ผ่าเบื้องลึกเบื้องหลัง ทำไม กกท.ดันทุรังซื้อถ่ายทอดสดซีเกมส์

ประเด็นร้อนฉ่าสะเทือนวงการกีฬาเมืองไทยก่อนเริ่มการแข่งขันมหกรรมกีฬาซีเกมส์ ครั้งที่ 32 ที่กรุงพนมเปญ ประเทศกัมพูชา ระหว่างวันที่ 5-17 พฤษภาคม หนีไม่พ้นเรื่องของลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสดการแข่งขันกีฬาซีเกมส์ ครั้งที่ 32

สิ่งที่ทำให้เกิดเป็นกระแสดราม่าของประชาชนคนไทยนั่นคือ กัมพูชา ในฐานะเจ้าภาพเรียกเก็บค่าลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสดจากประเทศไทยแพงที่สุดในชาติอาเซียนที่ร่วมแข่งขันเป็นเงิน 800,000 เหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 28 ล้านบาท

ทันทีที่มีข่าวออกมาเกิดกระแสดราม่าต่อต้านจากแฟนกีฬาชาวไทยว่า เป็นราคาที่แพงเกินกว่าความเป็นจริง

และรณรงค์กันถึงขั้นไม่ขอดูการแข่งขันกีฬาซีเกมส์ ครั้งที่ 32 กันเลยทีเดียว…

 

สาเหตุที่กัมพูชาหยิบยกมาเป็นเหตุผลในการเรียกเก็บค่าลิขสิทธิ์แพงเนื่องจากกัมพูชาอ้างว่า พิจารณาจากมูลค่าทางการตลาดของแต่ละประเทศ

ท่ามกลางกระแสคัดค้านจากประชาชนคนไทยที่ไม่ต้องการเห็นคนกีฬาเมืองไทย “เสียรู้” ให้กัมพูชาหลอกเอาเงินภาษีของประชาชนชาวไทยไปซื้อลิขสิทธิ์ในราคาแพงเว่อร์วังเกินจริงนั้น ดูเหมือนว่า คีย์แมนกีฬาเมืองไทยจะไม่สนใจใดๆ ดื้อรัน ดันทุรังกันไปขอซื้อลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสดจากกัมพูชาโดยไทยมีการเจรจาต่อรองค่าลิขสิทธิ์ลง แต่ยังไม่ได้ข้อสรุปเพราะกัมพูชายืนกรานที่จะขายในราคา 800,000 เหรียญสหรัฐ

อะไรเป็นสาเหตุที่ทุกๆ ครั้งประเทศไทยถึงถูกเรียกเก็บค่าลิขสิทธิ์แพงตั้งแต่ฟุตบอลโลก มาถึงซีเกมส์

จะมาบอกว่า เศรษฐกิจประเทศไทยดีถึงดีมากอย่างนั้นหรือ? จะบอกว่า มูลค่าการตลาดด้านกีฬาของประเทศไทยดีอย่างนั้นหรือ?

หรือว่า ประเทศไทยยอมให้หลอกง่ายใช่หรือไม่?

 

การกีฬาแห่งประเทศไทย (กกท.) แสดงเจตจำนงชัดเจนในการเป็นเจ้าภาพรับดำเนินการซื้อลิขสิทธิ์เหมือนเช่นตอนฟุตบอลโลก 2022 ที่ยุ่งเหยิงกันจนวินาทีสุดท้าย

ย้อนไปในอดีตสมัยที่งบประมาณของ กกท.ยังไม่มากพอ หรือคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ยังไม่ออกกฎ “มัสต์แฮฟ” (Must Have) ที่ระบุว่า มหกรรมกีฬา 7 รายการที่คนไทยต้องดูถ่ายทอดสดฟรี ประกอบด้วย ซีเกมส์, อาเซียนพาราเกมส์, เอเชี่ยนเกมส์, เอเชี่ยนพาราเกมส์, โอลิมปิกเกมส์, พาราลิมปิกเกมส์ และฟุตบอลโลก

กกท.ไม่เคยแสดงความจำนงเข้าไปซื้อลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสดกีฬารายการใดมาถือไว้แล้วหาผลประโยชน์ร่วมกับภาคเอกชนเลย

แต่พอมีกฎ “มัสต์แฮฟ” ที่ออกมากีดกันภาคเอกชนไปประมูลตามกลไกธุรกิจกีฬาแล้ว กกท.จึงเปลี่ยนแนวทางชัดเจนมาโดดตะครุบเข้าไปเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์

เพราะอะไรนั่นหรือ เพราะ กกท.มองว่า เกมกีฬาคือ 1 โปรดักต์ที่สามารถต่อยอดทำเงินจากการทำตัวเป็นพ่อค้าคนกลางเพื่อนำไปหารายได้ร่วมกับช่องสถานีต่างๆ ที่มาร่วมดำเนินการออกอากาศการถ่ายทอดสด

ลักษณะดังกล่าวมันบ่อนทำลายวงจรธุรกิจกีฬา ปิดกันเสรีทางการค้าของภาคเอกชน…

 

