สุจิตต์ วงษ์เทศ : ‘ขุนบรม’ วีรบุรุษในตำนานของผู้ไท ต้นตอ ‘บรมราชา’ และ ‘อินทราชา’ ในไทย

แผนที่แสดงเส้นทางเคลื่อนไหวของภาษาและวัฒนธรรม "ขุนบรม" จากเมืองแถน ลุ่มน้ำแดง-ดำ (เวียดนาม) ถึง "บรมราชา" และ "อินทราชา" ในเมืองไทย ลุ่มน้ำเจ้าพระยา (โดยทนงศักดิ์ หาญวงษ์ มิถุนายน 2564)

 

‘ขุนบรม’ วีรบุรุษในตำนานของผู้ไท

ต้นตอ ‘บรมราชา’ และ ‘อินทราชา’ ในไทย

 

ผู้ไทจากเมืองแถน (เวียดนาม) เป็นบรรพชนต้นทางคนไทยในเมืองไทย (คือรัฐอยุธยา) พบเบาะแสเค้ามูลอยู่ในลาวเมื่อพวกผู้ไทโยกย้ายจากเมืองแถนไปตั้งหลักแหล่งอยู่แขวงซำเหนือ (ใกล้แขวงหลวงพระบาง ในลาว) ถูกพวกลาวนับเป็นไทย คือไม่นับเป็นลาว ข้อมูลนี้ จิตร ภูมิศักดิ์ บอกเล่าไว้ในหนังสือ สังคมไทยลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาก่อนสมัยศรีอยุธยา (สำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกัน พิมพ์ครั้งที่สาม พ.ศ.2547 หน้า 352-353)

ผู้ไทถูกลาวนับเป็นไทยแต่ไม่นับเป็นลาว มีเหตุสำคัญอย่างหนึ่งจากความแตกต่างของการ “นับโคตร” สืบตระกูล กล่าวคือ ผู้ไทสืบตระกูลสายพ่อแล้วยกเพศชายเป็นใหญ่มีอำนาจเหนือหญิง ส่วนลาวสืบตระกูลสายแม่แล้วยกเพศหญิงเป็นใหญ่มีอำนาจเหนือชาย เรื่องนี้ จิตร ภูมิศักดิ์ ชี้ว่าประเพณีนับโคตรสืบตระกูลของฝ่ายลาวยังมีลักษณะดั้งเดิม ส่วนฝ่ายผู้ไทก้าวพ้นไปแล้วจากลักษณะเดิม

ผู้ไทมีหลายกลุ่มได้แก่ ผู้ไทดำ, ผู้ไทขาว, ผู้ไทแดง (หรือไทดำ, ไทขาว, ไทแดง) ต่างเรียกตนเองตามชื่อแยกแต่ละกลุ่ม แต่เรียกอย่างรวมๆ ว่าผู้ไท โดย “ไม่ลาว” คือไม่นับตนเองเป็นลาว (เมื่อไม่กี่สิบปีมานี้ยังมีผู้ไทรุ่นเก่า อ.เขาวง จ.กาฬสินธุ์ นับตนเองเป็นผู้ไท หรือไทย “ไม่ลาว” แต่ผู้ไทรุ่นปัจจุบันเชื่อว่าผู้ไทโยกย้ายจากฝั่งลาวไปตั้งหลักแหล่งในอีสาน จึงนับเป็นลาว ครั้นนานไปต่างยอมรับความเป็นลาวสืบจนทุกวันนี้)

การเรียกตนเองว่าผู้ไทกับถูกลาวนับเป็นไทยสืบมาแต่ดั้งเดิม น่าจะขับเน้นคำว่า ไท, ไทย เป็นที่รับรู้กว้างขวางทั้งลุ่มน้ำเจ้าพระยาเมื่อราวพันปีมาแล้วหรือมากกว่านั้น ต่อมาได้หล่อหลอมเรียกตนเองว่าไทย แล้วมีชื่อเรียกต่างๆ ได้แก่ คนไทย, เมืองไทย, ไทยใหญ่, ไทยน้อย

 

วีรบุรุษในตำนานของผู้ไท

นอกจากภาษาและวัฒนธรรมจากเมืองแถนเป็นบรรพชนต้นทางของไทยในอยุธยาตามที่ยกมาแล้ว ยังพบว่าวีรบุรุษในตำนานของผู้ไทคือขุนบรม เป็นที่มาของนามบรมราชา วงศ์กษัตริย์ปกครองรัฐสุพรรณภูมิและรัฐอยุธยา ขณะเดียวกันลูกชายคนที่ 5 ของขุนบรมมีชื่อตัวว่าอิน หรืออินทร์ (แต่ในตำนานเรียกงั่วอิน คำว่า งั่ว แปลว่าลูกชายคนที่ 5) เป็นที่มาของนามอินทราชาหรือเจ้านครอินทร์ ตำแหน่งโอรสกษัตริย์รัฐสุพรรณภูมิและต่อไปได้เป็นกษัตริย์รัฐอยุธยา

