สุจิตต์ วงษ์เทศ : เพลงดนตรีเมืองสุพรรณ รากฐานแข็งแรงนับพันปี

เพลงโต้ตอบแก้กันมีต้นตอจากคำคล้องจองภาษาไทยในชีวิตประจำวัน ภาพเต้นกำรำเคียว (เพื่อถ่ายทำวิดีโอบันทึกเป็นหลักฐาน) ที่ทุ่งศรีประจันต์ จ.สุพรรณบุรี พ.ศ.2527 [ภาพจากหนังสือ เพลงนอกศตวรรษ ของเอนก นาวิกมูล สำนักพิมพ์มติชน พิมพ์ครั้งที่สี่ พ.ศ.2550 หน้า (36)]

 

เพลงดนตรีเมืองสุพรรณ

รากฐานแข็งแรงนับพันปี

 

สุพรรณบุรีอยู่บริเวณลุ่มน้ำท่าจีน-แม่กลอง ดินแดนต้นทางประวัติศาสตร์ไทย หลักแหล่งเก่าแก่สุดแห่งหนึ่งของบรรพชนคนไทย

สุพรรณเมืองเพลงดนตรี มีรากฐานสำคัญจากอย่างน้อย 2 ส่วน ได้แก่ วัฒนธรรมนานาชาติพันธุ์สุวรรณภูมิในอุษาคเนย์หลายพันปีมาแล้ว กับภาษาและวัฒนธรรมสยามจากลุ่มน้ำโขง ดังนี้

1. วัฒนธรรมนานาชาติพันธุ์สุวรรณภูมิในอุษาคเนย์

เมืองสุพรรณมีความเป็นมาสืบเนื่องวิถีต่างๆ รวมทั้งร้องรำทำเพลงจากรัฐสุพรรณภูมิ โดยชื่อ “สุพรรณภูมิ” เป็นคำแผลงมีรากเหง้าจาก “สุวรรณภูมิ” หมายถึงดินแดนทองในเอกสารอินเดีย, ลังกา, กรีก-โรมัน, จีน ฯลฯ ราว 2,500 ปีมาแล้ว

สุวรรณภูมิเป็นดินแดนส่วนหนึ่งของอุษาคเนย์ที่เป็นผืนแผ่นดินใหญ่ หรือดินแดนภาคพื้นทวีป ซึ่งเป็นหลักแหล่งของคนหลายชาติพันธุ์ “ร้อยพ่อพันแม่” ผสมกลมกลืนมาแต่ดึกดำบรรพ์หลายพันปีมาแล้ว ทั้งนี้ ล้วนเป็นบรรพชนคนไทยปัจจุบัน รวมทั้งเป็นบรรพชนคนสุพรรณบุรีทุกวันนี้ด้วย

2. ภาษาและวัฒนธรรมสยามจากลุ่มน้ำโขง

ภาษาและวัฒนธรรมสยามจากลุ่มน้ำโขง เป็นรากเหง้าของภาษาและวัฒนธรรมไทย พบเก่าสุดบริเวณลุ่มน้ำท่าจีน-แม่กลอง (หรือลุ่มน้ำเจ้าพระยาฟากตะวันตก) เมื่อ 1,500 ปีมาแล้ว หรือเรือน พ.ศ.1000 (นักโบราณคดีเรียกสมัยทวารวดี)

[“สยาม” เมื่อ 1,500 ปีมาแล้ว ถูกเรียกในรูปคำต่างๆ ได้แก่ สาม, สำ, เสม, เซียม ฯลฯ ข้อมูลมีมากในหนังสือ ความเป็นมาของคำสยาม, ไทย, ลาวและขอมฯ ของจิตร ภูมิศักดิ์ มูลนิธิโครงการตำราฯ พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ.2519 และหนังสือ (ศรี) ทวารวดี ประวัติศาสตร์ยุคต้นของสยามประเทศ ของธิดา สาระยา สำนักพิมพ์เมืองโบราณ (พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ.2532) พิมพ์ครั้งที่สาม พ.ศ.2538 หน้า 179-183]

