ชาวกูย โขง, ชี, มูล ค้าช้างสมัยอยุธยา | สุจิตต์ วงษ์เทศ

คนถือหนังปะกำในมือขวาขณะคร่อมบนหลังช้างในการโพนช้าง ภาพขยายจากลายเส้นของกรมศิลปากร คัดจากลายนูนบนกระบวยสำริด ราว 2,500 ปีมาแล้ว หรือเรือน พ.ศ.1 น่าเชื่อว่าเป็นบรรพชนชาวกูยหรือกวย (รวมทั้งชาติพันธุ์อื่นๆ ที่ชำนาญจับช้าง) เมื่อหลายพันปีมาแล้ว ส่งต่อความรู้และประสบการณ์การโพนช้างสืบเนื่องถึงทุกวันนี้ [จากหนังสือ โนนหนองหอ แหล่งผลิตกลองมโหระทึกในประเทศไทย ข้อมูลจากการขุดค้นแหล่งโบราณคดีโนนหนองหอ ต.นาอุดม อ.นิคมคำสร้อย จ.มุกดาหาร ระหว่าง พ.ศ.2551-2553 พิมพ์เผยแพร่โดยสำนักศิลปากรที่ 9 อุบลราชธานี กรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม (ไม่บอกปีที่พิมพ์) หน้า 208-210]

ชาวกูย โขง, ชี, มูล

ค้าช้างสมัยอยุธยา

 

คนพื้นเมืองดั้งเดิมของลุ่มน้ำมูล เทือกเขาดงรัก เรียกตนเองว่า “กูย” แปลว่า “คน” แต่ถูกคนชั้นนำกรุงรัตนโกสินทร์เรียก “ส่วย” แปลว่าขี้ข้า

ส่วยเป็นชื่อที่คนกลุ่มหนึ่งชำนาญจับช้าง, เลี้ยงช้าง ใช้เรียกตนเองด้วยเข้าใจว่าเป็นชื่อของตนเองมาแต่เดิมที่มีหลักแหล่งอยู่ลุ่มน้ำมูล เทือกเขาดงรัก (แถบจังหวัดบุรีรัมย์, ศรีสะเกษ, อุบลราชธานี) แต่ความจริงตามหลักฐานประวัติศาสตร์คำว่าส่วยแปลว่าขี้ข้า ซึ่งเป็นชื่อที่คนชั้นนำสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์ใช้เรียกอย่างเหยียดต่อคนลุ่มน้ำมูล เทือกเขาดงรักเป็น “เขมรป่าดง” ที่ต้องส่งส่วยให้คนชั้นนำกรุงเทพฯ (ส่วย คือสิ่งของที่รัฐเรียกเก็บจากราษฎรแทนแรงงาน เช่น ครั่ง, ฝาง, ไม้เนื้อหอม, น้ำมันยาง, ขี้ไต้ ฯลฯ

โดยเฉพาะทองคำ (ที่ได้จากการร่อนตามริมแม่น้ำบริเวณลุ่มน้ำโขงและสาขา ใช้ทำทองคำเปลวและเครื่องประดับต่างๆ)

 

กูย, กวย มีบรรพชน 2,500 ปีมาแล้ว

กูย เป็นชื่อเรียกตนเองและชื่อที่คนอื่นเรียกตั้งแต่ดั้งเดิมดึกดำบรรพ์หลายพันปีมาแล้ว ซึ่งอาจกลายสำเนียงว่า กุย, กวย, โก็ย ก็ได้ ทั้งหมดนี้มีความหมายเดียวกันว่าคน (ไม่ใช่ผี) แต่ในเอกสารเก่าสมัยอยุธยาเรียกตรงกันว่า “กวย” ดังนั้น ในที่นี้จะเรียก “กวย” ตามเอกสารเก่า

กูย หรือกวยมีบรรพชนเป็นคนดั้งเดิมดึกดำบรรพ์สุวรรณภูมิ มีหลักแหล่งอยู่สองฝั่งโขง โดยเฉพาะฝั่งซ้ายในเขตลาวบริเวณแขวงอัตตะปือ, จำปาสัก, สาละวัน ฯลฯ

