สุจิตต์ วงษ์เทศ : อำนาจของภาษาไทย ในการค้าสำเภาจีน

อำนาจของภาษาไทยมีขึ้นจากการค้าสำเภากับจีน [ภาพลายเส้นสำเภาจีนในนามเสียนโล้ (สำเภาสยามจากอยุธยา) ไปค้าขายกับญี่ปุ่นในเอกสารบันทึกจดหมายเหตุการค้าของญี่ปุ่น ซึ่งระบุว่าเรือสำเภาสยามลักษณะนี้ (ทำแบบเดียวกันกับสำเภาจีน) เข้าไปค้าขายที่เมืองนางาซากิ ประเทศญี่ปุ่น ในกลางพุทธศตวรรษที่ 22]

 

อำนาจของภาษาไทย

ในการค้าสำเภาจีน

 

วรรณกรรมภาษาไทย ด้วยอักษรไทย บริเวณลุ่มน้ำเจ้าพระยาภาคกลาง มีความเป็นมาเกี่ยวข้องอย่างยิ่งกับอำนาจของภาษาไทยซึ่งเคลื่อนไหวแผ่กระจายกว้างขวางตามเส้นทางการค้าดินแดนภายในภาคพื้นทวีปอุษาคเนย์ เมื่อจีนแต่งสำเภาค้าขายทางทะเลสมุทรด้วยตนเองถึงบ้านเมืองรอบอ่าวไทยหลัง พ.ศ.1500

การค้าสำเภาของจีนแผ่ถึงอ่าวไทยกระตุ้นให้ภาษาไทยมีอำนาจ โดยเริ่มจากเป็นภาษากลางทางการค้าของดินแดนภายในภาคพื้นทวีป ต่อมาเป็นภาษากลางของรัฐ กระทั่งท้ายสุดเป็นภาษาราชการของอาณาจักร

ในทางสากล เผ่าพันธุ์กับภาษาไม่จำเป็นต้องผูกพันเป็นเนื้อเป็นตัวอันหนึ่งอันเดียวกันเสมอไป เพราะภาษาแพร่กระจายไปอย่างมีประสิทธิภาพตามพลังผลักดันทางสังคมและเศรษฐกิจ-การเมืองของประวัติศาสตร์ โดยไม่ต้องถูกทำให้ย้ายถิ่นในฉับพลันอย่างทารุณโหดร้ายตาม “การอพยพถอนรากถอนโคน” ของคนพูดภาษานั้นๆ ซึ่งพบในประวัติศาสตร์แห่งชาติ “เพิ่งสร้าง” ของไทย

ภาษาไทยเคลื่อนไหวแผ่กระจายได้ทุกทิศทางโดยคนพูดภาษาไทยไม่จำเป็นต้องเคลื่อนย้ายไปด้วย แต่ถ้าจะมีคนบางกลุ่มหรือหลายกลุ่มที่พูดภาษาไทยโยกย้ายไปๆ มาๆ (ไม่ไปทิศทางเดียว) เป็นปกติด้วยก็ได้ เพราะไม่มีข้อห้าม หรือไม่มีกำหนดกฎเกณฑ์แน่นอนตายตัว ซึ่งพบร่องรอยเหล่านี้ได้ในตำนานนิทานหลายเรื่อง เช่น นิทานขุนบรม เป็นต้น

ดินแดนภายในภาคพื้นทวีปของอุษาคเนย์เป็นพื้นที่เคลื่อนไหวแผ่กระจายของภาษาไทยไม่น้อยกว่า 2,000 ปีมาแล้ว หรือตั้งแต่ พ.ศ.500 มีขอบเขตเหนือสุดอยู่ลุ่มน้ำแยงซีทางภาคใต้ของจีน ส่วนทางใต้สุดอยู่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาทางภาคกลางของไทย (สำหรับทางตะวันออกถึงเวียดนาม และทางตะวันตกถึงอินเดีย บริเวณลุ่มน้ำพรหมบุตร รัฐอัสสัม)

