สุจิตต์ วงษ์เทศ : นาฏกรรมแห่งรัฐ ยกย่องแม่ข้าวเป็น ‘แม่โพสพ’

นาฏกรรมแห่งรัฐ
ยกย่องแม่ข้าวเป็น ‘แม่โพสพ’

ทําขวัญข้าว “วันกำฟ้า” ประเพณีของชุมชนดั้งเดิม ถูกยกเป็นนาฏกรรมแห่งรัฐเพื่อสถาปนาแม่ข้าวเป็น “แม่โพสพ”

พิธีทำขวัญข้าวตามประเพณีของชุมชน มีมานานมากตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์หลายพันปีมาแล้ว โดยมิได้กำหนดวันตายตัว (เหมือนที่กำหนดในปัจจุบัน) แต่ทำเมื่อชุมชนแต่ละแห่งตกลงร่วมกันกำหนดวันใดวันหนึ่งของเดือน 3 (มกราคม-กุมภาพันธ์)

เมื่อชุมชนมีการค้าทางไกลและการค้าโลก จนมั่งคั่งเติบโตเป็นบ้านเมืองขนาดใหญ่ระดับ “รัฐ” ทำขวัญข้าวของชุมชนดั้งเดิมก็ยังสืบเนื่องพิธีกรรมไม่ขาดสาย กระทั่งถูกยกเป็นนาฏกรรมแห่งรัฐตั้งแต่สมัยก่อน อยุธยา สืบเนื่องถึงสมัยอยุธยา

ทำขวัญตามประเพณีพิธีกรรมของชุมชน ถูกเปลี่ยนชื่อเป็นภาษาศักดิ์สิทธิ์ว่า “พิธีธานย์เทาะห์” แปลว่าพิธีเผาข้าว [ธานย์เทาะห์ แปลว่า เผาข้าว มีรากจากภาษาสันสกฤต ธานฺย แปลว่า ข้าว, เทาะห์ แปลว่า เผา (กลายคำจาก ทห แปลว่า เผา,ไหม้)] เพื่อสถาปนาแม่ข้าวของชาวบ้านเป็น “แม่โพสพ” ด้วยนาฏกรรมแห่งรัฐเพื่อความมั่นคงทางอาหารและการเมืองการปกครอง เป็นการแสดงความมีอำนาจควบคุมและบันดาลความอุดมสมบูรณ์ในพืชพันธุ์ว่านยาข้าวปลาอาหารให้เป็นที่รับรู้ของสังคมสมัยนั้น ในช่วงเวลาสำคัญเดียวกับชาวนาร่วมกันทำขวัญข้าว โดยเพิ่มให้มีพิธีกรรมศักดิ์สิทธิ์และอลังการ ได้แก่ เผาศพแม่ข้าว และสถาปนาแม่ข้าวเป็นแม่โพสพ

การสถาปนาแม่ข้าวเป็นแม่โพสพดำเนินตามความเชื่อของอุษาคเนย์ในลัทธิเทวราช อันมาจากการประสมประสานความเชื่อดั้งเดิมเรื่อง “ขวัญ” ในศาสนาผี กับความเชื่อเรื่อง “วิญญาณ” และ “เทวะ” ที่รับเข้าใหม่ๆ จากอินเดียทางศาสนาพุทธกับศาสนาพราหมณ์-ฮินดู ราวหลัง พ.ศ.1000

แม่ศรี เป็นเทวีข้าวมีอํานาจทั้งน้ำและดิน สามารถบันดาลความอุดมสมบูรณ์ในพืชพันธุ์ธัญญาข้าวปลาอาหารและโชคลาภทั้งปวง มักพบในรัฐใกล้ทะเลที่มีการค้าเดินสมุทรกับดินแดนโพ้นทะเล ได้แก่ ชวา (อินโดนีเซีย), กัมพูชา, ไทย ฯลฯ แต่ไม่พบบริเวณลุ่มน้ำโขงตอนบน เช่น อีสาน, ลาว เป็นต้น นาม “แม่ศรี” น่าจะรับจาก “พระศรี” อีกพระนามหนึ่งของพระลักษมี ผู้ทรงเป็นชายาพระวิษณุ (พระนารายณ์) และเป็นที่รู้จักกันในอานุภาพของพระศรีว่าทรงเป็นผู้บันดาลความอุดมสมบูรณ์และโชคลาภทั้งปวง ซึ่งมีความหมายที่รับรู้กันทุกรัฐว่า “เทวีข้าว” ในวัฒนธรรมชวา (อินโดนีเซีย) แม่ศรีถูกเรียกว่า “เทวีศรี” (Dewi Sri) เป็นเทวีข้าวและความอุดมสมบูรณ์กับโชคลาภทั้งปวง พบหลักฐานเก่าสุดเป็นประติมากรรมรูปเทพนารีทรงถือรวงข้าว ฝีมือช่างแบบชวาภาคตะวันออก อายุราว พ.ศ.1600-1800 (ภาพบน) เทวีศรีถือรวงข้าว ประติมากรรมฝีมือช่างชวาภาคตะวันออก อายุราว พ.ศ.1600-1800 [ปัจจุบันเก็บรักษาอยู่ที่ Tropen Museum ประเทศเนเธอร์แลนด์ (ภาพจาก : https://en.wikipedia.org/wiki/Dewi_Sri#/media/File:COLLECTIE_TROPENMUSE-UM_Beeld_van_Dewi_Sri_de_rijstgo-din_TMnr_60016918.jpg)]
 นาฏกรรมแห่งรัฐ

