สุจิตต์ วงษ์เทศ : ‘ลูกผู้ชายลายมือนั้นคือยศ’ กีดกันทางเพศด้วยอักษรไทย

หญิงมีฐานะทางสังคมต่ำกว่าชาย ดังนั้น หญิงไม่มีโอกาสเรียนรู้อักษรแล้วมียศถาบรรดาศักดิ์เหมือนชาย จึงต้องคอยปรนนิบัติพัดวีผู้ชาย (ภาพถ่ายสมัย ร.4)

 

‘ลูกผู้ชายลายมือนั้นคือยศ’

กีดกันทางเพศด้วยอักษรไทย

 

อักษรไทยสมัยแรกเป็นสมบัติของคนชั้นนำเพศชาย จึงไม่เป็นเครื่องมือสื่อสารแสวงหาความรู้ของสามัญชนคนทั่วไปที่เขียนไม่ได้อ่านไม่ออก โดยเฉพาะเพศหญิง

การเรียนรู้อักษรไทยสมัยแรกกีดกันเพศหญิง ดังเป็นที่รู้ทั่วไปว่าผู้ชายเมื่ออายุครบ 20 ปีบริบูรณ์ต้อง “บวชเรียน” ตามประเพณี หมายถึงบวชเป็นภิกษุแล้วได้เรียนอักษร “ขอมไทย” และอักษรไทย ส่วนผู้หญิงไม่อนุญาตให้บวชเป็นภิกษุณี จึงไม่ได้เรียนอักษรเหมือนเพศชาย

ในกลุ่มคนชั้นนำของไทยเป็นที่รับรู้ทั่วกันว่าการเรียนรู้อักษรศาสตร์หรือศิลปศาสตร์เป็นสมบัติของ “ผู้ดี” ที่เป็นเพศชายเท่านั้น โดยกีดกันเพศหญิงอย่างเข้มงวด จึงมีคำสอนอย่างแข็งขันว่า “ลูกผู้ชายลายมือนั้นคือยศ”

คำว่า “ลายมือ” ในกลอนเสภาที่ยกมาหมายถึงอ่านเขียนเรียนหนังสือ (จากกลอนเสภาขุนช้างขุนแผนตอนนางวันทองสอนลูกชายชื่อ “พลายงาม” ขณะสั่งเสียให้เดินดงคนเดียวหนีขุนช้างจากเมืองสุพรรณบุรีไปอยู่กับย่าทองประศรีที่เมืองกาญจนบุรีสมัยนั้นอยู่ลาดหญ้า)

 

อักษรไทยมาจากอักษรเขมร

อักษรไทย คืออักษรเขมรที่ถูกทำให้ง่ายด้วยอักขรวิธีง่ายที่สุดในภูมิภาคอุษาคเนย์ภาคพื้นทวีปทั้งในอดีตและปัจจุบัน เพราะถูกพัฒนาขึ้นสำหรับคนที่ไม่ได้พูดภาษาไทยเป็นภาษาแม่

อักษรไทยและอักขรวิธีสมัยแรกใช้เขียน (ตวัดหาง) บนสมุดข่อย หลังจากนั้นจึงมีผู้ปรับปรุงใช้สลักหินด้วยตัวเหลี่ยมมนในบ้านเมืองตอนบนของลุ่มน้ำเจ้าพระยา

อักษรไทยไม่ได้เกิดจากปาฏิหาริย์การประดิษฐ์คิดค้นของใครคนใดคนหนึ่งเพียงคนเดียว และเป็นไปไม่ได้ที่จะเกิดมีขึ้นในปีหนึ่งปีใดเพียงปีเดียว แต่อักษรไทยต้องเกิดจากความจำเป็นอย่างใดอย่างหนึ่งในสังคม ด้วยพลังผลักดันของอำนาจการเมือง เป็นระยะเวลายาวนานมากก่อนเป็นอักษรไทยโดยวิธีดัดแปลงจากอักษรที่มีอยู่ก่อนและใช้กันมาก่อนอย่างคุ้นเคย

