สุจิตต์ วงษ์เทศ / หมอแคน และหมอลำ ยุคแรกเป็นหญิง 2,500 ปีมาแล้ว

ลายเส้นจำลองจากลายสลักบนขวานสำริด

สุจิตต์ วงษ์เทศ

 

หมอแคน และหมอลำ

ยุคแรกเป็นหญิง 2,500 ปีมาแล้ว

 

หมอแคนยุคแรกเป็นผู้หญิง รวมถึงหมอลำกับหมอฟ้อนก็เป็นผู้หญิง เพราะผู้หญิงยุคดั้งเดิมเริ่มแรกเป็นเจ้าของงานศิลปะและวัฒนธรรมทั้งมวล

แคนเก่าสุดอายุหลายพันปีมาแล้ว เป็นเครื่องเป่าของทุกชาติพันธุ์ในวัฒนธรรมร่วมอุษาคเนย์ มีใช้ทั่วไปในภูมิภาคอุษาคเนย์อาเซียนโบราณ ทั้งบริเวณภาคพื้นทวีปและกลุ่มเกาะ

แคนเป็นเครื่องดนตรีไม่ไทย แต่ราชสำนักอยุธยายกย่องเป็นเครื่องมือศักดิ์สิทธิ์สำหรับบรรเลงขับกล่อมยอพระเกียรติพระเจ้าแผ่นดินตามโบราณราชประเพณี

หมอแคน, หมอลำ, หมอฟ้อน ล้วนเป็นผู้หญิง 2,500 ปีมาแล้ว ร่วมกันขับลำคำคล้องจองทำนองง่ายๆ แล้วเป่าแคนคลอ พร้อมฟ้อนประกอบพิธีทำขวัญสู่โลกหลังความตาย (บน) ลายเส้นจำลองจากลายสลักบนขวานสำริด (ล่าง) ภาพสำเนาขวานสำริดมีลายสลัก ขุดพบในหลุมศพเมืองดงเซิน ริมแม่น้ำซองมา จ.ถั่นหัว เวียดนาม ทั้งลายเส้นและภาพสำเนาโดยได้รับความกรุณาหลายปีมาแล้วจากนักวิชาการกรมศิลปากร และนักศึกษาปริญญาเอก (ขณะนั้น) มหาวิทยาลัยคอร์แนล สหรัฐ ช่วยตรวจสอบจากเอกสารฝรั่งเศสจำนวนหนึ่ง เช่น Victor Goloubew : L’ Age Bronze au Tonkin et dans le Nord-Annam ใน BEFEO : Tom XXIX 1929 – และ- Art Asiatique Numero Special : Les Nouvelles Recherches Archeologiques au Vietnam par NGUYEN PHUC LONG. (พิมพ์ครั้งแรกในหนังสือ ร้องรำทำเพลง ของ สุจิตต์ วงษ์เทศ พ.ศ.2532 หน้า 113)

 

แคนเก่าสุด

 

แคนเก่าสุดอายุราว 2,500 ปีมาแล้ว พร้อมหมอแคน, หมอลำ, หมอฟ้อน มีหลักฐานจากลายเส้นบนเครื่องมือสำริดหลายชิ้น ขุดพบในหลุมฝังศพที่เวียดนาม

บางชิ้นสลักลายเส้นรูปคนนุ่งผ้ายาวปล่อยชายสองข้าง มีเครื่องประดับสวมหัว แล้วทำอาการต่างกัน ดังนี้

(1.) บางคนสองมือถือแคน ทำท่าเป่าพร้อมย่อเข่าเต้นฟ้อน (2.) บางคนยืนฟ้อนนำหน้า ทำท่าเหมือนขับลำคำคล้องจอง (3.) บางคนยืนฟ้อนตามหลังเป็นกลุ่มมีหลายคนก็ได้

 

หมอแคน หรือ ช่างแคน

 

คําเรียกหมอแคนหมอลำอนุโลมตามปัจจุบัน แต่เมื่อหลายพันปีมาแล้วเรียกยังไงไม่พบหลักฐาน? ทั้งหมดอยู่ในตระกูลภาษาไต-ไท

