สุจิตต์ วงษ์เทศ : หินในหลุมศพ ‘ร่างเสมือน’ หลังความตาย

หินในหลุมศพ "ร่างเสมือน" หลังความตายได้หรือไม่? ยังไม่ยุติตรงนี้ (ซ้าย-ขวา) ร่องรอยผิดวิสัย กองกรวด คาดว่าจะเป็นหลุมเสาบ้าน (ล่าง) หลุมขุดค้น TP2 แล้วเสร็จ (ภาพและคำอธิบายจากรายงานเบื้องต้นการขุดค้นแหล่งโบราณคดีบ้านสำราญชัย ต.หนองยายโต๊ะ อ.ชัยบาดาล จ.ลพบุรี โดยสำนักศิลปากรที่ 4 กรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม เมื่อ พ.ศ.2564)

 

หินในหลุมศพ

‘ร่างเสมือน’ หลังความตาย

 

หินมีคำบอกเล่าเรื่องราวเก่าแก่ดึกดำบรรพ์อย่างมหัศจรรย์พันลึก หรือกล่าวอีกอย่างได้ว่าภาษาและวรรณกรรมคำบอกเล่าเก่าแก่ดึกดำบรรพ์ อาจสืบค้นถอดรหัสได้จากหิน

หินขนาดต่างๆ ทั้งเป็นก้อน, แท่ง, สะเก็ด ฯลฯ ถูกสมมุติเป็น “ร่างเสมือน” ของหลายสิ่งหลายอย่างในโลกที่คนต้องการสมมุติให้เป็นอย่างนั้นอย่างนี้อย่างโน้น ทั้งนี้ ตามความเชื่อเรื่องขวัญในศาสนาผีซึ่งเป็นที่รับรู้ทางสากลเรียกรวมๆ ว่า “วัฒนธรรมหิน” (Megalith culture) แต่เรียกอย่างย่อว่า “หินตั้ง”

ขวัญหมายถึงส่วนที่ไม่มีรูปร่าง จับต้องไม่ได้ มองไม่เห็น แต่เคลื่อนไหวได้ ลักษณะเป็นหน่วย มีหลายหน่วย แต่ละหน่วยสิงสู่อยู่กระจายตามส่วนต่างๆ ของคน, สัตว์, พืช, สิ่งของเครื่องมือเครื่องใช้, อาคารสถานที่ เป็นต้น

คนตาย เพราะขวัญหายไม่อยู่กับเนื้อกับตัว หรือไม่อยู่กับมิ่งคือร่างกายอวัยวะของคน หรือกล่าวอีกอย่างว่าคนตาย ส่วนขวัญไม่ตาย แต่หายไปไหนไม่รู้? ถ้าเรียกขวัญคืนร่างได้ คนก็ฟื้นคืนปกติ ดังนั้น ขวัญเคลื่อนไหวออกจากร่างจริงแล้วไปสิงสู่อาศัยในวัสดุต่างๆ ก็ได้ ไม่ว่าท่อนไม้, กองดิน, ก้อนหิน ฯลฯ โดยสมมุติเรียกสิ่งนั้นว่า “ร่างเสมือน” ดังนั้น บรรดาขวัญของคน, สัตว์, พืช, สิ่งของเครื่องมือเครื่องใช้, อาคารสถานที่ ไปสิงสู่อาศัย “ร่างเสมือน” ได้ทั้งนั้น และ “ร่างเสมือน” ที่สำคัญอย่างยิ่งคือหิน

[“ร่างเสมือน” เป็นคำผูกใหม่โดยถอดความหมายจากคำนิยามของนายควอริตช์ เวลส์ (นักปราชญ์ชาวอังกฤษ ผู้เคยมารับราชการเป็นที่ปรึกษาในราชสำนักสยาม ยุค ร.6 และ ร.7 และบุกเบิกการศึกษาค้นคว้าเรื่องพิธีกรรมดึกดำบรรพ์ในโลก รวมถึงพระราชพิธีต่างๆ ของสยาม) เขียนว่า “The substitute body of the dead chief” อยู่ในหนังสือ Prehistory and Religion in South-East Asia ของ H.G. Quaritch Wales, (London : Bernard Quaritch) 1957, 35. ส่วนข้อมูลเกี่ยวกับงานวิชาการของนายควอริตช์ เวลส์ ได้จากบทความวิชาการภาษาไทย เรื่อง “หินตั้ง, หินใหญ่ และความตายในศาสนาผี กับพระนอน และพุทธประวัติตอนปรินิพพาน” ของศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ กรกฎาคม 2564 (ไม่มีเลขหน้า) (กำลังพิมพ์ในเล่ม)]

