สุจิตต์ วงษ์เทศ : งานศพมีสวดอภิธรรม กำจัดสวดพระมาลัย

พระสงฆ์สวดอภิธรรมที่บ้านงานศพสมัยก่อน คนฟังพระสวดแต่งตัวสีสันตามสะดวก (จิตรกรรมเชื่อกันว่าฝีมือขรัวอินโข่ง สมัย ร.4 ในโบสถ์วัดมหาสมณาราม เขาวัง อ.เมือง จ.เพชรบุรี ภาพนี้และภาพอื่นๆ ต่อไป โดยรุ่งโรจน์ ภิรมย์อนุกูล คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง)

 

งานศพมีสวดอภิธรรม

กำจัดสวดพระมาลัย

 

งานศพตามประเพณีที่ทางการของรัฐราชการวมศูนย์ทุกวันนี้กำหนดแบบแผนโดยอ้างความเป็นไทย ไม่เป็นไปตามหลักฐานวิชาการทางประวัติศาสตร์โบราณคดีและมานุษยวิทยา รวมทั้งไม่สอดคล้องกับสภาพที่คนส่วนมากลำบากยากเข็ญสิ้นไร้ไม้ตอกบ้านแตกสาแหรกขาดจากโรคระบาดรุนแรงเหมือนมุ่งล้างโลกที่ยังกำหนดไม่ได้ว่าจะสร่างซาหยุดเมื่อไร

เพราะงานศพตามประเพณีไทยต้องใช้เวลานานหลายวันและต้องใช้ทุนทรัพย์สูงถึงสูงมาก แม้จะมีการลดขั้นตอนเพื่อประหยัดที่สุดตามสถานการณ์โรคระบาด แต่ความรู้สึกอนุรักษนิยมยังครอบงำวุ่นวายใจเกรงเดือดร้อนในภายหลังเพราะทำไม่ครบ “ความเป็นไทย” ตามประเพณีที่กำหนดโดยทางการ

ดังนั้น ทางการไทยที่เกี่ยวข้องประวัติความเป็นมาของประเพณีพิธีกรรมโดยเฉพาะงานศพ ซึ่งมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อระบบความเชื่อของคน ควรเร่งรัดอย่างถี่ๆ ในการประโคมแบ่งปันและเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารให้ตรงตามหลักฐานวิชาการทุกด้าน เพื่อความเข้าใจของสาธารณชนใช้ประกอบการตัดสินใจทำงานศพอย่างไม่รุ่มร่ามและไม่ฟุ่มเฟือย

 

สวดอภิธรรม

สวดอภิธรรมหลายวันในงานศพ เป็นพิธีกรรม “เพิ่งสร้าง” ขึ้นใหม่เมื่อต้นกรุงรัตนโกสินทร์ แผ่นดิน ร.1 แต่งานศพในอินเดีย (ซึ่งเป็นต้นแบบพิธีเผาศพในไทย) ไม่มีพระสงฆ์สวดอภิธรรมเพราะไม่มีพุทธบัญญัติ หรือไม่มีข้อกำหนดในศาสนาพุทธ

ประเพณีในอินเดียไม่มีสวดอภิธรรมงานศพ “เมื่อมีผู้วายชนม์ก็จะห่อหุ้มศพด้วยผ้าประดับดอกไม้วางบนแคร่ และนำไปประชุมเพลิงทันที” (จากบทความเรื่อง “พิธีเกี่ยวกับความตายในศาสนาพราหมณ์-ฮินดู” โดย คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง ใน มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับประจำวันที่ 21-27 ตุลาคม 2559 หน้า 81)

ดังนั้น ที่เชื่อกันว่าการสวดอภิธรรมเพื่อส่งวิญญาณของผู้ตายไปสู่สุคติบนสรวงสวรรค์ ก็ไม่จริง เพราะไม่พบคำอธิบายในพระไตรปิฎก ทั้งหมดเป็นสิ่งเสกสรรปั้นแต่งขึ้นใหม่ใช้สนับสนุนพิธีสวดอภิธรรมที่ “เพิ่งสร้าง” ให้ดูขลังและศักดิ์สิทธิ์ขึ้นเท่านั้น ถ้าไม่พร้อมมีสวดอภิธรรมก็ไม่ต้องมี

 

สวดอภิธรรมมาจากไหน?

