: สุวรรณภูมิ ‘ดินแดนทอง’ เป็นส่วนหนึ่งของอุษาคเนย์

"แผ่นดินทอง" อยู่บนผืนแผ่นดินใหญ่ของอุษาคเนย์ที่มีแหลมยื่นลงไปทางใต้ระหว่างมหาสมุทรทางตะวันตก-ตะวันออก ตรงกับปัจจุบันเป็นดินแดนพม่า, ไทย, มาเลเซีย (ไม่เกี่ยวข้องหมู่เกาะ) แผนที่นี้พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ.2083 ราว 500 ปีมาแล้ว (ตรงกับสมัยอยุธยาตอนต้น) อยู่ในตำราภูมิศาสตร์ Cosmographia ของเซบาสเตียน มึนสเตอร์ นักภูมิศาสตร์ชาวเยอรมัน จำลองจากแผนที่เก่าของปโตเลมี นักภูมิศาสตร์และดาราศาสตร์ชาวกรีก ราว 800 ปีมาแล้ว (ตรงกับสมัยการค้าทางไกลเริ่มแรกในสุวรรณภูมิ ระหว่าง พ.ศ.670-693) ส่วนฉบับพิมพ์ครั้งสุดท้ายเมื่อ พ.ศ.2171 ระบุชัดเจนว่า "ในราชอาณาจักรสยามเป็นที่ตั้งของแผ่นดินทอง ซึ่งเป็นแผ่นดินทองของปโตเลมี...ถัดลงมาคือแหลมทอง ซึ่งมีภูมิลักษณะเป็นคอยาว" (แผนที่และคำอธิบายบางส่วนได้จากธวัชชัย ตั้งศิริวานิช)

“สุวรรณภูมิ” ถูกเข้าใจคลาดเคลื่อนไขว้เขวอย่างน่าประหลาดมหัศจรรย์ใจว่าหมายถึงภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรือภูมิภาคอุษาคเนย์

แต่แท้จริงแล้ว สุวรรณภูมิเป็นส่วนหนึ่งเท่านั้นของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้หรืออุษาคเนย์ ทั้งนี้ เป็นที่รู้ในวงวิชาการมานานมากแล้ว โดยมีหลักฐานสนับสนุนหนักแน่นทางประวัติศาสตร์, มานุษยวิทยา, โบราณคดี และวรรณกรรม

อุษาคเนย์-เอเชียตะวันออกเฉียงใต้

 

อุษาคเนย์ หมายถึงภูมิภาคเอเชียอาคเนย์ หรือเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยมาจาก Southeast Asia แปลว่าประเทศและดินแดนในบริเวณทิศตะวันออกเฉียงใต้ของทวีปเอเชีย (Asia ในภาษาอังกฤษตรงกับคำในภาษาบาลี-สันสกฤตว่าอุษา เพราะอยู่ในตระกูลภาษาเดียวกัน คือ อินโด-ยูโรเปียน)

หลายหมื่นปีมาแล้วอุษาคเนย์เป็นแผ่นดินผืนเดียวกัน เมื่อถึงยุคน้ำแข็งละลายทำให้น้ำทะเลสูงขึ้นท่วมบริเวณบางส่วนเป็นกลุ่มเกาะต่างๆ ทำให้พื้นที่ของอุษาคเนย์ทุกวันนี้มี 2 ส่วน คือ แผ่นดินใหญ่หรือภาคพื้นทวีป และหมู่เกาะหรือกลุ่มเกาะ

แผ่นดินใหญ่ สมัยโบราณเรียก “สุวรรณภูมิ” มีพื้นที่กว้างขวางกว่าปัจจุบัน [โดยดูจากหลักฐานสำคัญ ได้แก่ กลองทองสำริด (มโหระทึก) และเอกสารจีน “หมานซู”] เหนือ ถึงมณฑลยูนนานในจีน, ตะวันออก ถึงมณฑลกวางสี-กวางตุ้งในจีน

หมู่เกาะ สมัยโบราณมีชื่อเรียกต่างหากที่ไม่ใช่ “สุวรรณภูมิ” เช่น บางแห่งเรียก “สุวรรณทวีป”, บางแห่งเรียก “ยะวาทวีป” เป็นต้น

ประชากร ประกอบด้วยคนหลากหลายชาติพันธุ์ “ร้อยพ่อพันแม่” ประสมกลมกลืนอยู่ด้วยกัน มีหลายตระกูลภาษา ได้แก่ (1.) ชวา-มลายู (2.) มอญ-เขมร (3.) ม้ง-เมี่ยน (4.) พม่า-ทิเบต (5.) จีน-ทิเบต (6.) ไท-ไต (ไท-กะได) ฯลฯ

