ราชวงศ์และสงคราม ในประวัติศาสตร์ไทย | สุจิตต์ วงษ์เทศ

"ตำนาน" ที่ถูกสถาปนาเป็นประวัติศาสตร์แห่งชาติโดยรัฐราชการอำนาจนิยมรวมศูนย์

“ในไทย ประวัติศาสตร์มีแต่เรื่องราชวงศ์และสงคราม จึงไม่มีประวัติศาสตร์สังคมและประวัติศาสตร์ท้องถิ่น” ผมเขียนบทความและเสนอความเห็นในที่ประชุมหลายครั้งหลายหนเมื่อหลายสิบปีมาแล้วว่าเรื่องสงครามการสู้รบของวีรบุรุษที่พบในพระราชพงศาวดาร ล้วนเป็น “นิยาย” ที่ถูกแต่งขึ้นยอพระเกียรติ แล้วครูสอนประวัติศาสตร์ยกเป็นเรื่องจริงทางประวัติศาสตร์ ตราบจนทุกวันนี้การเรียนการสอนในสถานศึกษาทุกระดับยังเหมือนเดิม

เมื่อไม่นานมานี้มีผู้อ้างตนเป็นครูสอนประวัติศาสตร์ยกข้อความที่เคยพูดราว 10 ปีที่แล้วมาทักท้วงว่าผมพูดเท็จ โดยอ้างว่าครูในโรงเรียนไม่ได้สอนประวัติศาสตร์ไทยมีแต่เรื่องราชวงศ์และสงครามอย่างที่ถูกกล่าวหา แต่ต่อมามีผู้อื่นชี้แจงว่าต้องฟังผู้เรียน ไม่ใช่ฟังคำแก้ตัวของผู้สอน

กระทั่งเมื่อเร็วๆ นี้มีข่าวลงในสื่อบางฉบับ เนื้อข่าวมีสาระสำคัญว่ากระทรวงศึกษาธิการปรับการเรียนการสอนวิชาประวัติศาสตร์ตามนโยบายรัฐบาล “เพราะวิชาประวัติศาสตร์ไทยไม่ได้จำกัดการเรียนเฉพาะเรื่องการสู้รบอย่างเดียว แต่เป็นการเรียนรู้ประวัติศาสตร์ในท้องถิ่นและชุมชนของตัวเองได้ว่ามีความเป็นมาอย่างไร—-”

ข้อความที่ยกมานี้เท่ากับกระทรวงศึกษาฯ ยอมรับเองว่าแต่เดิมการเรียนการสอนประวัติศาสตร์ไทยมีแต่การสู้รบ ต่อไปนี้จะปรับใหม่ให้มีประวัติศาสตร์ท้องถิ่นด้วย

อันที่จริงกระทรวงศึกษาธิการเคยแถลงอย่างนี้หลายปีหลายครั้งแล้ว ผมได้ยินชินชามาก และผลเหมือนกันทุกครั้ง คือ “ดีแต่พูด” หรือ good but mouth ไม่ได้ทำตามที่แถลงครึกโครม เพราะในห้องเรียนยังมี “นิยาย” สงครามวีรบุรุษที่ถูกทำเป็นเรื่องจริงในประวัติศาสตร์เหมือนที่เคยเป็นมาอย่างไรก็เป็นไปอย่างนั้น ไม่เปลี่ยนแปลง

ถ้าจะมีปรับเปลี่ยนบ้างก็โดยครูแต่งชุดละครกรมศิลปากรเป็นขุนศึกนักรบ หรือมิฉะนั้นก็เอาหนังมาฉาย เช่น ตำนานสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ของ ม.จ.ชาตรีเฉลิม ยุคล เป็นต้น นักเรียนคนไหนข้องใจคิดต่างจากที่ครูสอนจะถูกมองด้วยหางตาว่า “ไม่รักชาติ และไม่รักราชวงศ์” แล้วถูกเสือกไสไล่ส่งเป็นพวก “ล้มเจ้า” ทั้งๆ ไม่ได้มีอะไรส่อว่าเป็นไปอย่างนั้น

 

ท้องถิ่นมีประวัติศาสตร์

“ประวัติศาสตร์ท้องถิ่น” ระยะหลังมานี้เหมือนพูดเพื่อแสดงตนให้ดูดี แต่เอาเข้าจริงเป็นท้องถิ่นอุปถัมภ์ของราชธานีส่วนกลาง และไม่มีท้องถิ่นแท้ช่วงก่อนหน้านั้น ดูจากการเรียนการสอนในมหาวิทยาลัยก็เป็นอย่างนี้

เพื่อให้เข้าใจตรงกันว่าอย่างไรแน่คือประวัติศาสตร์ท้องถิ่น? จะขอคัดข้อเขียนของ อ.นิธิ เอียวศรีวงศ์ มาดังนี้

“การศึกษาประวัติศาสตร์ท้องถิ่นมีปัญหาตรงที่หลายครั้งด้วยกันเป็นการศึกษาที่อาศัยกรอบโครงของ ‘ประวัติศาสตร์แห่งชาติ’ ทำให้เรื่องราวของประวัติศาสตร์ท้องถิ่นเป็นเพียงความสัมพันธ์ระหว่างท้องถิ่นกับราชธานี (ดังเช่นพงศาวดารท้องถิ่นส่วนใหญ่ซึ่งเขียนกันขึ้นในสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์)

