ผู้ไท ‘ชาวสยาม’ ลุ่มน้ำโขง-เจ้าพระยา | สุจิตต์ วงษ์เทศ

เจ้านายและไพร่พลในขบวนเสียมกุก (ชาวสยาม) นุ่งผ้าเหมือนโสร่ง (ไม่นุ่งหยักรั้งแบบเขมรนำหน้าขบวนละโว้) เป็นขบวนเกียรติยศจากบ้านเมืองเครือญาติผู้ใหญ่ใกล้ชิดของกษัตริย์กัมพูชา (ภาพสลักบนระเบียงปราสาทนครวัด ราว พ.ศ.1650 ลายเส้นคัดลอกโดย อ.คงศักดิ์ กุลกลางดอน คณะจิตรกรรม ประติมากรรมและภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร)

ผู้ไท ‘ชาวสยาม’

ลุ่มน้ำโขง-เจ้าพระยา

 

ผู้ไทเมืองแถนในเวียดนาม มีส่วนเกี่ยวข้องกับชาวสยามใน “เสียมกุก” (ภาพสลักที่ปราสาทนครวัด) ทั้งในแง่ภาษาพูดและวัฒนธรรมผ้านุ่ง

ชาวสยามเป็นพวก “ไม่ไทย” เพราะชาวสยามไม่เรียกตนเองว่าไทย แต่ใช้ภาษาไทยเป็นภาษากลางในการสื่อสารกับคนต่างภาษา ซึ่งมีเหตุจากชาวสยามประกอบด้วยคนหลายชาติพันธุ์ “ร้อยพ่อพันแม่” มีภาษาพูดของใครของมันที่มักสื่อกันไม่เข้าใจและไม่รู้เรื่องทั้งหมด จึงจำเป็นต้องมีภาษากลาง ได้แก่ ภาษาไทย (ต้นตอจากตระกูลไท-ไต) อันเป็นที่รับรู้กว้างขวางมานานแล้วว่าง่ายที่สุดในการใช้งานสื่อสาร เมื่อเทียบกับภาษาอื่นๆ ที่มีในสมัยนั้น และเป็นภาษาพูดที่แพร่หลายจากลุ่มน้ำแดง-ดำในเวียดนามซึ่งเป็นหลักแหล่งของผู้ไทเมืองแถน ซึ่งมีพรมแดนติดกันอย่างต่อเนื่องถึงบริเวณมณฑลกวางสีทางภาคใต้ของจีน

สยาม หมายถึงบริเวณลุ่มน้ำ เป็นชื่อเรียกสถานที่ จึงไม่ใช่ชื่อเรียกกลุ่มคนหรือประชาชนที่นั่น ถ้าจะเรียกกลุ่มคนหรือประชาชนที่อยู่ในพื้นที่สยามโดยไม่จำกัดชาติพันธุ์ต้องเรียก “ชาวสยาม”

คำว่า สยาม มีรากจากคำพื้นเมืองบริเวณลุ่มน้ำสาละวิน-ลุ่มน้ำโขง ว่า ซำ หรือ ซัม หมายถึงพื้นที่มีน้ำพุหรือน้ำผุดจากใต้ดิน ซึ่งบางท้องถิ่นเรียกน้ำซับน้ำซึม ครั้นนานปี (หรือนานเข้า) น้ำเหล่านั้นไหลนองเป็นหนองหรือบึงขนาดน้อยใหญ่ กลายเป็นแหล่งปลูกข้าว ในที่สุดทำนาทดน้ำ ผลิตข้าวได้มากไว้เลี้ยงคนจำนวนมาก ทำให้ชุมชนหมู่บ้านเริ่มแรกเมื่อติดต่อชุมชนห่างไกลก็เติบโตเป็นเมือง, รัฐ, อาณาจักร

 

“เสียมกุก” ขบวนเกียรติยศ

1.”เสียมกุก” ภาพสลักบนระเบียงปราสาทนครวัด หมายถึงพวกสยาม ซึ่งในที่นี้คือชาวสยาม (เสียม เป็นคำกลายจากสยาม, กุก เป็นอักขรวิธีแบบเขมร อ่าน กก กลายจากคำจีน ว่า ก๊ก หมายถึง พวก, หมู่, เหล่า, ชาว ฯลฯ)

