‘ศาสนาผี’ ที่สุดในโลก ยัง ‘เฮี้ยน’ ที่สุดทั่วไทย | สุจิตต์ วงษ์เทศ

“ศาสนาผี” ที่สุดในโลก หมายถึง (1.) ศาสนาผีเก่าแก่ที่สุดในโลก (2.) คนนับถือมากที่สุดในโลก (3.) ศาสนสถานมีขนาดใหญ่โตที่สุดในโลก เช่น พีระมิดในอียิปต์, สุสานจิ๋นซีในจีน, เทวสถานของชนเผ่ามายาในอเมริกาใต้ เป็นต้น

ศาสนาผี หมายถึงศาสนาที่นับถืออำนาจเหนือธรรมชาติ คือผี ดังนั้นปรากฏการณ์ทั้งหลายไม่ว่าดีหรือร้ายเกิดจากการกระทำของผีหรืออำนาจเหนือธรรมชาติ โดยคนกับผีสื่อสารไปมาถึงกันได้ด้วยการเข้าทรงผ่านคนทรงซึ่งเป็นหญิง จึงนับเป็นศาสนาเก่าแก่ที่สุดในโลกเพราะมีก่อนศาสนาอื่นๆ (แม้คนทั่วไปไม่ยอมรับเป็นศาสนา แต่ทางวิชาการสากลนับเป็นศาสนา) และมีคนนับถือมากที่สุดในโลก

ผีฟ้า หมายถึงผู้เป็นใหญ่บนฟ้า บางทีเรียกเจ้าแห่งฟ้าหรือเจ้าฟ้า มีอำนาจเหนือธรรมชาติสูงสุดอยู่บนฟ้า เป็นแหล่งขวัญชนชั้นนำที่ตายแล้วของเผ่าพันธุ์ถูกส่งขึ้นฟ้ารวมพลังเป็นหนึ่งเดียวกับผีฟ้าเพื่อปกป้องคุ้มครองคนที่ยังไม่ตายอยู่ในชุมชนให้มีความอุดมสมบูรณ์

ต่อมาผีฟ้าถูกเรียกอีกชื่อว่า แถน ซึ่งได้จากภาษาฮั่นว่าเทียน แปลว่าฟ้า หมายถึงผู้เป็นใหญ่บนฟ้า [บอกไว้ในหนังสือ พงศาวดารโยนก ของพระยาประชากิจกรจักร (แช่ม บุนนาค) เรียบเรียงเมื่อปลายแผ่นดิน ร.5 พ.ศ.2451]

ศาสนาผีไม่มีเวียนว่ายตายเกิด, ไม่มีโลกหน้า, ไม่มีเทวดานางฟ้า, ไม่มีสวรรค์นรก, ไม่มีวิญญาณ, ไม่มีเผาศพ ฯลฯ แต่มีความเชื่อเรื่องขวัญเหมือนกันทั่วอุษาคเนย์

ลายขวัญบนหม้อบ้านเชียง ราว 2,500 ปีมาแล้ว เป็นรูปวงกลม มีแฉก ลักษณะเดียวกับหน้ากลองทอง (มโหระทึก)

ขวัญ หมายถึงระบบความเชื่อทางศาสนาผีที่มีพลังกว้างขวาง และเกี่ยวข้องกับความคิดสร้างสรรค์ทั้งมวล โดยคำว่าขวัญออกเสียงตามรับรู้ในภาษาไทยปัจจุบัน ซึ่งใกล้ชิดเป็นคำเดียวและความหมายเดียวกับภาษาฮั่นว่า หวั๋น (กวางตุ้ง) ฮุ้น (แต้จิ๋ว) น่าเชื่อว่าเป็นระบบความเชื่อร่วมกันมาแต่เดิม [มีคำอธิบายอยู่ในหนังสือหลายเล่ม ได้แก่ (1.) ไทย-จีน ของพระยาอนุมานราชธน (พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ.2479) พิมพ์ครั้งที่สอง พ.ศ.2505 หน้า 93, (2.) บทความเรื่อง “พิธีกรรมหลังความตาย มีส่งขวัญคล้ายกันทั้งไทยและจีน” ในหนังสือ “คนไท” ไม่ใช่ “คนไทย” แต่เป็นเครือญาติชาติภาษา โดย เจีย แยนจอง สำนักพิมพ์มติชน พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ.2548 หน้า 86]

