อยุธยา 3,000 ปี มีชุมชนสมัยก่อนประวัติศาสตร์ | สุจิตต์ วงษ์เทศ

ขวานหินและเศษภาชนะยุคก่อนประวัติศาสตร์ งมได้จากแม่น้ำน้อย อ.เสนา จ.พระนครศรีอยุธยา (ปัจจุบันเก็บรักษาอยู่ที่พิพิธภัณฑ์หอโสภณศิลป์ วัดเชิงท่า เมืองลพบุรี) แสดงว่าตลอดลำน้ำเก่าก่อนมีแม่น้ำเจ้าพระยาเคยเป็นแหล่งอยู่อาศัยชั่วคราวหรือแสวงหาอาหารผ่านไปมาของคนยุคนั้น (ภาพและคำอธิบายจากหนังสือ กรุงเทพฯ มาจากไหน? พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ.2548 หน้า 18)

อยุธยามีชุมชนเก่าสุดราว 3,000 ปีมาแล้ว ร่วมสมัยวัฒนธรรมบ้านเชียง (อุดรธานี) ส่วนกรุงเทพฯ มีผู้รู้อธิบายว่าสมัยนั้นเป็นทะเล หรืออยู่ใต้ทะเล แต่สภาพทะเลเป็นแบบไหน? ทะเลหาดทราย หรือทะเลโคลนตม ยังไม่พบคำอธิบายรายละเอียด จึงยังสรุปอะไรไม่ชัด

[วัฒนธรรมบ้านเชียงของทางการ กำหนดอายุไว้ราว 5,600 ปี ซึ่งสูงเกินจริง ดังนั้น นักโบราณคดีนานาชาติกำหนดอายุไว้ไม่เกิน 4,000 ปีมาแล้ว]

นึกไม่ออกว่ารูปนี้ใครให้มา? จำได้แน่ว่ามีผู้ส่งข่าวและรูปมาให้ราว 15 ปีแล้ว แต่ไม่ได้ลงข้อความบอกไว้ เพราะผมทำงานไม่เป็นระบบ และเขียนเล่มนี้อย่างฟื้นความทรงจำมาบอกเล่าอย่างง่ายๆ ไม่เป็นระเบียบแบบวิชาการจึงไม่มีอ้างอิง

อยุธยา 3,000 ปี มีชุมชนสมัยก่อนประวัติศาสตร์ ผมเคยเขียนบอกไว้ในหนังสือกรุงเทพฯ มาจากไหน? (สำนักพิมพ์มติชน พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ.2548 หน้า 18) มีรูปประกอบเป็นสิ่งของเครื่องใช้มีผู้งมได้จากแม่น้ำน้อย (อ.เสนา จ.พระนครศรีอยุธยา) เช่น ขวานหิน และเศษภาชนะดินเผา ฯลฯ

 

ชุมชนดึกดำบรรพ์บนที่ราบลุ่มน้ำเจ้าพระยา

หลายพันปีมาแล้ว คนลุ่มน้ำเจ้าพระยาบริเวณอ่างทองล้วน “ไม่ไทย” เพราะเป็นประชากรของดินแดนดั้งเดิมที่ยังไม่เรียกประเทศไทยและคนไม่พูดภาษาไทย แต่พูดภาษาหลากหลายซึ่งเป็นภาษาร่วมอุษาคเนย์ ถึงกระนั้นก็ล้วนเป็นบรรพชนคนไทย เพราะต่อไปข้างหน้าทั้งดินแดนและผู้คนสืบเผ่าพันธุ์เป็นส่วนหนึ่งของคนไทยและประเทศไทย

ต่อมาเมื่อหลายร้อยปีที่แล้ว คนลุ่มน้ำเจ้าพระยาล้วนเป็นประชากรของรัฐอยุธยาพากันพูดภาษาไทย (ซึ่งเป็นภาษากลางทางการค้าของดินแดนภายใน) แล้วกลายตนเป็น “คนไทย”

หลักฐานพบล่าสุดจำนวนมาก “ไม่เหมือนเดิม” จากชุมชนดึกดำบรรพ์ 3,000 ปี ต.สีบัวทอง อ.แสวงหา จ.อ่างทอง มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อประวัติศาสตร์โบราณคดีในไทยที่จำเป็นต้องเปลี่ยนแปลง

