สุจิตต์ วงษ์เทศ : ลำเชียงไกร จ.นครราชสีมา ถิ่นฐานบรรพชนคนลุ่มน้ำมูล

 

ลำเชียงไกร จ.นครราชสีมา

ถิ่นฐานบรรพชนคนลุ่มน้ำมูล

 

น้ำทะลักจากอ่างเก็บน้ำลำเชียงไกร (ตอนล่าง) หลากท่วมชุมชนและไร่นาจำนวนมากทั่วลุ่มน้ำลำเชียงไกร อยู่ทางทิศตะวันตกของ จ.นครราชสีมา (ต่อเนื่องถึง จ.ชัยภูมิ) เป็นบริเวณถิ่นฐานบรรพชนต้นตอบ้านเมืองตอนต้นแม่น้ำมูล ที่ต่อไปข้างหน้าจะเติบโตเป็นเมืองเสมา (อ.สูงเนิน จ.นครราชสีมา) เมืองพิมาย (อ.พิมาย จ.นครราชสีมา) และในที่สุดเป็นเมืองนครราชสีมา

น้ำท่วม “บ้านลำเชิงไกร” เป็นชื่อเดิมของลำเชียงไกร (ภาพจาก https://www.posttoday.com/social/local/664281)

 

มวลน้ำ – ภาพมุมสูงปริมาณน้ำมหาศาลจากเขื่อนลำเชียงไกร อ.โนนไทย จ.นครราชสีมา ไหลหลากท่วมพื้นที่เป็นบริเวณกว้างของ ต.เมืองปราสาท อ.โนนสูง จ.นครราชสีมา ชาวบ้านต้องอพยพไปอาศัยที่ศูนย์พักพิงชั่วคราว เมื่อวันที่ 30 กันยายน (ภาพและคำบรรยายจาก ข่าวสด ฉบับวันศุกร์ที่ 1 ตุลาคม 2564 หน้า 1)

ลำเชียงไกร หรือลำเชิงไกร ชื่อลำน้ำสายหนึ่ง ยาว 140 กิโลเมตร เป็นสาขาของแม่น้ำมูล จ.นครราชสีมา

1. มีแหล่งวัฒนธรรมเป็นชุมชนดั้งเดิมอายุเก่าแก่ ราว 3,000 ปีมาแล้ว อยู่ต่อเนื่องไม่ขาดสายสืบจนปัจจุบัน

2. ชุมชนเก่าแก่ดั้งเดิมตลอดสายของลำเชียงไกร เป็นแหล่งบรรพชนเมืองพิมายและเมืองนครราชสีมา

3. ทั้งหมดเป็นบรรพชนคนไทยทุกวันนี้

แหล่งฝังศพชนชั้นนำของเผ่าพันธุ์ ซึ่งเป็นศูนย์กลางชุมชนดั้งเดิมราว 3,000 ปีมาแล้ว บริเวณลุ่มน้ำลำเชียงไกร ที่บ้านธารปราสาท อ.โนนสูง จ.นครราชสีมา

ลำเชียงไกรเป็นชื่อที่กลายจากคำเดิมว่าลำเชิงไกร [ทำนองเดียวกับชื่อ “เชียงราก” (จ.ปทุมธานี) กลายจากคำเดิมว่า “เชิงราก” แปลว่า ตีนท่า หรือชายเลน] คำว่า เชิง เป็นภาษาเขมร แปลว่า ตีน, ฐาน, ริม, ปลาย, ชาย เช่น วัดตีนท่า, วัดเชิงท่า, วัดเชิงเลน เป็นต้น ที่ว่าลำเชิงไกรเป็นชื่อเดิมเพราะพื้นที่แถบนี้แต่เดิมเป็นหลักแหล่งของคนพูดภาษาเขมรแล้วสมัยหลังเปลี่ยนเป็นพูดภาษาไทย

ลำเชียงไกร หรือลำเชิงไกร ต้นน้ำเกิดจากเขาคันตูม ใน อ.ด่านขุนทด (จ.นครราชสีมา) ไหลไปทางทิศตะวันออกลงแม่น้ำมูล ใน ต.ดอนชมพู อ.โนนสูง (ข้อมูลจากหนังสือ อักขรานุกรมภูมิศาสตร์ไทย เล่ม 1 ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พิมพ์ครั้งที่สี่ พ.ศ.2545 หน้า 118)

แผนที่แสดงเส้นชุมทางต้นน้ำมูลที่รวมของลำเชิงไกร, ลำตะคองและแม่น้ำมูล จ.นครราชสีมา (แผนที่โดย ทนงศักดิ์ หาญวงษ์)

ลำเชียงไกรไหลคู่ขนานกับลำตะคองซึ่งมีต้นน้ำอยู่ทิวเขาใหญ่ อ.ปากช่อง (จ.นครราชสีมา) ไหลผ่าน อ.สีคิ้ว, อ.สูงเนิน, อ.ขามทะเลสอ, อ.เมืองฯ ลงน้ำมูลที่ท่าช้าง อ.เฉลิมพระเกียรติ

บริเวณลำเชียงไกรกับลำตะคองไหลลงแม่น้ำมูลมีปราสาทพนมวันเป็นศูนย์กลางชุมชนดั้งเดิม (เก่าแก่ก่อนปราสาทพิมาย)

ซากปลาช่อนในภาชนะดินเผาเป็นเครื่องเซ่นในศาสนาผีฝังรวมในหลุมศพ ที่บ้านโนนวัด ต.พลสงคราม อ.โนนสูง จ.นครราชสีมา
โครงกระดูกหมาที่ถูกทำให้ตายเพื่อเป็นสัตว์นำทางผีขวัญบุคคลสำคัญขึ้นฟ้าตามความเชื่อในศาสนาผี พบที่บ้านโนนวัด อ.โนนสูง จ.นครราชสีมา

ลำเชียงไกรคู่ขนานกับลำตะคอง เป็นถิ่นฐานบรรพชนคนลุ่มน้ำมูลที่มีทั้งคุณค่าทางประวัติศาสตร์-วัฒนธรรม และมูลค่าทางการท่องเที่ยว ดังนั้น เมื่อหลังน้ำลดหมดแล้วน่าจะสร้างสรรค์เป็นเส้นทางท่องเที่ยวชุมชนท้องถิ่นแบบบ้านๆ ลุยๆ

คุณค่าทางประวัติศาสตร์-วัฒนธรรมมีมหาศาล เป็นหลักฐานประวัติศาสตร์ท้องถิ่นโต้แย้งประวัติศาสตร์แห่งชาติ ปัญหาถ้าจะมีก็อยู่ที่รัฐราชการอนุรักษนิยมสุดโต่ง กับอาจารย์มหาวิทยาลัยประเภท “หมอผี” ไม่รับรู้ข้อมูลใหม่ในโลกไม่เหมือนเดิม และมีบางกลุ่มเคยทำผิดพลาดไว้ที่บ้านโนนวัด น่าจะร่วมกันคิดแก้ไขเพื่อประโยชน์ชุมชน