สุจิตต์ วงษ์เทศ : เพลงเทพทอง ร้องสมสู่สังวาส ไม่มีในรัฐสุโขทัย

ระบำสุโขทัยและเพลงบรรเลงทำนองประกอบระบำล้วนเป็นงานร่วมสมัยที่ควรแก่การยกย่องซึ่งสร้างสรรค์ขึ้นใหม่โดยจินตนาการของครูนาฏศิลป์และดนตรีไทยเดิมของกรมศิลปากร เมื่อ พ.ศ. 2510 เพราะประเพณีแต่งตัวจับระบำรำฟ้อนด้วยลีลาเคลื่อนไหวอย่างนี้ไม่เคยพบหลักฐานวิชาการว่ามีจริงในราชสำนักรัฐสุโขทัย (ภาพจาก https://sites.google.com/site/thaidance1234/raba-sukhothay)

 

เพลงเทพทอง ร้องสมสู่สังวาส

ไม่มีในรัฐสุโขทัย

 

“เพลงเทพทอง” เป็นชื่อเพลงโต้ตอบแก้กันของหญิงชายที่กล่าวขวัญกันว่ามีคำร้องหยาบคายที่สุดเพลงหนึ่งในบรรดาหลายเพลงนับไม่ถ้วนมาแต่โบราณกาล ซึ่งต่อมานักปราชญ์สมัยก่อนเรียกอย่างรวมๆ ว่า เพลงพื้นบ้าน หรือเพลงพื้นเมือง กระทั่งล่าสุดนักวิชาการเรียกเพลงปฏิพากย์

“เพลงเทพทอง มีอีกชื่อหนึ่งเรียกว่าเพลงสุโขทัย เป็นเพลงเก่าแก่ที่สุดของไทย มีตั้งแต่สมัยกรุงสุโขทัย ราชธานีแห่งแรก” เป็นที่เชื่อกันสืบเนื่องมานานมากแล้ว ครั้นต่อมากรมศิลปากรคิดสร้างสรรค์ระบำโบราณคดี ได้มอบหมายครูมนตรี ตราโมท แต่งเพลงระบำสุโขทัย จึงดัดแปลงจากทำนองเพลงเทพทอง แล้วแสดงเผยแพร่ครั้งแรก พ.ศ. 2510

นับแต่นั้นมาชุดข้อมูลเรื่องเพลงเทพทองเป็นเพลงเก่าแก่ที่สุดของไทย มีตั้งแต่สมัยกรุงสุโขทัยเป็นราชธานีแห่งแรกก็ถูกบรรจุในตำรานาฏศิลป์และดนตรีไทยเดิม แล้วได้รับการถ่ายทอดผ่านการเรียนการสอนตามระบบโรงเรียนทั่วประเทศ กระทั่งล่าสุดเผยแพร่ทางโทรทัศน์ของรัฐราชการรวมศูนย์ช่องหนึ่ง (เมื่อวันอาทิตย์ที่ 18 กรกฎาคม 2564 ราว 09.45 น.)

 

ไม่พบหลักฐานในรัฐสุโขทัย

เพลงเทพทอง หรือเพลงสุโขทัย (ตามที่หน่วยงานทางการของไทยเผยแพร่) ไม่เคยพบหลักฐานวิชาการสนับสนุนไม่ว่าทางประวัติศาสตร์โบราณคดีมานุษยวิทยา หรือทางศิลปศาสตร์ใดๆ แม้สอบถามครูผู้ใหญ่ทางดนตรีไทยเดิมหลายต่อหลายท่าน (ทั้งก่อนล่วงลับ และที่มีชีวิตอยู่) ล้วนได้คำตอบทำนองเดียวกัน คือเชื่อถือสืบต่อกันมา แต่ไม่เคยเห็นหลักฐาน จึงน่าจะสรุปได้ดังนี้

1. เพลงเทพทองไม่ใช่เพลงเก่าแก่ที่สุดตั้งแต่สมัยสุโขทัย ที่มีกรุงสุโขทัยเป็นราชธานีแห่งแรกของไทย

