สุจิตต์ วงษ์เทศ : หลังความตายต่างระดับ พิธีกรรมก็ต่างขนาด

ประเพณีศพตามความเชื่อ "ตายไปให้แร้งกาหมูหมาเป็ดไก่กิน" (ซ้าย) ศาลผีและศาลต่างๆ บริเวณ วงหินกองซึ่งเป็นสถานที่ทำพิธีกรรมหลังความตายของชาวบ้านที่ม่อนนะแฮ้ง บ้านสบสุก ต.แม่สุก อ.แจ้ห่ม จ.ลำปาง (ขวา) วงหินกองเคยเป็นแหล่งวางศพให้แร้งกากิน (ภาพจากหนังสือ "สร้างบ้านแปงเมือง" ของศรีศักร วัลลิโภดม สำนักพิมพ์มติชน พ.ศ.2560 หน้า 83)

 

หลังความตายต่างระดับ

พิธีกรรมก็ต่างขนาด

 

ชุมชนหลายพันปีมีคนต่างระดับ ได้แก่ ชนชั้นนำกับชนชั้นชาวบ้าน ดังนั้น พิธีกรรมหลังความตายมีต่างระดับด้วยต่างขนาด โดยดูหลักฐานจากหลุมฝังศพ

พิธีศพแบบดั้งเดิมราว 2,500 ปีมาแล้ว ทำตามความเชื่อในศาสนาผี ผมเขียนไว้ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับที่แล้ว (13 สิงหาคม 2564) สรุปว่าเพราะยังไม่ติดต่อรับคติทางศาสนาพรามณ์-ฮินดู และศาสนาพุทธจากอินเดีย จึงไม่มีเผาศพ, ไม่มีความเชื่ออย่างพราห์มณกับพุทธ, ไม่มีเวียนว่ายตายเกิด, ไม่มีโลกหน้า, ไม่มีสุคติภพ, ไม่มีสวรรค์นรก และที่สำคัญคือไม่มีวิญญาณ

ศาสนาผีมีความเชื่อเรื่องขวัญว่าคนตายขวัญไม่ตาย เหตุที่คนตายเพราะขวัญหายแล้วไม่กลับร่าง เนื่องจากขวัญหลงทางกลับร่างไม่ได้ ต้องมีพิธีสู่ขวัญเรียกขวัญ ถ้าขวัญคืนร่างคนก็ไม่ตาย ส่วนคนตายแล้วถูกเรียกว่าผี และขวัญของคนตายถูกเรียกผีขวัญซึ่งมีวิถีประจำวันปกติเหมือนเมื่อยังไม่ตาย เพียงแต่อยู่ต่างมิติซึ่งสัมผัสไม่ได้ มองไม่เห็น

[“ผี” หรือ “ผีขวัญ” จากความเชื่อเรื่องขวัญทางศาสนาผี คือผีที่คนปัจจุบันทั่วไปรู้จักและเข้าใจ เช่น ผีแม่นาคพระโขนง ฯลฯ (ไม่ใช่วิญญาณตามความเชื่อในพราหมณ์, พุทธ ที่คนตายแล้ววิญญาณไปจุติใหม่) เพราะผีขวัญไปมาหาสู่กับคนปัจจุบันได้โดยผ่านพิธีเข้าทรง ซึ่งเป็นไปตามข้อความในพงศาวดารล้านช้างว่า “ผีแลคนเที่ยวไปมาหากันบ่ขาด”]

พิธีกรรมหลังความตายมีต่างระดับด้วยต่างขนาดโดยดูหลักฐานจากหลุมฝังศพ ดังต่อไปนี้

 

1.ชนชั้นนำ พิธีกรรมหลังความตายสุดอลังการ

ได้แก่ หัวหน้าเผ่าพันธุ์ (Chiefdom) และเครือญาติซึ่งมีไม่น้อยและมีที่ฝังศพกำหนดไว้โดยเฉพาะ ได้แก่ ลานกลางบ้าน