“งันเฮือนดี” สมัยดั้งเดิมดึกดำบรรพ์ ได้พัฒนาเป็นการละเล่นลำสวดของชาวบ้าน เรียกสมัยหลังว่าสวดคฤหัสถ์ ต่อมาพระสงฆ์เลียนแบบลำสวดของชาวบ้านในงานศพเลยถูกห้าม แล้วเปลี่ยนเป็นสวดอภิธรรม

หลักฐานชี้ชัดว่าสวดอภิธรรมถูกสร้างขึ้นใหม่เมื่อต้นกรุงรัตนโกสินทร์ เพื่อกำจัดลำสวดเรื่องพระมาลัยในงานศพสมัยอยุธยาที่เลียนแบบการละเล่นขับลำของชาวบ้านใน “งันเฮือนดี” มีถ้อยคำสมสู่เสพสังวาสผาดโผนโจ๋งครึ่มเพื่อขอความอุดมสมบูรณ์ในพืชพันธุ์ธัญญาหาร (ถ้อยคำเชิงสมสู่เสพสังวาสสมัยดั้งเดิมเป็นถ้อยคำธรรมดาสามัญที่ใช้ในชีวิตประจำวัน ไม่ถือเป็นคำหยาบลามก แต่คำเหล่านี้ถูกเหยียดสมัยหลังโดยพวกผู้ดี) ดังนี้

1. ก่อนรับประเพณีเผาศพจากอินเดีย งานศพดั้งเดิมของอุษาคเนย์ (และไทยรับมา) เมื่อหลายพันปีมาแล้ว มีหมอขวัญกับหมอแคน (ซึ่งเป็นหญิงทั้งคู่) ทำพิธีเรียกขวัญคืนร่างคนตายในงานศพ ตามความเชื่อทางศาสนาผีเรื่องคนตายแต่ขวัญไม่ตาย แล้วมีขับลำเล่านิทานเรียก “งันเฮือนดี”

2. หลังรับศาสนาและรับประเพณีเผาศพจากอินเดียเมื่อสมัยแรกๆ ไม่มีสวดอภิธรรม ต่อมางานศพสมัยอยุธยามีพระสงฆ์สวดเล่านิทานเรื่องพระมาลัยโดยเลียนแบบทำนองสวดจากชาวบ้านขับลำทำขวัญงานศพ หรือ “งันเฮือนดี”

3. พระสงฆ์เริ่มมีประเพณีสวดอภิธรรม 7 คัมภีร์ในงานศพเมื่อต้นกรุงรัตนโกสินทร์ มีเหตุจากถูกห้ามลำสวดเรื่องพระมาลัยที่ออกท่าทางสนุกสนานเลยเถิดจนเกินเหตุ

สวดคฤหัสถ์ล้อเลียนสวดพระมาลัย มีเหตุจากพระสงฆ์ถูกห้ามสวดพระมาลัยต้องไปสวดอภิธรรม ทำให้บรรดาชาวบ้านที่เล่นขับลําออกภาษาอยู่แล้วก็ร่วมกันประดิษฐ์คิดพลิกแพลงล้อเลียนสวดพระมาลัยของพระสงฆ์ แล้วเรียกสมัยหลังว่าสวดคฤหัสถ์ (คฤหัสถ์ แปลว่า ผู้ครองเรือน, ชาวบ้าน) ผู้สวดคฤหัสถ์ทุกคนถือ “ตาลิปัด” (เพี้ยนเสียงจากตาลปัตรของพระสงฆ์) แล้วตั้งตู้พระธรรมไว้ข้างหน้า (เลียนแบบพระสงฆ์สวดพระมาลัย มีตู้หนังสือเรื่องพระมาลัยวางไว้ข้างหน้าใช้เปิดอ่านเมื่อสวด) แต่สวดคฤหัสถ์กระแสหลักอาจนิยามต่างจากนี้

แห่ศพไปเผา แต่งตัวตามสบาย ชุดขาวก็ได้ สีสันฉูดฉาดก็ดีมีทั้งนั้น

 

แต่งตัวสีสันฉูดฉาด

งานศพดั้งเดิมดึกดำบรรพ์หลายพันปีมาแล้วเป็นพิธีเรียกขวัญส่งขวัญสนุกสนานหัวหกก้นขวิด เรียก “งันเฮือนดี” คนไปร่วมงานแต่งตัวตามสบายด้วยสีสันฉูดฉาดเฉิดฉาย

เรือน พ.ศ. 2500 งานศพในชนบทของไทยจำนวนมาก เผาศพบนเชิงตะกอน (ยังไม่มีเมรุ) คนไปงานศพแต่งตัวสีสันฉูดฉาด (เหมือนไปงานสมโภช)

งานศพแต่งชุดดำตามวัฒนธรรมตะวันตก เริ่มสมัย ร.5 มีเฉพาะกรุงเทพฯ เท่านั้น จนหลัง พ.ศ. 2500 จึงค่อยๆ มีในเมืองใหญ่ๆ ที่อยู่ชานกรุงเทพฯ แล้วกระจายทั่วประเทศเมื่อไม่นานนี้เอง