ถ้านับจากอักษรไทยย้อนกลับไปหารากเหง้า จะพบว่าอักษรไทยได้แบบจากอักษรเขมรที่เรียก “อักษรขอม” ซึ่งวิวัฒนาการจากอักษรทวารวดี, อักษรปัลลวะ (ทมิฬ) ตามลำดับ ทั้งหมดนี้ล้วนเป็นต้นแบบให้มีอักษรไทยขึ้นที่รัฐอโยธยา-ละโว้ บริเวณลุ่มน้ำเจ้าพระยา โดยประมาณกว้างๆ เมื่อเรือน พ.ศ.1800

[สรุปจากหนังสือหลายเล่ม (1) ความไม่ไทย ของคนไทย ของนิธิ เอียวศรีวงศ์ สำนักพิมพ์มติชน พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ.2559 หน้า 63, (2) จารึกพ่อขุนรามคำแหง วรรณคดีประวัติศาสตร์การเมืองแห่งกรุงสยาม ของ ดร.พิริยะ ไกรฤกษ์ (พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ.2532) สำนักพิมพ์มติชน พิมพ์ครั้งที่สอง พ.ศ.2547 (ปรับปรุงใหม่), (3) สังคมไทยลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาก่อนสมัยศรีอยุธยา ของจิตร ภูมิศักดิ์ สำนักพิมพ์ไม้งาม พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ.2526 หน้า 7-15, (4) ภาษาและวรรณคดีในสยามประเทศ ของสุจิตต์ วงษ์เทศ สำนักพิมพ์มติชน พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ.2546, (5) อักษรไทย มาจากไหน? ของสุจิตต์ วงษ์เทศ สำนักพิมพ์มติชน พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ.2548]

 

กว่าจะเป็นอักษรไทย

คนพูดภาษาไทยขอยืมอักษรเขมรเขียนภาษาไทยอย่างคุ้นเคยอยู่นานมากเรียก “ขอมไทย” ซึ่งบอกไม่ได้ว่านานเท่าไร? อาจเป็นร้อยปี หรือมากกว่านั้น (ระหว่าง พ.ศ.1600-1900)

ครั้นถึงช่วงเวลาหนึ่งเมื่ออำนาจของภาษาและวัฒนธรรมของคนพูดภาษาไทยมีมากขึ้น (ขณะนั้นยังไม่พบหลักฐานว่าเรียกตนเอง “คนไทย”) จึงปรับปรุงอักษรเขมร (และอาจมีอักษรมอญกับอักษรอื่นๆ ด้วย) เพื่อใช้ถ่ายเสียงภาษาไทยที่พูดในชีวิตประจำวัน แล้วเรียกต่อมาสมัยหลังว่า “อักษรไทย”

เบื้องต้นของการปรับปรุง ได้แก่ ส่วนใดไม่มีในอักษรเขมร ก็คิดดัดแปลงแต่งเพิ่มเข้ามา เช่น ฃ, ฅ เป็นต้น ส่วนใดถูกใช้จนเคยชินตามอักษรเขมรแล้วก็คงรูปเดิมไว้ซึ่งมีทั้ง “ศก” และ “เชิง” ได้แก่ ฎ, ฏ, ฐ, ญ เป็นต้น สำหรับเลข ๑ ถึง ๙ คงรูปเดิมของเลขเขมร ส่วนเลข ๐ รับจากอินเดียหรืออาหรับตั้งแต่สมัยการค้าโลกเริ่มแรก

อักษรไทยที่พัฒนาจากอักษรเขมรและอื่นๆ ถูกใช้งานในกลุ่มคนชั้นนำ (ทั้งคฤหัสถ์และบรรพชิต) โดยเขียนบนสมุดข่อย (สีดำ) จนเป็นที่คุ้นเคยอย่างดีด้วยแท่งดินสอ (คำว่า สอ เป็นภาษาเขมร แปลว่า ดินขาว)