งานศพดึกดำบรรพ์ตั้งแต่เริ่มพิธีสู่ขวัญแล้วตามด้วยพิธีฝังศพครั้งที่สอง ผมเขียนไว้ในมติชนสุดสัปดาห์ฉบับที่แล้วว่าน่าจะมีบนพื้นที่เดียวกันซึ่งสมมุติเรียกตามคำสมัยหลังว่า “ลานกลางบ้าน” ที่แต่ก่อนมีทุกหมู่บ้าน ส่วนสมัยดั้งเดิมหลายพันปีมาแล้วหลุมฝังศพพร้อมเฮือนแฮ้วมีแหล่งรวมอยู่ลานกลางบ้านซึ่งเป็นย่านกลางรวมความเฮี้ยนทั้งปวงของชุมชน ไม่ใช่สุสานใช้เฉพาะฝังศพเหมือนทุกวันนี้

ลานกลางบ้าน หมายถึงที่โล่งกว้างโดยไม่ต้องโล่งแจ้งเหมือนทุ่งราบก็ได้ จะเป็นที่โล่งมีต้นไม้เป็นหย่อมๆ ก็ได้ (คล้ายป่าชุมชนปัจจุบัน) ถือเป็นลานเฮี้ยนและขลังอยู่ท่ามกลางชุมชนหมู่บ้านตามธรรมชาติ โดยไม่แยกต่างหากจากชุมชน แต่เป็นพื้นที่เดียวกัน หรือเป็นส่วนหนึ่งของหมู่บ้าน (ทางอีสานกับทางเหนือเรียกข่วง) ถูกใช้เป็นศูนย์กลางพิธีกรรมตลอดปีของชุมชน ที่สำคัญคือพิธีเลี้ยงผีฟ้าผีแถน จึงเป็นที่สิงสู่และไปมาของปวงผีที่เชิญมาในพิธี เพราะมีหลุมฝังศพของบรรพชนที่เคยเป็นหัวหน้าเผ่าพันธุ์หลายชั่วคนพร้อมโคตรตระกูล ส่วนรอบๆ ลานกลางบ้านเป็นหมู่เรือนของหัวหน้าเผ่าพันธุ์และโคตรตระกูลเครือญาติ ถัดออกไปจึงเป็นเรือนของชาวบ้านบริวารบ่าวไพร่

หลุมฝังศพอยู่ใต้เฮือนแฮ้ว หมายถึงเรือนเสาสูงขนาดย่อส่วนเรือนจริง ใช้ปลูกคร่อมหลุมฝังศพ ด้วยเชื่อว่าผีขวัญได้ใช้งานเฮือนแฮ้ว เหมือนเรือนจริงเมื่อมีชีวิต (ชวนให้เชื่อว่าใต้ถุนเรือนที่นักโบราณคดีอ้างถึงนั้นแท้จริงเป็นใต้ถุน “เฮือนแฮ้ว” มีต้นเสาปลูกคร่อมหลุมฝังศพ ไม่ใช่เรือนจริงเป็นที่อยู่อาศัยของคนทั่วไป)

บริเวณที่ฝังศพพบเครื่องมือเครื่องใช้หลากหลายอาจแยกได้ 2 ประเภท ดังนี้ (1.) สิ่งของที่ใช้ฝังรวมกับศพซึ่งเป็นปกติที่รับรู้กันทั่วไป และ (2.) สิ่งของในชีวิตประจำวันของคนทั่วไปสมัยนั้นซึ่งมีลักษณะต่างจากที่พบในหลุมศพ ตรงนี้เกี่ยวข้องอย่างน้อย 2 ประเด็น ได้แก่ ประเด็นแรก ลานกลางบ้านเป็นแหล่งฝังศพบรรพชนซึ่งเคยเป็นหัวหน้าเผ่าพันธุ์และโคตรตระกูล จึงมีพิธีเลี้ยงผีสู่ขวัญกับส่งขวัญสม่ำเสมอตรงนี้ตรงนั้นตรงโน้น ประเด็นหลัง ลานกลางบ้านเป็นแหล่งรวมศูนย์พิธีกรรมของเผ่าพันธุ์ซึ่งคนหลายชุมชนที่เป็นเผ่าพันธุ์เดียวกันเข้าร่วมจำนวนมาก มีกิจกรรมทั้งปี และมีครั้งละนานๆ หลายวัน เช่น 10 วัน, 15 วัน, 20 วัน เป็นต้น ล้วนเป็นพิธีกรรมเพื่อขอความมั่นคงและความมั่งคั่งอุดมสมบูรณ์ในพืชพันธุ์ว่านยาข้าวปลาอาหาร (มีตัวอย่างสมัยหลังๆ ในกฎมณเฑียรบาลของรัฐอยุธยาตอนต้นๆ)