อุษาคเนย์ “คนน้อย พื้นที่มาก” มีการโยกย้ายถ่ายเทตลอดเวลาจากการสงครามกวาดต้อน ทำให้มีสูงมากการประสมประสานทางชาติพันธุ์และวัฒนธรรม ดังนั้น ประเทศในอุษาคเนย์มีบรรพชนร่วมกัน และวัฒนธรรมร่วมกัน ได้แก่ นับถือศาสนาผี, เชื่อเรื่องขวัญ, ผู้หญิงเป็นใหญ่ในพิธีกรรม ฯลฯ (และมีอีกมากอยู่ในหนังสือ วัฒนธรรมร่วมอุษาคเนย์ในอาเซียน ของ สุจิตต์ วงษ์เทศ สำนักพิมพ์นาตาแฮก พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ.2559)

เขตลมมรสุม ทำให้มีความหลากหลายทางชีวภาพ ซึ่งประกอบด้วยสัตว์, พืชพันธุ์ธัญญาหาร และแร่ธาตต่างๆ (โดยเฉพาะทองแดง, ดีบุก, ตะกั่ว, เหล็ก ฯลฯ)

อุษาคเนย์รับลมมรสุม 2 ทาง ได้แก่ (1.) ลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือ และ (2.) ลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ ส่งผลดังนี้ กสิกรรม อุดมสมบูรณ์จากการเพาะปลูกพืชพันธุ์ธัญญาหารและการประมง การค้า มั่งคั่งจากการค้าทางทะเล 2 มหาสมุทร (ส่งผลข้างหน้าให้รัฐอยุธยามั่งคั่งจากการเป็นศูนย์กลางการค้านานาชาติ)

 

สุวรรณภูมิ เป็นส่วนหนึ่งของอุษาคเนย์

สุวรรณภูมิ หมายถึง พื้นที่เฉพาะแผ่นดินใหญ่ของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรืออุษาคเนย์ (ไม่รวมหมู่เกาะ) บางทีเรียกภาคพื้นทวีปของอุษาคเนย์ หรือเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยไม่กำหนดขอบเขตตายตัวและไม่มีพรมแดน ดังนั้น ไม่ใช่ชื่อรัฐ และไม่ใช่ชื่ออาณาจักร (ตามที่เคยพบในตำราบางสำนวน) จึงไม่มีรัฐสุวรรณภูมิ และไม่มีอาณาจักรสุวรรณภูมิ แต่เป็นพื้นที่ซึ่งมีชุมชนก้าวหน้าทางเทคโนโลยี ราว 2,500 ปีมาแล้ว และเติบโตเป็นบ้านเมืองใหญ่ระดับรัฐด้วยการค้าทางไกลไปทางทะเลสมุทร ราว 2,000 ปีมาแล้ว หรือราว พ.ศ.500

จุดนัดพบอินเดีย-จีน สุวรรณภูมิมีความสำคัญเพราะเป็นพื้นที่เสมือน “จุดนัดพบ” ของอินเดีย-จีน เพื่อซื้อขายแลกเปลี่ยนสิ่งของมีค่า โดยเฉพาะโลหะทองแดงและเครื่องสำริดจากสุวรรณภูมิ

อินเดียและเครือข่ายจากตะวันออกกลาง ต้องการค้าขายแลกเปลี่ยนสิ่งของมีค่ากับจีน แต่การเดินทางด้วยเรือเทคโนโลยีไม่ก้าวหน้าต้องแล่นเลียบชายฝั่งไปจีนโดยตรงไม่ได้ เพราะมีอุปสรรคคือคาบสมุทรและช่องแคบอันตราย เท่ากับบังคับเรือต้องจอดทางบ้านเมืองฝั่งทะเลอันดามัน แล้วเดินข้ามช่องเขาไปบ้านเมืองฝั่งอ่าวไทยที่มีสินค้าเพื่อแลกเปลี่ยนซื้อขายสิ่งของจากจีน (พบหลักฐานน่าเชื่อว่าปัจจุบันคือเครือข่ายเมืองอู่ทอง อ.อู่ทอง จ.สุพรรณบุรี)

คาบสมุทร หมายถึงพื้นที่ยื่นยาวคล้ายแหลมจากเหนือลงใต้ อยู่ระหว่างมหาสมุทรอินเดีย (ทางตะวันตก) กับมหาสมุทรแปซิฟิก (ทางตะวันออก) ปัจจุบันเป็นดินแดนต่อเนื่อง 3 ประเทศ ได้แก่ พม่า, ไทย, มาเลเซีย