 

ชาวสยามเป็นคน “ไม่ไทย”

ชาวสยามไม่เรียกตนเองว่าไทย แต่ใช้ภาษาไทยเป็นภาษากลางในการสื่อสารกับคนต่างภาษา

ทั้งนี้ มีเหตุจากชาวสยามประกอบด้วยคนหลายเผ่าพันธุ์ “ร้อยพ่อพันแม่” ที่มีภาษาพูดต่างๆ ของใครของมัน ซึ่งมักสื่อกันไม่เข้าใจและไม่รู้เรื่องทั้งหมด จึงจำเป็นต้องมีภาษากลางโดยเลือกใช้ภาษาไทยอันเป็นที่รับรู้กันว่าง่ายที่สุดในการใช้งานสื่อสารเมื่อเทียบกับภาษาอื่นๆ ที่มีสมัยนั้น (ภาษาไทยในที่นี้ หมายถึงภาษาในตระกูลไท-ไต หรือไท-กะได มีต้นตอจากมณฑลกวางสี ราว 3,000 ปีมาแล้ว)

อำนาจของภาษาไทยแผ่กว้างขวางบนเส้นทางการค้าของดินแดนภายใน (ระหว่างลุ่มน้ำเจ้าพระยาถึงลุ่มน้ำโขง, ลุ่มน้ำสาละวิน, ลุ่มน้ำดำ-แดง, ลุ่มน้ำแยงซี เป็นต้นทางภาคใต้ของจีน) โดยมีศูนย์กลางใหญ่และสำคัญแห่งหนึ่งอยู่บริเวณสองฝั่งแม่น้ำโขง ลาว-ไทย ที่ (ปัจจุบันเรียก) “เวียงจัน” (เอกสารจีนเรียก “เหวินตาน”) เป็นบ้านเมืองขนาดใหญ่ มีคูน้ำคันดินคร่อมสองฝั่งแม่น้ำโขงตั้งแต่สมัยการค้าโลกเริ่มแรก เมื่อเรือน พ.ศ.1000 ต่อมามีความสัมพันธ์ทางการค้าและเป็นเครือญาติใกล้ชิดทั้งเชื้อวงศ์หลวงพระบาง (ชื่อเดิม เชียงดง เชียงทอง) และโดยเฉพาะวงศ์กษัตริย์เมืองพระนคร (ที่โตนเลสาบ กัมพูชา)

ชาวสยามเก่าแก่ที่เวียงจันมีหลักฐานสำคัญเป็นภาพสลัก “เสียมกุก” (ขบวนแห่ของชาวสยาม) บนระเบียงประวัติศาสตร์ของปราสาทนครวัด เมื่อเรือน พ.ศ.1650 [ดูในบทความเรื่อง “ไทยน้อย ไทยใหญ่ ไทยสยาม” ของศรีศักร วัลลิโภดม พิมพ์ในหนังสือ ไทยน้อย ไทยใหญ่ ไทยสยาม โดยศรีศักร วัลลิโภดม และสุจิตต์ วงษ์เทศ สำนักพิมพ์มติชน พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ.2534 หน้า 118-127, และหนังสือ เสียมกุก ขบวนแห่ของชาวสยาม “เครือญาติ” เขมรที่นครวัดเป็นใคร? มาจากไหน? ของสุจิตต์ วงษ์เทศ พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ.2552]

“เสียมกุก” ภาพสลักที่ปราสาทนครวัด เคยมีนักปราชญ์อธิบายเป็นอย่างอื่นมาก่อน ดังนี้

(1.) นักปราชญ์ชาวยุโรปอธิบายว่า “เสียมกุก” หมายถึง กองทัพสยามจากรัฐสุโขทัยที่ถูกอาณาจักรกัมพูชาเกณฑ์ไปช่วยรบกับจามปา (อยู่ในเวียดนาม) เพราะชื่อว่า “เสียม” คือสยาม เป็นชื่อเรียกรัฐสุโขทัย แต่หลักฐานประวัติศาสตร์โบราณคดีไม่สนับสนุน ดังนี้

