สุจิตต์ วงษ์เทศ : เขียนด้วยอักษรเขมร เป็นวรรณกรรมไทยสมัยแรก

ภาษาไทยด้วยอักษรขอม วรรณกรรมไทยสมัยแรกๆ สืบเนื่องถึงสมัยหลังๆ มีในสมุดข่อย เรื่องสุวรรณสามชาดก

 

เขียนด้วยอักษรเขมร

เป็นวรรณกรรมไทยสมัยแรก

 

เมื่ออักษรไทยยังไม่มี ดังนั้น คนพูดภาษาไทยขอยืมอักษรเขมรจากรัฐละโว้ (ศูนย์กลางอยู่ลพบุรี) ใช้เขียนภาษาไทย

แต่รัฐละโว้ถูกเรียกอย่างยกย่องว่า “ขอม” จากคนพูดภาษาไทย ทำให้อักษรเขมรถูกเรียกตามไปด้วยว่า “อักษรขอม” แล้วนับถือเป็นอักษรศักดิ์สิทธิ์ ต่อมาพากันเรียกอักษรเขมรเมื่อเขียนภาษาไทยว่า “ขอมไทย” ใช้ในทางศาสนา-การเมืองของราชสำนัก พบทั่วไปบริเวณลุ่มน้ำเจ้าพระยาทั้งที่เป็นสมุดข่อย, ใบลาน และศิลาจารึก (เฉพาะศิลาจารึกพบมากทางภาคกลางตอนบน)

คนชั้นนำสมัยโบราณที่พูดภาษาไทย (หรือไท-ไต) ต้องเรียนรู้ขอมไทย พบนิทานเชิงสัญลักษณ์อยู่ในพงศาวดารโยนกว่าพระร่วงแห่งเมืองสุโขทัย กับพญางำเมืองแห่งเมืองพะเยา เป็นสหายต้องไปเรียนร่วมกันทางศิลปวิทยาการ (อันมีขอมไทยอยู่ด้วย) ในสำนักสุกทันตฤๅษี เขาสมอคอน เมืองละโว้

ขอมไทยได้รับการยกย่องนับถือตั้งแต่ก่อนมีอักษรไทย กระทั่งหลังมีอักษรไทย พบในการศึกษาของพระสงฆ์ต้องเรียนขอมไทย เพิ่งเลิกไปสมัยหลังแผ่นดิน ร.5

แม้ปัจจุบันการลงอักขระจะให้ขลังและศักดิ์สิทธิ์ต้องลงด้วยอักษรขอม

 

ขอมเป็นใคร? มาจากไหน?

ขอมไม่ใช่ชื่อชนชาติเฉพาะ ฉะนั้นไม่มีชนชาติขอมในโลก แต่ขอมเป็นชื่อทางวัฒนธรรมมีขึ้นราวหลัง พ.ศ.1500 ใช้สมมุติเรียกคนบริเวณลุ่มน้ำเจ้าพระยาที่นับถือศาสนาพราหมณ์และศาสนาพุทธมหายาน แล้วใช้ภาษาเขมรสื่อสารในชีวิตประจำวัน กับใช้อักษรเขมรในพิธีกรรมศักดิ์สิทธิ์

[เช่นเดียวกับคำว่าแขก ใช้สมมุติเรียกผู้นับถือศาสนาอิสลาม และคำว่าคริสต์ ใช้สมมุติเรียกผู้นับถือศาสนาคริสต์ (ปรับปรุงใหม่จากข้อเขียนนานมากแล้วของ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช)]

เขมรไม่เรียกตัวเองว่าขอม และไม่มีคำว่าขอมในเขมร แต่เขมรรู้ภายหลังว่าถูกไทยเรียกขอม

ศูนย์กลางขอมครั้งแรกอยู่ที่รัฐละโว้ (ลพบุรี) ต่อมาย้ายลงไปอยู่ที่อโยธยาศรีรามเทพ (ต่อไปคือกรุงศรีอยุธยา) แล้วถูกขยายสมัยหลังไปอยู่กัมพูชา ด้วยเหตุนี้ใครก็ตามจะถูกเรียกขอมทั้งนั้นเมื่อนับถือศาสนาพราหมณ์และศาสนาพุทธมหายาน แล้วสังกัดรัฐละโว้-อโยธยา และอาณาจักรกัมพูชา ไม่ว่ามอญ, เขมร, มลายู, ลาว, จีน, จาม หรือไทย ฯลฯ

