สุจิตต์ วงษ์เทศ : ‘หินตั้ง’ ในผี ‘เสมาหิน’ ในพุทธ

 

‘หินตั้ง’ ในผี

‘เสมาหิน’ ในพุทธ

 

เสมาหินเป็นแท่งหินปักบอกเขตศักดิ์สิทธิ์ในศาสนาพุทธ เมื่อราว 1,500 ปีมาแล้ว หรือหลัง พ.ศ. 1000 หลังจากนั้นมีพัฒนาการเป็นใบเสมาตราบจนทุกวันนี้

อินเดียและลังกาไม่พบเสมาหิน แต่พบเก่าสุดและมากสุดในอีสาน เรื่องนี้ อ.ศรีศักร วัลลิโภดม บุกเบิกสำรวจตรวจสอบทั่วอีสานมากกว่า 50 ปีมาแล้ว พบว่า “เสมาหิน” ในศาสนาพุทธมีต้นตอจาก “หินตั้ง” บอกพื้นที่เฮี้ยนและขลังในศาสนาผีสมัยดึกดำบรรพ์หลายพันปีมาแล้ว หลักฐานความสืบเนื่องที่สำคัญแห่งหนึ่งอยู่บนภูพระบาทบัวบก-บัวบาน อ.บ้านผือ จ.อุดรธานี (ปัจจุบันกรมศิลปากรเรียกอุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท)

ภูพระบาทเมื่อมากกว่า 10 ปีมาแล้ว กรมศิลปากรเคยส่งชื่อเสนอขึ้นทะเบียนมรดกโลก แต่มีปัญหาในคำอธิบายต้องขอเรื่องคืนมาปรับปรุงแก้ไขใหม่ เพราะระแคะระคายว่าจะไม่ผ่าน เนื่องจากคำอธิบายคับแคบอยู่ในกรอบคิดอนุรักษนิยมสุดโต่งทางประวัติศาสตร์ศิลปะ (แบบอาณานิคม) แล้วตัดทิ้งข้อมูลทางสังคมและวัฒนธรรมตามแนวทางมานุษยวิทยาสากล โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องหินตั้งมีลักษณะสากลในวัฒนธรรมหิน (Megalith culture)

ถ้ากรมศิลปากรไม่ยอมรับความจริงในเรื่องเหล่านี้ โดยพยายามหักหาญตามอำเภอใจด้วยอำนาจนิยมของกลุ่มอนุรักษนิยมสุดโต่งทางประวัติศาสตร์ศิลปะ (แบบอาณานิคม) ปัญหาก็ไม่จบ และต้องใช้งบลงทุนจ้างเหมาบริษัทเอกชนทำโครงการซ้ำแล้วซ้ำอีก แต่ไม่ผ่านมรดกโลกอีกนั่นแหละ

โลกไม่เหมือนเดิม รัฐราชการอำนาจนิยมรวมศูนย์รับมือไม่ทันความเปลี่ยนแปลง เพราะยอมจำนนในกรอบคิดอนุรักษนิยมสุดโต่งทางประวัติศาสตร์ศิลปะ (แบบอาณานิคม)

 

“อุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท” หนังสือนำชมของกรมศิลปากร พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ.2535

 

หินตั้งในวัฒนธรรมหิน

คนในวิถีกสิกรรมทํานาทําไร่แบบพึ่งพาธรรมชาติสมัยเริ่มแรก ซึ่งล้าหลังทางเทคโนโลยี ต้องมีพิธีกรรมเป็นคําบอกเล่าวิงวอนร้องขอต่อผีฟ้า (คือ อํานาจเหนือธรรมชาติ) เพื่อความอยู่รอดสําคัญอย่างยิ่ง 2 เรื่อง ได้แก่

(1.) ขอความคุ้มครองป้องกันจากผีร้ายในชีวิตประจําวัน ซึ่งเกี่ยวข้องกับโรคภัยไข้เจ็บและตาย กับ (2.) ขอความอุดมสมบูรณ์ในพืชพันธุ์ว่านยาข้าวปลาอาหาร ซึ่งเกี่ยวข้องกับการทำมาหากินทํานาทําไร่

เนื้อหาคําบอกเล่าสมัยเริ่มแรกไม่ยาว และได้รับความเชื่อถือร่วมกันอย่างแข็งแรงว่าเฮี้ยนขลัง และเป็นจริงทั้งหมดซึ่งใครจะละเมิดมิได้ โดยมีโครงสร้างหลักประกอบด้วย (1.) กําเนิดโลก (2.) กําเนิดมนุษย์ (3.) ความเป็นมาของชาติพันธุ์ (4.) คําวิงวอนร้องขอเรื่องต่างๆ ตามต้องการ

หินตั้งในศาสนาผี ถูกทำเป็นเสมาหินในศาสนาพุทธ ซึ่งไม่พบในอินเดีย-ลังกา แต่พบในอีสานราว 1,500 ปีมาแล้ว หรือเมื่อเรือน พ.ศ. 1000 (บน) หินตั้งรอบหลุมฝังศพ บนเนินเขาแขวงซำเหนือ ในลาว (ล่าง) หินตั้งสลับเสมาหินปักล้อมรอบเขตศักดิ์สิทธิ์บนภูพระบาท อ.บ้านผือ จ.อุดรธานี