เรื่องแรก “เสียมกุก” เป็นภาพสลักถูกทำขึ้นราว พ.ศ.1650 ยังไม่มีรัฐสุโขทัย เนื่องจากรัฐสุโขทัยพบหลักฐานว่าสถาปนาขึ้นหลักจากนั้นเกือบ 100 ปี เรื่องหลัง “เสียม” เป็นคำจีนในเอกสารจีนเรียกสยาม หมายถึง รัฐสุพรรณภูมิ (สุพรรณบุรี) ซึ่งสืบเนื่องจากรัฐดั้งเดิมในช่วงเวลาที่เอกสารอินเดีย, ลังกา เรียก “สุวรรณภูมิ”

(2.) จิตร ภูมิศักดิ์ อธิบายว่า “เสียมกุก” หมายถึงสยามแห่งลุ่มน้ำกก จ.เชียงราย

แต่บริเวณลุ่มน้ำกก เมื่อ พ.ศ.1650 (ช่วงเวลาทำภาพสลักปราสาทนครวัด) ไม่พบหลักฐานเป็นบ้านเมืองใหญ่โตระดับรัฐจัดตั้งกองทัพ และกว่าจะเติบโตมีบ้านเมืองประกอบด้วยคูน้ำคันดินมั่นคงแข็งแรงก็หลังจากนั้นอีกนานเกือบ 100 ปี

สยามลุ่มน้ำโขง ลงลุ่มน้ำท่าจีน-แม่กลอง

ภาษาและวัฒนธรรมสยามจากลุ่มน้ำโขง แผ่ลงลุ่มน้ำท่าจีน-แม่กลอง เมื่อเรือน พ.ศ.1000 จากนั้นค่อยๆ เติบโตขึ้นแล้วมีอำนาจเป็นรัฐสยาม ซึ่งเอกสารจีนเรียกเสียน หรือเสียม ต่อไปจะมีนามว่ารัฐสุพรรณภูมิ ราว 800 ปีที่แล้ว ระหว่าง พ.ศ.1700-1800

ชาวสยามในรัฐสุพรรณภูมิพูดภาษาไทยที่มีรากเหง้าจากลุ่มน้ำโขง ด้วยสำเนียงเดียวกับคนสองฝั่งโขง ซึ่งปัจจุบันรู้จักกันว่าลาว (โดยเฉพาะลาวเหนือแถบเมืองหลวงพระบางและเครือข่าย) เป็นต้นตอสำเนียง “เหน่อ” บางทีเรียก “เหน่อลาว”

(สำเนียงเหน่อเมื่อ 800 ปีที่แล้ว มีอย่างไร? ไม่พบหลักฐานโดยตรง แต่เทียบสำเนียง “เหน่อ” ได้หลายพื้นที่ ได้แก่ สำเนียงโคราช, สำเนียงระยอง-จันทบุรี-ตราด, สำเนียงเพชรบุรี, สำเนียงนครศรีธรรมราช เป็นต้น ส่วนสำเนียงสุพรรณเป็นอีกพื้นที่หนึ่งซึ่งเป็นที่รู้จักกว้างขวาง)

ความเก่าแก่ของภาษาไทยบริเวณลุ่มน้ำท่าจีน-แม่กลอง ดูจากความหนาแน่นของเพลงโต้ตอบมากสุดนับร้อยเพลง (หนังสือ เพลงนอกศตวรรษ ของเอนก นาวิกมูล พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ.2521) เทียบทางฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยามีไม่ถึง 10 เพลง เพราะดั้งเดิมเป็นหลักแหล่งของ “ขอม” พูดภาษาเขมร

รากฐานสุพรรณเมืองเพลง

เมืองสุพรรณมีสภาพแวดล้อมทางวัฒนธรรมเพลงดนตรีนับพันปีมาแล้วจากภาษาและวัฒนธรรมลุ่มน้ำโขง ได้แก่ ขับลำคำคล้องจองของภาษาไทยสำเนียงเหน่อ