คนเป่าแคน เรียกหมอแคน หรือช่างแคน, คนทำท่าเหมือนขับลำนำฟ้อนอยู่ข้างหน้า เรียกหมอลำ หรือช่างขับ, คนยืนฟ้อนเป็นกลุ่มเรียกหมอฟ้อน หรือช่างฟ้อน

หมอ กับ ช่าง มีความหมายร่วมกันว่าผู้ชำนาญงานนั้นเป็นพิเศษ

หมอ นิยมเรียกกันแพร่หลายตั้งแต่เวียงจันลงไปทางใต้ถึงจำปาสักและอีสาน เช่น หมอแคน, หมอลำ, หมอฟ้อน

ช่าง นิยมเรียกกันแพร่หลายตั้งแต่เวียงจันขึ้นไปทางเหนือถึงหลวงพระบาง, ล้านช้าง-ล้านนา เช่น ช่างแคน, ช่างขับ, ช่างฟ้อน

 

ผู้หญิงเป็นเจ้าของวัฒนธรรม

 

หมอแคน, หมอลำ, หมอฟ้อน บนลายสลักรูปคนคล้ายเป็นผู้หญิง เพราะงานศิลปะและวัฒนธรรมยุคดั้งเดิมเป็นสมบัติของผู้หญิงเท่านั้น ผู้ชายไม่มีสิทธิ์

นอกจากนั้น ผู้หญิงเป็นเจ้าพิธีกรรมในศาสนาผี เป็นหมอมด, หัวหน้าเผ่าพันธุ์ ส่วนผู้ชายเป็นบริวารของผู้หญิง

 

สื่อสารกับผี

 

แคนเป็นเครื่องเป่าอย่างหนึ่ง ถูกทำขึ้นเพื่อเป็นเครื่องมือสื่อสารกับอำนาจเหนือธรรมชาติ (คือผี) โดยเป่าเลียนเสียงแล้วคลอเสียงเคล้าคำขับลำของคน เมื่อราว 2,500 ปีมาแล้ว

คนทั้งหมดอยู่ในพิธีกรรมหลังความตาย (เพราะพบเครื่องมือสำริดในหลุมศพ) มีการละเล่นเต้นฟ้อนเป่าแคนและขับลำเพื่อเรียกขวัญและส่งขวัญไปสู่โลกหลังความตาย (สมัยหลังเรียกงันเฮือนดี)

โลกหลังความตายอยู่บนฟ้าหรือที่ไหนๆ ไม่มีใครรู้ อันเป็นที่สิงสู่ของผีแถน และผีขวัญบรรพชนผู้ตายไปก่อนแล้วอยู่รวมกันเป็นหน่วยเดียว คอยปกป้องคุ้มครองผู้คนยังไม่ตาย กับบันดาลให้ชุมชนรับความอุดมสมบูรณ์ในพืชพันธุ์ธัญญาหาร

 

ศาสนาผี

 

แคนมีกำเนิดและพัฒนาการเกี่ยวข้องกับความเชื่อและพิธีกรรมในศาสนาผี เพื่อสร้างเสียงศักดิ์สิทธิ์สื่อสารกับอำนาจเหนือธรรมชาติ (คือผี) ใช้วิงวอนร้องขอความอุดมสมบูรณ์และเจริญในพืชพันธุ์ธัญญาหารเลี้ยงชุมชน

กำเนิดแคนไม่เกี่ยวกับศาสนาพุทธและพราหมณ์ฮินดู แต่หลังรับอารยธรรมจากอินเดีย มีผู้พยายามผลักดันให้แคนเป็นเครื่องมือศักดิ์สิทธิ์ทางพุทธและพราหมณ์ฮินดู จึงผูกนิทานว่ามีกษัตริย์อินเดียเกี่ยวข้องกับกำเนิดแคน มีเสียงไพเราะเสนาะโสตราวเสียงนกการเวกแห่งฟากฟ้าป่าหิมพานต์ตามคติอินเดีย

นิทานเหล่านี้ไม่เป็นหลักฐานโดยตรงเรื่องกำเนิดแคน แต่เป็นพยานว่ามีผู้พยายามยกย่องแคนเป็นอินเดีย เครื่องดนตรีมีกำเนิดแล้วนำเข้าจากอินเดีย ซึ่งไม่จริงตามนั้น