คนหลายเผ่าพันธุ์ต่างมีภาษาแม่เป็นภาษาพูดของตนเอง แต่เมื่อต้องพูดจาค้าขายกับคนกลุ่มอื่นจึงต้องใช้ภาษาไทยเป็นภาษากลาง แล้วค่อยๆ เติบโตขยับขยายแผ่กว้างไป ครั้นนานไปก็คุ้นชินในชีวิตประจำวันทำให้ภาษาไทยมีอำนาจและมีอักษรไทย ดึงดูดให้คนหลายเผ่าพันธุ์เหล่านั้นกลายตนแล้วเรียกตนเองว่าไทยหรือคนไทย

อำนาจของภาษาไทยบริเวณลุ่มน้ำเจ้าพระยามีความเป็นมาตามลำดับ ดังนี้

 

(1.) ภาษาไทยแรกสุด ที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา 1,500 ปีมาแล้ว

ภาษาไทยชุดแรกสุดในภาคกลางของไทย เท่าที่พบหลักฐานขณะนี้มีหนาแน่นบริเวณฟากตะวันตกแม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งมีประชากรหลากหลายเผ่าพันธุ์ตั้งหลักแหล่งปะปนกัน แต่มีกลุ่มหนึ่งพูดภาษาไทยเป็นภาษากลาง (ขณะที่ภาษามอญและภาษาเขมรเป็นภาษาทางราชการ ส่วนบาลี-สันสกฤต เป็นภาษาทางศาสนา) แล้วถูกเรียก “สยาม” ในรูปคำต่างๆ ได้แก่ สาม, สำ, เสม, เซียม เป็นต้น ตั้งแต่สมัยการค้าโลกเริ่มแรก 1,500 ปีมาแล้ว หรือเมื่อเรือน พ.ศ.1000 (นักวิชาการบางกลุ่มเรียกสมัยทวารวดี)

[ข้อมูลมีมากในหนังสือ ความเป็นมาของคำสยาม, ไทย, ลาวและขอมฯ ของจิตร ภูมิศักดิ์ มูลนิธิโครงการตำราฯ พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ.2519 และ หนังสือ (ศรี) ทวารวดี ประวัติศาสตร์ยุคต้นของสยามประเทศ ของธิดา สาระยา สำนักพิมพ์เมืองโบราณ (พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ.2532) พิมพ์ครั้งที่สาม พ.ศ.2538 หน้า 179-183]

สยามเป็นคน “ไม่ไทย” เพราะสยามไม่เรียกตนเองว่าไทย แต่ใช้ภาษาไทยเป็นภาษากลางในการสื่อสารกับคนต่างภาษา มีเหตุจากสยามประกอบด้วยคนหลายเผ่าพันธุ์ “ร้อยพ่อพันแม่” ที่มีภาษาพูดต่างๆ ของใครของมัน ซึ่งมักสื่อกันไม่เข้าใจและไม่รู้เรื่องทั้งหมด จึงจำเป็นต้องมีภาษากลางโดยเลือกใช้ภาษาไทยอันเป็นที่รับรู้กันว่าง่ายที่สุดในการใช้งานสื่อสารเมื่อเทียบกับภาษาอื่นๆ ที่มีสมัยนั้น