ขับลำ คือ ร้องเป็นเสียงสูงต่ำจากคำคล้องจอง ซึ่งเป็นต้นทางของทำนองเพลงดนตรีโดยให้ความสำคัญเสียงโหยหวนและลูกคอ (เป็นต้นทางของขับเสภา เพิ่งมีเป็นแบบฉบับสมัยรัตนโกสินทร์)

คำคล้องจอง ของภาษาไทยเป็นต้นตอของกลอน โดยเฉพาะ “กลอนเพลงโต้ตอบแก้กันของหญิงชาย” (ปัจจุบันเรียก “เพลงพื้นบ้าน”) ซึ่งจะแตกแขนงเป็นคำประพันธ์ประเภทร้อยกรองต่างๆ อีกมาก ดังนี้ (1.) กลอนร่าย แบ่งเป็น กลอนสวด, กลอนเทศน์, กลอนเซิ้ง (2.) กลอนลำ คือ กลอนหมอลำ ซึ่งเป็นต้นทางของโคลงต่างๆ เช่น โคลงสอง, โคลงสาม, โคลงสี่ ฯลฯ (3.) กลอนร้อง คือ กลอนเพลงต่างๆ ได้แก่ กลอนหัวเดียวเล่นเพลงโต้ตอบ, กลอนบทละคร, กลอนนิราศ, กลอนเสภา ฯลฯ

สำเนียงเหน่อ มีระดับสูงต่ำกับหางเสียงบางช่วงทอดยาวเหมือนดนตรี เป็นต้นตอของวรรณยุกต์ในภาษาไทย

 

วัฒนธรรมลูกทุ่ง

เสียงและจังหวะของสำเนียงเหน่อกับเพลงโต้ตอบที่ได้ยินในชีวิตประจำวันและในการละเล่นตามประเพณี ย่อมซึมซับสั่งสมอารมณ์ความรู้สึก แล้วหล่อหลอมกล่อมเกลาเข้าด้วยกัน นานไปกลายเป็นพลังสร้างสรรค์เพลงดนตรีหลากหลายของวัฒนธรรมป๊อปในโลกที่ผลักดันให้เกิดวัฒนธรรมลูกทุ่งในไทย

เพลงลูกทุ่งมีกำเนิดจากเพลงไทยสากล โดยแตกตัวออกมาเมื่อ พ.ศ.2507 เปิดช่องการมีตัวตนของวัฒนธรรมชาวบ้าน ได้ดึงดูดสาวหนุ่มชนบทโดยเฉพาะกลุ่มท่าจีน-แม่กลอง มุ่งกรุงเทพฯ เข้าสู่อาชีพนักร้องนักดนตรี มีศูนย์กลางเป็นที่รู้จักทั่วไปในชื่อ “ซอยบุปผาสวรรค์” (ปัจจุบันคือซอยจรัญสนิทวงศ์ 27)

“ซอยบุปผาสวรรค์” กำเนิดและพัฒนาการเกี่ยวข้องโดยตรงกับการเดินทางของสาวหนุ่มลุ่มน้ำท่าจีน-แม่กลอง สมัยนั้นต้องนั่งรถโดยสาร บ.ข.ส. ไปลงสถานีขนส่งสายใต้แห่งแรกสุด ถนนจรัญสนิทวงศ์ ใกล้สามแยกไฟฉาย (ปัจจุบันเป็นสี่แยก) หลังสุรพล สมบัติเจริญ ถูกฆาตกรรม พ.ศ.2511 เพลงลูกทุ่งได้รับการต้อนรับสูงสุด งานต่างๆ ต้องการวงดนตรีลูกทุ่ง ซึ่งมีผู้ว่าจ้างมากสุดอยู่ทางภาคตะวันตก “สำเนียงเหน่อ” จึงมี “นายหน้า” รอรับผู้ว่าจ้างแล้วเริ่มมีสำนักงานในซอยบุปผาสวรรค์ ซึ่งอยู่ตรงข้ามสถานีรถโดยสาร บ.ข.ส. สายใต้