2. กรุงสุโขทัยไม่ใช่ราชธานีแห่งแรกของไทย แต่สุโขทัยเป็นเมืองศูนย์กลางของรัฐสุโขทัยซึ่งเป็นรัฐขนาดเล็กอยู่ตอนบนของลุ่มน้ำเจ้าพระยาที่มีขึ้นหลังเมืองอื่นๆ หลายเมืองที่อยู่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา เรื่องนี้เป็นที่รู้ทั่วไปในหมู่นักวิชาการที่รู้เท่าทันข้อมูลระดับสากล แต่นักค้นคว้าและครูบาอาจารย์ของระบบการศึกษาอนุรักษนิยมจำนวนหนึ่งซึ่งมีไม่น้อยยังผูกพันข้อมูลเก่าราวศตวรรษที่แล้ว และไม่พร้อมปรับเปลี่ยนตามข้อมูลใหม่

3. “สมัยสุโขทัย” ไม่มีจริง แต่เป็นสิ่งสมมุติขึ้นเมื่อไม่นานมานี้ตามอำนาจเจ้าอาณานิคมและกระแสการเมืองลัทธิชาตินิยม (ที่แพร่หลายจากโลกตะวันตก)

4. ไม่เคยพบหลักฐานเป็นศิลาจารึก, สมุดข่อย, ใบลาน, ปั๊บสา หรืออื่นๆ ที่บอกว่ามีเพลงเทพทองอยู่ในรัฐสุโขทัย และไม่เคยพบหลักฐานว่าเพลงเทพทองมีอีกชื่อหนึ่งเรียกว่าเพลงสุโขทัย ส่วนที่เชื่อกันอย่างนั้นมีเหตุจากความเข้าใจคลาดเคลื่อนต่อข้อมูลในเอกสารเก่าเมื่อแผ่นดิน ร.5 กรุงรัตนโกสินทร์ ที่บอกเล่าเรื่องการขับร้องเพลงเทพทอง เมื่อพรรณนาว่าร้องถ้อยคำอย่างไรจบแล้ว ได้บอกเพิ่มเติมว่ายังมีเพลงร้องอีกอย่างหนึ่งเรียกเพลงโสกกะไท (ภาษาปากที่กลายคำจากชื่อสุโขทัย) ทำนองคล้ายเพลงเทพทอง มีข้อความจะคัดมาดังนี้

“ร้องเพลงโต้ตอบต่างๆ เรียกว่ากลอนเพลงด้น มีหลายอย่างหลายทำนอง คือเพลงเทพทองนั้น หญิง 1 ชาย 1 ถือพัดใบตาลยืนใช้บท ร้องโต้ตอบคนละท่อน มีลูกคู่รับทุกท่อน และต้องให้ท้ายคำรับสัมผัสกลอนกันทุกที ซ้ำอยู่กลอนเดียวนานๆ จึงเปลี่ยนกลอนอื่น ถ้อยคำที่ร้องนั้นดีน้อยหยาบมาก ร้องอีกอย่าง 1 เรียกโสกกะไท ทำนองก็คล้ายๆ กัน—-” [ข้อความต่อจากนั้นบอกเรื่องเพลงปรบไก่ และเพลงอื่นๆ ต่อไปอีกยาว ทั้งหมดนี้อยู่ในข้อเขียน “เรื่องขับร้อง” ของ กรมหมื่นสถิตยธำรงสวัสดิ์ พิมพ์ในหนังสือ “วชิรญาณวิเศษ” เล่ม 4 แผ่น 23 แผ่น 23 วันอาทิตย์ที่ 7 เดือนเมษายน รัตนโกสินทรศก 108 หน้า 265-266. ใน วชิรญาณวิเศษ เล่ม 4/9 แผ่นที่ 1-50 ตุลาคม จ.ศ. 1250-ตุลาคม ร.ศ. 108 (พ.ศ. 2431). จัดพิมพ์โดยมูลนิธิสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา พ.ศ. 2558]