ธานย์เทาะห์ เผาข้าว เท่าที่พบร่องรอยจากเอกสารหลายเล่มสรุปพิธีกรรมได้ 3 ขั้นตอน คือ สู่ขวัญข้าว, เผาข้าว, เสี่ยงทาย

1. สู่ขวัญข้าว หมายถึงหมอขวัญ (คือ “อาจารย์”) เริ่มพิธีสู่ขวัญข้าวด้วยการขับลำคำคล้องจองสู่ขวัญแม่ข้าวพร้อมประพรมน้ำหอมดอกไม้ใส่ “พนมรวง” หรือ “พนมข้าว” (คือ พนมรวงข้าว หมายถึงรวงข้าวที่มัดรวมเป็นพุ่มหรือฟ่อน มีเมล็ดข้าวติดรวงเป็นสัญลักษณ์หรือตัวแทนของแม่ข้าว)

2. เผาข้าว แห่พนมรวงข้าว (หลังเสร็จสู่ขวัญข้าว) ไปลานเผาข้าว เพื่อทำพิธีเผาข้าว เรียกในทวาทศมาสว่า “ส่งโพศพ” หมายถึง ส่งพระไพศพราชขึ้นฟ้าด้วยการเผาศพ

เผาข้าว คือ เผาศพแม่ข้าว หมายถึง แม่ข้าวที่ถูกทำให้ตายจากการเกี่ยวข้าว (เดือนอ้าย) แล้วเก็บซากศพไว้ บัดนี้ได้เวลาเชิญศพแม่ข้าวขึ้นเผาตามพิธีกรรมศักดิ์สิทธิ์ที่เพิ่งรับเข้ามาใหม่จากอินเดีย โดยจุดไฟเผารวงข้าวที่มีเมล็ดข้าวเปลือกเต็มรวง

ความเชื่อดั้งเดิมทางศาสนาผีที่มีสืบมาตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์หลายพันปีแล้วคือ แม่ข้าวตาย ส่วนขวัญแม่ข้าวไม่ตาย แต่ยังมีวิถีต่างมิติที่จับต้องไม่ได้ มองไม่เห็น สำหรับร่างคือรวงข้าวไม่ได้เผาที่ถูกเก็บไว้ในยุ้งหรือเล้า เพราะไม่มีประเพณีเผาศพ

สถาปนาแม่โพสพ หมายถึง แม่ข้าวถูกสถาปนาตามความเชื่อลัทธิเทวราชขึ้นเป็นแม่โพสพเมื่อทำพิธีเผาศพแม่ข้าว เสมือนขวัญของแม่ข้าวถูกเชิญขึ้นฟ้าไปรวมพลังเป็นหนึ่งเดียวกับเทวะบนสวรรค์นามว่าพระไพศพราช แล้วถูกเรียกตามความเชื่อท้องถิ่นว่าแม่โพสพ

3. เสี่ยงทาย ตำราพระราชพิธีเก่ากับตำราทวาทศพิธีบอกว่าเมื่อคณะตระกูลพราหมณ์จุดไฟเผาพนมรวงข้าวแล้ว คนอีกกลุ่มหนึ่งซึ่งขุนนางจัดไว้ให้ซ่อนซุ่มอยู่ในที่ไม่เปิดเผย ได้ขี่ควายกรูพร้อมกันออกไปแย่งชิงฉัตรรวงข้าว ชิงฉัตรรวงข้าวเป็นการละเล่นเสี่ยงทาย ถ้าเข้าชิงได้จากทิศใดจะมีคำทำนายฟ้าฝนตกต้องตามฤดูกาลหรือไม่? อย่างไร? [กิจกรรมนี้มีร่องรอยพบในคำให้การขุนหลวงหาวัด (ฉบับหอสมุดแห่งชาติ)]