ภาพสลัก “เสียมกุก” เป็นสัญลักษณ์ขบวนเกียรติยศของกลุ่มเครือญาติใกล้ชิดพระเจ้าสุริยวรรมันที่ 2 ในพิธีกรรมสำคัญอย่างใดอย่างหนึ่ง (เช่น พิธีสถาปนาเป็นพระวิษณุสถิตบรมวิษณุโลก) ซึ่งเท่ากับ “เสียมกุก” ลุ่มน้ำโขงเป็นเครือญาติใกล้ชิดพระเจ้าสุริยวรรมันที่ 2 เช่นเดียวกับขบวนละโว้และขบวนพิมาย (ซึ่งเป็นภาพสลักถัดไป) ล้วนเป็นเครือญาติใกล้ชิด

2.ชาวสยามในภาพสลัก “เสียมกุก” มีหลักแหล่งสำคัญอยู่ดินแดนศรีโคตรบูร (ชื่อในตำนาน) บริเวณสองฝั่งโขงที่มีศูนย์กลางอยู่เวียงจันท์ (ตามคำอธิบายของ อ.ศรีศักร วัลลิโภดม) แต่ “เสียมกุก” เคยมีนักปราชญ์อธิบายเป็นอย่างอื่นมาก่อน ดังนี้

(1.) นักปราชญ์ชาวยุโรปอธิบายว่า “เสียมกุก” หมายถึง กองทัพสยามจากรัฐสุโขทัยที่ถูกอาณาจักรกัมพูชาเกณฑ์ไปช่วยรบกับจามปา (อยู่ในเวียดนาม) เพราะเชื่อว่า “เสียม” คือ สยาม เป็นชื่อเรียกรัฐสุโขทัย แต่หลักฐานประวัติศาสตร์โบราณคดีไม่สนับสนุน เรื่องแรก “เสียมกุก” เป็นภาพสลักถูกทำขึ้นราว พ.ศ.1650 ยังไม่มีรัฐสุโขทัย เนื่องจากพบหลักฐานว่ารัฐสุโขทัยสถาปนาขึ้นหลักจากนั้นเกือบ 100 ปี และเรื่องหลัง “เสียม” หรือ “เสียน” เป็นคำจีนในเอกสารจีนเรียกสยาม หมายถึง รัฐสุพรรณภูมิ (สุพรรณบุรี) ไม่ใช่รัฐสุโขทัย

(2.) จิตร ภูมิศักดิ์ อธิบายว่า “เสียมกุก” หมายถึงสยามแห่งลุ่มน้ำกก จ.เชียงราย แต่บริเวณลุ่มน้ำกก เมื่อ พ.ศ.1650 (ช่วงเวลาทำภาพสลักปราสาทนครวัด) ไม่พบหลักฐานเป็นบ้านเมืองใหญ่โตระดับรัฐ และกว่าจะเติบโตมีบ้านเมืองประกอบด้วยคูน้ำคันดินมั่นคงแข็งแรงก็หลังจากนั้นอีกนานเกือบ 100 ปี

(ดูในบทความเรื่อง “ไทยน้อย ไทยใหญ่ ไทยสยาม” ของศรีศักร วัลลิโภดม พิมพ์ในหนังสือ ไทยน้อย ไทยใหญ่ ไทยสยาม โดยศรีศักร วัลลิโภดม และสุจิตต์ วงษ์เทศ สำนักพิมพ์มติชน พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ.2534 หน้า 118-127)

 

