สุจิตต์ วงษ์เทศ : ตายไปเป็นหิน ความเชื่อดั้งเดิมในศาสนาผี

(ซ้าย) จารึกบ้านหนองห้าง อ.กุฉินารายณ์ จ.กาฬสินธุ์ ปัจจุบันจัดแสดงที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ขอนแก่น (ขวา) ตัวอักษรจารึกบ้านหนองห้างข้อความว่า "อารยศรีพัชรวรรมัน" (ภาพและคำอธิบายของ รุ่งโรจน์ ภิรมย์อนุกูล คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง)

 

ตายไปเป็นหิน

ความเชื่อดั้งเดิมในศาสนาผี

 

หินตั้งทางศาสนาผีมากกว่า 3,000 ปีมาแล้ว ถูกทำให้เป็นเสมาหินทางศาสนาพุทธราว 1,500 ปีมาแล้ว เป็นหลักฐานทางมานุษยวิทยาและโบราณคดีที่สำคัญอยู่บนภูพระบาท (อ.บ้านผือ จ.อุดรธานี) ที่ไทยขอเป็นมรดกโลกหลายสิบปีมาแล้ว แต่ไม่ผ่านหรือทำท่าจะไม่ผ่าน เลยขอเรื่องคืนมาแก้ไขเพื่อส่งใหม่ ถึงกระนั้นก็มีทีท่าไม่น่าวางใจ เมื่อกระทรวงวัฒนธรรมปฏิเสธคุณค่าของหินตั้งในศาสนาผีโดยตัดตอนเหลือเฉพาะเสมาหินในศาสนาพุทธ

เสมาหินทางศาสนาพุทธในอีสานมีต้นตอจากหินตั้งในวัฒนธรรมหิน (Megalith culture) เมื่อหลายพันปีมาแล้ว เป็นที่รับรู้มานานมากและยกย่องว่าเป็นงานบุกเบิกศึกษาค้นคว้าสำคัญยิ่งของ อ.ศรีศักร วัลลิโภดม มีหลักฐานเบื้องต้นเป็นบทความในวารสารเมืองโบราณ ตั้งแต่ พ.ศ.2518 (รวมพิมพ์ในหนังสือแอ่งอารยธรรมอีสาน พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ.2533 ขณะนี้สำนักพิมพ์มติชนพิมพ์ครั้งที่ 4)

 

ตายไปเป็นหิน

“ตายไปเป็นหิน” คนแต่ก่อนรับรู้ทั่วกันเป็นสามัญซึ่งมีรากฐานจากความเชื่อดั้งเดิมหลายพันปีมาแล้วเรื่องหินตั้งในวัฒนธรรมหิน และเชื่อสืบเนื่องมาจนปัจจุบันยังพบในหลายพื้นที่ทั่วประเทศ

“หินตั้ง” เป็นคำเก่าที่มีใช้แล้วในภาษาพูดตั้งแต่สมัยก่อนรัฐอยุธยา ต่อมาพบเป็นลายลักษณ์อักษรในพงศาวดารเหนือ (เรื่องพระยาแกรก ซึ่งแต่งเมื่อเรือน พ.ศ.2000) เรียกสถานที่ศักดิ์สิทธิ์แห่งหนึ่งของเมืองสุโขทัยว่า “เขาหินตั้ง” ซึ่งน่าจะหมายถึงภูเขาที่มีหินตั้ง ปัจจุบันเรียกเขาสะพานหิน เป็นภูเขาลูกเตี้ยๆ นอกเมืองสุโขทัยด้านทิศตะวันตก พบทางเดินขึ้นเขามีแผ่นหินใหญ่น้อยจัดวางเป็นระเบียบตามประเพณีหินตั้งในวัฒนธรรมหินตั้งแต่ตีนเขาถึงยอดเขาซึ่งเป็นที่ตั้งวัดสะพานหิน

ในพงศาวดารเหนือยังกล่าวถึงปรางค์ปราสาททำด้วยทองได้กลายเป็นหินเมื่อสิ้นบุญเจ้าของ คือ พระยาสุทัศน์ ครองเมืองอินทปัตที่พระอินทร์ให้พระวิษณุกรรมเนรมิตปราสาททองประทาน แต่ต่อมาปล่อยให้พระพุทธเจ้าทรมานอยู่โปรดสัตว์เที่ยวบิณฑบาตในเมือง เมื่อพระยาสุทัศน์ทิวงคตบรรดาปรางค์ปราสาททำด้วยทองกลายเป็นหิน “ก็หายสิ้นทุกสิ่งอันก็อันตรธานเป็นศิลาทุกประการ”

