ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 3 - 9 กันยายน 2564 |
---|---|
คอลัมน์ | สุจิตต์ วงษ์เทศ |
เผยแพร่ |
โลกหลังความตายในศาสนาผี
ถูกอธิบายด้วยพราหมณ์-พุทธ
ก่อนการเข้ามาของศาสนาพราหมณ์-พุทธจากอินเดีย โลกหลังความตายในอุษาคเนย์เป็นเรื่องทางศาสนาผี แต่หน่วยงานโบราณคดีทางการของกระทรวงวัฒนธรรม อธิบายโลกหลังความตายตามความเชื่อแบบพราหมณ์-พุทธ จึงชวนสงสัยว่าคำอธิบายนั้นเชื่อได้ขนาดไหน?
การค้าโลกทางทะเลสมุทรดึงดูดศาสนาพราหมณ์-ฮินดู กับศาสนาพุทธ เผยแผ่จากอินเดียถึงอุษาคเนย์และไทย ส่วนก่อนหน้านั้นไทยและอุษาคเนย์นับถือศาสนาผี ดังนั้น พิธีกรรมหลังความตายย่อมเป็นไปตามความเชื่อทางศาสนาผี (ซึ่งไม่มีและไม่เกี่ยวกับความเชื่อของพราหมณ์-ฮินดู, พุทธ)
ความเชื่อทางศาสนาผีไม่มีเวียนว่ายตายเกิด, ไม่มีโลกหน้า, ไม่มีเทวดานางฟ้า, ไม่มีสวรรค์นรก, ไม่มีวิญญาณ, ไม่มีเผาศพ (ตามความหมายของพราหมณ์, พุทธ) ฯลฯ
หลักฐานโบราณคดีจากหลุมศพขุดพบในไทยที่มีอายุเก่าแก่ก่อนการเข้ามาของศาสนาพราหมณ์-พุทธ ต้องอธิบายความหมายตามความเชื่อในศาสนาผี เพราะชุมชนครั้งนั้นยังไม่ติดต่ออินเดีย จึงยังไม่มีความเชื่อแบบพราหมณ์-พุทธ

โบราณคดีสมัยใหม่แบบตะวันตก
การศึกษาทางโบราณคดีด้วยวิชาการสมัยใหม่ตามแบบตะวันตก ช่วงบุกเบิกเมื่อเรือน พ.ศ. 2500 การแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารยังถูกจำกัดมากๆ ด้วยเงื่อนไขสารพัด เช่น
หอสมุดแห่งชาติ (ตึกแดง หน้าวัดมหาธาตุ ยังไม่มีอาคารใหม่ท่าวาสุกรี) และห้องสมุดมหาวิทยาลัยที่มีการเรียนการสอนทางโบราณคดีขาดหนังสือทางมานุษยวิทยาสากล, เครื่องถ่ายสำเนาไม่มีบริการสาธารณะ ที่มีใช้เฉพาะหน่วยงานทางการขนาดใหญ่, โทรศัพท์บ้านมีไม่มาก เพราะราคาแพงมาก ที่มีเฉพาะผู้มีฐานะดี, โทรศัพท์มือถือยังไม่มี จึงไม่มีอินเตอร์เน็ต และไม่มีโซเชียล ฯลฯ
หลักฐานโบราณคดีที่ขุดได้จากหลุมศพ แม้จะรู้ว่าคนสมัยก่อนประวัติศาสตร์นับถือผี แต่คำอธิบายทั้งหมด (โดยรู้ตัวหรือไม่ก็ตาม) อิงความเชื่อศาสนาพราหมณ์-พุทธ
นักโบราณคดีต่อๆ มาหลังจากนั้นยึดถือคำอธิบายชุดเดียวของช่วงบุกเบิกเป็นยุติ กล่าวคือคนสมัยก่อนนับถือผี แต่การพรรณนาอิงศาสนาพราหมณ์-พุทธอย่างใกล้ชิด (โดยไม่เกี่ยวข้องกับศาสนาผี)
ศาสนาผีตามความหมายทางมานุษยวิทยาสากลถูกมองข้ามอย่างสิ้นเชิง เพราะการศึกษาโบราณคดีในไทย “อคติ” อย่างยิ่งต่อความรู้ทางมานุษยวิทยาสากล