คําบอกเล่ามีพลังผนึกความเป็นปึกแผ่นของเผ่าพันธุ์ (หรือชาติพันธุ์) ดังนั้น ชุมชนสมัยเริ่มแรกมีพิธีกรรมตามคําบอกเล่าเหล่านั้น พบหลักฐานหลากหลายเหลือเป็นซากสิ่งต่างๆ ได้แก่ ไม้, โลหะ, หิน เป็นต้น แต่ที่สําคัญและพบกว้างขวาง คือหินรูปร่างหลากหลายลักษณะและขนาดต่างๆ เช่น แผ่นผา, แท่ง, ก้อน, สะเก็ด ฯลฯ ทางวิชาการสากลเรียกวัฒนธรรมหิน (Megalith culture) เรียกง่ายๆ เป็นที่รับรู้ทั่วไปว่า “หินตั้ง” หินจึงมีคําบอกเล่าสมัยเริ่มแรกเป็นเรื่องราวมหัศจรรย์พันลึก แต่อาจถอดรหัสคลาดเคลื่อนจึงไม่ถือเป็นยุติ

ในหินมีคําบอกเล่าเป็นพิธีกรรมสืบเนื่องจากความเชื่อเรื่องขวัญ ว่า ขวัญเคลื่อนไหวออกจากร่างจริงแล้วไปสิงสู่อาศัยในวัสดุต่างๆ ก็ได้ ไม่ว่าท่อนไม้, กองดิน, ก้อนหิน ฯลฯ โดยสมมุติเรียกสิ่งนั้นว่าร่างเสมือน ดังนั้น บรรดาขวัญของคน, สัตว์, พืช, สิ่งของเครื่องมือเครื่องใช้, อาคารสถานที่ ไปสิงสู่อาศัยร่างเสมือนได้ทั้งนั้น และร่างเสมือน ที่สําคัญอย่างยิ่งคือหิน

ร่างเสมือนเป็นคําผูกใหม่โดยถอดความหมายจากคํานิยามของนายควอริตช์ เวลส์ (นักปราชญ์ชาวอังกฤษ ผู้เคยมารับราชการเป็นที่ปรึกษาในราชสํานักสยาม ยุค ร.6 และ ร.7 และบุกเบิกการศึกษาค้นคว้าเรื่องพิธีกรรมดึกดําบรรพ์ในโลก รวมถึงพระราชพิธีต่างๆ ของสยาม) เขียนว่า “The substitute body of the dead chief” อยู่ในหนังสือ Prehistory and Religion in South-East Asia ของ H.G. Quaritch Wales, (London : Bernard Quaritch) 1957, 35. ส่วนข้อมูลเกี่ยวกับงานวิชาการของนายควอริตช์ เวลส์ ได้จากบทความวิชาการภาษาไทย เรื่อง “หินตั้ง, หินใหญ่ และความตายในศาสนาผี กับพระนอน และพุทธประวัติตอนปรินิพพาน” ของ ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ กรกฎาคม 2564 (ไม่มีเลขหน้า)

 

หินตั้งในศาสนาผี ถูกทำเป็นเสมาหินในศาสนาพุทธ ซึ่งไม่พบในอินเดีย-ลังกา แต่พบในอีสานราว 1,500 ปีมาแล้ว หรือเมื่อเรือน พ.ศ. 1000 (บน) หินตั้งรอบหลุมฝังศพ บนเนินเขาแขวงซำเหนือ ในลาว (ล่าง) หินตั้งสลับเสมาหินปักล้อมรอบเขตศักดิ์สิทธิ์บนภูพระบาท อ.บ้านผือ จ.อุดรธานี

 

หินถูกสมมุติเป็นร่างเสมือนของหลายสิ่งหลายอย่างซึ่งพบไม่น้อยในคําบอกเล่าท้องถิ่นต่างๆ ทั่วประเทศและต่อเนื่องถึงเพื่อนบ้านซึ่งเกินวิสัยที่จะรวบรวมได้หมด แต่ที่รู้จักกว้างขวางขณะนี้ได้แก่คําบอกเล่าท้องถิ่น แสดงความสัมพันธ์ทางสังคม-วัฒนธรรมและการค้า-การเมือง บนเส้นทางการค้าทางทะเลเลียบชายฝั่งระหว่างจีนกับบ้านน้อยเมืองใหญ่รอบอ่าวไทย ซึ่งมีหลายสํานวนแตกต่างในรายละเอียดตามปากคําท้องถิ่นนั้นๆ ตัวอย่างที่พบลายลักษณ์อักษรมีเรื่องตาบ้องไล่ ยายรําพึง (อยู่ในหนังสือ นิราศตังเกี๋ย ของ หลวงนรเนติบัญชากิจ (นายแวว) แต่ง พ.ศ. 2430 คุรุสภาพิมพ์ครั้งแรก พ.ศ. 2504 หน้า 9-11) อีกฉบับหนึ่งเรื่องท้าวม่องไล่, เจ้ากงจีน และเจ้าลาย (มีผู้จดเป็นลายลักษณ์อักษรแล้วพิมพ์ไว้ในหนังสือ สมุดราชบุรี พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ. 2468 หน้า 55-63)

หินตั้งหรือวัฒนธรรมหินเป็นวัตถุทางความเชื่อในศาสนาผีเพื่อแสดงพื้นที่เฮี้ยนและขลังอย่างยิ่ง ขณะเดียวกันก็เป็นร่างเสมือนมีขวัญสิงสู่ ครั้นหลังรับศาสนาพุทธจากอินเดียจึงถูกปรับเปลี่ยนเป็นเสมาบอกเขตศักดิ์สิทธิ์ แล้วสลักภาพเล่าเรื่องเป็นร่างเสมือน