คนตาย เพราะขวัญหายไม่อยู่กับเนื้อกับตัว หรือไม่อยู่กับมิ่ง (คือร่างกายอวัยวะของคน) หรือกล่าวอีกอย่างว่าคนตาย ส่วนขวัญไม่ตาย แต่หายไปไหนไม่รู้? ถ้าเรียกขวัญคืนร่างได้คนก็ฟื้นคืนปกติ

มนุษย์มีขวัญอยู่ตามส่วนต่างๆ ของร่างกายจำนวนหลายสิบตามความเชื่อของกลุ่มนั้นๆ แต่ขวัญสำคัญที่สุดอยู่กลางกระหม่อม เรียกจอมขวัญ แล้วเชื่อว่ามีขวัญจึงมีชีวิต คนตายเพราะขวัญหายออกจากร่าง ถ้าเรียกขวัญคืนร่างคนก็ฟื้น

ลายตารางเรขาคณิตคล้ายลายจักสานเป็นสัญลักษณ์ขวัญ

 

ดังนั้น เมื่อมีคนตายเป็นบุคคลสำคัญ ได้แก่ หัวหน้าเผ่าพันธุ์ จึงมีพิธีเรียกขวัญสู่ขวัญด้วยการละเล่นอึกทึกครึกโครมให้ขวัญคืนร่าง ถ้าไม่คืนร่างถูกเรียกผีขวัญ ต้องมีพิธีส่งผีขวัญไปรวมเป็นหนึ่งเดียวกับผีขวัญบรรพชนบนฟ้า (ซึ่งถูกเรียกสมัยหลังว่าผีฟ้า) ชุมชนลุ่มน้ำโขงเรียกกิจกรรมหลังความตายเหล่านี้ว่า “งันเฮือนดี” เป็นต้นทางมหรสพงานศพทุกวันนี้ เช่น โขน, ละคร, หนังใหญ่, ลิเก, ภาพยนตร์, ดนตรี ฯลฯ

คนตายแล้วถูกเรียกว่าผี ส่วนขวัญที่ไม่ตายของคนตายถูกเรียกผีขวัญ บางทีไปสิงสู่อยู่ในร่างเสมือนต่างๆ เช่น หิน แต่บางทีร่อนเร่อยู่ทั่วไป ตรงนี้เองที่คนเข้าใจว่าเป็นวิญญาณตามความเชื่อพราหมณ์-พุทธ แต่วิญญาณของคนไปจุติแล้ว (ตามคำสอน) จึงไม่เหลืออะไรให้ร่อนเร่

 

ต้นแบบเฉลว หรือตาเหลว ไม้ไผ่วางขัดแตะกันเป็นรูปคล้ายขวัญ เป็นวิธีขัดแตะแรกสุดเพื่อจะให้ขึ้นรูปเป็นภาชนะต่างๆ ตามต้องการอันมีที่มาจากขวัญของคน ต่อมายกย่องเป็นลายศักดิ์สิทธิ์ใช้คุ้มครองป้องกันเหตุร้ายทั้งปวง จึงทําตาเหลวปักไว้บริเวณสําคัญๆ เช่น ทางเข้าชุมชนหมู่บ้าน

ขวัญเป็นความเชื่อในศาสนาผีของคนอุษาคเนย์ทุกชาติพันธุ์หลายพันปีมาแล้ว (ก่อนรู้จักศาสนาพุทธและศาสนาพราหมณ์-ฮินดูจากอินเดีย) โดยเกี่ยวข้องกับมนุษย์ตั้งแต่อยู่ในครรภ์มารดาถึงเชิงตะกอนและหลังความตาย พิธีกรรมทุกอย่างที่มนุษย์ร่วมกันสร้างขึ้นต้องเริ่มด้วยทำขวัญ โดยมีกลองทอง (มโหระทึก) ประโคมตีตั้งแต่ต้นจนจบตลอดพิธีกรรม (ตกทอดสืบเนื่องจากกลองมโหระทึกถึงปัจจุบัน ได้แก่ ฆ้องขนาดใหญ่ เรียกฆ้องหุ่ย ใช้ตีในพิธีทำขวัญ) แต่ปัญหาทุกวันนี้ได้แก่ความรู้ความเข้าใจที่แท้จริงเกี่ยวกับขวัญถูกทำให้กลืนกลายเข้ากับวิญญาณ (รับจากอินเดีย) จนไม่เหลือร่องรอยของขวัญอีกแล้ว ในที่สุดก็ลืมหมด