ดังนี้ คำอธิบายหลักฐานโบราณคดีจากหลุมศพขุดพบในไทย สมัยก่อนพราหมณ์-พุทธ (หรือสมัยก่อนประวัติศาสตร์) ย่อมห่างไกลจากความจริง (อาจนับเป็น “เฟกนิวส์”) เช่น ใช้ความเคยชินในพราหมณ์-พุทธอธิบายแหล่งวัฒนธรรมบ้านเชียง (จ.อุดรธานี), แหล่งวัฒนธรรมบ้านเก่า (จ.กาญจนบุรี) เป็นต้น
ขวัญในศาสนาผี
ศาสนาผีมีความเชื่อเรื่องขวัญซึ่งเกี่ยวข้องโดยตรงกับสิ่งที่นักโบราณคดีเรียก “พิธีศพครั้งที่สอง” ขวัญคือส่วนที่ไม่มีรูปร่าง จับต้องไม่ได้ มองไม่เห็น แต่เคลื่อนไหวได้ ลักษณะเป็นหน่วย มีหลายหน่วย แต่ละหน่วยสิงสู่อยู่กระจายตามส่วนต่างๆ ของคน, สัตว์, พืช, สิ่งของ, เครื่องมือเครื่องใช้, อาคารสถานที่ เป็นต้น เชื่อว่าคนตายเพราะขวัญหายไม่อยู่กับเนื้อกับตัว หรือไม่อยู่กับมิ่งคือร่างกายอวัยวะของคน หรือกล่าวอีกอย่างหนึ่งว่าคนตาย ส่วนขวัญไม่ตาย แต่ขวัญหายไปไหนไม่รู้? ถ้าเรียกขวัญคืนร่างได้คนก็ฟื้น
ขวัญเคลื่อนไหวออกจากร่างจริง แล้วไปสิงสู่อาศัยในวัสดุต่างๆ แทนร่างจริงก็ได้ เช่น ท่อนไม้, กองดิน, ก้อนหิน ฯลฯ โดยสมมุติเรียกสิ่งนั้นว่าร่างเสมือน ดังนั้น ขวัญของคน, สัตว์, พืช, สิ่งของ, เครื่องมือเครื่องใช้, อาคารสถานที่ ย่อมสิงอาศัยร่างเสมือนได้ทั้งนั้น และร่างเสมือนที่สำคัญคือ หิน

วิญญาณ หรือขวัญ
วิญญาณเป็นความเชื่อแบบพราหมณ์-พุทธ ซึ่งมีคำสอนแพร่หลายทั่วไปโดยรวมๆ ว่าวิญญาณคนมีดวงเดียว เมื่อคนตายวิญญาณไปเกิดใหม่ (หรือชดใช้กรรมแล้วไปเกิดใหม่) ร่างกายของคนตายเอาไปเผาไฟเป็นเถ้าถ่านแล้วโยนทิ้งไป ถ้าเป็นตามนี้ไม่มีวิญญาณเหลือเมื่อคนตาย และไม่มี “พิธีศพครั้งที่สอง”
แต่ในศาสนาผีมีความเชื่อเรื่องขวัญ (ไม่ใช่วิญญาณ) คนตายเป็นผี เพราะขวัญหายจากร่างไปที่อื่น จึงต้องฝังคนตายรอขวัญคืนร่าง แล้วสร้าง “เฮือนแฮ้ว” คร่อมหลุมฝังศพไว้เป็นที่สิงสู่ของผีเพื่อรอขวัญ พิธีกรรมตอนนี้เองที่นักโบราณคดีเรียก “พิธีศพครั้งที่สอง”
ทางเลือก
1. หลีกเลี่ยงหรือเลิกใช้คำอธิบายหลักฐานสมัยก่อนพราหมณ์-พุทธ ด้วยภาษาศาสนาพราหมณ์-พุทธ
2. เร่งรัดแลกเปลี่ยนเรียนรู้แล้วศึกษาวิจัยเกี่ยวกับศาสนาผีและความเชื่อเรื่องขวัญ
3. ทบทวนตรวจสอบคำอธิบายเก่า แล้วแก้ไขใหม่
ประวัติศาสตร์ไทยถูกรัฐราชการรวมศูนย์เสกสรรปั้นแต่งตามอำเภอใจมานานนับร้อยปีแล้ว นักโบราณคดีรุ่นใหม่ไม่ควรสนับสนุนให้สิ่งนั้นเรืองอำนาจต่อไป