จะเห็นว่าข้อความที่คัดมาจากเอกสารเก่าบอกชัดเจนว่าเพลงโสกกะไทเป็นอีกเพลงหนึ่งที่มีทำนองคล้ายเพลงเทพทอง โดยไม่ได้บอกว่าโสกกะไทเป็นอีกชื่อหนึ่งของเพลงเทพทอง ดังนั้น โสกกะไทไม่ใช่อีกชื่อหนึ่งของเพลงเทพทอง

เพลงเทพทองดั้งเดิมมีกำเนิดในชุมชนชาวบ้านตั้งแต่ก่อนมีรัฐอยุธยา ครั้นมีรัฐอยุธยาแล้วเพลงเทพทองเป็นที่นิยมแพร่หลายในกลุ่มคนชั้นนำราชสำนักด้วย จึงพบหลักฐานเก่าสุดในวรรณกรรมราชสำนักอยุธยา ขณะเดียวกันเพลงเทพทองแพร่หลายเข้าสู่ชุมชนบ้านเมืองห่างไกลในภาคกลางตอนบน ถึงชุมชนลุ่มน้ำยมเมืองสุโขทัยซึ่งได้ดัดแปลงการละเล่นเข้ากับท้องถิ่น แล้วถูกเรียกชื่อต่างไปตามสะดวกปากคนครั้งนั้นว่า “เพลงโสกกะไท”

 

เพลงเทพทองของลุ่มน้ำเจ้าพระยา

เพลงเทพทองเป็นชื่อผูกขึ้นใหม่หลังได้รับยกย่องจากคนชั้นสูงในราชสำนักอยุธยา หรือรัฐโบราณก่อนหน้านั้นว่าเป็นการละเล่นเฮี้ยน, ขลัง, ศักดิ์สิทธิ์ และสนุกสนานอย่างยิ่ง

เพลงเทพทองเป็นการละเล่นเพลงโต้ตอบแก้กันของหญิงชายด้วย “กลอนด้น” (หมายถึงท่องจำกลอนเพลงที่มีผู้อื่นแต่งไว้ไปร้องปากเปล่าจากความจำโดยไม่ต้องจดบนสมุดไปเปิดอ่าน) เป็นถ้อยคำเกี่ยวกับการสมสู่เสพสังวาส ซึ่งปัจจุบันถือเป็นคำหยาบ หรือขนาดเบาหน่อยว่าเป็นคำสองแง่สองง่าม หรือสองง่ามสามแง่ ซึ่งเป็นที่รับรู้ในหมู่เจ้านายชั้นสูงมาแต่โบราณกาล เพราะสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ บอกว่าเมื่อมีสมโภชช้างเผือกมักมีเพลงเทพทองหรือเพลงปรบไก่ว่ากันหยาบๆ มาเล่นสมโภชในงานเสมอ (อ้างไว้ในหนังสือ เพลงนอกศตวรรษ ของ เอนก นาวิกมูล สำนักพิมพ์มติชน พิมพ์ครั้งที่สี่ พ.ศ. 2550 หน้า 436-442)

กำเนิดหรือต้นตอรากเหง้าของเพลงเทพทองมาจากการละเล่นพิธีกรรมขอความอุดมสมบูรณ์ในพืชพันธุ์ว่านยาข้าวปลาอาหารของชุมชนหมู่บ้านกสิกรรมที่พูดภาษาไทย (ตระกูลภาษาไท-ไต) บริเวณลุ่มน้ำเจ้าพระยาเมื่อหลายพันปีมาแล้ว (ก่อนมีกรุงศรีอยุธยานับพันๆ ปี) พิธีกรรมขอความอุดมสมบูรณ์ฯ ดังกล่าวแสดงออกด้วยการสมสู่เสพสังวาสของหญิงชายดังมีหลักฐานอยู่บนภาพเขียนบนเพิงผาผนังถ้ำ (พบทั่วไปทั้งในไทยและที่อื่นๆ) กับประติมากรรมสำริด ตุ๊กตาขนาดเล็กรูปหญิงชายทำท่าสมสู่ โดยนอนเหยียดยาวประกบกันบนล่าง ประดับบนฝาภาชนะใส่ศพหรือบรรจุกระดูกคนตาย (พบที่เวียดนาม)