อำนาจของภาษาไทยแผ่กว้างขวางบนเส้นทางการค้าของดินแดนภายใน (ระหว่างลุ่มน้ำเจ้าพระยาถึงลุ่มน้ำโขง, ลุ่มน้ำสาละวิน, ลุ่มน้ำดำ-แดง, ลุ่มน้ำแยงซี เป็นต้น ทางภาคใต้ของจีน) โดยมีศูนย์กลางใหญ่และสำคัญแห่งหนึ่งอยู่บริเวณสองฝั่งแม่น้ำโขง ลาว-ไทย ที่ (ปัจจุบันเรียก) “เวียงจันท์” เป็นบ้านเมืองขนาดใหญ่ มีคูน้ำคันดินคร่อมสองฝั่งแม่น้ำโขงตั้งแต่สมัยการค้าโลกเริ่มแรก เมื่อเรือน พ.ศ.1000 (เอกสารจีนเรียก “เหวินตาน”) ต่อมามีความสัมพันธ์ทางการค้าและเป็นเครือญาติใกล้ชิดทั้งเชื้อวงศ์หลวงพระบาง (ชื่อเดิม เชียงดง เชียงทอง) และโดยเฉพาะวงศ์กษัตริย์เมืองพระนคร (ที่โตนเลสาบ กัมพูชา) หลักฐานสำคัญเป็นภาพสลัก “เสียมกุก” (ขบวนแห่ของชาวสยาม) บนระเบียงประวัติศาสตร์ของปราสาทนครวัด เมื่อเรือน พ.ศ.1650

สำเนียงสองฝั่งโขง เป็นต้นตอสำเนียง “เหน่อ” ทั้งนี้ สืบเนื่องจากชาวสยาม “เสียมกุก” บริเวณเวียงจันท์ถึงหลวงพระบางพูดภาษาไทย (เป็นภาษากลาง) ด้วยสำเนียงสองฝั่งโขงสมัยนั้น น่าจะเป็นต้นตอสำเนียง “เหน่อ” ของภาคกลาง เมื่อภาษาไทยของชาวสยามสองฝั่งโขงเคลื่อนที่ตามเส้นทางคมนาคมการค้าภายในถึงลุ่มน้ำเจ้าพระยา

(“เสียมกุก” ภาพสลักที่ปราสาทนครวัดเคยมีนักปราชญ์อธิบายเป็นอย่างอื่นมาก่อน แต่ในที่นี้ไม่เห็นพ้องด้วยตามนั้น)

 

(2.) พูดภาษาไทยในรัฐสยาม 1,000 ปีมาแล้ว

ชาวสยาม “ร้อยพ่อพันแม่” พูดภาษาไทยอยู่ฟากตะวันตกแม่น้ำเจ้าพระยา (สืบเนื่องมาตั้งแต่สมัยการค้าโลกเริ่มแรก ส่วนภาษามอญกับภาษาเขมรเป็นภาษาราชการ และภาษาบาลี-สันสกฤต เป็นภาษาทางศาสนา) มีอำนาจขยายตัวเติบโตเป็น “รัฐสยาม พูดภาษาไทย” หลังติดต่อค้าขายกับจีน แล้วได้รับอุดหนุนอย่างแข็งแรงจากการค้าสำเภาจีนเมื่อเกือบ 1,000 ปีมาแล้ว หรือหลัง พ.ศ.1500 (นักวิชาการบางกลุ่มเรียกสมัยลพบุรี ส่วนคนทั่วไปเรียกสมัยขอม)

รัฐสยาม พูดภาษาไทยกลุ่มแรกสุด ต่อไปข้างหน้าคือรัฐสุพรรณภูมิ มีศูนย์กลางอำนาจอยู่เมืองสุพรรณภูมิ (สมัยอยุธยาเปลี่ยนชื่อเป็นเมืองสุพรรณบุรี) มีเครือข่ายเป็นเครือญาติชาติภาษา ได้แก่ เมืองเพชรบุรี, เมืองนครศรีธรรมราช, เมืองสุโขทัย เป็นต้น

ภาษาไทยเคลื่อนไหวตามเส้นทางการค้าภายในจากทางใต้ของจีน เข้าลุ่มน้ำโขง แล้วลงลุ่มน้ำเจ้าพระยา พบร่องรอยและหลักฐานเชิงสัญลักษณ์อยู่ในความทรงจำจากคำบอกเล่าเก่าแก่หลายเรื่อง ได้แก่ ขุนบรม, พระเจ้าพรหม, ท้าวอู่ทอง เป็นต้น