นกหัสดีลิงค์ในงานศพผู้มีบุญจะกลายเป็นหินหลังถูกฆ่าแล้วเผาพร้อมศพผู้มีบุญ ต่อเมื่อต้องการนกหัสดีลิงค์ในงานศพผู้มีบุญคนต่อไปก็กลายร่างจากหินเป็นนกหัสดีลิงค์ร่วมพิธีศพได้เป็นปกติ

“ตายไปเป็นหิน” ความเชื่อดั้งเดิมหมายถึงความเชื่อเรื่องหินตั้งในวัฒนธรรมหินเป็น “ร่างเสมือน” ของคนที่ตายแล้วแต่ขวัญไม่ตาย ซึ่งเกี่ยวข้องกับความเชื่อขวัญทางศาสนาผี ครั้นหลังรับศาสนาอินเดียแล้วความเชื่อเกี่ยวกับหินตั้งก็ถูกผนวกเข้าในศาสนาจากอินเดียด้วย ล่าสุดเพิ่งรู้จาก รุ่งโรจน์ ภิรมย์อนุกูล (อาจารย์ประจำคณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง) เล่าว่าเสมาหินมีจารึกตัวอักษรเขมร (ขอม) ภาษาสันสกฤต อายุราวหลัง พ.ศ.1300 พบที่บ้านหนองห้าง อ.กุฉินารายณ์ จ.กาฬสินธุ์ (ปัจจุบันจัดแสดงอยู่ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ขอนแก่น) ข้อความจารึกมีว่า “อารยศรีพัชรวรรมัน” เป็นชื่อนักบวช (พระสงฆ์) ในศาสนาพุทธที่ใช้ภาษาสันสกฤต

เสมาหินแผ่นนี้เป็นตัวแทนหรือ “ร่างเสมือน” ของ “อารยศรีพัชรวรรมัน” ที่วายชนม์ไปแล้วตามประเพณีหินตั้งในวัฒนธรรมหินหลายพันปีมาแล้ว ลักษณะเช่นนี้เป็นอย่างเดียวกับประเพณีทำรูปสนองพระองค์ในวัฒนธรรมโตนเลสาบกัมพูชา

เสมาหินที่สลักสถูป ถ้าเชื่อว่าหมายถึงเสมาหินแผ่นนั้นมีสถานภาพเป็นสถูป ส่วนเสมาหินที่สลักพระพุทธรูป ถ้าเชื่อว่าหมายถึงเสมาหินแผ่นนั้นมีสถานภาพเป็นพระพุทธรูป ดังนั้น เสมาหินที่จารึกชื่อ “อารยศรีพัชรวรรมัน” ก็ควรหมายถึงเสมาหินแผ่นนั้นมีสถานภาพเป็นตัวแทนของท่าน “อารยศรีพัชรวรรมัน”

 

หินตั้งของจามในเวียดนาม

หินเป็นก้อนและเป็นแผ่นขนาดต่างๆ ถูกใช้ในพิธีฝังศพครั้งที่ 2 ตามประเพณีในอุษาคเนย์และตามประเพณีจามในเวียดนามหลายพันปีมาแล้ว (ก่อนจามนับถือฮินดู-พุทธ และก่อนนับถืออิสลาม)

ส่วนหนึ่งของพิธีฝังศพครั้งที่ 2 ของจาม ถูกเรียกเป็นภาษาจามว่า Kut ออกเสียงว่า “กุต” แล้วเรียกหินที่ถูกใช้ในพิธีฝังศพครั้งที่ 2 ว่า Kut หรือ “กุต” ไปด้วย จนถึงหลังรับนับถือฮินดู-พุทธจากอินเดีย Kut หรือ “กุต” ก็ถูกปรับใช้ในพิธีศพตามแบบอินเดีย (สรุปจากบทความเรื่อง “กุต” หินศักดิ์สิทธิ์ที่หลอมรวมพลังชีวิตของคนตายเข้ากับพลังบรรพชนตามความเชื่อของชาวจาม ของ ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ (พิมพ์ในมติชนสุดสัปดาห์ กรกฎาคม 2564)