90 นาทีแห่งความสุข ของผู้ต้องห้ามเล่นฟุตบอล

ในช่วงที่ฟุตบอลหญิงชิงแชมป์โลก 2023 กำลังฟาดแข้งกันอยู่ที่ออสเตรเลีย-นิวซีแลนด์ มีแมตช์ที่ไม่เกี่ยวกับเวิลด์คัพ แต่มีความสำคัญกับคนที่ลงไปเตะในสนามฟุตบอลในพื้นที่ไม่ไกลกันมากนัก

ที่สนามซีบี สมิธ กราวด์ ทางตอนเหนือของเมืองเมลเบิร์น ประเทศออสเตรเลีย นักเตะหญิงในนามทีมอัฟกานิสถานลงฟาดแข้งกับทีมตรงข้าม พวกเธออาจจะไม่ได้เล่นให้ทีมชาติบ้านเกิด แต่ในใจก็คิดว่าสักวันหนึ่งจะได้ทำหน้าที่นั้นอีกครั้ง เพราะหลังจากที่กลุ่นทาลิบันยึดอำนาจกลับมาปกครองอัฟกานิสถานได้อีกครั้ง ทำให้คนในประเทศต้องอพยพเพื่อให้ชีวิตมีอิสระ ไม่ต้องไปยึดกับกฎการปกครองของทาลิบัน

โดยเฉพาะผู้หญิงที่ใช้ชีวิตยากขึ้น ห้ามทำในหลายๆ เรื่อง โดยเฉพาะการเล่นกีฬา ทำให้นักฟุตบอลหญิงทีมชาติอัฟกานิสถานยกทีมกันอพยพออกมา และได้รับความช่วยเหลือจากออสเตรเลียในการลี้ภัย เมื่อ 2 ปีก่อน

การกลับมาเล่นฟุตบอลแมตช์นี้อาจจะไม่ได้เป็นเกมทางการอะไร แต่ก็เป็นเกมแรกในรอบเกือบ 2 ปีที่พวกเธอได้ลงสนาม

มูราล ซาดัต หนึ่งในแข้งสาวอัฟกันลี้ภัย บอกว่า อยากจะเป็นเสียงหนึ่งที่สะท้อนความต้องการของผู้หญิงในอัฟกานิสถาน ที่ไม่สิทธิได้เรียนหนังสือ ทำงาน หรือเล่นฟุตบอล

และวันนี้พวกเราเล่นเพื่อพวกเธอทุกคน

เกมนี้อัฟกานิสถานขึ้นนำ 1-0 จาก นิลับ มูฮัมมาดี้ กองหน้าตัวเก่งที่ยอมรับว่า ยังจำวันที่ทาลิบันยึดอำนาจได้ดี เธอต้องโยนชุดฟุตบอลทิ้งไป แต่ตอนหลับ เธอฝันถึงมันอยู่บ่อยๆ

ประตูแรกที่เกิดขึ้น สาวๆ อัฟกันฉลองกันแบบสุดเหวี่ยง เพราะมันไม่ใช่แค่ฟุตบอล แต่มันเป็นความรู้สึกทางใจ ที่ได้กลับมาเล่นฟุตบอลด้วยกันอีกครั้ง แม้จะไม่ใช่ในนามทีมชาติอย่างที่เคยเป็น

คาลิดา โปปาล อดีตกัปตันทีมทีมหญิงของอัฟกานิสถาน ที่ปัจจุบันใช้ชีวิตอยู่ที่เดนมาร์ก บอกว่า นักเตะทุกคนเสียสละทุกอย่างเพื่อจะได้เล่นให้ทีมชาติอัฟกานิสถาน แต่โชคร้ายที่พวกเธอต้องเสียหลายๆ อย่างไป โดยเฉพาะสิ่งที่เคยเป็นและบ้าน

การที่ผู้หญิงอัฟกันไม่สามารถเล่นฟุตบอลได้ ทำให้สหพันธ์ฟุตบอลนานาชาติ (ฟีฟ่า) ไม่ให้การรับรองฟุตบอลหญิงของประเทศนี้ โดยให้เหตุผลว่า เพราะไม่ได้ลงสนามถึง 5 แมตช์ ในรอบ 4 ปีที่ผ่านมา

โปปาลแสดงความเห็นว่า อยากให้ฟีฟ่าที่เป็นองค์กรที่ใหญ่ เป็นปากเป็นเสียงให้กับวงการฟุตบอลหญิงอัฟกานิสถาน ไม่ใช่แค่นั่งมองอยู่เงียบๆ

แต่ก็ต้องไม่ลืมว่าฟีฟ่าเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยให้คนฟุตบอลได้อพยพออกนอกประเทศ เพื่อให้พวกเขาและเธอมีโอกาสในการปลูกต้นไม้ลูกหนังในพื้นที่ใหม่ ที่มีรากของความเป็นอัฟกันอยู่

ถึงแม้สาวๆ ที่อยู่ในสนามซีบี สมิธ กราวด์ ในวันนั้นจะเต็มไปด้วยความกังวลเรื่องบ้านเกิด ครอบครัว มีทั้งความเหงา การปรับตัวกับชีวิตที่ไม่คุ้นเคย แต่เวลา 90 นาทีในสนามฟุตบอล พวกเธอทิ้งทุกอย่างไว้ข้างหลัง และมีความสุขกับอีกสิ่งหนึ่งที่รักมาก คือ การเล่นฟุตบอล

โปปาลทิ้งท้ายอย่างมีความหวังว่า “พวกเธอไม่ยอมแพ้ในการที่จะเล่นฟุตบอล หวังว่าฟุตบอลจะไม่ยอมแพ้และทอดทิ้งพวกเธอเช่นกัน”

ขอให้ฟุตบอลจงเจริญ และขอให้โลกนี้ไม่มีสงคราม คงเป็นการร้องขอที่ไม่เกินไปนัก •

 

Technical Time-Out | จริงตนาการ

[email protected]