หินถูกสมมุติเป็น “ร่างเสมือน” ของหลายสิ่งหลายอย่างซึ่งพบไม่น้อยในคำบอกเล่าท้องถิ่นต่างๆ ทั่วประเทศและต่อเนื่องถึงเพื่อนบ้านซึ่งเกินวิสัยที่จะรวบรวมได้หมด แต่ที่รู้จักกว้างขวางขณะนี้ได้แก่คำบอกเล่าท้องถิ่นรอบอ่าวไทย แสดงความสัมพันธ์ทางสังคม-วัฒนธรรมและการค้า-การเมือง บนเส้นทางการค้าทางทะเลเลียบชายฝั่งระหว่างจีนกับบ้านน้อยเมืองใหญ่รอบอ่าวไทย ซึ่งมีหลายสำนวนแตกต่างในรายละเอียดตามปากคำท้องถิ่นนั้นๆ

ตัวอย่างที่พบลายลักษณ์อักษรมีเรื่องตาบ้องไล่ ยายรำพึง (อยู่ในหนังสือ นิราศตังเกี๋ย ของ หลวงนรเนติบัญชากิจ (นายแวว) แต่ง พ.ศ.2430 คุรุสภาพิมพ์ครั้งแรก พ.ศ.2504 หน้า 9-11) อีกฉบับหนึ่งเรื่องท้าวม่องไล่, เจ้ากงจีน และเจ้าลาย (มีผู้จดเป็นลายลักษณ์อักษรแล้วพิมพ์ไว้ในหนังสือ สมุดราชบุรี พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ.2468 หน้า 55-63)

สรุปเนื้อเรื่องมีว่าตาบ้องไล่มีเมียชื่อยายรำพึง มีลูกสาวคนเดียวชื่อนางยมโดย ต่อมามีชายติดพันขอแต่งงาน ได้แก่ เจ้าลายเป็นคนท้องถิ่นและเจ้ากงจีนเป็นโอรสจักรพรรดิจีน จึงเกิดเหตุสับสนอลหม่านขัดแย้งรุนแรงทำให้พิธียกขันหมากแต่งงานเป็นการสู้รบล่มจม นานเข้าสิ่งต่างๆ เกี่ยวข้องกลายเป็นหิน ได้แก่

(1.) นางยมโดยถูกตาบ้องไล่จับสองขาฉีกร่างเป็น 2 ซีกโยนไปกลางทะเล แล้วกลายเป็นเกาะนมสาว (จ.จันทบุรี, จ.ประจวบคีรีขันธ์)

(2.) ท้าวม่องไล่ตายไปเหลือซากเป็นเขาตาม่องไล่ (จ.ประจวบคีรีขันธ์)

(3.) แม่รำพึงตายไปกลายเป็นหาดแม่รำพึง (จ.ระยอง)

(4.) เครื่องขันหมากเจ้ากงจีนถูกทิ้งกระจัดกระจายกลายเป็นเขาสามร้อยยอด (จ.ประจวบคีรีขันธ์)

(5.) เจ้าลายตายไปกลายเป็นหินชื่อเขาเจ้าลาย (ปัจจุบันบางทีเรียกเขานางพันธุรัต อ.ชะอำ จ.เพชรบุรี) [สิ่งของเครื่องมือเครื่องใช้กลายเป็นหินยังมีมากกว่านี้ แต่สรุปมาเป็นพยานเพียงเท่านี้]

 

“หินกอง” ในหลุมศพ

หินเป็นก้อนกับหินเป็นกองถูกให้ความสำคัญอย่างยิ่งยวดว่าเฮี้ยนและขลังโดยเฉพาะเมื่อหินถูกสมมุติเป็น “ร่างเสมือน” อันเป็นที่สิงสู่ขวัญของบุคคลสำคัญ ดังพบพิธีกรรมต่อเนื่องจากสมัยดั้งเดิมดึกดำบรรพ์นานมาแล้ว เมื่อมีคนตายในเรือนต้องมีพิธีสู่ขวัญคืนร่างนานหลายวันหลายคืนจนร่างคนตายเริ่มเปื่อยเน่า แต่ขวัญไม่คืนร่างนั้น ชาวบ้านร่วมกันห่อร่างด้วยเปลือกไม้แล้วหามไปวางไว้บนกองหินให้แร้งกากินจนเหลือโครงกระดูกเป็นซาก จากนั้นรวบรวมซากโครงกระดูกไปทำพิธีฝังตามประเพณีอยู่ใต้เฮือนแฮ้ว (ข้อมูลส่วนสำคัญได้จากหนังสือ สร้างบ้านแปงเมือง ของศรีศักร วัลลิโภดม สำนักพิมพ์มติชน พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ.2560 หน้า 82-83)