ในหลุมศพพบโครงกระดูกพร้อมเครื่องมือเครื่องใช้ฝังรวมกับศพ ส่วนเครื่องมือเครื่องใช้ที่พบเหล่านั้นทำจากวัสดุมีค่าด้วยเทคโนโลยีชั้นสูงและก้าวหน้าในสมัยนั้น ซึ่งชาวบ้านทั่วไปไม่มีและทำเองไม่ได้ เช่น เครื่องมือเครื่องใช้ทำจากสำริด, หินสีมีค่าจากแดนอื่น เป็นต้น สิ่งของเหล่านี้สำหรับคนตายที่เป็นผีขวัญได้ใช้สอยในโลกต่างมิติ

หลุมศพบางแห่งพบโครงกระดูกหมาทั้งตัวฝังรวมด้วย ทั้งนี้ เป็นไปตามความเชื่อว่าหมาเป็นสัตว์ศักดิ์สิทธิ์ใช้นำทางผีขวัญของหัวหน้าเผ่าพันธุ์ขึ้นฟ้าไปรวมพลังเป็นหนึ่งเดียวกับผีฟ้าคือแถน เพื่อปกป้องคุ้มครองคนทั้งหลายที่ยังไม่ตายอยู่ในชุมชน

 

2.ชนชั้นชาวบ้าน หลังความตายให้แร้งกาหมูหมาเป็ดไก่กิน

ได้แก่ คนทั่วไปในชุมชนอยู่ในอำนาจของชนชั้นนำ และอาศัยอยู่ในเรือนเครื่องผูกทำจากไม้ใผ่มุงใบไม้กระจัดกระจายเป็นหย่อมๆ

หลุมศพของชาวบ้านไม่พบหลักฐานการขุดค้นอย่างเป็นทางการ ส่วนรายงานของทางการเกี่ยวกับการขุดค้นหลุมศพในที่ต่างๆ เกือบทั่วประเทศล้วนพบหลักฐานโบราณคดีที่แสดงสถานภาพของชนชั้นนำมีพิธีกรรมหลังความตายสุดอลังการ ดังนั้น เพื่อความเข้าใจพิธีกรรมหลังความตายของชนชั้นชาวบ้านจำต้องพึ่งพาอาศัยนิยามและคำอธิบายทางมานุษยวิทยาเกี่ยวกับประเพณีพิธีกรรมซึ่งอยู่ในความทรงจำ แล้วทำสืบเนื่องถึงปัจจุบัน จึงน่าเชื่อว่าชาวบ้านทั่วไปขุดหลุมฝังศพไว้ตื้นๆ หรือทำได้แค่โกยดินกลบร่างคนตายที่ไม่มีโลงศพ เพราะไม่มีเครือญาติบริวารบ่าวไพร่และแม้จะมีเพื่อนบ้านก็ไม่มากและพลังไม่พอที่จะขุดหลุมลึก เมื่อนานไปบรรดาสัตว์ทั้งหลายในดงป่าของชุมชนก็มาขุดคุ้ยลากศพไปแทะกัดกินเป็นอาหาร ได้แก่ หมู หมา เป็ด ไก่ เป็นต้น

