สุจิตต์ วงษ์เทศ : ขับลำแบบลุ่มน้ำโขง ในเมืองสุพรรณดั้งเดิม

 

ขับลำแบบลุ่มน้ำโขง

ในเมืองสุพรรณดั้งเดิม

 

เพลงดนตรีเมืองสุพรรณราว 800 ปีที่แล้ว สมัยรัฐสุพรรณภูมิ มีการละเล่นขับลำคำคล้องจองอย่างเดียวกับโยนก-ล้านนาและล้านช้าง-หลวงพระบาง หลังจากนั้นมีพัฒนาการเป็นเพลง “กลอนหัวเดียว” เรียกเพลงโต้ตอบแก้กัน

ทั้งนี้ มีเหตุจากภาษาและวัฒนธรรมไท-ไต-ลาว (ก่อนเป็นไทย) ลุ่มน้ำโขง แผ่อำนาจลงลุ่มน้ำท่าจีน-แม่กลอง เป็นต้นตอ “สำเนียงเหน่อ” ตามเส้นทางการค้าภายใน มี 2 เส้นทาง ดังนี้

1. เส้นทางจากโยนก-ล้านนาลงไปทางทิศใต้ ผ่านลุ่มน้ำกก-อิง (จ.เชียงราย-จ.พะเยา) ผ่านลุ่มน้ำน่าน-ยม-ปิง (จ.อุตรดิตถ์-จ.พิษณุโลก-จ.สุโขทัย-จ.กำแพงเพชร-จ.นครสวรรค์) เข้าทางสุพรรณสู่ลุ่มน้ำท่าจีน-แม่กลอง

มีความทรงจำอยู่ในตำนานและนิทานหลายเรื่อง ได้แก่ พระเจ้าชัยศิริ (ทายาทพระเจ้าพรหม), ท้าวแสนปม, พระร่วง, ท้าวอู่ทอง เป็นต้น

2. เส้นทางจากล้านช้าง-หลวงพระบาง-เวียงจันท์ ลงไปทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ ผ่านต้นน้ำป่าสัก (จ.เลย) ผ่านช่องเขาไปตามลำน้ำแควน้อย (อ.นครไทย จ.พิษณุโลก) ลงลำน้ำแควใหญ่ (แม่น้ำน่าน จ.พิษณุโลก, จ.อุตรดิตถ์) เข้าสู่แม่น้ำยม (จ.สุโขทัย) แม่น้ำปิง (จ.ตาก, จ.กำแพงเพชร, จ.นครสวรรค์) เข้าทางสุพรรณสู่ลุ่มน้ำท่าจีน-แม่กลอง

มีความทรงจำอยู่ในตำนานและนิทานหลายเรื่อง โดยเฉพาะท้าวอู่ทอง แต่ที่สำคัญเป็นความทรงจำชื่อ “สยาม” จากลุ่มน้ำโขง (บนภาพสลักปราสาทนครวัด) ถูกยกไปเรียกบริเวณท่าจีน-แม่กลอง ว่าสยาม

(ซ้าย) ขับแคน และ (ขวา) ขับซอ หรือซอปี่ (รูปถ่ายเก่า)

 

ขับลำคำคล้องจอง

ขับลำคำคล้องจองภาษาไท-ไต-ลาว ตามประเพณีลุ่มน้ำโขงมีหลายอย่าง เช่น ขับไม้, ขับซอ, ขับแคน เป็นต้น ล้วนเป็นต้นแบบให้คนลุ่มน้ำท่าจีน-แม่กลองมีการละเล่นร้องรำทำเพลงเป็น “กลอนหัวเดียว” ที่ต่อไปเรียก “เพลงโต้ตอบแก้กันของหญิงชาย” ปัจจุบันเรียกเพลงพื้นบ้านหรือเพลงพื้นเมือง (แต่ทางวิชาการเรียกเพลงปฏิภาคย์)

ขับ แปลว่า ร้องเพลง เป็นคำลุ่มน้ำโขงมาแต่เดิม ใช้เรียก ช่างขับ มักนิยมแพร่หลายทางล้านนาและล้านช้าง เขตลาวเหนือ (ส่วนลาวใต้ นิยมใช้คำว่า ลำ เช่น หมอลำ)

ขับไม้ หมายถึง ร้องเป็นทำนองอย่างหนึ่งพร้อมไม้ซีก 2 อัน ตีประกอบจังหวะ

ขับซอ หมายถึง ร้องเป็นทำนองอย่างหนึ่ง “ซอ” แปลว่าร้อง เป็นคำแพร่หลายทางล้านนาและไทยใหญ่ (ลุ่มน้ำสาละวินในพม่า) โดยปกติประเพณีซอถ้ามีเครื่องดนตรีบรรเลงคลอพร้อมร้องต้องบอกชื่อเครื่องดนตรีกำกับ เช่น ซอปี่ คือ ร้องพร้อมปี่เป่าคลอ, ซอซึง คือ ร้องพร้อมคลอด้วยเสียงดีดซึงหรือพิณ

[ในวรรณกรรมเรื่องพระลอ ใช้ “ขับซอยอราช” และ “ขับซอยอยศ” มีคำว่า “ซอ” ถูกซ้อนด้วยคำว่า “ขับ” เลยชวนให้สงสัยคล้ายมีพิรุธบางอย่าง]

