ลิขสิทธิ์ซีเกมส์แพง = ไม่ซื้อ หมดเวลาโขกสับประเทศไทยสักที!

ไม่น่าเชื่อก็ต้องเชื่อว่าประเทศไทยกลายเป็นประเทศที่มีปัญหาในการซื้อลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสดกีฬาไปทุกทัวร์นาเมนต์เสียแล้ว

ไม่เว้นแม้แต่กีฬาพื้นบ้านอย่าง “ซีเกมส์” ที่กำลังจะมีขึ้นที่ประเทศกัมพูชา ในเดือนพฤษภาคมนี้

ว่ากันตามตรง ซีเกมส์นั้นถือเป็นรายการกีฬาระดับ ภูมิภาค ที่มีความสำคัญน้อยที่สุดเลยก็ว่าได้

โดยปกติแล้วที่ผ่านมาเจ้าภาพซีเกมส์ไม่เคยเก็บค่าลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสดจากประเทศที่เข้าร่วมเลย มีเพียงค่าธรรมเนียมเล็กๆ น้อยๆ เท่านั้น

อย่างเช่น ย้อนกลับไป 2 หนหลังสุด ในปี 2019 ที่ประเทศ ฟิลิปปินส์ เป็นเจ้าภาพนั้น คิดค่าธรรมเนียมอยู่ที่ 5,000 เหรียญสหรัฐ หรือราวๆ 175,000 บาท

ส่วนล่าสุดในซีเกมส์ 2021 (ที่แข่งขันปี 2022) เวียดนาม เจ้าภาพก็คิดราคาเพิ่มมาเท่าตัว แต่ก็ยังเป็นราคาที่ 10,000 เหรียญสหรัฐ หรือราวๆ 350,000 บาท เท่านั้นเอง

แต่ทว่ากับกัมพูชา เจ้าภาพในปี 2023 กลับเรียกค่าลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสดจากประเทศไทย สูงถึง 800,000 เหรียญสหรัฐ ตีเป็นเงินไทยก็ราวๆ 28 ล้านบาท

ซึ่งมากกว่าตอนเวียดนามเป็นเจ้าภาพ ถึง 80 เท่าเลยทีเดียว

 

วัธ จำเริญ เลขาธิการคณะกรรมการจัดงานซีเกมส์กัมพูชา (CAMSOC) ชี้แจงเรื่องนี้ว่ากัมพูชาไม่ได้เรียกร้องค่าลิขสิทธิ์การถ่ายทอดสด แต่ค่าธรรมเนียมนั้นเป็นสิ่งที่ทั้งสองฝ่ายจะต้องทำการตกลงเจรจากัน

และทางกัมพูชาก็ยังไม่ได้ยืนยันราคาตรงนี้ เพียงแต่ค่าธรรมเนียมที่เรียกออกไปเป็นการพิจารณาจากข้อมูลด้านการตลาดและขนาดของผู้ชม ทำให้แต่ละประเทศจึงมีราคาที่ต่างกันออกไป

ถ้าให้ตีคำพูดของเจ้าภาพออกมาแบบง่ายๆ ก็คือตลาดของชาวไทยเป็นตลาดใหญ่ มีความต้องการในการรับชมสูง ทำให้ราคาจึงต้องเพิ่มสูงตามไปด้วย

เหตุการณ์เหล่านี้เอาจริงๆ เคยมีภาพให้เห็นมาก่อน อย่างเช่น ฟุตบอลโลก 2022 ที่ประเทศกาตาร์ที่ผ่านมา ประเทศไทยต้องจ่ายถึง 1,400 ล้านบาท เพื่อซื้อลิขสิทธิ์ ใกล้เคียงกับ อินโดนีเซีย ที่จ่ายราวๆ 1,456 ล้านบาท

แต่กลับกัน เวียดนามจ่ายแค่ 532 ล้านบาท เท่านั้น แต่ก็ถ่ายได้ครบทั้ง 64 คู่เท่ากัน ซึ่งเป็นผลมาจากจำนวนประชากรของไทยกับอินโดนีเซียที่มากกว่านั่นเอง

หรืออย่างในศึกฟุตบอลชิงแชมป์อาเซียน “เอเอฟเอฟ มิตซูบิชิ อิเล็คทริก คัพ 2023” ที่ผ่านมา ซึ่งไทยเกือบจะไม่ได้ดูการถ่ายทอดสดเพราะว่าผู้ถือลิขสิทธิ์เองตั้งราคาเอาไว้สูงมากๆ และตั้งใจขายแบบครบทุกนัด ในขณะที่ไทยเองสนใจซื้อแค่นัดที่ทีมชาติไทยเตะเท่านั้น

จนสุดท้ายก็ได้พระเอกขี่ม้าขาวอย่าง “กองสลากพลัส” เข้ามาจ่ายค่าลิขสิทธิ์ 67 ล้านบาท จนทำให้คนไทยได้ดูจนจบทัวร์นาเมนต์

 

แน่นอนว่าเมื่อเกิดปัญหาเรื่องของค่าลิขสิทธิ์ทีไร คนที่จะต้องตกเป็นเป้าให้เป็นผู้หาเงินมาซื้อลิขสิทธิก็หนีไม่พ้น การกีฬาแห่งประเทศไทย (กกท.) ที่จะต้องเข้ามารับเผือกร้อนแบบนี้ทุกครั้งไป