เมื่อคนตาย ส่วนขวัญไม่ตาย จึงเอาร่างของคนตายฝังดินเพื่อรอขวัญคืนร่างแล้วคนจะได้ฟื้นคืนปกติ แต่ในหลุมศพต่อมาขุดพบก้อนหินจำนวนหนึ่งฝังไว้ด้วย ซึ่งถูกจัดวางอย่างจงใจรอบร่างคนตายและตามจุดที่ต้องการ ทั้งนี้เป็นไปตามความเชื่อเรื่องขวัญในศาสนาผีว่าก้อนหินเหล่านั้นเป็น “ร่างเสมือน” ของบริวารบ่าวไพร่, สัตว์, พืช, อาคารสถานที่ ฯลฯ ของคนตายที่มีจริงในชีวิตประจำวัน แต่ไม่ได้เอาไปฝังรวมไว้

[คำว่า “หินกอง” อาจหมายถึงกองหินก็ได้ แต่ลึกไปกว่านั้นน่าจะเกี่ยวข้องกับ “ร่างเสมือน” ในพิธีกรรมอย่างใดอย่างหนึ่งซึ่งยังเข้าไม่ถึงความหมายแท้จริงนั้น]

 

ผีในพุทธ

หินเป็น “ร่างเสมือน” ของสิ่งสำคัญทางศาสนาผี ครั้นหลังรับศาสนาจากอินเดีย หินก็ยังเป็นสิ่งสำคัญในศาสนาพุทธ จึงถูกปรับใช้ในพิธีกรรมหลังความตาย

“หัสดีลิงค์” เป็นชื่อนกศักดิ์สิทธิ์ในพิธีกรรมหลังความตาย (ไม่มีตัวตนจริง) มีฤทธิ์บินเชิญขวัญขึ้นฟ้าหลังเผาศพเจ้านายคนชั้นนำ หรือนักบวชสำคัญในบ้านเมือง ครั้นเสร็จพิธีนกหัสดีลิงค์กลับเป็นหิน ต่อเมื่อต้องการเชิญขวัญขึ้นฟ้าอีกคราวต่อไป ต้องเชิญนกหัสดีลิงค์ใหม่ หินก้อนนั้นจะคืนกลับเป็นนกมีชีวิต

สถูปเจดีย์ครอบหิน พบในนิทานเรื่องขุนบรมฯ เล่าว่าหินเนินหนึ่งเป็นที่พระพุทธองค์เคยเสด็จเลียบโลกมาประทับนั่งแล้วทรงมีพุทธทำนายไว้ ต่อมาพระราชาทราบเรื่องในตำนาน จึงให้สถาปนาพระสถูปเจดีย์ครอบหินก้อนนั้น

 

กลายเป็นหิน

การกลายเป็นหินยังพบความทรงจำเป็นคำบอกเล่าเรื่องพระยาแกรก (บันทึกไว้ในพงศาวดารเหนือ แต่งในรัฐอยุธยา ราวเรือน พ.ศ.2000)

เศรษฐีมีทรัพย์สร้างวัดถวายพระพุทธองค์ แต่ไม่ทำบุญทำทานผู้ยากไร้ ต่อมาพระอินทร์เนรมิตปราสาทเวียงวังให้เศรษฐีครอบครองเป็นพระยาสุทัศน์ ส่วนพระพุทธเจ้าบิณฑบาตในเมืองพระยาสุทัศน์ มีวณิพกพิการถือกะลาขอทานในตลาด ได้ใส่บาตรถวายพระพุทธเจ้าด้วยมือเน่าๆ และนิ้วมือหลุดขาดลงในบาตร ครั้นถึงที่ฉันภัตตาหาร พระพุทธเจ้าก็ยกนิ้วนั้นออกเสีย แล้วฉันภัตตาหารนั้น จึงบอกพระอานนท์ว่าชายวณิพกผู้นี้ต่อไปจะได้เป็นพระยาในเมืองนี้

หลังพระยาสุทัศน์สิ้นพระชนม์ ปราสาทเวียงวังทั้งหลายก็หายสิ้นกลายเป็นหิน “อันตรธานเป็นศิลาทุกประการ”