ประวัติศาสตร์โบราณคดี “แห่งชาติ” ของไทย แบ่งยุคสมัยตายตัวตามลักษณะประวัติศาสตร์ศิลปะซึ่งไม่ปกติ เพราะมี “อคติ” เจือปนหลายด้าน ดังนั้น ต้อง “รื้อ” แล้ว “สร้าง” อย่างปกติสากลโลก ที่ความเป็นมาหรือพัฒนาการของบ้านเมืองเปลี่ยนแปลงตามลักษณะเศรษฐกิจและการเมืองทั้งภายในและภายนอกที่ปฏิเสธมิได้

แหล่งโบราณคดีขนาดใหญ่สมัยก่อนประวัติศาสตร์อายุราว 3,000 ปีมาแล้ว บนพื้นที่ ต.สีบัวทอง อ.แสวงหา จ.อ่างทอง เพิ่งพบจากการสำรวจตรวจสอบร่วมกันของคณะอาจารย์หลายสถาบัน เป็นหลักฐานสำคัญครั้งใหญ่ยืนยันว่ามีชุมชนคนเริ่มแรกตั้งหลักแหล่งบริเวณที่ราบลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา ภาคกลางตอนล่าง (มติชน ฉบับวันจันทร์ที่ 13 กรกฎาคม 2563 หน้า 1)

ก่อนหน้านี้นักโบราณคดี “ทางการ” ของไทย เชื่อถือตามความรู้เก่าว่าทะเลอ่าวไทยมีชายฝั่งเว้าลึกเข้าไปถึงนครปฐม, สุพรรณบุรี, สิงห์บุรี, ลพบุรี, นครนายก, ปราจีนบุรี และชลบุรี ดังนั้น บรรดามนุษย์สมัยก่อนประวัติศาสตร์ตั้งหลักแหล่งในป่าดงพงพีที่ดอนหุบเขาและเถื่อนถ้ำแถบสุพรรณบุรี, กาญจนบุรี, อุทัยธานี จึงพบเครื่องมือหินและอื่นๆ มากมายบริเวณลุ่มน้ำแควใหญ่-แควน้อยกับแม่กลอง ส่งผลให้อ่างทอง, ปทุมธานี, นนทบุรี, กรุงเทพฯ เป็นท้องทะเลอ่าวไทยโบราณหลายพันปี ไม่มีมนุษย์ตั้งหลักแหล่งอยู่อาศัยเป็นชุมชน

การค้นพบแหล่งโบราณคดีขนาดใหญ่ มีชุมชนและหลุมฝังศพมนุษย์พร้อมเครื่องมือเครื่องใช้หลายอย่างสมัยก่อนประวัติศาสตร์อายุหลายพันปีที่อยุธยาและอ่างทอง จึงเป็นหลักฐานสำคัญมากที่ให้ข้อมูลความรู้ใหม่แก่นักโบราณคดี “ทางการ” ตาสว่าง ว่าแนวชายฝั่งทะเลอ่าวไทยสมัยเมื่อ 3,000 ปีมาแล้ว อยู่บริเวณนนทบุรี [นายตรงใจ หุตางกูร นักวิชาการกลุ่มงานวิจัยและพัฒนา ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) บอกผู้สื่อข่าวมติชน ฉบับวันพฤหัสบดีที่ 16 กรกฎาคม 2563 หน้า 1]

โดยสรุปประวัติศาสตร์แห่งชาติของไทยต้องทบทวนโดย “รื้อ” แล้ว “สร้าง” ด้วยข้อมูลชุดใหม่อย่างรู้เท่าทันการเมือง

 

โบราณวัตถุหลายชิ้น เช่น ชิ้นส่วนโครงกระดูกมนุษย์และสัตว์, ภาชนะดินเผารูปแบบต่างๆ, หินดุสำหรับทำภาชนะดินเผา, เครื่องมือหินขัด, ชิ้นส่วนเครื่องมือสำริด, ลูกปัดทำจากกระดูกปลาขนาดใหญ่ เป็นต้น ขุดพบบริเวณพื้นที่แหล่งฝังศพยุคหินใหม่อายุราว 3,000 ปี ที่ ต.สีบัวทอง อ.แสวงหา จ.อ่างทอง (ภาพและคำบรรยายจากมติชน ฉบับวันศุกร์ที่ 17 กรกฎาคม 2563 หน้า 1, 10)