สุจิตต์ วงษ์เทศ : พระลอ เป็น ‘นิยาย’ แต่งสมัยกรุงเทพฯ

(ซ้าย) งานศึกษาค้นคว้าของฉันทิชย์ กระแสสินธุ์ พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ.2497 สรุปว่าพระลอลิลิต แต่งโดยพระมหาราชครู แผ่นดินพระนารายณ์ และแต่งซ่อมโดยกรมสมเด็จพระปรมานุชิตชิโนรส (ขวา) ฉันทิชย์ กระแสสินธุ์ บรรยายภาพว่า "ต้นฉบับสมุดไทยเรื่อง พระลอลิลิต อักษรชุบรง, หรดาน และดินสอขาว ฉบับเก่าที่สุดเป็นฝีมืออาลักษณ์ชุบในรัชกาลที่ 3 มีอยู่ ณ หอสมุดแห่งชาติ รวม 25 ฉบับที่นำมาเป็นหลักสำหรับตรวจสอบและชำระในการพิมพ์ครั้งนี้" (หมายถึงในการพิมพ์ครั้งแรก พ.ศ.2497)

 

พระลอ เป็น ‘นิยาย’

แต่งสมัยกรุงเทพฯ

 

พระลอคือ “นิยาย” ที่ถูกแต่งเป็นลิลิต (ซึ่งประกอบด้วยโคลงและร่ายสลับกัน) เมื่อสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์

แต่นักวิชาการกระแสหลักเชื่อถือข้อมูลชุดตามจารีตว่าพระลอเป็นเรื่องจริงที่ถูกแต่งสมัยอยุธยาตอนต้น

 

สมเด็จฯ บอกว่าพระลอ แต่งสมัยอยุธยาตอนต้น

พระลอเป็นวรรณกรรมสมัยอยุธยาตอนต้น ที่แต่งในแผ่นดินพระบรมไตรโลกนาถ ระหว่าง พ.ศ.1991-2026 (ก่อนรัชกาลพระนารายณ์) ตามมติชี้ขาดของสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ เกือบ 90 ปีมาแล้ว ตั้งแต่ พ.ศ.2475

หลักฐานสำคัญยืนยันว่าพระลอต้องแต่งก่อนรัชกาลพระนารายณ์ ได้แก่ หนังสือจินดามณี แต่งในรัชกาลพระนารายณ์ (โดยพระโหราธิบดี) ได้คัดต้นแบบโคลง 4 จากโคลงลิลิตพระลอ คือบทที่ขึ้นต้นว่า “เสียงลือเสียงเล่าอ้าง อันใด พี่เอย”

[จากหนังสือบันทึกสมาคมวรรณคดี ปีที่ 1 ฉบับที่ 5 วันที่ 21 มิถุนายน พ.ศ.2475 อ้างไว้ในหนังสือวรรณกรรมสมัยอยุธยา เล่ม 1 กรมศิลปากร พิมพ์เผยแพร่ พ.ศ.2529 หน้า (7)-(9)]

 

คิดต่างจากสมเด็จฯ

นักค้นคว้าทางวรรณกรรมที่คิดต่างจากสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ มีไม่มาก แต่บุคคลสำคัญคือ ฉันทิชย์ กระแสสินธุ์ (พ.ศ.2451-2516) มีความเห็นต่างดังนี้

พระลอลิลิตแต่งโดยพระมหาราชครู คือ พระโหราธิบดีในสมัยอยุธยาระหว่าง พ.ศ.2199-2231 (รัชกาลพระนารายณ์) ต่อมาในสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์ สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรส ทรงพระนิพนธ์ซ่อมให้สมบูรณ์เป็นสำนวนที่ใช้อ่านทุกวันนี้