วีรบุรุษในตำนานของผู้ไท มีสาระสำคัญโดยย่อว่าชื่อขุนบรมเป็นทายาทแถน ต่อมาขุนบรมมีลูกชาย 7 คน เมื่อโตขึ้นได้แยกย้ายไปสร้างบ้านแปลงเมือง มี 7 เมือง ล้วนมีความสัมพันธ์เป็นเมืองเครือญาติกัน โดยลูกชายคนที่ 5 ชื่องั่วอินไปสร้างเมืองอโยธยา

ตำนานวีรบุรุษเป็น “นิยายปรัมปรา” ซึ่งจะถือเป็นจริงตามนั้นทั้งหมดมิได้ แต่เลือกใช้งานได้เท่าที่พบหลักฐานประวัติศาสตร์โบราณคดีรองรับสนับสนุน โดยเฉพาะเป็นเครื่องบอกทิศทางความสัมพันธ์ทางสังคมและวัฒนธรรม ได้แก่ การเคลื่อนไหวของภาษาและวัฒนธรรมไท-ไต จากบริเวณ “โซเมีย” ทางลุ่มน้ำแดง-ดำ ในเวียดนามเหนือต่อเนื่องมณฑลกวางสีทางภาคใต้ของจีน ลงสู่ลุ่มน้ำโขง, สาละวิน, เจ้าพระยา แล้วเป็นต้นทางของชื่อไทย, คนไทยมีครั้งแรกบริเวณลุ่มน้ำเจ้าพระยา

บรมราชา ขุนหลวงพะงั่วเป็นเจ้าเมืองรัฐสุพรรณภูมิ (พะงั่ว กร่อนคำจากพ่องั่ว หมายถึงลูกชายคนที่ 5 งั่ว เป็นลูกชายลำดับที่ 5 เกี่ยวดองเป็นเครือญาติกับเชื้อวงศ์ละโว้) ต่อมาเสวยราชย์เป็นกษัตริย์รัฐอยุธยา มีพระนาม “บรมราชา” เป็นทางการว่าพระบรมราชา ที่ 1 แสดงความเกี่ยวดองชื่อ “ขุนบรม”

อินทราชา เจ้านครอินทร์ เป็นโอรสขุนหลวงพะงั่ว แสดงความเกี่ยวดองชื่อ “งั่วอิน” ต่อมาได้เป็นเจ้าเมืองรัฐสุพรรณภูมิ หลังจากนั้นเสวยราชย์เป็นกษัตริย์รัฐอยุธยา มีพระนาม “นครินทราธิราช” เรื่องนี้ จิตร ภูมิศักดิ์ บอกว่า “คติความคิดเรื่องอินทรนี้ ไปสอดคล้องกับหลักฐานในพงศาวดารล้านช้างเรื่องขุนบูลมราชาส่งโอรสองค์ที่ 5 ชื่อเจ้างั่วอินทร์ ลงมาสร้างบ้านแปลงเมืองยังแคว้นละโว้โยทธิยา. เรายังจะต้องตั้งข้อสังเกตอีกอย่างหนึ่งด้วยว่า บรรดาราชตระกูลสุพรรณบุรีที่ใช้นามอินทรเป็นนามสืบสกุลนี้ เมื่อได้ครองราชสมบัติแล้วมักใช้พระนามาภิไธยว่า ‘สมเด็จพระบรมราชาธิราช’. ในพงศาวดารกรุงศรีอยุธยานั้น จดลำดับกษัตริย์ไว้โดยใช้พระนามต่างกัน มีที่ใช้สมเด็จพระบรมราชาธิราชไม่กี่ครั้ง คือ พระบรมราชาธิราช (ขุนหลวงพงั่ว) องค์หนึ่ง กับ พระบรมราชาธิราช (เจ้าสามพระยา) อีกองค์หนึ่ง, พระนามบรมราชาธิราชนี้ ก็เช่นเดียวกับเรื่องอินทรอีก คือตรงกันกับนามของขุนบูลมราชาผู้เป็นต้นโคตรวงศ์. พงศาวดารล้านช้าง เรียกขุนบูลมว่า ขุนบูลมราชา ซึ่งก็เป็นสำเนียงภาษาลาว ตรงกับคำว่า บรมราชา. นี่ทำให้เราต้องพิจารณานิทานเรื่องขุนบูลมราชาด้วยทรรศนะใหม่ ว่าน่าจะมีเค้ามูลความเป็นจริงอยู่มากทีเดียว, มิฉะนั้นก็คงจะไม่บังเอิญมาพ้องกันได้ถึงสองประเด็น คือ อินทร กับ บรมราชา. พระนามกษัตริย์ราชตระกูลอินทร์แห่งสุพรรณบุรีที่ครองกรุงศรีอยุธยานั้น แม้ในพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาจะจดชื่อไว้ด้วยชื่อต่างๆ กัน แต่เราก็มีหลักฐานร่องรอยว่า โดยทางการแล้ว พระนามในสุพรรณบัฏคงใช้คำว่า บรมราชา นำหน้าทั้งนั้น.”