ต่อมาอักษรไทยแบบเขียนบนสมุดข่อยถูกดัดแปลงอีกทอดหนึ่งเป็นแบบสลักบนแผ่นหิน โดยปรับตัวอักษรมีลักษณะเหลี่ยมมนเพื่อง่ายต่อการแกะสลักหิน (ตามประเพณีในอาณาจักรกัมพูชา) จากนั้นแพร่หลายขึ้นไปรัฐสุโขทัย บริเวณลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนบน (หรือลุ่มน้ำยม-น่าน) มีความทรงจำอยู่ในพงศาวดารเหนือว่า “พระร่วงทำหนังสือไทย” ดังนี้

“เมื่อพระองค์จะลบศักราชพระพุทธเจ้า จึงให้นิมนต์พระอชิตเถระ และพระอุปคุตเถระ และพระมหาเถรไลยลาย คือพราหมณ์เป็นเชื้อมาแต่พระรามเทพ และพระอรหันต์เจ้าทั้ง 500 พระองค์ ทั้งพระพุทธโฆษาจารย์วัดรังแร้ง และชุมนุมพระสงฆ์เจ้าทั้งหลาย ณ วัดโคกสิงคาราม กลางเมืองศรีสัชนาลัย และท้าวพระยาในชมพูทวีป คือไทยและลาว มอญ จีน พม่า ลังกา พราหมณ์เทศเพศต่างๆ พระองค์เจ้าให้ทำหนังสือไทย เฉียงมอญ พม่า ไทย และขอม เฉียงขอม มีมาแต่นั้น” (พงศาวดารเหนือ)

ข้อความมีตอนหนึ่งกล่าวถึงบุคคลสำคัญว่า “พระมหาเถรไลยลาย คือพราหมณ์เป็นเชื้อมาแต่พระรามเทพ” น่าจะหมายถึง “พระมหาเถรศรีศรัทธาราชจุฬามุนีฯ” อดีตขุนศึกผู้คงแก่เรียน เชื้อสายเมืองละโว้ (อโยธยาศรีรามเทพ) ซึ่งเป็นหลานพ่อขุนผาเมืองในวงศ์ศรีนาวนำถุม ผู้สถาปนารัฐสุโขทัยโดยรับสนับสนุนจากรัฐละโว้ (มีรายละเอียดพร้อมหลักฐานอีกมากในหนังสือ พระปฐมเจดีย์ ไม่ใช่เจดีย์แห่งแรก แต่เป็นมหาธาตุหลวงยุคทวารวดี ของสุจิตต์ วงษ์เทศ สำนักพิมพ์มติชน พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ.2545 หน้า 117-163)

พระมหาเถรศรีศรัทธาฯ เป็นเจ้าของเนื้อความในศิลาจารึกสุโขทัยหลักที่ 2 (วัดศรีชุม) หรืออาจเป็นไปได้ว่าพระมหาเถรศรีศรัทธาฯ เกี่ยวข้องกับการทำจารึกวัดศรีชุมหลักนี้ ซึ่งหมายถึงเป็นเรื่องเดียวกับ “พระร่วงทำหนังสือไทย”

(พระร่วงในตำนานไม่เจาะจงหมายถึงกษัตริย์เมืองสุโขทัยองค์ใดองค์หนึ่งเพียงองค์เดียว แต่หมายถึงเจ้านายเมืองสุโขทัยและวงศ์เครือญาติที่อยู่เมืองอื่นก็ได้ ดังกรณีนิทานเรื่องพระร่วงไปเมืองจีน หมายถึง เจ้านครอินทร์แห่งเมืองสุพรรณภูมิมีเชื้อสายใกล้ชิดวงศ์สุโขทัย เมื่อกลับจากเมืองจีนได้ช่างจีนทำเครื่องสังคโลก ผลิตที่เมืองสุโขทัยและเมืองเครือญาติ)