อย่างไรก็ตาม ดร.ก้องศักด ยอดมณี ผู้ว่าการ กกท. ก็มองว่าตัวเลขที่ทางกัมพูชาเรียกร้องมานั้นเป็นจำนวนที่สูงเกินไป เพราะเท่าที่ทราบมายังไม่มีประเทศไหนที่จ่ายราคาแพงขนาดนี้ แต่ทางกัมพูชาเองก็แจ้งมาแล้วสามารถพูดคุยเจรจากันได้ตามความเหมาะสม

“เราต้องไปหารือกับคณะกรรมการโอลิมปิคแห่งประเทศไทยฯ ว่าราคาแบบนี้จำเป็นจะต้องลดลงมาให้มีความเหมาะสม ใกล้เคียงกับครั้งที่ผ่านมา อาจจะเพิ่มบวกขึ้นเล็กน้อยตามสภาวะเศรษฐกิจ รวมทั้งเงินเฟ้อ ราว 5-10 เปอร์เซ็นต์ก็ยังพอรับได้ แต่ค่าลิขสิทธิ์ที่สูงขึ้นก้าวกระโดดหลายเท่าตัวตรงนี้ ต้องยอมรับว่า กกท.ไม่ได้วางงบประมาณไว้รองรับขนาดนั้น และเชื่อว่าหลายประเทศก็รู้สึกเหมือนกัน เท่าที่คุยกับหลายประเทศก็ยังไม่ได้ตกลง เราต้องสะท้อนไปให้ถึงทางคณะกรรมการโอลิมปิกของกัมพูชาด้วยว่า ไทยและหลายประเทศคิดว่าราคาแพงเกินไป เพราะการตัดสินใจทั้งหมดเป็นของโอลิมปิกกัมพูชา” ดร.ก้องศักดกล่าว

ด้วยความที่ก่อนหน้านี้ เจ้าภาพกัมพูชาเองก็ขยันสร้างดราม่าสำหรับซีเกมส์ครั้งนี้อย่างมากมาย ไม่ว่าจะเป็นการเพิ่มจำนวนเหรียญกีฬาพื้นบ้านมาอย่างมากมาย หรือปรับเปลี่ยนกีฬามวยไทย เป็นกุนแขมร์ ก็ทำให้ประชาชนชาวไทยเองถึงกับออกมาเรียกร้องว่าไม่ควรซื้อลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสดที่แพงขนาดนี้

ชาวเน็ตไทยได้มีการสร้างแคมเปญเว็บไซต์ change.org พร้อมข้อความ “เรียกร้องรัฐบาลและภาคเอกชน งดซื้อลิขสิทธิ์กีฬา SEA Games 2023 ในราคาแพงกว่าทุกชาติอาเซียน”

 

กีฬาซีเกมส์ จัดเป็นหนึ่งใน 7 ชนิดกีฬาที่อยู่ในกฎ “Must Have” ตามประกาศของ คณะกรรมการกิจการเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช) ที่คนไทยจะต้องได้รับชมฟรีผ่านโทรทัศน์ และสามารถรับชมได้ทุกช่องทางผ่านทางกฎ “Must Carry”

อย่างไรก็ตาม ด้วยตัวกฎแล้ว ไม่ได้บังคับว่าประเทศไทยจะต้องไปหาเงินจำนวนมากมาซื้อลิขสิทธิ์ให้ได้ กฎเพียงแค่บอกว่าถ้าหากมีใครซื้อลิขสิทธิ์ ก็ต้องให้ประชาชนได้รับชมฟรีอย่างทั่วถึงเท่านั้นเอง

ดร.ก้องศักดชี้ว่า ถ้าไม่มีการซื้อลิขสิทธิ์ไม่ถือว่าผิดกฎ แต่ถ้าซื้อแล้วก็ต้องถ่ายทอดตามกฎเท่านั้น อย่างไรก็ตาม มองในเรื่องการพัฒนากีฬา ถ้าหากไม่มีการถ่ายทอดสด ก็จะไม่เกิดกระแสร่วมเชียร์นักกีฬาไทย เพียงแต่ราคาขนาดนี้คงต้องมาพิจารณาว่ามันคุ้มหรือไม่แต่อย่างใด

เอาจริงๆ แล้วถ้าราคามันไม่สมเหตุสมผล ก็ไม่ควรจ่ายเงินให้เสียงบประมาณทางด้านกีฬาที่สามารถนำไปทำเรื่องอื่นๆ ได้ เพราะเงิน 28 ล้านบาท ว่ากันในแง่ของการพัฒนากีฬา มันทำอะไรได้มากกว่าการถ่ายทอดสดกีฬาระดับพื้นบ้านแบบนี้อยู่แล้ว

อีกอย่างถ้ายอมจ่ายครั้งนี้ ครั้งต่อๆ ไปเจ้าภาพก็จะหน้าเลือดเรียกเงินจำนวนมากแบบนี้อีก ทั้งๆ ที่ศักดิ์ศรีการแข่งขันมันระดับเล็กที่สุดด้วยซ้ำ

บอกตรงๆ ว่า เงินตรงนี้เอามาเตรียมเป็นเจ้าภาพในอีก 2 ปีข้างหน้า ยังดูคุ้มกว่าเลย! •

 

เขย่าสนาม | เด็กเก็บบอล

[email protected]