สุจิตต์ วงษ์เทศ : ‘ช้างบ้าน’ เก่าสุด พบในไทยหลายพันปีมาแล้ว

 

‘ช้างบ้าน’ เก่าสุด

พบในไทยหลายพันปีมาแล้ว

 

ช้างป่าถูกจับมาฝึกเป็นช้างบ้านเพื่อใช้งานตามต้องการของคน พบเก่าสุดขณะนี้อยู่ในไทยบริเวณลุ่มน้ำโขง อ.นิคมคำสร้อย จ.มุกดาหาร ราว 2,500 ปีมาแล้ว หรือเรือน พ.ศ.1 (แสดงว่าวิถีอย่างนี้ต้องมีนานมากก่อนหน้านั้นอาจเป็นพันปีก็ได้)

หลักฐานที่พบอยู่บนกระบวยสำริดเป็นลายนูนรูปช้าง มีคนบนหลังช้างถือเชือกบ่วง (หรือเชือกบาศ) แสดงอาการอย่างปัจจุบันเรียก “โพนช้าง” เป็นพยานสำคัญว่าการจับช้างไม่มีตำราจากอินเดีย (ตามที่เชื่อถือมานานมาก) แต่เป็นประสบการณ์ตรงของคนพื้นเมืองสมัยที่ยังไม่รู้จักติดต่ออินเดีย

ภาพ “กระบวยสำริด (Bronze dipper) สภาพค่อนข้างสมบูรณ์มีสนิมจับหมดทั้งใบ ลักษณะเป็นกระบวยมีด้าม มีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 7 เซนติเมตร สูง 6.7 เซนติเมตร ด้ามจับยาว 13 เซนติเมตร ตัวกระบวยมีลายนูนรูปกวางอยู่โดยรอบ ด้านหน้ากระบวยทำลายเป็นรูปช้างมีคนถือขอสับนั่งอยู่บนหลังช้าง ส่วนปากกระบวยทำเป็นรูปครึ่งวงกลม ส่วนก้นทำเป็นรูปครึ่งวงกลมวางสลับหันหลังชนกันคล้ายใบไม้ ส่วนก้นตรงกลางทำเป็นลายดวงตะวันแปดแฉกแบบเดียวกับที่ปรากฏบนหน้ากลองมโหระทึก ส่วนด้ามหล่อตันโดยนำมาเชื่อมติดภายหลัง” [ภาพและคำอธิบายจากหนังสือ โนนหนองหอ แหล่งผลิตกลองมโหระทึกในประเทศไทย ข้อมูลจากการขุดค้นแหล่งโบราณคดีโนนหนองหอ ต.นาอุดม อ.นิคมคำสร้อย จ.มุกดาหาร ระหว่าง พ.ศ.2551-2553 พิมพ์เผยแพร่โดยสำนักศิลปากรที่ 9 อุบลราชธานี กรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม (ไม่บอกปีที่พิมพ์) หน้า 208-210]

 

โพนช้าง หมายถึง จับช้างป่าแบบคนพื้นเมืองเพื่อหาช้างไว้ใช้งานในครอบครัวตามประเพณีดั้งเดิมดึกดำบรรพ์ของคนพื้นเมืองสุวรรณภูมิ-อุษาคเนย์หลายพันปีมาแล้ว

คนถือหนังปะกำในมือขวาขณะคร่อมบนหลังช้างในการโพนช้างราว 2,500 ปีมาแล้ว หรือเรือน พ.ศ.1 (ภาพขยายจากลายเส้นของกรมศิลปากร)

คำว่า “โพน” มีความหมายเกี่ยวกับการจับช้าง แต่ยังตรวจสอบไม่ได้ว่ามีรากจากภาษาอะไร? พบในคำของชาวกูย หรือกวย (พูดตระกูลภาษามอญ-เขมร แต่สมัยรัตนโกสินทร์ชาวกูยหรือกวยถูกเรียกจากภาคกลางว่า “ส่วย” แปลว่า ขี้ข้า) อยู่แถบลุ่มน้ำมูลในอีสานใต้

โพนช้างด้วย “ปะกำ” หรือเชือกบาศติดปลายไม้รวกเหมือนถ่อเพื่อส่งไปคล้องตีนช้าง [ภาพจากบทความเรื่อง “โพนช้าง” ของรจน์ โสตศิริ (อดีตอาจารย์ประจำคณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์) พิมพ์ในวารสารเมืองโบราณ (ฉบับที่ 2 ปีที่ 1) มกราคม-มีนาคม พ.ศ.2518 หน้า 38-49]
ปะกำ เป็นภาษาโพน (หมายถึงภาษาของการโพนช้าง ซึ่งอาจเป็นตระกูลภาษามอญ-เขมร) หมายถึงหนังปะกำ หรือเชือกปะกำ ทำจากหนังควาย [ยุทธพงศ์ มาตย์วิเศษ (หมอขวัญร้อยเอ็ด) บอกว่าหนังปะกำนิยมหนังควายตัวเมีย เพราะหนังเหนียวกว่าควายตัวผู้] แต่บางทีเรียกเชือกบ่วง หรือเชือกบาศ ใช้คล้องตีนช้าง (เมื่อโพนช้าง)

ไม้คันจามกับเชือกปะกำ (ภาพจาก สารานุกรมวัฒนธรรมไทย ภาคอีสาน เล่ม 2 มูลนิธิสารานุกรมวัฒนธรรมไทย ธนาคารไทยพาณิชย์ พ.ศ.2542)

หนังปะกำ เป็นเครื่องมือโพนช้างซึ่งเฮี้ยน เพราะมีผีสิง เรียก ผีปะกำ ครั้นนานไปได้รับยกย่องเป็นเทพ เรียกเทพกรรม หรือเทวกรรม (ไม่พบในทำเนียบเทวดาอินเดีย) พบในพิธีกรรมสำคัญๆ ได้แก่ พิธีถือน้ำพระพัทธ์, พิธีครอบ เป็นต้น