ภาษาไทยถูกใช้เผยแผ่พุทธศาสนา ฝ่ายเถรวาท สำนักลังกา โดยตั้งต้นจากลุ่มเจ้าพระยาทั้งตอนล่างและตอนบน แล้วค่อยๆ ขยายพื้นที่กว้างออกไป ยิ่งทำให้ภาษาไทยเป็นภาษากลางของคนหลากหลายเผ่าพันธุ์มากขึ้นเรื่อยๆ (พุทธศาสนาฝ่ายเถรวาทแพร่หลายมาจากลังกา ผ่านเมืองมอญ (ในพม่า) เข้าทางตะวันตกของไทย แล้วแพร่หลายในบ้านเมืองฟากตะวันตกแม่น้ำเจ้าพระยา)

เถรวาทจากลังกาเปิดช่องให้พ่อค้าและสามัญชน “ผู้มีบุญ” เป็นพระราชา เรียกสมมติราช เนื่องจากทำบุญสม่ำเสมอเพราะมั่งคั่งอันเป็นผลมาจากชาติก่อนสะสมบุญมาก (มีในอัคคัญสูตร แล้วดัดแปลงแต่งเป็นโคลงลาวอยู่ในโองการแช่งน้ำ) เมื่อการค้ามากขึ้น พ่อค้ามีบทบาทกว้างขวางขึ้น มั่งคั่งขึ้น ก็ยึดเถรวาทเป็นสำคัญกว่าอย่างอื่นเพราะเปิดช่องให้พ่อค้าเป็นกษัตริย์ในนามของผู้มีบุญเพราะทำบุญมาก แต่ที่สำคัญมากคือเถรวาทขัดเกลาให้คนนอบน้อมยอมจำนนต่อความมั่งคั่งและเข้มแข็งของผู้มีบุญ (คือพ่อค้า)

อุดมการณ์นี้แสดงออกผ่านตำนานนิทานมีในพงศาวดารเหนือ เช่น พระยาแกรก, ท้าวอู่ทอง, พระร่วง ฯลฯ

 

(3.) เขียนภาษาไทย ด้วยอักษรเขมร

เมื่ออักษรไทยยังไม่มี ดังนั้นคนพูดภาษาไทยขอยืมอักษรเขมรจากรัฐละโว้ (ศูนย์กลางอยู่ลพบุรี) ใช้เขียนภาษาไทย

แต่รัฐละโว้ถูกเรียกอย่างยกย่องว่า “ขอม” จากคนพูดภาษาไทย ทำให้อักษรเขมรถูกเรียกตามไปด้วยว่า “อักษรขอม” แล้วนับถือเป็นอักษรศักดิ์สิทธิ์ ต่อมาพากันเรียกอักษรเขมรเมื่อเขียนภาษาไทยว่า “ขอมไทย”

คนชั้นนำสมัยโบราณที่พูดภาษาไทย (หรือ ไท-ไต) ต้องเรียนรู้ขอมไทย โดยเขียนภาษาไทยด้วยอักษรเขมร ใช้ในทางศาสนา-การเมืองของราชสำนัก พบทั่วไปบริเวณลุ่มน้ำเจ้าพระยาทั้งที่เป็นสมุดข่อย, ใบลาน และศิลาจารึก (เฉพาะศิลาจารึกพบมากทางภาคกลางตอนบน)

ขอมไทยได้รับการยกย่องนับถือตั้งแต่ก่อนมีอักษรไทย กระทั่งหลังมีอักษรไทย พบในการศึกษาของพระสงฆ์ต้องเรียนขอมไทย เพิ่งเลิกไปสมัยหลังแผ่นดิน ร.5 แม้ปัจจุบันการลงอักขระจะให้ขลังและศักดิ์สิทธิ์ต้องลงด้วยอักษรขอม