูดหลายภาษา ดังนั้น ต้องมีภาษาไทยเป็นภาษากลางทางการค้าดินแดนภายในภาคพื้นทวีป เพราะง่ายต่อการพูดจาและทำความเข้าใจเมื่อเทียบภาษาอื่น

เหตุที่เขียนเรื่องนี้เพราะได้อ่านหนังสือ จ จิตร ชีวิตอัจฉริยะไทย ผู้ใฝ่เรียนรู้ จิตร ภูมิศักดิ์ (ของกลุ่มวาดหวัง เติมพลัง ด้วยหนังสือดี) จึงยกคำอธิบายเรื่องสยามมาเป็นพยานแสดงความเป็นอัจฉริยะไทย นักปราชญ์สยามเสมอร่วมสมัยด้วยนักปราชญ์สยามสมัยก่อนๆ

ดังนั้น สังคมไทย “ควรระวัง” ผู้เชี่ยวชาญที่ไม่อ่านหนังสือ หรืออ่านหนังสือเฉพาะประเภท “เมืองไทยนี้ดี ในน้ำมีปลา ในนามีข้าว” แต่มีอำนาจกำกับจินตนาการของคนให้เป็นตามที่ตนและรัฐราชการต้องการ