ขวัญคือส่วนที่ไม่มีรูปร่าง จับต้องไม่ได้ มองไม่เห็น แต่เคลื่อนไหวได้ ลักษณะเป็นหน่วย มีหลายหน่วย แต่ละหน่วยสิงสู่อยู่กระจายตามส่วนต่างๆ ของคน, สัตว์, พืช, สิ่งของเครื่องมือเครื่องใช้, อาคารสถานที่ เป็นต้น

แม้ว่าขวัญไม่มีรูปร่าง จับต้องไม่ได้ มองไม่เห็น แต่คนรู้ว่าสิงสู่อยู่บริเวณโคนเส้นผมขึ้นชนกันเป็นวงเหมือนก้นหอย ตรงกลางกระหม่อมบนหัวกบาลของคน เรียกจอมขวัญ เลยเชื่อกันว่าถ้าทำสิ่งใดสิ่งหนึ่งให้มีลักษณะเป็นวงหรือขดเหมือนก้นหอย เท่ากับมีขวัญสิงสู่อยู่ตรงนั้น หมายถึง เฮี้ยน ย่อมบังเกิดสิ่งดีที่คอยคุ้มครองป้องกันพ้นจากสิ่งไม่ดี ดังนั้น เครื่องมือเครื่องใช้เลยต้องมีขวัญสิงอยู่ในนั้นโดยทำลวดลายคล้ายวงก้นหอยจำลองขวัญในรูปลักษณ์ต่างๆ เช่น ปุ่มนูนมีแฉกล้อมหลายแฉกบนหน้ากลองทอง (มโหระทึก), ลายก้นหอยคล้ายลายนิ้วมือบนหม้อเขียนสีที่บ้านเชียง เป็นต้น

 

(ซ้าย) ขดทองสําริดเป็นรูปขวัญวางบนกะโหลกของคน อายุราว 2,500 ปีมาแล้ว (จัดแสดงอยู่ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พิมาย จ.นครราชสีมา) (ขวา) ปุ่มนูนมีหลายแฉกจำลองจากรูปจอมขวัญบนกลางกระหม่อมของคน อยู่กึ่งกลางหน้ากลองทอง (มโหระทึก) ใช้ตีประโคมเรียกขวัญในงานศพ ราว 2,500 ปีมาแล้ว

 

กลางหน้ากลองทอง (มโหระทึก) ทำปุ่มนูนล้อมด้วยแฉกมีหลายแฉก เป็นรูปขวัญซึ่งจำลองจากจอมขวัญบนหัวของคนที่บริเวณโคนของเส้นผมขึ้นเป็นวงเหมือนขดก้นหอยอยู่กลางกระหม่อม เมื่อประโคมตีมีเสียงดังกังวานไกลออกไปด้วยจงใจให้เสมือนเสียงเรียกขวัญ (สู่ขวัญ) คืนร่างเดิมคนตายจะได้ฟื้นเป็นปกติ (ตรงปุ่มนูนไม่ใช่ตำแหน่งใช้ไม้ตีตามที่เข้าใจกันทั่วไป เพราะเมื่อต้องการให้มีเสียงกังวานต้องตีบนพื้นที่ว่างระหว่างปุ่มนูนกับขอบ)

นักโบราณคดีชาวยุโรปสมัยก่อนและนักโบราณคดีไทยสมัยนี้มีคำอธิบายว่าปุ่มนูนรัศมีแฉกๆ ของกลองทอง (มโหระทึก) เป็นสัญลักษณ์ของดวงอาทิตย์, ดวงจันทร์, ดวงดาว เป็นต้น ล้วนเป็นความรู้วิทยาศาสตร์สมัยใหม่ที่ได้จากโลกตะวันตกเมื่อไม่นานมานี้ จึงไม่น่าจะตรงความหมายดั้งเดิมหลายพันปีมาแล้ว