(คำอธิบายอย่างพิสดารเกี่ยวกับ “ตระกูลอินทร์” เรื่องนี้มีในหนังสือ สังคมไทยลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา ก่อนสมัยศรีอยุธยา ของจิตร ภูมิศักดิ์ สำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกัน พิมพ์ครั้งที่สาม พ.ศ.2547 หน้า 309-355)

 

สำเนียง “เหน่อ” แบบผู้ไท

ภาษาและวัฒนธรรมของผู้ไทจากเมืองแถนเป็นต้นตอสำเนียง “เหน่อ” ของลุ่มน้ำท่าจีน-แม่กลอง ฟากตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยา จึงเป็นต้นทาง “สำเนียงหลวง” ของอยุธยา จิตร ภูมิศักดิ์ บอกเบาะแสไว้นานแล้ว จะคัดมาแสดงไว้ชัดๆ เพื่อพิจารณาร่วมกันดังนี้

“ปลอกเขตภาษาที่เรียกกันว่าสำเนียงสุพรรณทั้งหมด ซึ่งคลุมในบริเวณจังหวัดสุพรรณบุรี, กาญจนบุรี, นครปฐม, ราชบุรี และเพชรบุรี เป็นสำเนียงภาษาที่มีความสูงต่ำทางวรรณยุกต์คล้ายคลึงกับภาษาลาวเหนือทางแขวงหลวงพระบางไปถึงซำเหนือ (หัวพัน). นี่เป็นสิ่งที่ข้าพเจ้าแปลกใจมานานแล้ว. ภาษาพูดที่ชาวสุพรรณบุรีและกลุ่มสำเนียงนี้พูดเป็นภาษาไทย (ที่ว่า ภาษาไทย หมายความว่าเป็นภาษาที่ใช้ถ้อยคำและสำนวนอย่างไทยภาคกลาง ไม่ใช่ถ้อยคำและสำนวนอย่างลาวในประเทศลาว.) แต่สำเนียงเป็นสำเนียงลาวเหนือเจือปนจนสังเกตได้ชัด. จริงอยู่ในสมัยกรุงเทพฯ นี้ ได้เคยมีการกวาดต้อนพวกผู้ไทดำ (โซ่ง) ทางแขวงซำเหนือและลาวเวียงทางเขตเวียงจันทน์ ตลอดจนชาวเมืองพวน (แขวงเชียงขวาง) มาไว้ที่จังหวัดสุพรรณบุรี-ราชบุรี-เพชรบุรี; แต่นั่นไม่ใช่ต้นเหตุที่ทำให้สำเนียงภาษาไทยของชาวสุพรรณเป็นดังที่เป็นอยู่นี้ เพราะพวกที่ถูกกวาดมาในชั้นกรุงเทพฯ นี้ ตั้งบ้านของเขาอยู่เป็นหมู่ใหญ่ต่างหากไม่ปะปนกันกับชาวสุพรรณบุรี-ราชบุรี-เพชรบุรี เดิม และยังคงใช้ภาษาเดิมของตนจนกระทั่งทุกวันนี้, หาได้เคล้าคละปะปนทั้งชีวิตประจำวันและภาษาเข้ากับชาวเจ้าของถิ่นเดิมไม่; ทั้งสำเนียงของชาวสุพรรณบุรีก็เป็นแบบลาวเหนือมิใช่แบบผู้ไท” (สังคมไทยลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาฯ พ.ศ.2547 หน้า 312-313)

สำเนียง “เหน่อ” แบบสุพรรณเป็นตัวอย่างซึ่งรู้จักแพร่หลายที่สุด แต่ยังมีแบบอื่นซึ่งสำคัญมาก ได้แก่ สำเนียงโคราช ล้วนมีต้นตอจากสำเนียงภาษาในวัฒนธรรมผู้ไทเมืองแถน