ส่วนฝั่งขวาในเขตไทยอยู่แถบมุกดาหารและพื้นที่ต่อเนื่องถึงน้ำมูล-ชี ซึ่งมีเทคโนโลยีก้าวหน้าในการถลุงแร่และหล่อโลหะผสม เรียก “ทองสำริด” ขณะเดียวกันมีประสบการณ์ชำนาญจับช้างป่า “โพนช้าง” มาฝึกใช้งานเป็นช้างบ้าน ส่งขายได้ต่อไปข้างหน้า

 

กวย สมัยอยุธยา มีฐานะทางสังคมสูง

ชาวกวยมีฐานะทางสังคมสูงมากในรัฐอยุธยาตอนต้น มากกว่า 500 ปีมาแล้วตั้งแต่ก่อน พ.ศ.2000 [กวย บางทีกลายเสียงเป็น กุย, โก็ย (อยู่ในตระกูลภาษามอญ-เขมร แปลว่าคน) เป็นชื่อเรียกตนเองของคนพื้นเมืองดั้งเดิมกลุ่มหนึ่งบริเวณลุ่มน้ำโขง เมื่อหลายพันปีมาแล้ว]

จิตร ภูมิศักดิ์ ระบุว่า “กวยในครั้งนั้นมีฐานะทางสังคมเป็นชาวต่างประเทศอิสระ มิได้เป็นพวกข้าไพร่ในราชอาณาจักร, หากมีประเทศบ้านเมืองของตนต่างหาก” (จากหนังสือ “ความเป็นมาของคำสยามฯ” พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ.2519) ครั้นเศรษฐกิจ-การเมืองเปลี่ยนไปเมื่อถึงกรุงรัตนโกสินทร์หลัง พ.ศ.2325 ชาวกวยถูกเรียกว่าส่วย แปลว่าขี้ข้า

ส่วย หรือ ไพร่ส่วย มีคำอธิบายในหนังสือความเป็นมาของคำสยามฯ โดยสรุปรวมๆ ว่าเป็นชื่อเรียกตามพันธะทางสังคม มิได้กำหนดจากชาติพันธุ์ ฉะนั้น ส่วยหรือไพร่ส่วยจึงประกอบด้วยคนหลายเผ่าหลายชาติพันธุ์ สุดแต่ว่าเมื่อมีพันธะส่งส่วยของป่าแล้วเป็นถูกเรียกพวกส่วยทั้งนั้น แต่อย่างไรก็ดี ในเขตใต้น้ำมูลนี้ชาติพันธุ์ที่มีจำนวนมากที่สุดที่ต้องส่งส่วยสิ่งของนั้น คือชาติพันธุ์ตระกูลภาษามอญ-เขมร อันเป็นพวกเดียวกับที่อยู่ในป่าเขาแถบเหนือของเขมร

คำว่า “ส่วย” จึงเลยกลายมาเป็นชื่อของกลุ่มชนไปเสียแล้ว โดยมิได้มีความรังเกียจชื่อนี้แต่อย่างใด เพราะไม่รู้ความหมายแท้จริง

ฐานะทางสังคมสูงของชาวกูย, กวย สมัยอยุธยา มีกว้างๆ ดังนี้

1. ชาวกวยเป็นชาติพันธุ์อิสระ ไม่เป็นข้าไพร่ของรัฐอยุธยา พบหลักฐานในกฎหมายลักษณะอาญาหลวง พ.ศ.1974 (หรือ 1976) ระบุชื่อกลุ่มคนต่างชาติในรัฐอยุธยา ซึ่งมี “กวย” อยู่ด้วย มีฐานะทางสังคมเสมอฝรั่งตะวันตก และจีน, จาม ที่เข้าไปค้าขายมีทั้งชาวตะวันตกและชาวตะวันออก รวม 10 กลุ่ม ได้แก่ ฝรั่ง, อังกฤษ, กปิตัน, วิลันดา, คุลา, ชวา, มลายู, แขก, กวย, แกว