ช่องแคบ หมายถึงดินแดนปลายสุดของคาบสมุทรที่คล้ายแหลมยื่นไปในทะเลเป็นช่องแคบผ่านได้ไปมา แต่มีอันตรายจากคลื่นลมรุนแรงและโจรสลัดชุกชุม ปัจจุบันเป็นพื้นที่ทะเลระหว่างประเทศมาเลเซีย-สิงคโปร์ กับอินโดนีเซีย

วัฒนธรรมสำริด เป็นแหล่งผลิตใหญ่เครื่องสำริด เพราะแผ่นดินใหญ่สุวรรณภูมิ มีแหล่งทองแดงขนาดใหญ่อยู่บริเวณสองฝั่งโขง ลาว-ไทย ต่อเนื่องถึงทางใต้ของจีนแถบยูนนาน ซึ่งเป็นโลหะหลักของโลหะผสมสำริดใช้ทำเครื่องมือเครื่องใช้ต่างๆ ราว 2,500 ปีมาแล้ว แต่ที่สำคัญมากเป็นลักษณะเฉพาะคือกลองทอง (มโหระทึก) ต้นทางวัฒนธรรมฆ้องต่อเนื่องถึงปัจจุบัน

ทองแดงเป็นชื่อเรียกที่ผูกขึ้นในสมัยหลังๆ แต่สมัยโบราณเรียก “ทอง” โดดๆ แม้กลองสำริดที่ทำจากทองแดงเป็นโลหะหลักก็ถูกเรียกจากกลุ่มคนหลายชาติพันธุ์พื้นเมืองว่า “กลองทอง” ตราบจนทุกวันนี้ (ไม่เรียกกลองมโหระทึก เพราะชื่อ “มโหระทึก” ในเอกสารสมัยอยุธยาตอนต้น หมายถึงกลองอินเดีย ใช้ตีประโคมในพิธีพราหมณ์)

สุวรรณภูมิเป็นคำจากภาษาสันสกฤต (ภาษาบาลีว่า “สุวัณณภูมิ”) ตามรูปศัพท์แปลว่าดินแดนทอง และแปลได้อีกหลายอย่างโดยไม่จำกัดอยู่เฉพาะทองคำดังนี้ สุวรฺณ. น ‘สุวรรณ,’ ทองครรม; ไม้จันทน์ชนิดหนึ่ง; รักตศิลาธาตุหรือดินแดงชนิดหนึ่ง; ธนทรัพย์, สมบัติ; ดอกไม้; พิกัดน้ำหนักทองครรม; ไม้สหาชนิดเนื้อดำ; ขมิ้น; บวบขม; gold; a sort of sandal-wood; a kind of red chalk or ochre; wealth, property; a flower; a weight of gold; the black kind of aloe-wood; turmeric; a bitter gourd. (จากหนังสือ สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน ของ กรมวิชาการ กระทรวงศึกษาธิการ พิมพ์ครั้งที่หนึ่ง พ.ศ.2511 หน้า 1258)

เก่าแก่หลายพันปีมาแล้ว สุวรรณภูมิเป็นชื่อพบในเอกสารคัมภีร์โบราณของอินเดีย (เช่น ชาดกเรื่องต่างๆ) ตั้งแต่ราว พ.ศ.1 (หรือ 2,500 ปีมาแล้ว) และจากพงศาวดารลังกา เรียก (มหาวงศ์) แต่ในจารึกพระเจ้าอโศกไม่พบชื่อสุวรรณภูมิ

หลักฐานกรีก-โรมัน เรียก “ไครเส เชอร์โสเนโสส” (Chryse Chersonesos) แปลว่าดินแดนทอง (หรือ The Golden Chersonese) ตรงกับหลักฐานจีน เรียก “จิ้นหลิน” หรือ “กิมหลิน” แปลว่า ดินแดนทอง (จากหนังสือ ประวัติศาสตร์ท้องถิ่น ลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาฝั่งตะวันตก : กรณีศึกษาลุ่มแม่น้ำจรเข้สามพัน โดย ผศ.ดร.สืบแสง พรหมบุญ และคณะ สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยรังสิต พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ.2552 หน้า 71-75)

ไทยรู้จักและยกย่องคำว่าสุวรรณภูมิอย่างสืบเนื่อง หลังจากนั้นรับมาแผลงใช้เรียกเครือข่ายบ้านเมืองทางลุ่มน้ำท่าจีน-แม่กลอง ว่า “สุพรรณภูมิ” (เมื่อราวเรือน พ.ศ.1800) เป็นพยานว่าคนสมัยหลังมีความทรงจำไม่ขาดสายในชื่อสุวรรณภูมิ ครั้นหลัง พ.ศ.1900 เปลี่ยนเป็นชื่อ “สุพรรณบุรี”