จินดามณีอ้างโคลงแบบฉบับจากพระลอ “ข้อนี้ไม่เห็นแปลกอะไร เพราะผู้รจนาเป็นคนเดียวกัน จะหยิบยกตอนหนึ่งตอนใดที่ตนแต่งเองมาให้ถือเป็นแบบอย่างก็ได้” [พระมหาราชครู คือผู้แต่งพระลอ เป็นความคิดที่มีนานแล้วตั้งแต่สมัย ร.3 โดยคุณพุ่ม (กวีหญิง) แต่งกลอนเฉลิมพระเกียรติฯ พบความตอนหนึ่งกล่าวถึงแผ่นดินพระนารายณ์ว่า “เกิดมหาราชครูชูฉลาด ได้รองบาทบงกชบทศรี แต่งพระลอดิลกทรงหลงสตรี กับพระศรีสมุทรโฆษก็โปรดปราน”]

ส่วนที่ว่ากรมสมเด็จพระปรมานุชิตชิโนรสทรงพระนิพนธ์ซ่อม เพราะพบหลักฐานต้นฉบับสมุดข่อยพระลอลิลิตของพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว (ที่พระยาไชยนันทน์นิพัทธพงศ์ทูลเกล้าฯ ถวาย เมื่อ พ.ศ.2451) และฉบับอื่นๆ มีบันทึกบอกชัดแจ้งว่า “โคลงใหม่ฉบับขาดแทรก” แสดงว่าพระลอมีหลายสำนวน มิใช่สำนวนเดียวของพระมหาราชครู และสำนวนที่คุ้นกันทั่วไป (เมื่อเทียบพระนิพนธ์ตะเลงพ่าย) เป็นของกรมสมเด็จพระปรมานุชิตชิโนรส

[จากหนังสือประชุมวรรณคดีไทย ภาค 2 พระลอลิลิต โดยฉันทิชย์ กระแสสินธุ์ (ผู้รวบรวมและเรียบเรียง) ตำรา ณ เมืองใต้ (ผู้นำเสนอ) ไทยวัฒนาพานิช พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ.2497]

 

ต้นฉบับพระลอบนสมุดข่อยเก่าสุด สมัย ร.3

ต้นฉบับพระลอเป็นสมุดข่อยเก่าสุดเขียนด้วยลายมืออาลักษณ์สมัย ร.3 ไม่พบต้นฉบับลายมือเก่ากว่านั้น ซึ่งเท่ากับสมัยอยุธยาไม่พบต้นฉบับพระลอเขียนด้วยลายมือบนสมุดข่อย

“ฉบับเก่าสุดเป็นฝีมืออาลักษณ์ชุบในรัชกาลที่ 3 มีอยู่ ณ หอสมุดแห่งชาติ รวม 25 ฉบับ ที่นำมาเป็นหลักสำหรับตรวจสอบและชำระ” ฉันทิชย์ กระแสสินธุ์ บรรยายภาพประกอบรูปสมุดข่อยต้นฉบับเรื่องพระลอที่นำมาเป็นข้อมูลชำระในหนังสือพระลอลิลิต (พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ.2497)

จินดามณีฉบับลายมือเขียนเก่าสุดพบในแผ่นดิน ร.1 เมื่อ พ.ศ.2325 (จากหนังสือวรรณกรรมสมัยอยุธยา เล่ม 2 กรมศิลปากร พิมพ์เผยแพร่ พ.ศ.2530 หน้า 436) เท่ากับเป็นหลักฐานว่าจินดามณีที่แต่งสมัยอยุธยาแผ่นดินพระนารายณ์ไม่เคยพบต้นฉบับจริง และมีจริงหรือไม่ก็ยืนยันไม่ได้? ส่วนที่ว่าฉบับลายมือเขียนเก่าสุดแผ่นดิน ร.1 จะสร้างขึ้นใหม่หรือคัดลอกอะไรต่อมิอะไรรวมๆ ไว้ที่เดียวกันก็หาข้อยุติมิได้ แต่ที่สำคัญคือไม่มีโคลงแบบฉบับตามที่อ้างสืบต่อกันมาช้านาน