แต่คนทั่วไปมักเข้าใจต่างกันเป็น 2 อย่างว่า ขอมคือเขมร และขอมไม่ใช่เขมร กรณีขอมไม่เขมรมีเหตุจากการเมืองสมัยใหม่ลัทธิชาตินิยมช่วงสงครามเย็น โดยเฉพาะกรณีพิพาทเรื่องปราสาทพระวิหารเพื่อแสดงว่าไทยเป็นเจ้าของ บรรดาคนชั้นนำไทยปลุกระดมว่าขอมสร้างปราสาทพระวิหาร ซึ่งไม่เขมร แต่ในทางวิชาการสากลคนทั้งโลกไม่เชื่อตามคนชั้นนำไทย

 

เรื่องมโหสถชาดก (ภาพสมุดข่อยวัดดอนกอก จ.เพชรบุรี)

 

ค้าสำเภากับจีน กระตุ้นเขียนภาษาไทยด้วยอักษรเขมร

เขียนภาษาไทยด้วยอักษรเขมรเรียก “ขอมไทย” น่าจะมีเมื่อรัฐละโว้กับรัฐสุพรรณภูมิร่วมกันสถาปนาเมืองศูนย์กลางใหม่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา บริเวณแม่น้ำลพบุรีกับแม่น้ำป่าสักไหลลงแม่น้ำเจ้าพระยา แล้วยกนามเมืองว่า “อโยธยาศรีรามเทพ” ราวหลัง พ.ศ.1600

เจ้านายรัฐละโว้กับเจ้านายรัฐสุพรรณภูมิเป็นเครือญาติใกล้ชิดทางการแต่งงาน มีความสัมพันธ์ลุ่มๆ ดอนๆ รวมกันแล้วแยกกัน ขึ้นอยู่กับผลประโยชน์ทางการค้าและการเมืองขณะนั้น โดยราชสำนักอโยธยามีขุนนางข้าราชการทั้งชาวละโว้พูดภาษาเขมร กับชาวสุพรรณภูมิพูดภาษาไทย แต่ภาษาไทยไม่มีตัวอักษร ส่วนภาษาเขมรมีอักษรเขมร ต่อมาเจ้านายขุนนางข้าราชการกลุ่มสุพรรณภูมิพูดภาษาไทยคิดค้นดัดแปลงเขียนภาษาไทยด้วยอักษรเขมร เพื่อการค้าและพิธีกรรมราชสำนักที่เกี่ยวข้องศาสนาและการเมืองการปกครอง ได้แก่ โองการแช่งน้ำ, กฎหมาย และอื่นๆ

รัฐละโว้กับรัฐสุพรรณภูมิร่วมกันสร้างอโยธยาเมืองใหม่ เป็นผลสืบเนื่องจากการค้ากับจีนคึกคักมั่งคั่งอย่างไม่เคยพบมาก่อนหลังจีนเปิดโลกค้าสำเภาด้วยตนเองถึงอ่าวไทย โดยมีแม่น้ำเจ้าพระยาเป็นเส้นทางคมนาคมการค้าทวีความสำคัญ เพราะเชื่อมอ่าวไทยกับแหล่งทรัพยากรอยู่ดินแดนภายในถึงลุ่มน้ำโขงและเหนือขึ้นไปถึงจีน

ก่อนและหลังสร้างอโยธยาเมืองใหม่ รัฐละโว้กับรัฐสุพรรณภูมิต่างโยกย้ายผู้คนหลายเผ่าพันธุ์ยึดพื้นที่มีชุมชนคนละย่าน ดังนี้

ชุมชนละโว้ ตั้งถิ่นฐานบ้านเรือนอยู่บริเวณแม่น้ำลพบุรี-ป่าสัก (เก่า) ไหลสบกัน (ปัจจุบันเรียกคลองหันตรา อ.พระนครศรีอยุธยา ต่อเนื่อง อ.อุทัย จ.พระนครศรีอยุธยา)

ชุมชนสุพรรณภูมิ ตั้งถิ่นฐานบ้านเรือนอยู่บริเวณ “เวียงเหล็ก” ของพระเจ้าอู่ทอง (ท้าวอู่ทอง) บริเวณสำเภาล่ม-คลองตะเคียน-คลองคูจาม มีศูนย์กลางอยู่วัดพุทไธศวรรย์ อ.พระนครศรีอยุธยา จ.พระนครศรีอยุธยา