ขับแคน หมายถึง ร้องเป็นทำนองอย่างหนึ่งพร้อมคลอด้วยเสียงเป่าแคน

มื่อรัฐสุพรรณภูมิยึดอำนาจเบ็ดเสร็จปกครองอยุธยา (โดยกำจัดเชื้อสาย “ขอม” ละโว้ออกไป) ราวหลัง พ.ศ.1900 ภาษาและวัฒนธรรมไท-ไต-ลาวจากรัฐสุพรรณภูมิ เคล้าคละปะปนภาษาและวัฒนธรรมเขมร (ขอม) ในอยุธยา

ขับลำคำคล้องจองตามประเพณีลุ่มน้ำโขง (พร้อมสำเนียงเหน่อลาว) ที่ฟักตัวอยู่ในรัฐสุพรรณภูมิ ก็โยกย้ายถ่ายเทไปรุ่งเรืองอยู่ในรัฐอยุธยา พบหลักฐานดังนี้

ขับไม้ ใช้ในงานสมโภชเจ้านายชั้นสูง พบร่องรอยเค้ามูลสำคัญอยู่ใน “กาพย์ขับไม้เรื่องพระรถเสน” [พระรถเสน คือ พระรถ นางเมรี ตำนานบรรพชนลาวในอยุธยา มีบทละครเรื่องพระรถนางเมรี และนางมโนห์รา (ภาคจบของพระรถนางเมรี)]

ขับซอ, ขับแคน ใช้ในงานทุกระดับ ทั้งงานราชสำนักและงานชุมชนชาวบ้าน พบร่องรอยหลักฐาน ดังนี้ (1.) อนิรุทธคำฉันท์ พบประเพณีขับกล่อมพระบรรทม มีขับซอ, ขับแคน (2.) บันทึกลาลูแบร์ พบขับไม้, ขับซอ, ขับแคน อยู่ปนกันเล่นงานแต่งงาน มีกรับ, ช่างขับ และเครื่องดนตรีหลายชิ้น (น่าจะหมายถึงพิณ, แคน, ปี่จุ่ม?)

[“ขับแคน” พบในนิราศหลวงพระบาง แต่งสมัย ร.5]

ช่างขับหญิงกับช่างแคน, พิณ, ปี่/ขลุ่ย ร่วมกันขับลำคำคล้องจองสองฝั่งโขงในลาว เมื่อ พ.ศ.2443-2450 (ค.ศ.1900-1907 โปสการ์ดเก่าชุด Collection Raquez จาก www.Delcampe.net)

 

เพลงโต้ตอบแก้กัน

ขับลำคำคล้องจอง (ขับไม้, ขับซอ, ขับแคน) ต้นทางพัฒนาการเป็นเพลงโต้ตอบแก้กันของหญิงชายในรัฐอยุธยา ที่เรียกกันต่อมาว่า เพลงปรบไก่, เพลงครึ่งท่อน, เพลงฉ่อย, เพลงเทพทอง, เพลงเรือ, เพลงอีแซว ฯลฯ ตลอดจนการละเล่นที่เรียกลำสวด, ลำส่ง เป็นต้น

คำบอกเล่าเก่าแก่ของรัฐสุพรรณภูมิเรื่องขุนแผน “วีรบุรุษในตำนาน” ถูกขยายโครงเรื่อง (ตั้งแต่เมื่อไร? ไม่รู้) เป็น “นิยาย” มีตัวละครต่างๆ รู้จักกันสืบมาว่าขุนช้างขุนแผน เมื่อถึงสมัยอยุธยายังเล่นเป็นขับลำแบบลุ่มน้ำโขง แล้วเล่นเป็นเพลงโต้ตอบควบคู่กันไปด้วยตามแต่ความนิยมของคนฟังคนดูจะเลือกสรร

 

“เสภา”

“ขับเสภา” หาไม่พบตลอดสมัยอยุธยา เพราะเพิ่งมีเป็นทางการสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้น เชื่อกันว่าในแผ่นดิน ร.2

คำว่า “เสภา” มีในกฎมณเฑียรบาลสมัยอยุธยาตอนต้น แต่ไม่ใช่ “ขับเสภา” พร้อมตีกรับอย่างที่เข้าใจในปัจจุบัน ทั้งนี้เพราะ “เสภา” สมัยอยุธยาแผลงจากภาษาสันสกฤต “เสวา” แปลว่า การรับใช้ ในที่นี้หมายถึงเจ้าพนักงาน พบในกฎมณเฑียรบาล ได้แก่ “เสภาดนตรี” หมายถึง เจ้าพนักงานดนตรีซึ่งเป็นหญิงล้วน มี 5 คน ทำหน้าที่ร้องและบรรเลง (เครื่องมือมีสาย) ขับกล่อมยอพระเกียรติพระเจ้าแผ่นดินเข้าบรรทม (เป็นต้นแบบบทประณามพจน์ในวรรณกรรมร้อยกรองสมัยหลังจากนั้น)

ขับเสภา (ตามที่ปฏิบัติทุกวันนี้) เพิ่งมีสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ ได้ต้นตอจากขับลำซึ่งมีลักษณะเสรีโดยไม่กำหนดตายตัวในทำนองโหยหวนและลูกคอ แต่ขึ้นกับธรรมชาติและปฏิภาณไหวพริบของคนขับแต่ละคน จึงไม่ควรมีอำนาจใดกำหนดเป็นมาตรฐานตายตัว