เรื่องทิศทางเข้าชิงฉัตรแล้วมีคำทำนายเป็นกิจกรรมเสี่ยงทายที่พัฒนาจากความเชื่อวันกำฟ้าของชาวนาดั้งเดิมคอยฟังทิศทางเสียงฟ้าร้องแล้วมีคำทำนาย นอกจากเสี่ยงทายแล้ว ยังมีมหรสพหลายอย่างฉลองด้วย

[รายละเอียดมากกว่านี้ ดูในบทความเรื่อง แม่โพสพ “เทวีข้าว” รัฐนาฏกรรม มาจากแม่ข้าวในศาสนาผี ของสุจิตต์ วงษ์เทศ มติชนสุดสัปดาห์ออนไลน์ วันจันทร์ที่ 8 มิถุนายน 2563]

แม่โพสพ คือแม่ข้าวที่ได้รับยกย่องเป็นเทวีข้าว มีความหมายโดยรวมว่าหญิงเป็นใหญ่มีอำนาจทั้งน้ำและดิน สามารถบันดาลความอุดมสมบูรณ์ในพืชพันธุ์ธัญญาข้าวปลาอาหารและโชคลาภทั้งปวง ความเฮี้ยนเหล่านี้เกี่ยวข้องใกล้เคียงทั้งแม่โพสพ, แม่ศรี, แม่นาค แล้วอยู่ในความเชื่อและความทรงจำสืบเนื่องมาจนปัจจุบัน ส่วนแม่ข้าวถูกลืมจนไม่มีใครรู้จักอีกแล้ว [แม่โพสพ ลายเส้นจากบทความเรื่อง “แม่โพสพ” ของเสฐียรโกเศศ ในศิลปากร นิตยสารของกรมศิลปากร ปีที่ 3 เล่ม 1 (มิถุนายน 2492) หน้า 76-84]
“แม่โพสพ” ชื่อใหม่ของแม่ข้าวในลัทธิเทวราช

คําว่า “แม่โพสพ” พบเก่าสุดก่อนสมัยอยุธยา ในพระไอยการเบ็ดเสร็จ พ.ศ.1884

ชื่อดั้งเดิมของแม่โพสพคือแม่ข้าว เป็นชื่อเฮี้ยนในศาสนาผี หมายถึง ผีขวัญบรรพชนต้นโคตรของข้าว ครั้นหลังรับวัฒนธรรมอินเดียแม่ข้าวถูกเรียกว่าแม่โพสพ ซึ่งเท่ากับเจ้าแม่ข้าวได้รับยกย่องเป็นเทวีข้าวและความมั่งคั่งอุดมสมบูรณ์ เพราะข้าวในสมัยดั้งเดิมเป็นสิ่งแสดงความมั่งคั่งอุดมสมบูรณ์ที่ได้จากดินและน้ำ

“แม่โพสพ” เป็นคำกลายจาก “พระไพศพ” พบในทวาทศมาส (โคลงดั้น บท 203 และ ฯลฯ) สมัยอยุธยาตอนต้น มาจากคำภาษาสันสกฤตว่าไพศฺรพณะ (ไวศฺรวณะ) ตรงกับคำภาษาบาลีว่าเวสฺสวณฺ แต่ในไทยเรียก 2 ชื่อ คือ ท้าวเวสสุวรรณ กับ ท้าวกุเวร

“พระไพศพ” ต่อมาถูกเรียกว่า “แม่โพสพ” แล้วเป็นที่รู้จักกว้างขวางกลบนามพระไพศพสืบจนปัจจุบัน

ลัทธิเทวราชยกแม่ข้าวเป็นแม่โพสพ หมายถึง เผาศพแม่ข้าวเพื่อส่งผีขวัญแม่ข้าวขึ้นฟ้าไปรวมเป็นหนึ่งเดียวกับเทวะบนสวรรค์ คือพระไพศพ แต่หลังจากนั้นคนทั่วไปเลื่อมใสเรียกเป็นเพศหญิงตามความเชื่อเดิมว่าแม่โพสพ ซึ่งเท่ากับแม่ข้าวถูกยกเป็นแม่โพสพ ทั้งนี้เป็นพิธีกรรมผสมกลมกลืนระหว่างความเชื่อศาสนาผีของพื้นเมืองกับศาสนาพราหมณ์-ฮินดูจากอินเดีย ส่งผลให้มีความเชื่อว่าแม่ข้าวเป็นแม่โพสพเมื่อหลังการเผาศพผีขวัญของแม่ข้าวถูกเชิญขึ้นฟ้ารวมเป็นหนึ่งเดียวกับพระไพศพบนสวรรค์