 

นครธมร่วงโรย อยุธยารุ่งเรือง

ความร่วงโรยของนครธม (เมืองพระนครหลวง) ซึ่งเป็นรัฐเก่าที่โตนเลสาบในกัมพูชา มีขึ้นขณะเมืองอโยธยาศรีรามเทพซึ่งเป็นรัฐใหม่รุ่งเรืองบริเวณลุ่มน้ำเจ้าพระยา ทั้งนี้ มีเหตุจากลักษณะการค้าโลกเปลี่ยนไป ทำให้อ่าวไทยบริเวณคาบสมุทรคับคั่งด้วยสำเภาจีน แต่ไม่คึกคักทางโตนเลสาบ

การค้าโลกไม่เหมือนเดิม เมื่อการค้าสำเภาจีนทวีความเข้มแข็งมากขึ้นทั่วอ่าวไทยเพื่อควบคุมเส้นทางข้ามคาบสมุทร บริเวณฟากตะวันตกแม่น้ำเจ้าพระยาต่อเนื่องถึงแหลมมลายู ทำให้บ้านเมืองและผู้คนเคลื่อนไหวคึกคัก โดยเฉพาะคนพูดภาษามลายูทั่วหมู่เกาะและชายฝั่งแผ่นดินใหญ่ กับคนพูดภาษาไทยทั่วดินแดนภายในภาคพื้นทวีป มีการโยกย้ายถ่ายเททิศทางต่างๆ แต่ที่สำคัญคือการโยกย้ายจากลุ่มน้ำโขงและลุ่มน้ำต่อเนื่อง ลงลุ่มน้ำเจ้าพระยาเพื่อขนย้ายทรัพยากรค้าขายกับจีนทางท่าเรือซึ่งอยู่อ่าวไทยฝั่งคาบสมุทร

ลักษณะการค้าเปลี่ยนไปในภูมิภาคเมื่อเส้นทางการค้าทวีความสำคัญบริเวณคาบสมุทร ทำให้มีผลอย่างยิ่งต่อความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองของภูมิภาค ได้แก่ (1.) รัฐรุ่นเก่าถดถอยความสำคัญเมื่อสำเภาจีนลดการติดต่อค้าขาย และ (2.) รัฐรุ่นใหม่ทวีความสำคัญเมื่อสำเภาจีนเพิ่มการติดต่อค้าขาย

เมืองพระนครหลวงที่โตนเลสาบในกัมพูชาร่วงโรยร่อแร่จากการค้าสำเภาจีนลดลงราวหลัง พ.ศ.1700 ส่วนเมืองอโยธยาศรีรามเทพรุ่งเรืองมั่งคั่งและมั่นคงมากขึ้นจากจีนอุดหนุนการค้าสำเภา (จีนเรียกอโยธยาอย่างสืบเนื่องถึงอยุธยาว่า “เสียนหลอ” เพราะเกิดจากการรวมตัวของ “เสียน” คือ สยาม หมายถึง รัฐสุพรรณภูมิ กับ “หลอ” คือ หลอฮก หมายถึงรัฐละโว้) เป็นช่วงเวลาหลังรัชกาลพระเจ้าชัยวรรมันที่ 7 เกิดสถานการณ์อ่อนแรงแล้วถดถอยของศาสนาพุทธฝ่ายมหายาน ขณะที่ศาสนาพุทธฝ่ายเถรวาท (จากลังกา) แข็งแรงคึกคักขึ้นกว่าแต่ก่อนจนแผ่กว้างเข้าไปถึงกัมพูชา ด้วยแนวคิดว่าพระราชามาจาก “ผู้มีบุญ” ที่สั่งสมบุญบารมีไว้เมื่อชาติก่อน ทำให้ชาตินี้มีความมั่งคั่งจากการค้าขาย ซึ่งเท่ากับสามัญชนหรือคนพ่อค้าสามารถเป็นกษัตริย์ได้

ดังนั้น ในกัมพูชาจึงมีความทรงจำจากคำบอกเล่าเรื่อง “ตาแตงหวาน” (ชื่อภาษาเขมรว่า “ตรอซกแผฺอม”)