โคลงแบบฉบับจากพระลอว่า “เสียงลือเสียงเล่าอ้าง” ไม่พบในจินดามณีฉบับเก่าสุดลายมือเขียนก่อนแผ่นดิน ร.3 แต่พบฉบับลายมือเขียนในแผ่นดิน ร.3 แสดงให้เห็นว่าเพิ่งเขียนโคลงแบบฉบับใส่ลงไว้ในแผ่นดิน ร.3 [จากหนังสือพระคัมภีร์ จินดามณี ของฉันทิชย์ กระแสสินธุ์ พิมพ์เป็นที่ระลึกในงานพระราชทานเพลิงศพ พระภัทรมุนี (อิ๋น สัตยาภรณ์) ภทฺรมุนี เจ้าอาวาสวัดทองนพคุณ ณ เมรุวัดทองนพคุณ วันที่ 13 มกราคม พ.ศ.2505 หน้า (37)]

 

พระลอ เริ่มจาก “ขับซอ”

พระลอเป็นวรรณกรรมสำคัญเรื่องหนึ่งซึ่งรู้จักทั่วไปในชื่อ “ลิลิตพระลอ” พบหลักฐานว่ากรมสมเด็จพระปรมานุชิตชิโนรส (กวีสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์) ทรงเกี่ยวข้องอย่างลึกซึ้งต่อการรวบรวมเรื่องเดิมและทรงแต่งซ่อมเกือบทั้งหมด เพราะโคลงทั้งเล่มพระลอเทียบไม่ได้กับโคลงสมัยอยุธยา

พระลอคือ “เรื่องแต่ง” เป็น “นิยาย” มีโครงสร้างเรื่องเดิมเป็นส่วนต่อจากมหากาพย์โคลงลาวท้าวฮุ่งท้าวเจือง ดังนั้น พระลอน่าจะเป็นความทรงจำจากคำคล้องจองตกทอดสืบต่อกันมานานมาก

ครั้นหลังจากนั้นมีเล่าเรื่องตามประเพณี “ขับซอ” ลุ่มน้ำโขงจากล้านนา-ล้านช้าง ลงลุ่มน้ำเจ้าพระยา ราว 800 ปีมาแล้ว ตั้งแต่หลัง พ.ศ.1700 (“ขับซอ” มีต้นตอนานมากกว่า 800 ปีมาแล้ว ส่วนพระลอมีกำเนิดหลังจากนั้น)

ต่อมา “ขับซอ” เล่านิทานเริ่มแพร่หลายก่อนในชุมชนชาวสยามแห่งรัฐสุพรรณภูมิ ลุ่มน้ำท่าจีน นิยายที่ใช้ “ขับซอ” มีอย่างน้อย 2 เรื่อง ได้แก่ พระลอ กับ ขุนแผน (ต้นตอขับเสภาขุนช้างขุนแผน) ครั้นเรือน พ.ศ.2000 “ขับซอ” เรื่องพระลอและเรื่องอื่นๆ จึงแพร่หลายในรัฐอยุธยาตามการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองและสังคมสมัยนั้น

“ขับซอ” ตามประเพณีลุ่มน้ำโขงเมื่อแพร่หลายในรัฐอยุธยา พบหลักฐานสำคัญๆ ดังนี้ (1.) “ปี่แคนซอ” หมายถึง “ซอปี่” คือขับร้องเข้ากับเสียงคลอของปี่หรือแคน พบในอนิรุทธคำฉันท์ (2.) “เดินดีดเพลี้ยเพลงพาล เรียกชู้” หมายถึงร้องเพลงคลอด้วยเสียงดีดเปี๊ยะ (เครื่องดีดเหมือนพิณ) พบในกำสรวลสมุทรโคลงดั้น (3.) ช่างขับพร้อมตีกรับเป็นกลุ่มรับจ้างเล่นในงานแต่งงานและงานทั่วไป พบในบันทึกของลาลูแบร์ (ราชทูตฝรั่งเศส) เล่าเรื่องอยุธยาแผ่นดินพระนารายณ์