สยามลุ่มน้ำโขง
ถึงท่าจีน-เจ้าพระยา

ผู้ไทเป็นกลุ่มคนพูดภาษาไทยในชีวิตประจำวัน มีส่วนสำคัญในความเป็นชาวสยาม ทั้งนี้เพราะมีการเคลื่อนไหวไปมาบนเส้นทางการค้าดินแดนภายในจากลุ่มน้ำแดง-ดำสู่ลุ่มน้ำโขง มีเมืองสำคัญอยู่หลวงพระบาง (ตำนานขุนบรมบอกไว้) ติดต่อค้าขายกับเมืองเวียงจันท์ (ความทรงจำอยู่ในพงศาวดารล้านช้างเรื่องนายจันทพานิช ถ่อเรือขึ้นล่องตามแม่น้ำโขงเพื่อค้าขายระหว่างหลวงพระบาง-เวียงจันท์)

ชาวสยามลุ่มน้ำโขง (โดยผู้ไทและชาติพันธุ์อื่นๆ) มีเครือข่ายเป็นชาวสยามลุ่มน้ำท่าจีน-เจ้าพระยาและบริเวณคาบสมุทร แล้วมีหนาแน่นขึ้นเมื่อหลังจีนค้าสำเภาถึงอ่าวไทย และหนุนรัฐสุพรรณภูมิคุมการค้าข้ามคาบสมุทร พบในเอกสารจีนเรียกเสียน หรือเสียม มีศูนย์กลางอยู่เมืองสุพรรณ, เมืองเพชรบุรี, เมืองนครศรีธรรมราช ต่อมามีอำนาจยึดครองรัฐอยุธยาแล้วสถาปนาภาษาไทยเป็นภาษาราชการ (ส่วนภาษาเขมรเป็นราชาศัพท์) เอกสารยุโรปเรียก “ราชอาณาจักรสยาม”

สำเนียงสองฝั่งโขง เป็นต้นตอสำเนียง “เหน่อ” ทั้งนี้ สืบเนื่องจากชาวสยาม “เสียมกุก” บริเวณเวียงจันท์ถึงหลวงพระบางพูดภาษาไทย (เป็นภาษากลาง) ด้วยสำเนียงสองฝั่งโขงสมัยนั้นซึ่งน่าจะเป็นต้นตอสำเนียง “เหน่อ” ของภาคกลางเมื่อภาษาไทยของชาวสยามสองฝั่งโขงเคลื่อนที่ตามเส้นทางคมนาคมการค้าภายในถึงลุ่มน้ำเจ้าพระยา

และเป็น “สำเนียงโคราช” เมื่อเคลื่อนไปทางต้นน้ำมูล แล้วแพร่กระจายลงบริเวณคาบสมุทรถึงภาคใต้เป็น “สำเนียงใต้”

 

“เสียมกุก” นุ่งผ้าแบบผู้ไท

ชาวสยามในภาพสลัก “เสียมกุก” นุ่งผ้าผืนพันรอบตัวเหมือนนุ่งโสร่งโดยให้เชิงผ้าข้างล่างผายเล็กน้อยแบบผ้านุ่งผู้ไท เรื่องนี้จิตร ภูมิศักดิ์ อธิบายไว้ในหนังสือความเป็นมาของคำสยามฯ (พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ.2519 หน้า 130-150) ส่วนผู้รู้เรื่องผู้ไทเขาย้อย เพชรบุรี บอกว่าโดยทั่วไปในปัจจุบันหญิงผู้ไทนุ่งผ้าซิ่น “ลายแตงโม” ปล่อยชายผ้าย้วยด้วยการนุ่งแบบหน้าสั้น หลังยาว

การนุ่งผ้าแบบผู้ไทมีรากเหง้าต้นตอพบหลักฐานลายสลักบนเครื่องมือสำริดรูปช่างขับช่างแคนหมอลำหมอแคน นุ่งผ้าปล่อยยาวทิ้งชายผ้าสองข้างอย่างเดียวกันทั้งหญิงชายโดยไม่แบ่งเพศทำท่าฟ้อนแคนในวัฒนธรรมดองซอน (เวียดนาม) 2,500 ปีมาแล้ว สิ่งเหล่านี้ล้วนสนับสนุนว่าผู้ไทเมืองแถนเป็นส่วนหนึ่งของชาวสยามใน “เสียมกุก” และใน “ราชอาณาจักรสยาม”