ซีเกมส์คราวนี้ก็เหมือนกัน ฝุ่นควันจากลิขสิทธิ์บอลโลก 2022 ยังไม่จางหายเพราะ กกท.ไม่ควักเนื้อตัวเองไปซื้อลิขสิทธิ์ โดยไปหยิบยืมเงินจาก กองทุนพัฒนาการกีฬาแห่งชาติ ที่มี ดร.สุปราณี คุปตาสา เป็นผู้จัดการกองทุน 800 ล้านบาทมาสมทบกับเงินของ กสทช. และเงินของภาคเอกชนที่เข้าร่วมอีกส่วนหนึ่ง

แต่ผู้ที่ถือลิขสิทธิ์คือ กกท.ได้หน้าไปเต็มๆ แล้วที่สำคัญรู้กันหรือไม่ว่า กกท.เพิ่งจะคืนเงินให้กองทุนไปแค่ 200 ล้านบาท ยังค้างอยู่อีก 600 ล้านบาท

เรื่องเก่ายังเคลียร์ไม่จบ กกท.หาเรื่องใหม่ในซีเกมส์ต่อทันที…!!!

กกท.แสดงท่าทีชัดเจนว่า ไม่มีเงินบริหารงานในหลายๆ โครงการทั้งที่นี่เพิ่งจะเดือนมีนาคม 2566 ยังเหลือเวลาอีก 6 เดือนกว่าจะเข้าสู่งบประมาณประจำปี 2567 กกท.แบะท่าชัดเจนเหมือเดิมคือ จะขอรับเงินสนับสนุนจากกองทุนพัฒนาการกีฬาแห่งชาติ

รูปแบบ และวิธีคิดแบบเดิม พอไม่ได้เงินก็โยนบาปให้กองทุน โดนสังคมไทยต่อว่า แต่พอซื้อมา กกท.ได้หน้าไปเต็มที่ทั้งที่ยืมเงินคนอื่นมาแต่งหล่อ…

กกท.คงลืมไปว่า คนไทยเขาไม่ได้ต้องการดูซีเกมส์ขนาดนั้น เกมกีฬาสำหรับซีเกมส์มันไม่ได้มีจุดขาย จุดดึงดูดผู้ชมเยอะขนาดนั้น

 

สิ่งหนึ่งที่อยากถาม กกท. แบบคนกันเองว่า จะมีสักครั้งหรือไม่ที่ กกท.จะเปิดเผยสัญญาซื้อขายลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสดให้สาธารณชนรับรู้ จะมีการตั้งโต๊ะแถลงสัญญา การจ่ายเงิน เงื่อนไขต่างๆ ให้คนไทยรับรู้ หากว่าดำเนินการกันโปร่งใส ตรงไปตรงมา จะต้องมาปกปิดข้อมูลให้รู้กันวงแคบที่สุดทำไม

นี่คือ คำถามที่ต้องการคำตอบ และคำชี้แจง

โปรดอย่าอ้างแบบกำปั้นทุบดินว่า เป็นการปกปิดความลับทางการค้าระหว่างผู้ซื้อกับผู้ขาย เพราะอย่าลืมว่า เงินทุกบาททุกสตางค์ที่ท่านซื้อล้วนมาจากภาษีของประชาชนคนไทย ไม่ใช่เงินของพวกท่าน

ฝั่ง กสทช.รับทราบข้อมูลพวกนี้มาตลอดและระแคะระคายมาตลอดว่า มีความไม่ชอบมาพากลหลายเรื่องในกระบวนการซื้อ-ขายลิขสิทธิ์กีฬาต่างๆ ที่กฎ “มัสต์แฮฟ” ระบุว่า จึงเตรียมยกเลิกกฎดังกล่าว ซึ่งตอนนี้อยู่ระหว่างกระบวนการยกเลิก “มัสต์แฮฟ” ต้องใช้เวลาอีกระยะหนึ่ง

แต่เบื้องต้นที่ชัดเจน และ กกท.เองก็รับทราบแล้วคือ กฎ “มัสต์แฮฟ” และ “มัสต์ แครี่” จะมีผลบังคับใช้ก็ต่อเมื่อลิขสิทธิ์ถูกซื้อมาดำเนินการในประเทศไทย แต่ตราบใดที่ไม่มีการซื้อเข้ามา กฎดังกล่าวก็ไม่ได้บังคับใช้ หรือสรุปง่ายๆ ว่า ถ้าประเทศไทยไม่ซื้อถือว่า กกท.ไม่ได้มีความผิดอะไร แต่ถ้าซื้อมาแล้ว ต้องถ่ายทอดสดให้คนไทยได้รับชมตามช่องทางต่างๆ ที่ระบุไว้แบบไม่เสียเงินค่ารับชม

แล้วทำไม กกท.ยังต้องดิ้นรนแทบจะทุรนทุรายหากไม่ได้ซื้อลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสดฟุตบอลโลก 2022 มาถึงกีฬาซีเกมส์ ครั้งที่ 32

มันมีอะไรในก่อไผ่ คงเดากันไม่ยาก สมัยนี้ประชาชนเขาไม่ดักดานแล้วนะจ๊ะ… •

 

เขย่าสนาม | เงาปีศาจ