การสมสู่ร่วมเพศทำให้มีน้ำอสุจิหลั่งออกมาจากอวัยวะเพศชาย ซึ่งคนแต่ก่อนเชื่อว่าจะบันดาลให้ฝนตกในไม่ช้า เรียกกันสืบมาว่า “เทลงมา เทลงมา” ทำให้พืชพันธุ์ว่านยาข้าวปลาอาหารอุดมสมบูรณ์เลี้ยงชีวิตคนในชุมชนได้ตลอดปี พิธีกรรมอย่างนี้ยังมีสืบเนื่องจนปัจจุบันเพื่อขอฝนในหน้าแล้งเรียกพิธีปั้นเมฆ โดยปั้นดินเหนียวเป็นรูปคน 2 คน สมมุติว่าหญิงชายทำท่าสมสู่กันกลางที่โล่งแจ้ง ให้คนทั้งชุมชนรู้เห็นพร้อมกันทั่วไป แล้วร่วมกันร้องรำทำเพลงขอฝนด้วยถ้อยคำหยาบๆ เรียกกันว่ากลอนแดง หมายถึงคำคล้องจองเชิงสมสู่เสพสังวาสโจ๋งครึ่มที่พาดพิงเรื่องเพศและการร่วมเพศ โดยหญิงมักว่าเพลงชนะชายในกลอนเพลงโต้ตอบ เพราะแม่เพลงจะต่อว่าด่าทอแสดงอำนาจของหญิงที่มีเหนือชายจนพ่อเพลงยอมจำนนแล้วหาทางเลี่ยงไป

เพลงโต้ตอบแก้กันของหญิงชายด้วยถ้อยคำโลดโผนสองง่ามสองแง่ แหย่ไปทางเรื่องสมสู่เสพสังวาสด้วยถ้อยคำหยาบคายอย่างยิ่งยวด เช่น เพลงเทพทอง ฯลฯ ก็เป็นอีกแนวหนึ่งของพิธีกรรมขอความมั่งคั่งและมั่นคงให้ชุมชน

“ชื่อ” เพลงเทพทอง มาจากไหน? เมื่อเทียบชื่อกลุ่มเดียวกัน ได้แก่ เพลงปรบไก่, เพลงฉ่อย, เพลงพาดควาย ฯลฯ ชื่อเพลงเทพทองฟังแล้วแปลกแยกแตกต่างไปไกล และดูเป็นคำชั้นสูงที่ถูกผูกขึ้นใหม่ แต่ชื่อเดิมว่าอย่างไรไม่พบหลักฐานซึ่งคงสืบค้นไม่พบแล้ว

“เทพทอง” น่าจะมีความหมายเชิงสังวาส ซึ่งรับกันกับ “กลอนแดง” ของคำร้องเพลงเทพทองโดยมีตัวเทียบจากชื่ออื่นๆ ได้แก่ พระทอง, เทียนทอง เป็นต้น พระทอง เป็นชื่อเพลงมโหรีกรุงเก่า หมายถึงเจ้าชายรูปงามได้สมสู่เสพสังวาสกับนางนาค (ชื่อเพลงมโหรีกรุงเก่าคู่กับเพลงพระทอง) ซึ่งเป็นหญิงพื้นเมือง (สัญลักษณ์บรรพชนคนลุ่มน้ำโขงและลุ่มน้ำเจ้าพระยา) เทียนทอง เป็นสัญลักษณ์อวัยวะเพศชาย มีในบทมโหรีกรุงเก่าเพลงสรรเสริญพระจันทร์ใช้ในพิธีแต่งงานของคนชั้นนำรัฐอยุธยา