ความสัมพันธ์ดังกล่าวมีความสำคัญอย่างปฏิเสธไม่ได้ แต่ท้องถิ่นไม่ได้เป็นฝ่ายรับ (passive) เพียงอย่างเดียว ในความเป็นจริงท้องถิ่นเป็นหน่วยการเมืองที่เลือกการกระทำที่มองผลประโยชน์ของตนเป็นที่ตั้งต่างหาก อีกทั้งมีโครงสร้างอำนาจและโครงสร้างสังคมภายในที่เป็นอิสระจากการกำกับของราชธานี แต่การมองท้องถิ่นอย่างเป็นอิสระเช่นนี้ ซึ่งเริ่มกระทำกันมากขึ้นในระยะหลัง กลับก่อให้เกิดความวิตกกังวลแก่ฝ่ายความมั่นคงของรัฐและนักวิชาการอนุรักษนิยม เกรงกันว่าจะทำให้เกิดความแตกแยกในชาติ

ความอ่อนไหว (over-sensitivity) ต่อการศึกษาประวัติศาสตร์ท้องถิ่นดังที่กล่าวนี้ สะท้อนให้เห็นอย่างดีถึงความเปราะบางของ ‘ชาติ’ ไทย ซึ่งตั้งอยู่บน ‘ประวัติศาสตร์แห่งชาติ’ ที่สร้างขึ้นด้วยจุดมุ่งหมายเพียงธำรงอำนาจของกลุ่มชนชั้นนำตามจารีตกลุ่มเล็กๆ ของรัฐราชสมบัติไว้ในรัฐซึ่งกลายเป็น ‘ชาติ’ ไปแล้ว”

[จากบทความเรื่อง ข้อเสนอสังเขปประวัติศาสตร์แห่งชาติ ของ นิธิ เอียวศรีวงศ์ สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ กระทรวงวัฒนธรรม พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ.2549]

ท้องถิ่นทุกแห่งเต็มไปด้วย “สตอรี่” มีประวัติศาสตร์ แต่รัฐราชการและครูบาอาจารย์อำนาจนิยมรวมศูนย์กีดกันและกำจัด “สตอรี่” และประวัติศาสตร์ท้องถิ่นเหล่านั้น

 

ยกเครื่อง “วิชาประวัติศาสตร์” เรียนแล้วคิดวิเคราะห์เป็น

“ตรีนุช” แถลงเปิดมิติใหม่ 8 ก.ย.

2 ก.ย. 64 – นางสาวตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) กล่าวภายหลังการประชุมหารือถึงการปรับการเรียนการสอนประวัติศาสตร์ว่า ในวันที่ 8 กันยายนนี้ กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) จะแถลงข่าวเรื่องการเรียนการสอนวิชาประวัติศาสตร์ ซึ่งตนต้องการให้การเรียนวิชาดังกล่าวมีความน่าสนใจมากขึ้น โดยเรื่องดังกล่าวเป็นความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชน เพราะจากนี้ไปการเรียนวิชาประวัติศาสตร์จะไม่ใช่การเรียนเพื่อท่องจำ แต่ต้องการให้นักเรียนได้เรียนวิชาประวัติศาสตร์แล้วคิดวิเคราะห์อย่างเป็นระบบ โดยการเดินหน้าปรับการเรียนการสอนวิชาประวัติศาสตร์นี้จะนำร่องในโรงเรียน 349 แห่งก่อน หลังจากนั้นจะดำเนินการให้ครอบคลุมในโรงเรียนทุกแห่งต่อไป สำหรับการปรับการเรียนเปลี่ยนการสอนวิชาประวัติศาสตร์นั้นจะมีเนื้อหาการเรียนด้วยสื่อการสอนที่ทันสมัย มีการนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยเสริมการสอนในห้องเรียน เพื่อให้เด็กเกิดความสนุกและทำให้รู้สึกว่าการเรียนวิชานี้ไม่น่าเบื่อ นอกจากนี้จะมีการอบรมกระบวนการสอนวิชาประวัติศาสตร์รูปแบบใหม่ให้แก่ครูผู้สอนด้วย

นางสาวตรีนุช กล่าวอีกว่า การเดินหน้าการเรียนการสอนวิชาประวัติศาสตร์เป็นหนึ่งในนโยบายของรัฐบาลที่อยากให้การเรียนการสอนวิชาดังกล่าวปรับเปลี่ยนจากการเรียนการสอนรูปแบบเดิมๆ เพราะวิชาประวัติศาสตร์ไม่ได้จำกัดการเรียนเฉพาะเรื่องสู้รบอย่างเดียว แต่เป็นการเรียนรู้ประวัติศาสตร์ในท้องถิ่นและชุมชนของตัวเองได้ว่ามีความเป็นอย่างมาไร อีกทั้งที่ผ่านมาวิชาประวัติศาสตร์จะถูกสอนในวิชาสังคมศึกษา หมวดหน้าที่พลเมือง ดังนั้น การแยกวิชาประวัติศาสตร์ออกมาเป็นวิชาหนึ่งนั้นจะส่งผลให้การเรียนการสอนมีความน่าสนใจมากขึ้น

“อย่างไรก็ตาม ในส่วนของ ศธ. เราจะทำหลักสูตรข้อมูลของการเรียนประวัติศาสตร์ที่ถูกต้องให้กับระบบการศึกษา และกระบวนการเรียนการสอนต้องมีความน่าสนใจ เพราะไม่อยากให้การเรียนประวัติศาสตร์เรียนไปเพื่อท่องจำและนำไปสอบเท่านั้น แต่อยากให้เด็กได้คิดวิเคราะห์เป็นระบบจากการเรียนวิชานี้ด้วย”

(ที่มา : https://www.thaipost.net/main/detail/115399)