การจัดการศพของชาวบ้านทั่วไปยังพบเบาะแสอยู่ในคำพูดติดปากว่า “ตายไปให้แร้งกาหมูหมาเป็ดไก่กิน” หมายถึง เมื่อมีคนตายได้ทำพิธีเรียกขวัญ “งันเฮือนดี” ตามประเพณีชั่วเวลาหนึ่งจนศพเริ่มเน่าในเรือนก็เอาภาชนะธรรมชาติห่อหุ้มแล้วช่วยกันหามไปวางไว้กลางป่ากลางทุ่งเพื่อรอเป็นอาหารแร้งกาด้วยความเชื่อว่านกเหล่านั้นศักดิ์สิทธิ์มีฤทธิ์นำผีขวัญขึ้นฟ้าเป็นบริวารผีฟ้าที่ปกป้องคุ้มครองคนยังไม่ตายในชุมชน

ตามที่ชาวบ้านเชื่อว่า “ตายไปให้แร้งกาหมูหมาเป็ดไก่กิน” ผมมีประสบการณ์ตรงราว 70 ปีมาแล้ว ตั้งแต่ก่อน พ.ศ.2500 เมื่อเรียนชั้นประถมในโรงเรียนวัด 2 วัด ต้องเดินผ่านป่าช้า 2 แห่ง เห็นพิธีฝังศพตามยถากรรม แต่บางทีทิ้งศพในป่าช้าให้หมูหมาเป็ดไก่จากหมู่บ้านที่ชาวบ้านเลี้ยงไว้ใต้ถุนตามมีตามเกิดพากันไปคุ้ยเขี่ยจิกกินซากศพเป็นอาหาร บางทีมีแร้งกามารุมด้วย

ประเพณี “ตายไปให้แร้งกากิน” พบหลักฐานว่าชาวบ้านสมัยดั้งเดิมเอาศพที่กำลังเน่าไปวางบน “วงหินกอง” ให้แร้งกากินจนเหลือแต่ซากเป็นโครงกระดูก แล้วเอาโครงกระดูกนั้นไปทำพิธีฝัง ในที่นี้ “วงหินกอง” คือกองหินซึ่งขนจากแหล่งอื่นมาวางเรียงซ้อนเป็นรูปวงกลมสูงประมาณ 1 เมตร เส้นผ่านศูนย์กลางราว 2 เมตร ชาวบ้านเรียก “ม่อนนะแฮ้ง” (ม่อน แปลว่า เนิน, แฮ้ง คือ แร้ง) พบอยู่ที่ม่อนนะแฮ้ง บ้านสบสุก ต.แม่สุก อ.แจ้ห่ม จ.ลำปาง (ข้อมูลจากหนังสือ สร้างบ้านแปงเมือง ของศรีศักร วัลลิโภดม สำนักพิมพ์มติชน พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ.2560 หน้า 82-83)

กองหินที่เรียก “วงหินกอง” จัดอยู่ในวัฒนธรรมหินที่เรียกหินตั้ง หรือ Megalith ราว 2,500 ปีมาแล้ว พบทั่วไปในอุษาคเนย์ทั้งหมู่เกาะและแผ่นดินใหญ่ “สุวรรณภูมิ” มีหลากหลายขนาดและรูปแบบ ส่วนขนาดใหญ่มากรู้จักทั่วไปคือไหหิน (ซึ่งเป็นพิธีกรรมหลังความตายของชนชั้นนำ) ที่ทุ่งไหหิน แขวงเชียงขวาง ในลาว

หินเป็นก้อนกับหินเป็นกองถูกให้ความสำคัญอย่างยิ่งยวดว่าเฮี้ยนและขลัง โดยเฉพาะเมื่อหินถูกสมมุติเป็นมิ่งคือร่างเสมือนอันเป็นที่สิงสู่ขวัญของบุคคลสำคัญ เมื่อหลังรับศาสนาจากอินเดีย หินถูกยกย่องใช้งานศักดิ์สิทธิ์ ได้แก่ (1.) ทำเป็นแท่งเสมาบอกเขตศักดิ์สิทธิ์ และ (2.) แกะสลักเป็นเทวรูปหรือพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ เป็นต้น