ในกฎหมายฉบับเดียวกันยังมีบอกต่อไปอีกว่าชาวต่างประเทศทั้งหลายที่มาค้าขายทางบกทางเรือ จะเห็นว่ามี “กวย” รวมไว้อีก ได้แก่ แขกพราหมณ์, ญวน, ฝรั่ง, อังกฤษ, จีน, จาม, วิลันดา, ชวา, มลายู, กวย, ขอม, พม่า, รามัญ

2. ชาวกวยมีบ้านเมืองของตนเองอยู่ลุ่มน้ำโขง พบหลักฐานในกฎมณเฑียรบาลระบุรายชื่อ 20 เมืองที่ต้องถวายดอกไม้ทองเงิน มีชื่อเมืองอยู่บริเวณลุ่มน้ำโขง 2 เมือง ได้แก่ เมืองโคตรบอง กับเมืองเรวแกว

เมืองโคตรบอง มีความทรงจำเป็นคำบอกเล่าสืบต่อยาวนานว่าอยู่สองฝั่งโขงบริเวณตั้งแต่เวียงจันท์ (ฝั่งลาว) ถึงนครพนม (ฝั่งไทย) มีประชากรหลายชาติพันธุ์ทั้งตระกูลมอญ-เขมร, มลายู ฯลฯ

เมืองเรวแกว มีความทรงจำเป็นคำบอกเล่าพร้อมหลักฐานอีกมากอยู่บริเวณเมืองจำปาสัก (ฝั่งลาว) มีปราสาทวัดพู เป็นศูนย์กลางศักดิ์สิทธิ์ ส่วนชื่อ “เรวแกว” ตรงกับเรอแดว หรือระแด เป็นชาติพันธุ์ในวัฒนธรรมจาม พูดตระกูลภาษามลายู และมีตระกูลมอญ-เขมรปะปนอยู่ด้วย

3. ชาวกวยค้าช้าง และ “ของป่า” พบหลักฐานหลายอย่างรวมทั้งประเพณีสืบเนื่องถึงปัจจุบัน แสดงว่าชาวกวยชำนาญจับช้าง หรือ “โพนช้าง” ในป่าสองฝั่งโขง และมูล, ชี แล้วต้อนช้างเดินบกเลียบลำน้ำมูลสู่ลำน้ำป่าสัก เข้าอยุธยา ส่วน “ของป่า” เป็นสิ่งพลอยได้จึงขนไปด้วย

การค้าช้างของบ้านเมืองสุวรรณภูมิมีแล้วก่อนสมัยอยุธยา แต่ไม่พบหลักฐานทางการ หลักฐานค้าช้างเพิ่งพบจริงจังสมัยอยุธยา [มีในบทความเรื่อง “ค้าช้างสมัยอยุธยา” ของ ดร.จุฬิศพงศ์ จุฬารัตน์ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พิมพ์ใน ศิลปวัฒนธรรม ปีที่ 25 ฉบับที่ 3 (มกราคม 2547) หน้า 114-122]

ช้างถูกส่งขายทางเรือข้ามทะเลอันดามัน อ่าวเบงกอล จากท่าเรือเมืองทวาย, เมืองมะริด ตะนาวศรี, เมืองตรัง ฯลฯ ไปทมิฬอินเดียใต้ และลังกา

เรื่องนี้ไมเคิล ไรท์ (นักปราชญ์ “ฝรั่งคลั่งสยาม” ชาวอังกฤษ) เคยเขียนเล่าว่าอินเดียใต้และลังกาซื้อช้างจากสยามไปทำสงคราม (อยู่ในบทความเรื่อง “พระเจ้าช้างเผือกและการค้าช้าง” พิมพ์ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับ 12 ตุลาคม พ.ศ.2529 หน้า 32-33) แต่อาจนำช้างจากสยามและที่อื่นๆ ในสุวรรณภูมิไปใช้กิจกรรมอื่นๆ ด้วย